จากความร่วมมือภายในองค์กร สู่การเปิดอนาคตใหม่ให้กับรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเอง

ศุกร์ ๒๐ ธันวาคม ๒๐๑๙ ๐๘:๑๐
ทุกปี ที่โตชิบาจะมีการมอบรางวัลภายในองค์กร 2 รางวัล ซึ่งตั้งชื่อตามผู้ก่อตั้ง ได้แก่ รางวัลฮิซาชิเกะ ทานากะ และรางวัลอิจิสึเกะ ฟุจิโอกะ

นายฮิซาชิเกะ ทานากะ (ค.ศ. 1799 – 1881) คือนักประดิษฐ์อัจฉริยะผู้ได้รับสมญานามว่า "โธมัส เอดิสัน แห่งญี่ปุ่น" หรือ "คาราคุริ จิเอมอน" ด้วยอัจฉริยภาพด้านจักรกล ในวัยเพียง 9 ขวบ เขาได้ประดิษฐ์กล่องหมึกที่ "ไม่สามารถเปิดได้" โดยมีกุญแจลับซ่อนอยู่ และต่อมาก็ได้สร้าง "นาฬิกาหมื่นปี" ที่สวยงามและสลับซับซ้อน อีกทั้งยังออกแบบมาให้สามารถทำงานได้ยาวนานหลายหมื่นปี

รางวัลฮิซาชิเกะ ทานากะ ซึ่งได้ชื่อตามบุคคลในตำนานท่านนี้ โดยปกติแล้วในแต่ละปีจะมีการมอบให้ผู้ชนะเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ในปีนี้ รางวัลกลับถูกมอบให้กับวิศวกร 2 ท่านซึ่งทำงานภายใต้โครงการเดียวกัน คือ เทคโนโลยีการรับรู้ภาพ Visconti

หน่วยประมวลผลการรับรู้ภาพ ผลผลิตจากทีมวิจัยพื้นฐานและทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์

ปัจจุบัน ความต้องการใช้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเองเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยความคาดหวังประโยชน์ในแง่ของความปลอดภัย โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นที่ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และนี่เองเป็นจุดที่ทีม Visconti เจ้าของรางวัลรางวัลฮิซาชิเกะ ทานากะ ประจำปีนี้ เข้ามามีบทบาทสำคัญ เนื่องจากระบบการขับเคลื่อนด้วยตนเองจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีการรับรู้ภาพ (Image Recognition) ขั้นสูงที่สามารถมองเห็นและเข้าใจสิ่งที่อยู่โดยรอบได้ รวมถึงสามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพามนุษย์ ซึ่ง Visconti 5 เวอร์ชั่นล่าสุด มีฟังก์ชันครบถ้วนตามที่กล่าวมา ยิ่งไปกว่านั้น ยังใช้พลังงานต่ำกว่าหน่วยประมวลผลแบบเดิมอีกด้วย

Visconti ประกอบด้วยเทคโนโลยีหลัก ๆ 2 ส่วน ส่วนแรกคือ เทคโนโลยีการรับรู้ภาพ (Image Recognition Technology) ซึ่งทำหน้าที่ตรวจจับรถยนต์คันอื่นที่อยู่โดยรอบ คนที่สัญจรไปมาบนถนน ไปจนถึงสัญญาณจราจรต่าง ๆ ผ่านภาพจากกล้องที่ติดอยู่บนรถ เพื่อช่วยป้องกันและหลีกเลี่ยงการชนปะทะ โดยสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ซึ่งโตชิบาดำเนินการศึกษาวิจัยขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีการรับรู้ภาพมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ตั้งแต่ในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเองยังเป็นเพียงแค่ความฝันลม ๆ แล้ง ๆ แต่ถึงกระนั้น เหล่าวิศวกรของโตชิบาก็ยังเชื่อมั่นในศักยภาพของเทคโนโลยีการรับรู้ภาพ และทำงานอย่างหนักเพื่อพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์จนประสบความสำเร็จตามที่เห็นในปัจจุบัน

"Visconti คือผลิตผลจากความอุตสาหะของบรรดาวิศวกรที่เคยทำงานที่โตชิบามาก่อนเรา แม้กระทั่งในปัจจุบัน วิศวกรหลายท่านก็ยังมีส่วนสำคัญในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ผมเชื่อว่ารางวัลที่เราได้รับมานี้เป็นตัวแทนของทุกคนที่ได้มีส่วนร่วมในงานนี้" นายริวโซ โอคาดะ ผู้ชนะรางวัลฮิซาชิเกะ ทานากะ และผู้จัดการอาวุโส ห้องปฏิบัติการสื่อ AI ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาองค์กร กล่าว

"แต่ไม่ว่าเทคโนโลยีการรับรู้ภาพจะเยี่ยมยอดแค่ไหน มันก็ยังไม่สามารถสร้างเป็นธุรกิจได้ จนกว่าจะถูกปรับเปลี่ยนสถานะให้กลายเป็นสินค้า ในรูปแบบของหน่วยประมวลผล หรือ Processor" นายโอคาดะ กล่าว

และผู้ที่รับผิดชอบในส่วนนี้ก็คือ นายทาคาชิ มิยาโมริ ผู้จัดการทั่วไป ศูนย์วิจัยและพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบจัดเก็บข้อมูล บริษัท โตชิบา อิเล็กทรอนิกส์ ดีไวซ์ แอนด์ สโตเรจ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นอีกคนที่ได้รับรางวัลนี้ ซึ่งขั้นตอนการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้อยู่ในรูปของหน่วยประมวลผลนี้เอง ที่เป็นอีกองค์ประกอบของ Visconti

"เราคงไม่อาจสร้างสรรค์อะไรได้หากปราศจากไอเดียดี ๆ ในการศึกษาวิจัยพื้นฐานตั้งแต่เริ่มแรก และแม้ว่าคุณจะมีไอเดียที่ดี มันก็อาจจะยังใช้ไม่ได้ในเชิงธุรกิจถ้าคุณไม่สามารถเปลี่ยนมันให้อยู่ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ได้ เพราะฉะนั้น ผมจึงรู้สึกว่า การที่เราสองคนชนะรางวัลนี้พร้อมกัน มันมีความหมายเป็นอย่างมาก" นายมิยาโมริ กล่าว

การศึกษาวิจัยขั้นพื้นฐาน ณ แผนกวิจัยและพัฒนา และฝ่ายธุรกิจของแผนกวิจัยและพัฒนาที่ทำหน้าที่ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้กลายเป็นสินค้าที่จับต้องได้ หากไม่มีความร่วมมือของทั้งสองทีม Visconti อาจจะไม่มีวันเกิดขึ้นเลย

เสียงโทรศัพท์ช่วยชีวิต

ครั้งหนึ่ง รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเองเป็นเพียงความฝันที่ไกลเกินเอื้อม แต่ปัจจุบันมันกำลังเข้าใกล้ความเป็นจริงขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุที่ Viscontiเป็นที่สนใจก็เนื่องมาจากความคาดหวังอย่างล้นหลามต่อระบบขับเคลื่อนด้วยตนเองที่มีแต่จะพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปีหลัง ๆ มานี้ แต่เส้นทางการพัฒนาเทคโนโลยีตัวนี้ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ อย่างในปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มแรกของการพัฒนา Visconti รุ่นแรกไม่สามารถสร้างยอดขายได้เท่าที่ควร ส่งผลให้กลุ่มนักพัฒนาในตอนนั้นถูกยุบทีมไป

นายโอคาดะ เล่าถึงเรื่องราวในตอนนั้นว่า "ทีมนักวิจัยที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาก็ถูกยุบไปเช่นกัน ในเวลานั้น การวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีการรับรู้ภาพสำหรับการใช้งานในยานยนต์ มันช่างดูไร้อนาคต"

จนกระทั่ง มีสายโทรศัพท์เข้ามาจากผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่สื่อมวลชนเริ่มหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับรถยนต์ที่มีระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ โดยเรดาร์และกล้องที่ติดอยู่บนรถจะทำหน้าที่ "จับตาดู" รถที่วิ่งอยู่ด้านหน้า และสั่งการเบรกอัตโนมัติในกรณีคับขัน เป็นการป้องกันและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปะทะชน และความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นมานี้ ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนเริ่มหันมาสนใจเทคโนโลยีของ Visconti

"ถ้าโทรศัพท์สายนั้นไม่เข้ามาในเวลานั้น โครงการ Visconti คงจบสิ้นไปตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว" นายโอคาดะ กล่าว

หลังจากนั้น ทางบริษัทจึงมีการประเมินศักยภาพการสร้างมูลค่าในอนาคตของ Visconti อีกครั้งหนึ่ง และในที่สุดทางผู้บริหารก็ตัดสินใจให้ดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการพัฒนายังเต็มไปด้วยอุปสรรค การพัฒนายานยนต์นั้นเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับความปลอดภัยและความมั่นคง ดังนั้น ระดับประสิทธิภาพของเทคโนโลยีที่ผู้บริโภคต้องการจึงสูงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่แรก ยังไม่รวมถึง ความคาดหวังที่สูงมากเช่นกันในการลดการใช้พลังงาน

"มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ด้วยทรัพยากรที่เรามีอย่างจำกัดในขณะนั้น แต่ต้องสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ใช้พลังงานต่ำ เราประชุมและถกเถียงกันกับทีมของนายโอคาดะอย่างไม่รู้จบ เราทุกคนต่างทำงานอย่างหนักเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในระดับที่ผู้บริโภคต้องการ" นายมิยาโมริ กล่าว

Visconti ไม่ใช่แค่ผลผลิตที่เกิดจากเหล่าวิศวกรของโตชิบาเท่านั้น มันยังถูกสร้างมาจากฐานข้อมูลฝั่งผู้บริโภคด้วย เมื่อความต้องการของผู้บริโภคถูกนำมาประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีของโตชิบา เทคโนโลยีนั้นจึงจะกลายเป็นสินค้าอย่างแท้จริง

"สิ่งที่เราเรียนรู้จากการพัฒนา Visconti คือ การรอให้ลูกค้าบอกเราว่าพวกเขาต้องการอะไรมันไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญคือเราต้องคำนึงถึงฟังก์ชันและคุณสมบัติที่ลูกค้าจะต้องการในอนาคต และเตรียมโซลูชันสำหรับสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ล่วงหน้า ด้วยวิธีนี้เราถึงสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ผนวกรวมจุดแข็งของโตชิบาเข้าไปด้วยได้ ความสามารถในการนำเสนอแนวคิดใหม่จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการผลักดันให้ธุรกิจก้าวไปข้างหน้า" นายโอคาดะ กล่าวสรุป

ด้วยผลิตภัณฑ์อย่าง Visconti ทำให้อนาคตของเทคโนโลยีการรับรู้ภาพดูสดใสอย่างมากสำหรับโตชิบา มีความเป็นไปได้มากมายที่รอคอยพวกเขาอยู่เบื้องหน้า แต่ถึงกระนั้น ผู้ชนะรางวัลทั้งคู่ต่างกล่าวว่า พวกเขาไม่เคยคาดคิดเลยว่าจะประสบความสำเร็จขนาดนี้ในตอนที่เริ่มทำงานที่โตชิบา

นายมิยาโมริ เริ่มทำงานที่โตชิบาเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ในขณะนั้น เพิ่งเริ่มมีการพัฒนาแผงวงจรรวมขนาดใหญ่ (LSIs) เขาถูกบรรจุเข้าทำงานในแผนกที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเพียง 3 ปี พนักงานส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นเด็กใหม่ จึงไม่ได้มีระบบโครงสร้างที่ชัดเจนในการฝึกสอนงาน งานที่เกิดขึ้นในแผนกนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นรูปแบบของการลองผิดลองถูก

"มันยากก็จริง แต่มองในอีกมุมหนึ่ง เราก็มีอิสระที่จะลองทำอะไรที่เราต้องการ แผนกของเรามีแต่คนที่มักจะพูดว่า 'มาลองทำกันเถอะ!' หรือ 'ฉันอยากได้อะไรแบบนี้!' ผมคิดว่าที่ Visconti ประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ได้ก็เพราะโครงการนี้เต็มไปด้วยผู้คนที่มีความกระตือรือร้นในงานของตนเช่นนี้" นายมิยาโมริ เล่า

นายโอคาดะเองก็มีประสบการณ์ที่คล้ายกัน ตอนที่เขาเริ่มเข้ามาทำงานที่โตชิบา เขาถูกส่งไปทำงานที่ศูนย์วิจัยแห่งหนึ่งในแถบคันไซ (ภาคตะวันตกของญี่ปุ่น) ศูนย์วิจัยแห่งนี้มีความใกล้เคียงกับแผนกของนายมิยาโมริ ตรงที่มีบรรยากาศผ่อนคลาย ทั้งรุ่นพี่ ไปจนถึงผู้บังคับบัญชา ล้วนแล้วแต่มีบุคลิกโดดเด่นแตกต่างกันไป และมีอิสระที่จะทุ่มเททำงานวิจัยตามความสนใจของตน

"ขณะที่เราทำงานของเราไป เราก็ยังไม่แน่ใจว่าการวิจัยนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ผมจึงคิดว่า สิ่งสำคัญที่สุดในยามที่เราต้องทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำ คือมองหาสิ่งที่คุณรู้สึกสนุกกับมัน แม้ว่ามันจะเป็นงานที่คนอื่นสั่งให้คุณทำ คุณก็ยังสามารถมองหาอะไรสักอย่างที่คุณคิดว่ามันน่าสนใจได้ นี่เป็นวิธีคิดที่ผมอยากให้พนักงานใหม่ของเรามีกัน" นายโอคาดะ กล่าว

วิศวกรทั้งสองคน - คนหนึ่งมาจากฝ่ายวิจัยพื้นฐาน อีกคนมาจากฝ่ายพัฒนาธุรกิจ - แต่มาร่วมทางกันด้วยความตั้งมั่นที่จะ "มองหาสิ่งที่ดียิ่งขึ้น" ร่วมคาดเดาว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร จะมีสิ่งใดเกิดขึ้นบ้าง และอะไรจะเป็นสิ่งที่ผู้คนต้องการ วิสัยทัศน์แห่งอนาคตได้เชื่อมโยงทั้งสองเข้าด้วยกัน ก้าวผ่านคำว่าแผนก หรือสายงานในบริษัท และทำให้พวกเขาสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมาด้วยกัน ด้วยเทคโนโลยีของ Visconti โตชิบามีความมุ่งมั่นที่จะทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น และการเดินทางของพวกเขาก็เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น

** Visconti คือเครื่องหมายการค้าของ บริษัท โตชิบา อิเล็กทรอนิกส์ ดีไวซ์ แอนด์ สโตเรจ คอร์ปอเรชั่น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?