นักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 70 ราย ศึกษาโอกาสการลงทุนในไทย พร้อมจับคู่ธุรกิจมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท

อังคาร ๒๖ พฤศจิกายน ๒๐๑๙ ๑๖:๔๐
บีโอไอดึงนักลงทุนญี่ปุ่นระดับท้องถิ่น ในกลุ่มเครื่องจักร จากภูมิภาคคันไซและชูโกกุ มาศึกษาโอกาสและลู่ทางการลงทุนในไทย และจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการไทย คาดเกิดมูลค่าการซื้อขาย กว่า 300 ล้านบาท

นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บีโอไอ โดยสำนักงานบีโอไอ โอซากาได้นำคณะนักลงทุนระดับท้องถิ่นกว่า 70 ราย จากภูมิภาคคันไซ และภูมิภาคชูโกกุ อาทิ นครโอซากา จังหวัดชิมาเน โอกายามา ฮิโรชิมา เป็นต้น มาศึกษาโอกาสและลู่ทางการลงทุนในไทย โดยได้เข้าร่วมการสัมมนาในหัวข้อ "Business Opportunity in Thailand" เพื่อรับทราบนโยบายส่งเสริมการลงทุน ศักยภาพและความพร้อมในการรองรับการลงทุนของอีอีซี ตลอดจนฟังประสบการณ์การทำธุรกิจในไทยจากนักลงทุนญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยแล้ว

ในโอกาสเดียวกันนี้ คณะนักธุรกิจญี่ปุ่นยังได้มีโอกาสเยี่ยมชมบริษัทญี่ปุ่นที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ด้านยานยนต์และชิ้นส่วน เยี่ยมชมกิจการของผู้ประกอบการไทย ด้านดิจิทัลและอากาศยาน และศึกษาดูงานสถาบันเทคโนโลยีการผลิต SIMTec หรือศูนย์เทคนิคแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาบุคลากรโดยร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและเอกชนที่สำคัญ 14 หน่วยงาน โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือชั้นนำของโลก โดยเฉพาะญี่ปุ่น นำเครื่องจักร อุปกรณ์มาติดตั้งเพื่อใช้ในการอบรมและสาธิตภาคปฏิบัติด้วย

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการญี่ปุ่นยังได้ร่วมกิจกรรมสร้างเครือข่ายและจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการไทย จำนวน 64 คู่บริษัท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องจักร และอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะทำให้เกิดธุรกรรมทางธุรกิจในอนาคตเป็นมูลค่าไม่ต่ำ 310 ล้านบาท

"ประเทศไทยมีความสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาคอาเซียน ที่สามารถรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมที่หลากหลาย และเป็นทั้งผู้ผลิตเครื่องจักร และผู้นำเข้าเครื่องจักรที่สำคัญของภูมิภาค การจัดงานนี้ถือเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นในการร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ รองรับการเป็นฐานผลิตและลงทุนในอนาคต" นายโชคดีกล่าว

ทั้งนี้ บีโอไอมีนโยบายสนับสนุนกิจการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง รวมถึงการส่งเสริมการผลิตเครื่องจักรทุกประเภท โดยเฉพาะระบบการผลิตสมัยใหม่ ทั้งระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การออกแบบทางวิศวกรรม และการวิจัยพัฒนา โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2557 – 2561) มียอดขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมเครื่องจักรและชิ้นส่วนกว่า 244 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 24,400 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ลงทุนซื้อเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เช่น การนำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์มาใช้ทดแทนกระบวนการการผลิตเดิม ซึ่งมาตรการนี้จะเอื้อประโยชน์ทั้งผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และผู้ผลิตเครื่องจักรด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๗ ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๑๗:๕๓ NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๑๗:๐๕ แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๑๗:๓๒ แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๑๗:๒๕ RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๑๗:๔๘ ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๑๗:๐๕ เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๑๗:๐๖ ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๑๗:๔๙ ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud
๑๗:๐๐ เปิดรับสมัครแล้ว HaadThip Fan Run 2024 แฟนรัน ฟันแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ หาดสมิหลา จ.สงขลา