เปิดไอเดีย 3 ส่วนผสมแห่งความสำเร็จ “แพชชั่น” “ความคิดสร้างสรรค์” “ธุรกิจ” กุญแจสร้างความแตกต่างแต่ขายได้ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคยุคใหม่

พุธ ๒๘ สิงหาคม ๒๐๑๙ ๑๓:๔๙
CEA จัดเวที CEA Forum 2019 ยกกองทัพนักสร้างสรรค์ชาวไทย-เทศ ส่งต่อความรู้และแชร์กลยุทธ์ เพื่อประสบความสำเร็จในอุตฯ สร้างสรรค์

รู้หรือไม่ว่า การมีแพชชั่น (Passion) นั้นสำคัญฉไน เพราะนอกจากจะช่วยให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างมีเป้าหมายแล้ว ยังช่วยให้เรามีพลังขับเลื่อนและรังสรรค์สิ่งต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แตกต่าง และแปลกใหม่ ทั้งยังก่อให้เกิดอาชีพและรายได้ในอนาคตอีกด้วย เช่นเดียวกับ 10 นักสร้างสรรค์แถวหน้าของเมืองไทยที่ทุ่มเวลาเกือบทั้งชีวิต ไปกับการต่อยอดแพชชั่นร่วมกับพลังคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบ ก่อให้เกิดเป็นธุรกิจที่ทำแล้วมีความสุข มีรายได้ที่มั่นคง ควบคู่ไปกับการสร้างประโยชน์ให้สังคม และสร้างรายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศได้อย่างชาญฉลาด

ซึ่งงานนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ Creative Economy Agency (CEA) หน่วยงานรัฐ ที่โลดแล่นในแวดวงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พร้อมมุ่งส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ให้กับสินค้าและบริการ ปั้นแบรนด์ธุรกิจให้มีจุดยืนโดดเด่นและแตกต่าง รวมถึงผลักดันให้เกิดนโยบายที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย จึงไม่พลาดที่จะเชื้อเชิญ 10 นักสร้างสรรค์มาร่วมทอล์คบนเวที Creative event ภายในงาน CEA FORUM 2019 ที่จัดขึ้นในวาระครบรอบ 1 ปี ของหน่วยงาน ภายใต้แนวคิด The next step to Creative Economy เพื่อจุดประกายแนวคิดสร้างสรรค์ พร้อมแชร์เส้นทางกว่าจะมาเป็นนักสร้างสรรค์ที่มากประสบการณ์แบบไม่มีกั๊ก ! ซึ่งเส้นทางความสำเร็จจะน่าสนใจแค่ไหน ติดตามได้จากรายละเอียดดังต่อไปนี้

"อะไรก็ตามที่เกิดจากแพชชั่นหรือความชอบของตัวเอง จะก่อให้เกิดอาชีพ และรายได้ที่ดีตามมาในอนาคต"

นายประภากาศ อังศุสิงห์ ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ HOOK'S ผู้ออกแบบชุดประจำชาติไทยของมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ สำหรับการประกวดมิสยูนิเวิร์สปี 2017 เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการเข้าวงการดีไซน์เนอร์อย่างทุกวันนี้ เกิดขึ้นในสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ที่ไม่อยากรบกวนเงินจากครอบครัว และอยากมีรายได้เป็นของตัวเอง ซึ่งประจวบเหมาะกับพื้นฐานความชอบด้านงานศิลปะที่ครอบครัวได้ปลูกฝังไว้ และมีโอกาสได้ทำงานกับ คุณเจี๊ยบ-พิจิตรา บุญรัตพันธุ์ ห้องเสื้อพิจิตรา ไอคอนด้านแฟชั่นชั้นนำของเมืองไทย จึงได้เรียนรู้เทคนิคการออกแบบเสื้อผ้าแนวต่างๆ ในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่า "ศิลปะ" เป็นพื้นฐานของทุกอย่าง และเริ่มได้สร้างแบรนด์ HOOK'S ขึ้นมา อีกทั้งเมื่อมีโอกาสทำงานร่วมกับ ELLE Fashion Week ในหลายอีเว้นท์ จึงได้ใส่ความความชอบของตนเองลงไปด้วย อย่าง "ศิลปะ" ที่หากใครสังเกตจะเห็นได้ว่า ทุกคอลเลคชั่นจะสอดแทรกสี การแบ่งธีม การแต่งหน้า ที่สามารถสะท้อนถึงเส้นทางธรรมะ หรือแม้แต่แนวคิดการตัดสินคนจากภายนอก ที่ต้องการสื่อสารกับคนดูได้อย่างชัดเจน

แต่จุดที่เปลี่ยนชีวิตที่สุด คือ การออกแบบแฟชั่นโชว์ใน ELLE Fashion Week 2017 ภายใต้โจทย์ Araya in 9 เพื่อถวายความจงรักภักดีแด่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ถือเป็นโชว์ที่สูงที่สุดในชีวิตและมีความยาก เพราะจะพลาดไม่ได้ อีกทั้งเป็นโชว์ที่หลายคนพยายามทัดทาน แต่ส่วนตัวมองว่า ทุกสิ่งล้วนเกิดจากความตั้งใจที่ดีที่สุด ซึ่งหลังจากจบโชว์ดังกล่าว ชีวิตเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก เพราะได้งานและเงินจำนวนมาก และทำให้ได้เรียนรู้ว่า การที่ทำอะไรที่เข้าถึงคน สามารถบวกศิลปะเข้ากับความต้องคนได้จริงๆ จะช่วยส่งเสริมให้อาชีพเดินต่อไปได้ แต่ทั้งนี้ แม้หลังจบงานดังกล่าว ตนตั้งใจไม่ทำงานในลักษณะนี้อีก เพราะขาดแรงบันดาลใจในการทำต่อ พี่น้องร่วมวงการต่างคิดเห็นตรงข้ามและชวนทำต่อ จึงได้ห้วนรำลึกถึงประโยคหนึ่งของในหลวง ร.9 ที่ว่า "ไม่ต้องจำว่าฉันเป็นใคร แค่จำในสิ่งที่ฉันทำได้ก็พอ" และนับจากนั้นจึงเป็นแนวคิดที่นำมาปรับใช้ในการทำโชว์มาโดยตลอดว่า "ไม่ว่าจะทำอะไร จะต้องสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมด้วย"

"ผมเชื่อว่าในประเทศไทย สามารถขับเคลื่อนด้วยการออกแบบได้ และสามารถหากินกับอาชีพนี้ได้ เพราะงานออกแบบที่ดี ที่มีดีเทล มักมีราคาแพง"

นายศุภรัตน์ ชินะถาวร ผู้อำนวยการของ party/space/design สตูดิโอออกแบบที่ขับเคลื่อนวงการออกแบบไทยอย่างน่าจับตามอง ผู้คว้ารางวัลออสการ์ของการออกแบบร้านอาหารบนเวทีโลก เล่าว่า ตนเองมีโจทย์ในชีวิตอยู่ 2 สิ่งคือ "เงินและเวลา" จึงเริ่มมองหาอาชีพที่สามารถขับเคลื่อนทั้งสองสิ่งไปพร้อมกัน ขณะเดียวกันก็สำรวจความถนัดที่ตนเองมี ทั้งกราฟิกดีไซน์ (Graphic Design) การตกแต่งภายใน (Interior) การทำโฆษณา (Advertising) ประกอบกับครอบครัวมีธุรกิจร้านอาหารทะเล จึงเกิดเป็นแนวคิดในการผสานการออกแบบร่วมกับอาหาร ด้วยการเปิดบริษัทเกี่ยวกับการออกแบบและสร้างแบรนด์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยคนเป็นหลัก ดังนั้น จึงลงทุนไปกับออกแบบบริษัทให้เป็นทั้งคาเฟ่ (Cafe) บาร์ลับ (Hidden Bar) ห้องอาหารสไตล์ฝรั่ง (Fine dinning) ซึ่งใช้เวลาและการตกแต่งไปเรื่อยๆ จนได้รูปแบบที่ต้องการ และผลลัพธ์ที่ได้คือ พนักงานรู้สึกว่าต่อไปนี้ไม่ต้องหนีไปทำงานที่คาเฟ่ (Cafe) หรือร้านสตาร์บัค (Starbuck) แล้ว

"การที่ทำงานออกแบบร้านคาเฟ่หรือร้านอาหาร เมื่อ 4-5 ปีก่อน ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะไม่มีอาชีพนี้มาก่อน เวลาใครจะเปิดร้านอาหาร มักจะถามคนออกแบบโลโก้ คนออกแบบตึก แต่ไม่มีใครถามหานักออกแบบ ผมจึงต่อสู่ด้วยการเอาความเก่งที่มี จบสถาปัตยฯ ทำดีไซน์ ทำโฆษณา 3 อย่างนี้ ออกมาทำเป็นร้านอาหารร้านแรกที่ชื่อว่า Wine Republic หลังจากนั้นทำไปเรื่อยๆ อย่าง Too Fast Too Sleep ซึ่งเป็นผลให้ผมมองภาพรวมออก และสามารถพลิกรูปแบบการทำงานได้ตลอด"

โดยที่ผ่านมา ตนมีลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ ซุปเปอร์มาร์เก็ต มากกว่า 30 แบรนด์ ซึ่งทำให้ตนมีประสบการณ์และได้แนวคิดที่ทำให้ธุรกิจอยู่รอดในอุตสาหกรรมนี้อย่างยั่งยืน อาทิ "การเลือกใช้วัสดุใหม่ๆ สร้างประสบการณ์ที่ดีเสมอ" เพราะลูกค้ามักไม่มีความรู้เรื่องงานดีไซน์ ฉะนั้น นักออกแบบจะต้องศึกษา สำรวจความชื่นชอบของลูกค้า พร้อมถ่ายทอดเป็นวัสดุใหม่ๆ ที่มีเสน่ห์และอยู่ตรงกลางระหว่างความชอบของลูกค้า-นักออกแบบได้ อย่างร้าน NANA Coffee Roasters ที่หลงใหลถุงกาแฟเป็นอย่างมาก จึงเป็นไอเดียออกแบบหน้าร้านเป็นรูปถุงกาแฟ ที่กำลังเทเมล็ดกาแฟในรูปแบบของก้อนอิฐลงมา และ "การประเมินราคาก่อนเริ่มงาน" ถือเป็นสิ่งที่นักออกแบบพึงมี เพราะการทำข้อตกลงเรื่องงบประมาณก่อนการออกแบบจริง จะช่วยให้นักออกแบบสามารถประเมินงานดีไซน์ได้ อีกทั้งช่วยให้ลูกค้าประเมินได้ว่า การออกแบบร้านกาแฟต้องใช้งบฯ เท่าไหร่ ต้องตั้งราคาเครื่องดื่มกี่บาทต่อแก้ว "สร้างแบรนด์จากสิ่งที่เป็นตัวเรา และคู่แข่งไม่มีวันเป็นได้" อย่างร้าน Too Fast Too Sleep ร้านกาแฟที่เปิด 24 ชั่วโมงและที่มีทำเลใกล้สถาบันศึกษา จึงเกิดเป็นไอเดียในการตกแต่งบรรยากาศร้าน ด้วยการโชว์สันหนังสืออ่าน และหนังศิลปะ/การออกแบบมาเป็นพร๊อพ (Prop) ซึ่งเกิดเป็นภาพจำให้ลูกค้าที่ไปใช้บริการรู้สึกเหมือนนอนท่ามกลางหนังสือ และนั่งทำงานจนถึงเช้าได้

ด้าน นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA เล่าถึงเป้าประสงค์ของการเปิดเวที CEA Forum 2019 ว่า CEA ในฐานะหน่วยงานของรัฐ ที่มีพันธกิจหลักในการส่งเสริมให้คนไทยเปี่ยมด้วยความรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์ ต้องการหล่อหลอมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ นักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ มีกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ที่มองเห็นว่า ทุกสิ่งรอบตัวสามารถต่อยอดได้ทั้งสิ้น เพียงอย่ายึดติดอยู่ในกรอบของความเคยชิน ขณะเดียวกัน ต้องการเปิดมุมมองด้านการประกอบอาชีพ และเริ่มต้นธุรกิจให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ยังมีอีกหลากหลายอาชีพที่สามารถทำสร้างรายได้ได้ในอนาคต เพียงขมวดรวมกับความคิดสร้างสรรค์ และการลงมือทำ แต่หากไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ก็สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงสำรวจแพชชั่นของตนเอง เพราะแพชชั่นถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และเมื่อได้ทำในสิ่งที่รัก เกิดเป็นความสร้างสรรค์ เกิดเป็นผลงานที่สร้างมูลค่ามากมาย ซึ่งไม่เพียงแต่จะเกิดประโยชน์กับตนเองเท่านั้น หากแต่ประเทศก็ได้ประโยชน์ร่วมด้วยจากการหมุนเวียนของเม็ดเงินการลงทุน

ผู้สนใจสามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องกระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือพัฒนาธุรกิจในแง่มุมต่างๆ สามารถติดต่อหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02 105 7450 เว็บไซต์ www.cea.or.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๔:๓๙ สมาคมธนาคารไทย ออกแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้กลุ่มเปราะบางทั้งลูกค้าบุคคลและSME
๑๔:๐๒ ผู้ลงทุนเชื่อมั่น โลตัส (Lotus's) จองซื้อหุ้นกู้เต็มจำนวน 9 พันล้านบาท
๑๔:๑๕ สมัครบัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ วีซ่า รูดช้อปรับคุ้ม! รับเครดิตเงินคืนสูงสุด 5%
๑๔:๔๘ MASTER ประชุมผู้ถือหุ้นปี 67 ผ่านฉลุย ไฟเขียวจ่ายปันผล เดินหน้าสร้างโอกาสโตตามกลยุทธ์ MP
๑๔:๔๓ ธนาคารกรุงเทพ จับมือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนาม MOU ส่งเสริมการผลิตบุคลากร-พัฒนาศักยภาพ-ถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีดิจิทัล
๑๔:๒๐ ITEL จัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. เห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผลอัตรา 0.0696 บ./หุ้น
๑๔:๒๙ ไทยพาณิชย์ ตอกย้ำกลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch เปิดตัว โปรจีน อาฒยา นักกอล์ฟหญิงระดับโลก เป็น Brand
๑๔:๓๐ KCG จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2567 พร้อมอนุมัติจ่ายปันผล 0.30 บาทต่อหุ้น
๑๔:๔๙ บาฟส์ ประกาศความสำเร็จ ลุยขยายโครงข่ายขนส่งน้ำมันทางท่อ เชื่อมต่อเครือข่ายพลังงานทั่วไทย
๑๔:๓๙ บีโอไอจับมือพันธมิตร จัดงาน SUBCON Thailand 2024