สิงคโปร์คงอันดับสองในการจัดอันดับประเทศที่พร้อมใช้รถยนต์ไร้คนขับมากที่สุดเป็นปีที่สองติดต่อกัน

พุธ ๐๖ มีนาคม ๒๐๑๙ ๑๗:๐๒
- เนเธอร์แลนด์คงแชมป์เป็นปีที่สองติดต่อกัน

- มีห้าประเทศที่ติดอันดับผลสำรวจเคพีเอ็มจีเป็นปีแรก ได้แก่ นอร์เวย์ ฟินแลนด์ อิสราเอล สาธารณรัฐเช็ก และฮังการี

- ใหม่สำหรับ พ.ศ. 2562: แบบสำรวจความเห็นผู้บริโภคใน 25 ประเทศเกี่ยวกับรถยนต์ไร้คนขับ

เคพีเอ็มจีประกาศผลสำรวจเกี่ยวกับความพร้อมในการใช้รถยนต์ไร้คนขับในรายงาน 2019 Autonomous Vehicles Readiness Index (AVRI) จากผลสำรวจ ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่พร้อมที่สุดสำหรับการใช้รถยนต์ไร้คนขับอีกเช่นเคย ตามมาด้วย สิงคโปร์ นอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา และสวีเดน

"ผลสำรวจ AVRI บ่งชี้ว่าแต่ละประเทศมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในการเตรียมความพร้อมสำหรับรถยนต์ไร้คนขับ" ริชาร์ด เธรลฟอลล์ ประธาน ฝ่ายโครงสร้างพื้นฐาน เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว "ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศมุ่งที่จะสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งให้ทันสมัย และสร้างให้เกิดความมั่นใจว่านวัตกรรมรถยนต์และรถบรรทุกไร้คนขับจะสร้างประโยชน์ต่อประเทศได้อย่างแท้จริง"

ประเด็นสำคัญจากสองประเทศที่พร้อมใช้รถยนต์ไร้คนขับมากที่สุด

- ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้ครองอันดับหนึ่งเป็นปีที่สองติดต่อกัน กำลังร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการนำเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับมาใช้ในการขนส่งสินค้า และมีแผนการนำรถบรรทุกไร้คนขับกว่า 100 คันมาใช้ในการขนส่งระหว่างเส้นทางหลัก จากเมืองอัมสเตอร์ดัม ไปยังเมืองแอนต์เวิร์ป และเมืองรอตเทอร์ดาม ไปจนถึงหุบเขารัวร์

- ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งได้อันดับ 2 ได้มีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในการสร้างเมืองจำลองสำหรับทดลองใช้รถยนต์ไร้คนขับ โดยในเมืองดังกล่าวได้สร้างให้มีไฟจราจร ป้ายรถเมล์ ตึกสูง และเครื่องทำฝนเทียม เพื่อสร้างสภาพอากาศที่ร้อนชื้นเพื่อให้สะท้อนถึงภูมิอากาศของประเทศในเขตร้อนชื้น

คุณธิดารัตน์ ฉิมหลวง ประธานฝ่ายดูแลลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าวว่า "ปัจจุบันโลกเราอยู่ในยุคปฏิวัติการคมนาคมขนส่ง เทคโนโลยีกำลังพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ และนวัตกรรมกำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ประเทศไทยพร้อมต่อการใช้รถยนต์ไร้คนขับ จำเป็นต้องมีการพิจารณา และปรับกฎหมายให้รองรับ มีการวางผังเมือง และโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมต่อการใช้รถยนต์ไร้คนขับ และสิ่งสำคัญคือต้องมีตลาดรองรับ โดยในอีกหนึ่งมุมมองหนึ่ง ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก เราเล็งเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการจะขยายศักยภาพจากการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ ให้ครอบคลุมสู่การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาซอฟต์แวร์ในการควบคุมยานยนต์ เพื่อคงไว้ซึ่งการเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก"

ผลสำรวจ AVRI ในปี พ.ศ. 2562 มีประเทศใหม่ติดอันดับ 5 ประเทศ

1. ประเทศนอร์เวย์ (อันดับ 3): อนุญาตให้มีการทดสอบรถยนต์ไร้คนขับบนถนนสาธารณะ โดยผู้ประกอบการได้เริ่มให้บริการรถประจำทางไร้คนขับในวงแคบ นอกจากนี้ได้มีแผนการทดลองใช้แท็กซี่ไร้คนขับในปี พ.ศ. 2562

2. ประเทศฟินแลนด์ (อันดับ 6): ฟินแลนด์กำลังมุ่งพัฒนารถยนต์ไร้คนขับให้สามารถใช้ได้ในสภาพอากาศหนาวเย็น และพัฒนาระบบอัตโนมัติสำหรับรถประจำทาง นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนสีเส้นบนท้องถนนจากสีเหลืองเป็นสีขาวเพื่อให้เหมาะกับการใช้รถยนต์ไร้คนขับมากขึ้น

3. อิสราเอล (อันดับ 14): จุดแข็งของประเทศอิสราเอลในการใช้รถยนต์ไร้คนขับคือภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของประเทศที่เน้นการส่งออก ซึ่งช่วยให้ประเทศอิสราเอลมีคะแนนนำในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากนี้อิสราเอลยังมีการวางมาตรการพิเศษสำหรับการร่วมมือทางธุรกิจ การลงทุน และการก่อตั้งสำนักงานใหญ่

4. สาธารณรัฐเช็ก (อันดับ 19): การจัดตั้งสถานที่ทดสอบรถยนต์ไร้คนขับของสาธารณรัฐเช็กมีแนวโน้มจะช่วยเสริมภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือในการเป็นผู้ผลิตรถยนต์ของภูมิภาค

5. ฮังการี (อันดับ 21): การปรับเปลี่ยนกฎหมาย การทดสอบการใช้รถยนต์ไร้คนขับในเชิงพาณิชย์ที่สนามทดสอบแห่งใหม่ และวงการสตาร์ทอัพด้านรถยนต์ไร้คนขับที่ตื่นตัว ช่วยให้ฮังการีติดอันดับประเทศที่มีความพร้อมในการใช้รถยนต์ไร้คนขับ

แบบสำรวจผู้บริโภคพบว่าผู้บริโภคมีความเห็นเกี่ยวกับรถยนต์ไร้คนขับที่ผสมผสานใหม่ในปีนี้ เคพีเอ็มจีได้เพิ่มการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคเพื่อให้เข้าใจถึงความรู้สึกของผู้บริโภคต่อรถยนต์ไร้คนขับมากยิ่งขึ้น จากผลสำรวจพบว่าประเทศที่พร้อมต่อการใช้รถยนต์ไร้คนขับในระดับรองๆ ลงมากลับให้ความสนใจในการใช้รถยนต์ไร้คนขับมากที่สุด โดยประเทศเหล่านี้ได้แก่ประเทศอินเดีย (อันดับ 24) และเม็กซิโก (อันดับ 23)

"ท้ายที่สุดแล้ว ผู้บริโภคจะเป็นแรงผลักดันการใช้รถยนต์ไร้คนขับ" เธรลฟอลล์ กล่าว "ตราบใดที่ผู้บริโภคยังไม่เปิดรับรถยนต์ไร้คนขับเป็นวงกว้าง ก็ยากที่ตลาดรถยนต์ไร้คนขับจะพัฒนาและสร้างประโยชน์ได้ ผู้บริโภคในประเทศที่พัฒนาน้อยกว่ามีความสนใจที่จะเปิดรับรถยนต์ไร้คนขับมากกว่า ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบดั้งเดิมแบบก้าวกระโดด ในส่วนของผู้บริโภคในประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาแล้วนั้น มีความสนใจในการใช้รถยนต์ไร้คนขับที่น้อยกว่า ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการชะลอในการนำรถยนต์ไร้คนขับมาใช้งาน"

ในรายงานมีคำอธิบายเชิงลึกเกี่ยวกับปัจจัยที่จะทำให้แต่ละประเทศสามารถเตรียมความพร้อมในการใช้รถยนต์ไร้คนขับได้ โดยมีการประเมินความพร้อมของ 25 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเพิ่มจากปีแรกของการทำวิจัย AVRI ที่จัดทำการประเมิน 20 ประเทศ แต่ละประเทศที่ถูกประเมินนั้นจะต้องผ่านการวัดผลใน 4 ด้านหลักด้วยกัน ประกอบไปด้วย 1) นโยบายและกฎหมาย 2) เทคโนโลยีและนวัตกรรม 3) โครงสร้างพื้นฐาน 4) การยอมรับของผู้บริโภค ซึ่งใน 4 ด้านหลักนี้ยังประกอบไปด้วย 25 ข้อย่อยที่สะท้อนด้านต่างๆ ตั้งแต่ความพร้อมของกฎหมายในการรองรับรถยนต์ไร้คนขับ ไปจนถึงสภาพของถนน

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ AVRI และผลประเมินของแต่ละประเทศได้ที่ https://home.kpmg/th/en/home/insights/2019/01/global-automotive-executive-survey-2019.html .

เกี่ยวกับ AVRI

รายงาน Autonomous Vehicles Readiness Index (AVRI) ถูกทำขึ้นเพื่อศึกษาความพร้อมและการยอมรับในการใช้รถยนต์ไร้คนขับของแต่ละประเทศ โดยได้มีการสำรวจทั้งหมด 25 ประเทศ ซึ่งคัดเลือกจากขนาดเศรษฐกิจ และความก้าวหน้าในการใช้รถยนต์ไร้คนขับ แต่ละประเทศจะถูกประเมินตาม 25 ด้านย่อยที่แตกต่างกัน ภายใต้ 4 ด้านหลัก คือ 1) นโยบายและกฎหมาย 2) เทคโนโลยีและนวัตกรรม 3) โครงสร้างพื้นฐาน 4) การยอมรับของผู้บริโภค โดยแต่ละด้านมีคะแนนที่เท่ากัน และใช้การประเมินจากทั้งข้อมูลปฐมภูมิและข้อมูลทุติยภูมิ

ระเบียบวิธีการประเมินความคิดเห็นผู้บริโภค

เคพีเอ็มจีร่วมมือกับ ESI ThoughtLab ในการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคใน 25 ประเทศ เกี่ยวกับทัศนคติ และแนวโน้มที่จะใช้รถยนต์ไร้คนขับ หากมีรถยนต์ไร้คนขับผลิตออกสู่ตลาด โดยแบบสำรวจครอบคลุมด้านประชากรศาสตร์ และข้อมูลเกี่ยวกับความเห็นคิดและความต้องการโดยสารรถยนต์ไร้คนขับ นอกจากนี้ แบบสำรวจยังมีคำถามที่ครอบคลุมการโดยสารประเภท rideshare และการขนส่งควบคู่กับการให้บริการ (mobility-as-a-service – MaaS) อีกด้วย

เกี่ยวกับเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล

เคพีเอ็มจี เป็นเครือข่ายระดับโลกของบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบบัญชี ภาษี และการให้คำปรึกษา เราดำเนินงานใน 153 ประเทศ และมีพนักงานมากกว่า 207,000 คน ที่ทำงานร่วมกันในบริษัทสมาชิกทั่วโลก บริษัทที่เป็นสมาชิกเครือข่ายเคพีเอ็มจีจะถือเป็นสมาชิกของเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล (KPMG International) เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นบริษัทสัญชาติสวิส ทั้งนี้ แต่ละบริษัทที่เป็นสมาชิกเคพีเอ็มจีเป็นนิติบุคคลที่แยกต่างหากจากกัน และมีอิสระตามกฎหมาย

เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย

เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เป็นสมาชิกของ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีเครือข่ายทั่วโลก ซึ่งให้บริการด้านตรวจสอบบัญชี ภาษีและกฎหมาย และให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ปัจจุบันมีพนักงานมากกว่า 1,700 คน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐:๕๙ ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ให้การต้อนรับอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม
๒๐:๓๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๒๐:๕๒ Vertiv เปิดตัวดาต้าเซ็นเตอร์ไมโครโมดูลาร์รุ่นใหม่ที่มี AI ในเอเชีย
๒๐:๐๙ พิธีขึ้นเสาเอก เปิดไซต์ก่อสร้าง โครงการ แนชเชอแรล ภูเก็ต ไพรเวท พูลวิลล่า บ้านเดี่ยวบนทำเลทองใจกลางย่านเชิงทะเล
๒๐:๔๖ เขตบางพลัดประสาน รฟท.-กทพ. ปรับภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวหน้าสถานีรถไฟบางบำหรุ
๒๐:๕๘ ร่วมแสดงความยินดีแก่อธิบดีกรมยุโรป ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๒๐:๐๓ กทม. เดินหน้าจัดกิจกรรมริมคลองโอ่งอ่าง ส่งเสริมอัตลักษณ์ กระตุ้นเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว
๒๐:๔๙ พาราไดซ์ พาร์ค ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พาคุณไปสัมผัสการนวดเพื่อสุขภาพจาก 4 ภูมิภาคของไทย
๒๐:๒๔ Digital CEO รุ่นที่ 7 เรียนรู้เข้มข้นต่อเนื่อง จากวิทยากรชั้นนำของวงการ
๒๐:๒๔ เด็กไทย คว้ารางวัลระดับโลก โดรนไทย ชนะเลิศนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านอากาศยานไร้คนขับ UAV ณ กรุงเจนีวา