กสอ.อัดงบกว่า 800 ล้านบาท เข้มมาตรการ “การตลาด – นวัตกรรม” กระตุ้นอุตฯ ปี 62 พร้อมหนุน 4 โค้ช ติวเข้มศักยภาพ ผปก. ครบวงจร

อังคาร ๑๓ พฤศจิกายน ๒๐๑๘ ๑๔:๕๓
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เผยงบประมาณเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ปี 2562 รวมกว่า 800 ล้านบาท โดยมี 80 โครงการที่ใช้ในการช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการทั่วประเทศครบทุกมิติ ชี้การดำเนินงานที่สำคัญในปีถัดไปจะอยู่ภายใต้นโยบาย "From Local to Global" by Marketing and Innovation หรือการผลักดันให้ผู้ประกอบการก้าวสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลก ด้วยกระบวนการที่สำคัญ 2 รูปแบบ คือ การตลาดนำการส่งเสริม และนวัตกรรมนำการส่งเสริม เพื่อสร้างความสมดุลระหว่าง ความต้องการผลิตสินค้ากับความต้องการของตลาด รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าและบริการด้วยงานวิจัย เทคโนโลยี และแพลทฟอร์มใหม่ ๆ ที่จะเป็นตัวช่วยในทางธุรกิจ นอกจากนี้ การดำเนินงานในปีถัดไป ยังจะมีลักษณะเหมือน "โค้ช" ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ชี้แนวทางปรับเปลี่ยนโมเดล ธุรกิจและที่ปรึกษาปัญหาเฉพาะด้าน 4 กลุ่ม ได้แก่ โค้ชเตรียมความพร้อมสู่ยุค 4.0 โค้ชการค้า การขายและช่องทางจำหน่ายในตลาด โค้ชสนับสนุนด้านสินเชื่อและเงินทุน และโค้ชเชื่อมโยง SMEs สู่ระดับโกลบอล

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการกว่า 800 ล้านบาท โดยมี 80 โครงการ เพื่อใช้ในการช่วยเหลือและพัฒนา SMEs ประมาณ 5,000กิจการ พัฒนาผู้ประกอบการ/บุคลากรอุตสาหกรรม ประมาณกว่า 25,000 คน พัฒนาวิสาหกิจชุมชนกว่า 2,000 ราย ยกระดับผลิตภัณฑ์และการบริการอีกประมาณกว่า 2,000 รายการ คาดว่าการส่งเสริมทั้งหมดจะเกิดมูลค่า ทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานที่สำคัญในปีถัดไปจะอยู่ภายใต้ นโยบาย "From Local to Global" by Marketing and Innovation คือผลักดันให้ผู้ประกอบการก้าวสู่ระดับภูมิภาค และระดับโลกมากขึ้นด้วยกระบวนการที่สำคัญ 2 รูปแบบ ได้แก่

- การตลาดนำการส่งเสริม ซึ่งเป็นแนวคิดด้านการบริหารจัดการ เพื่อให้ปริมาณการผลิตและความต้องการสินค้าต่าง ๆ เกิดความสมดุล พร้อมช่วยลดปัญหาการสต็อกสินค้าและสินค้าล้นตลาด ซึ่ง กสอ.จะมุ่งให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการทำน้อยให้ได้มาก เปลี่ยนแนวคิดการผลิตจากเดิมที่หวังผลผลิตสูงสุดเป็นกำไรสูงสุด โดยมีแนวทางปฏิบัติที่ทั้งในด้านบุคลากรและการสร้างแพลทฟอร์มต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ได้แก่ การผลักดัน สู่ช่องทางการค้าออนไลน์ เช่น อาลีบาบา ลาซาด้า ซึ่งปี 2562 ได้ตั้งเป้าให้ SMEs เข้าสู่ช่องทางดังกล่าวไม่น้อยกว่า 10,000 ราย กิจกรรมส่งเสริมการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสร้างแบรนด์สำหรับธุรกิจ อาทิ วิดีโอ อินฟลูเอนเซอร์ การสอนถ่ายภาพเพื่ออีคอมเมิร์ซ พัฒนาอี-แคตตาล็อกบนเว็บไซต์เพื่อโปรโมทสินค้า ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น สนับสนุนการใช้บิ๊กดาต้า เช่น ฐานข้อมูลเพื่อการจับคู่ธุรกิจบน T-Goodtech , J-Goodtech การให้ข้อมูลเรื่องเทรนด์ หรือกระแสความเปลี่ยนแปลงของตลาดทั้ง micro moment หรือพฤติกรรมรายวัน รายเดือน รายหกเดือน ฯลฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าให้มีรูปแบบที่หลากหลายขึ้น

- นวัตกรรมนำการส่งเสริม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของเอสเอ็มอีด้วยการนำผลงานวิจัยหรือกระบวนการใหม่ ๆ มาใช้รังสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ เช่น การเชื่อมโยงความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในการนำงานวิจัยไปต่อยอดสินค้า หรือพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ การสนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เช่น อาหารแห่งอนาคต เกษตรแปรรูป ผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยว ฯลฯ การพัฒนาแพลทฟอร์มเพื่อเป็นตัวช่วยในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ อาทิ แอปพลิเคชั่นเพื่อการจัดทำบัญชี แอปพลิเคชั่นท่องเที่ยวหมู่บ้าน CIV การผลักดันการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนานวัตกรรมกับภาคเอกชนขนาดใหญ่ หน่วยงานส่งเสริมนวัตกรรม และสถาบันการเงิน พร้อมด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์อย่างจริงจัง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยังจะมีการใช้พื้นที่บริเวณย่านกล้วยน้ำไทให้เป็นศูนย์รวม การบริการด้านนวัตกรรมที่ครบวงจร โดยความร่วมมือของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

นายกอบชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งเสริมผู้ประกอบการของ กสอ.ในปีถัดไป ยังจะมุ่งเน้นการดำเนินงานให้มีลักษณะเหมือน "โค้ช" ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ชี้แนวทางปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ การถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ที่จำเป็นต่าง ๆ เป็นที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยงทั้งปัญหาทั่วไปและปัญหาเฉพาะด้าน โดยได้วาง"โค้ช" ไว้ 4 กลุ่มได้แก่

1. โค้ชเตรียมความพร้อมสู่ยุค 4.0 โดยในกลุ่มนี้จะใช้ผู้เชี่ยวชาญ บริการและเครื่องมือที่ทันสมัยพัฒนาให้ SMEs รู้จักกระบวนการทางธุรกิจที่ก้าวหน้ามากกว่าองค์ความรู้เดิมๆ โดยเฉพาะด้านนวัตกรรม การแปรรูป และการออกแบบ เช่น ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SSRC) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thai-IDC) ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SSRC) รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ระดับจังหวัด (Mini ITC) ที่จะให้ความช่วยเหลือและต่อยอดธุรกิจผู้ประกอบการได้ครบทุกพื้นที่

2. โค้ชการค้า การขาย และช่องทางจำหน่ายในตลาด ซึ่งจะมุ่งเน้นการให้ความรู้ผ่านการฝึกอบรมต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เช่น หลักสูตรเชิงปฏิบัติการด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเพิ่มยอดขาย การจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและบริษัททั่วโลก โดยยังจะมีการผลักดันเข้าสู่ช่องทางใหม่ ๆ ที่สามารถรองรับการจัดจำหน่ายได้จริง เช่น J-Goodtech /Lazada/Alibaba

3. โค้ชสนับสนุนด้านสินเชื่อและเงินทุน โดยจะให้คำปรึกษาและการฝึกปฏิบัติด้านการเขียนแผนธุรกิจเพื่อขอรับทุนการให้องค์ความรู้เรื่องหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการยื่นคำขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน เพื่อให้ SMEs มีขีดความสามารถทางธุรกิจโดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าสินค้าและการบริการในทิศทางที่ดีขึ้น พร้อมกันนี้ กสอ.ยังมีสินเชื่อเพื่อให้บริการกับผู้ประกอบการทั่วประเทศ ได้แก่ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินคนตัวใหญ่ คงเหลือ750 ล้านบาท และคนตัวเล็ก คงเหลือ 3,100 ล้านบาท ส่วนเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีจำนวน 100 ล้านบาท

4. โค้ชเชื่อมโยง SMEs สู่ระดับโกลบอล เป็นการบ่มเพาะและเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการที่มีศัยภาพ ตั้งแต่ส่วนกลางไปจนถึงส่วนภูมิภาคให้ก้าวสู่ตลาดโลก ซึ่งมีกิจกรรมสนับสนุน เช่น โครงการเตรียมความพร้อม SMEs เพื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ การจับคู่กับธุรกิจต่างชาติเพื่อให้เอื้อต่อการดำเนินงานด้านการผลิต การแบ่งปันองค์ความรู้ เทคโนโลยีที่สามารถปรับใช้ได้ในกระบวนการต่าง ๆ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังจะมีการ ดึงต้นแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จร่วมเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็ก และขนาดกลางเพื่อเรียนรู้เทคนิคในการก้าวสู่ตลาดต่างชาติ พร้อมนำไปเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ได้จริงในการดำเนินธุรกิจ

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 022024414 - 17 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘ เม.ย. DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๘ เม.ย. Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๘ เม.ย. Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๘ เม.ย. โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๘ เม.ย. 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๘ เม.ย. TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๘ เม.ย. SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๘ เม.ย. โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๘ เม.ย. หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๘ เม.ย. คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital