กสอ. เผย 4 ปัจจัยหนุนอุตฯเกษตรไทย ปี 62 ตั้งเป้าดันกลุ่มธุรกิจเกษตรแปรรูประดับ “สตาร์”สู่ตลาดหลักทรัพย์เพื่อเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรม

ศุกร์ ๑๘ มกราคม ๒๐๑๙ ๑๖:๒๑
- ผปก.อุตฯเครื่องดื่มแนะ เกษตรแปรรูปไทยต้องสู้ด้วย "สุขภาพ - ปรุงแต่งน้อย - นวัตกรรม" เชื่ออุตฯเกษตรยังยืนหนึ่งได้แต่ต้องรู้จักปรับตัว

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เดินหน้ายกระดับอุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูป เผยปี 2562 จะมุ่งส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อลดความท้าทายของเกษตรกรและผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำพร้อมชี้การส่งเสริมด้านการตลาดและการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมการเกษตรของไทยสามารถปรับตัวได้ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนและไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะมีการเติบโตสูง การปรับเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์สู่สินค้านวัตกรรม ฯลฯ นอกจากนี้ กสอ. ยังมีแผนที่จะผลักดันสถานประกอบการที่ดำเนินธุรกิจเกษตรแปรรูปที่มีศักยภาพ หรือ กลุ่ม "สตาร์" เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และยกระดับจาก วิสาหกิจขนาดย่อมไปสู่วิสาหกิจขนาดใหญ่อีกด้วย

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า กสอ.ได้พัฒนาโครงการและกิจกรรมเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตร โดยในปีนี้จะมุ่งเน้นไปที่นโยบายที่สามารถดำเนินงานได้ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยจะมุ่งเป้าความช่วยเหลือไปที่การให้องค์ความรู้ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ไม่สูงจนเกินไป เช่น การพัฒนาสายพันธุ์ หุ่นยนต์เพื่อการผลิต เทคโนโลยีเพื่อการแปรรูป ฯลฯ นอกจากนี้ ยังจะเร่ง "ลดความท้าทาย" ของเกษตรกรและผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ด้วยการนำเอาวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมมาใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละผลิตผลทางการเกษตรที่มีความโดดเด่นของแต่ละท้องที่ ซึ่งเชื่อมั่นว่างานวิจัยหรือนวัตกรรมต้นแบบที่มีอย่างหลากหลายทั้งจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานส่งเสริม ด้านวิทยาศาสตร์ ฯลฯ จะเป็นกลไกที่สำคัญที่จะช่วยลดอุปสรรคและปัญหาอันหลากหลายที่ผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยกำลังเผชิญได้เป็นอย่างดี

นายกอบชัยกล่าวต่อว่า แม้หลายฝ่ายจะมีการคาดการณ์ว่าการเติบโตในด้านการเกษตรของประเทศไทยจะมีแนวโน้มชะลอตัว– คงที่ (ข้อมูลจาก : ธนากสิกรไทย และหอการค้าไทย) แต่ กสอ. เชื่อว่าการส่งเสริมนวัตกรรมเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมการเกษตรของไทยสามารถปรับตัวได้ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนและไม่แน่นอนได้ ซึ่ง 4 ปัจจัยที่สำคัญด้านการตลาดและการจัดการสำหรับภาคการเกษตรในปี2562 ได้แก่

- การเชื่อมโยงไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะมีการเติบโตสูงได้แก่ การท่องเที่ยว สุขภาพและการแพทย์ และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยจะต้องผนวกการเกษตรให้เป็นส่วนหนึ่งกับกิจกรรมดังกล่าว เช่น การผลิตสินค้าแปรรูปที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนท่องเที่ยว การผลักดินสินค้าให้สามารถขายได้ในช่องทางออนไลน์เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลและสามารถสั่งซื้อได้โดยที่ไม่ต้องเดินทาง

- ปรับเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์สู่สินค้านวัตกรรมโดยเน้นการผลิตและผลักดันสินค้าสู่ตลาดพรีเมียม อาทิ เกษตรอินทรีย์ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร เช่น สปา เครื่องสำอาง นอกจากนี้ เกษตรกรผู้เพาะปลูกบางรายยังควรผันตนเองจากผู้ผลิตขั้นต้นสู่ผู้ผลิตขั้นกลางและขั้นปลาย หรือเกษตรกรแบบผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น

- เน้นการรวมกลุ่มหรือเครือข่ายทางอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย สมาคมธุรกิจ และองค์กรต่างๆ เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การขนส่ง การผลิต ไปจนกระทั่งการแปรรูปและจำหน่ายสินค้า ปัจจัยในข้อนี้นอกจากจะช่วยให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรรู้จักที่จะวางแผนอย่างเป็นขั้นตอน รวมถึงลดความเสี่ยงในการแข่งขันกับคู่แข่งทั้งในและต่างประเทศได้อีกด้วย

- การหมั่นศึกษาตลาดต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอำนาจซื้อเช่น กลุ่มผู้สูงวัยที่กำลังเป็นเทรนด์ที่ทุกอุตสาหกรรมกำลังให้ความสำคัญ กลุ่มผู้บริโภครักสุขภาพ กลุ่มผู้บริโภคชาวต่างชาติ ฯลฯ ซึ่งหากผู้ประกอบการรู้จักตลาดต่างๆเป็นอย่างดี ก็จะช่วยให้สินค้าที่ถูกผลิตออกมาเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และมีอำนาจในการกำหนดราคาและรูปแบบของผลิตภัณฑ์ (เจ้าตลาด) พร้อมทั้งสร้างความภักดีให้เกิดขึ้นกับแบรนด์ต่อไป

นายกอบชัยกล่าวเพิ่มเติมว่าผลการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในปี 2561 ที่ผ่านมา กสอ. สามารถยกระดับศักยภาพสถานประกอบการ ได้กว่า 2,800 กิจการ ด้านที่โดดเด่นและเห็นผลเป็นรูปธรรม ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโดยใช้เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม อีกทั้งยังทำให้แต่ละสถานประกอบการลดการสูญเสีย เช่น ต้นทุนพลังงานลดเวลาเครื่องจักรเสีย ความสูญเปล่าจากการจัดการสินค้าคงคลังและคลังสินค้าที่ไม่มีประสิทธิภาพได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังสามารถผลักดันสินค้าเกษตรแปรรูปให้เข้าสู่ช่องทางออนไลน์ รวมถึงเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทั้ง2,800กิจการ ให้สูงขึ้นได้ 100 %

กสอ.ได้เตรียมส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง กลุ่มทรัพยากร กลุ่มบริการ และกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน 7 อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง และสามารถพัฒนาให้เติบโตได้อีกมาก กสอ.จึงมีแผนที่จะผลักดันสถานประกอบการ ที่ดำเนินธุรกิจดังกล่าวที่มีศักยภาพหรือกลุ่ม "สตาร์" ให้สามารถแปรสภาพเพื่อเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน ยกระดับจากวิสาหกิจขนาดย่อม (Small Size) ให้ก้าวกระโดดไปเป็นวิสาหกิจขนาดกลาง (Medium Size) ที่เข้มแข็ง หรือยกระดับจากวิสาหกิจขนาดกลางไปเป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่ (Large Size) สามารถสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจในระยะยาว สำหรับวิสาหกิจที่เข้าร่วมโครงการนี้จะเป็นต้นแบบในการพัฒนาเพื่อขยายผลให้เอสเอ็มอีอื่นๆ ได้สามารถศึกษาแนวทางการพัฒนาและเรียนรู้กลยุทธ์และการปฏิบัติเพื่อนำไปปรับและประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนได้ในอนาคตนายกอบชัยกล่าว

ด้านนายพลแสง แซ่เบ๊ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท โรแยล พลัส จำกัดกล่าวว่า บริษัทฯ เริ่มประกอบธุรกิจเครื่องดื่มน้ำมะพร้าวและน้ำผลไม้เพื่อการส่งออก โดยเริ่มลงทุนโรงงานแห่งแรกในปี พ.ศ.2554 ในปีแรก (พ.ศ.2555) บริษัทฯ มียอดขายเพียง 26 ล้านบาท เท่านั้น แต่ด้วยการปรับตัวในการทำธุรกิจตลอดเวลา และสินค้าที่บริษัทฯ นำเสนอออกไปสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ในหลายๆ ภูมิภาคทั่วโลก ทำให้บริษัทฯ สามารถทำยอดขายให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2561 ที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถทำยอดขายได้ 750 ล้านบาท หรือเติบโตจากระยะแรกเริ่มในเวลาไม่ถึง 10 ปี กว่า 1000%

"หัวใจสำคัญของบริษัทฯ คือ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาสินค้าให้ก้าวทันความต้องการของโลก กลยุทธ์หลักๆ ของบริษัทฯ คือการเปลี่ยนความต้องการของผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ จากแนวคิดของผู้บริโภคสู่ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่มีรสชาติดีเพื่อตอบสนองทั้งความคาดหวังทั้งด้านรสชาติ และด้านสุขภาพของผู้บริโภค การทำเช่นนี้ได้ บุคลากรต้องเปิดกว้างด้านความคิด ต้องปรับตัว ต้องหาข้อมูลให้มากเพื่อสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การมีเจตจำนงที่ต้องการพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรไทย ให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพระดับโลก โดยเฉพาะผลไม้ไทย ซึ่งเป็นผลไม้เขตร้อน มีรสชาติ และกลิ่นที่ดี หากแต่จะทำอย่างไรให้สามารถพัฒนาเป็นสินค้าคุณภาพมาตรฐานโลก และมีรูปลักษณ์ถูกใจผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่โรแยลพลัสไม่หยุดนิ่งที่จะคิดและพัฒนา"

นายพลแสงกล่าวเพิ่มเติมว่า หากมองในส่วนของการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มจากประเทศไทยจะพบว่าเติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมา และจากข้อมูลที่บริษัทฯติดตาม ยังพบว่า ตลาดโลกมุ่งความสนใจในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เน้นการดูแลสุขภาพมากขึ้น ผ่านขั้นตอนและสารปรุงแต่งน้อยซึ่งประเทศไทยจะได้เปรียบในส่วนที่มีวัตถุดิบทางการเกษตรที่หลากหลาย และ เป็นพืชผลจากภูมิภาคร้อนชื้น หรือ tropical zone จึงทำให้รสชาติของผลไม้ หรือ พืชผลเกษตร มีรสชาติที่ดีถูกใจผู้บริโภค อย่างไรก็ดี ในความเห็นของบริษัทฯ ธุรกิจแปรรูปเกษตรของไทยยังมีโอกาสสูงในตลาดโลก หากแต่เราต้องใช้แนวคิดที่จะเอาความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกมาเป็นแนวทางการพัฒนา นอกจากนี้ ในส่วนของตลาดต่างประเทศ ธุรกิจเครื่องดื่มในแต่ละประเทศมีการแข่งขันที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดเห็นจะเป็นเรื่องของคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งโรแยลพลัส เองก็ลงทุนในเรื่องนี้อย่างมาก ปีนี้เอง บริษัท มีแผนที่จะเข้าสู่ระบบคุณภาพที่สำคัญคือ FSSC 22000 และ ISO22000ซึ่งเดิม เราได้ GMP / HACCP / Thailand Trust Mark / Halal / Green Industry และ มาตรฐานแรงงานไทยอยู่แล้ว

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2367 8201-4,0 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.thหรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4