สศก. เผยผลศึกษาความต้องการกระเทียมไทย-จีน ผ่านมุมมองผู้ประกอบการภาคเหนือ

อังคาร ๒๓ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๑๐:๕๓
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษา เรื่อง "ความต้องการใช้ระหว่างกระเทียมไทยและกระเทียมจีน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และลำพูน" โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ (สศท.1) ได้ทำการศึกษาความต้องการใช้กระเทียมของผู้ประกอบการ โดยเปรียบเทียบระหว่างกระเทียมไทยและกระเทียมจีน รวมถึงศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกระเทียมที่เหมาะสมเพื่อให้มีผลผลิตและคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการใช้

การศึกษาดังกล่าว ได้สัมภาษณ์ผู้ประกอบการ 3 จังหวัด จำนวน 16 ราย พบว่า ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการในภาคเหนือ ร้อยละ 94 จะรับซื้อกระเทียมไทย และผู้ประกอบการร้อยละ 6 รับซื้อกระเทียมจีน โดยการรับซื้อกระเทียมไทย จะรับซื้อเป็นกระเทียมแห้ง ร้อยละ 55 เพื่อนำมาแกะกลีบ และส่งต่อไปยังผู้รวบรวมรายใหญ่ทางภาคกลาง ศูนย์กระจายสินค้าของห้างสรรพสินค้า ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง สำหรับจำหน่ายให้กับผู้บริโภค และโรงงานอุตสาหกรรมอาหารเพื่อแปรรูปต่อไป และร้อยละ 45 รับซื้อเป็นกระเทียมสดเพื่อจำหน่ายต่อ และบางส่วนนำไปทำพันธุ์ รวมทั้งส่งอุตสาหกรรมกระเทียมดอง ในขณะที่กระเทียมจีน ผู้ประกอบการในภาคเหนือ จะรับซื้อและจำหน่ายเป็นกระเทียมแห้งอย่างเดียวทั้งหมด โดยผ่านตัวแทนผู้ค้าชาวจีนซึ่งจะส่งกระเทียมมาจากภาคกลาง อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามความคิดเห็น ผู้ประกอบการภาคเหนือมีความเห็นว่าผู้บริโภคและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเลือกซื้อกระเทียมจีน มากขึ้น เนื่องจากกระเทียมจีนมีการนำเข้ามาในรูปแบบตัดลอนหรือหัวเดี่ยว แกะกลีบง่าย ส่วนกระเทียมไทยจะนำมาขายในลักษณะมัดจุกแบบไม่ได้ตัดแต่ง ผู้ใช้ต้องจ้างแรงงานตัดลอนและแกะกลีบ ส่งผลให้ต้นทุนของกิจการสูงขึ้น และก่อเกิดขยะในสถานประกอบการเพิ่ม

ด้านนายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการ สศท.1 กล่าวเสริมว่า จากการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการถึงความต้องการใช้ระหว่าง กระเทียมไทยและกระเทียมจีนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และลำพูน โดยร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องประมาณ 40 ราย ประกอบด้วย ตัวแทนเกษตรจังหวัด และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และลำพูน ตัวแทนผู้ค้าและวิสาหกิจชุมชนผู้รวบรวมกระเทียมในพื้นที่ ตัวแทนร้านอาหาร/ภัตตาคาร และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระเทียมจากคณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเดอะวินเพลส จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมหาแนวทางการบริหารจัดการกระเทียมที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาผลผลิตกระเทียมให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการไทย ได้มีข้อเสนอแนะการบริหารจัดการในด้านต่างๆ ดังนี้

ด้านคุณภาพผลผลิต เกษตรกรควรพัฒนาคุณภาพผลผลิตเพื่อแก้ปัญหากลีบฝ่อและให้สามารถเก็บไว้ใช้ได้นาน โดยใช้ปุ๋ยเคมี ในปริมาณที่เหมาะสมและเก็บเกี่ยวในระยะเวลาที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพกระเทียม ส่วนในระยะต่อไปควรปรับเปลี่ยนมาผลิตกระเทียม GAP และพัฒนาไปสู่กระเทียมอินทรีย์ เนื่องจากมีตลาดรองรับแน่นอนและมีราคาสูง อีกทั้งผู้ประกอบการร้านอาหาร ยินดีสนับสนุนเพิ่มปริมาณการรับซื้อกระเทียมไทยมากขึ้น หากผลผลิตกระเทียมมีคุณภาพดี ด้านความต้องการ ควรสำรวจความต้องการใช้กระเทียมแต่ละประเภทของผู้ประกอบการ พร้อมกับสำรวจพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสมกับการปลูกกระเทียมในแต่ละประเภท และอาจมีการทำข้อตกลงระหว่างผู้ประกอบการกับเกษตรกร ให้เกิดความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย พร้อมประชาสัมพันธ์ข้อดีกระเทียมไทยควบคู่กับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะโรงแรมและร้านอาหารต่างๆ และ ด้านการนำเข้า ภาครัฐต้องควบคุมการนำเข้าทั้งกระเทียมพันธุ์และกระเทียมบริโภคอย่างจริงจัง และเข้มงวดการส่งออกกระเทียมพันธุ์ของไทย เพื่ออนุรักษ์กระเทียมไทยให้เป็นเอกลักษณ์

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กระเทียมไทย มีแหล่งปลูกสำคัญในพื้นที่ภาคเหนือ โดยในปี 2561 พื้นที่เพาะปลูก 3 จังหวัด (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน) รวม 61,183 ไร่ (ร้อยละ 71 ของพื้นที่ปลูกกระเทียมทั้งประเทศ) ให้ผลผลิตรวม 71,547 ตัน (ร้อยละ 79 ของผลผลิตทั้งประเทศ) โดยผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ซึ่งนอกจากกระเทียมจะเป็นพืชอาหารที่สำคัญและมีคุณประโยชน์ด้านยารักษาโรคแล้ว ยังเป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรมาโดยตลอด ดังนั้น ภาครัฐ ควรส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาตนเองเป็นผู้ประกอบการ นอกเหนือจากบทบาทผู้ปลูก เพื่อจะได้วางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการตลาดได้ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตโดยขายแบบมัดจุกตัดแต่งแทนการขายเหมายกสวน และสร้างความตระหนักให้แก่เกษตรกร ได้เข้าใจถึงความต้องการของผู้ใช้และพฤติกรรมของผู้บริโภค เป็นต้น ทั้งนี้ ท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตการตลาดของกระเทียมในพื้นที่ภาคเหนือ สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 053 121 318-19 หรือ อีเมล [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?