ไทยพาณิชย์ประเมิน หลังน้ำลดเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ กว่า 4% ในปี 2555

จันทร์ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๐๑๑ ๑๕:๑๑
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์แถลงข่าวประเมินผลกระทบจากวิกฤติอุทกภัยต่อเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปีนี้และภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2555 โดย ดร. สุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2554 จะขยายตัวได้เพียง 1.8% เท่านั้น ซึ่งลดลงจากการประมาณการก่อนเกิดวิกฤตน้ำท่วมค่อนข้างมาก สาเหตุหลักเกิดจากการหยุดการผลิตของนิคมอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อภาคการส่งออกของไทย ซึ่งจะกระทบกับการผลิตสินค้าต้นน้ำและปลายน้ำที่เกี่ยวข้องในนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ยังมีความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวซึ่งอยู่ในฤดูเก็บเกี่ยว รวมถึงผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นฤดูการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้เศรษฐกิจไตรมาส 4 น่าจะหดตัวประมาณ 4% เทียบกับไตรมาส 3”

ดร. สุทธาภา กล่าวต่อไปเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2555 ว่า “เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในปี 2555 ซึ่งน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 4.5% โดยในช่วงครึ่งแรกของปีจะมีแรงส่งจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐเพื่อเร่งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนซึ่งจะส่งผลทำให้มีการกลับเข้ามาลงทุนของภาคเอกชน (crowding in) รวมถึงการจ้างงานของภาคเอกชนเพื่อฟื้นฟูกำลังการผลิต โดยคาดว่าจะมีการนำเข้าสินค้าทุนจำนวนมากเพื่อทดแทนกำลังการผลิตที่เสียหายไป ทั้งนี้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อาจยังชะลอในช่วงแรกเนื่องจากยังต้องมีการประเมินความเสียหายและความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่น การขนส่ง น้ำประปา และไฟฟ้า ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปีนั้นจะเป็นการขยายกำลังการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับ อุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่โตขึ้น หากมองโดยรวมทั้งปีแล้วมูลค่าการส่งออกจะสามารถขยายตัวได้ประมาณ 11% ซึ่งนับว่าชะลอลงจากปี 2554 ที่การส่งออกน่าจะขยายตัวได้เกือบ 20%”

สำหรับเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดร. สุทธาภา มองว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจเอกชน แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงสูงอยู่ในช่วงต้นปีต่อเนื่องมาจากปลายปี 2554 ที่มีปัญหาขาดแคลนสินค้า แต่ก็ไม่น่าจะเป็นเหตุให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกังวลนัก โดย EIC มองว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะค่อยๆ ลดลงเนื่องจากภาคการผลิตน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากนัก ในขณะที่ค่าเงินบาทน่าจะอยู่ในระดับทรงตัว”

ปัจจัยเสี่ยงหลักๆ สองประการ ที่จะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2555 คือ การฟื้นฟูความมั่นใจของนักลงทุนโดยมาตรการภาครัฐ และปัญหาหนี้ในสหภาพยุโรป “มาตรการภาครัฐจะต้องเน้นการแก้ปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากไม่สามารถทำได้จะมีผลเสียต่อการลงทุน เช่น ผู้ประกอบการอาจไม่กลับมาลงทุนเพราะไม่สามารถซื้อประกันภัยความเสียหายจากอุทกภัยได้ นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาคการคลังจะต้องสามารถกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภาคเอกชนเพื่อจะได้ไม่ทำให้สถานะการคลังของประเทศแย่ลง ส่วนปัญหาหนี้ในสหภาพยุโรปยังไม่น่าจะจบในเร็ววัน และอาจทำให้เกิดความผันผวนของเศรษฐกิจไทยได้ โดยสิ่งที่จะต้องจับตามองคือการลุกลามของปัญหาไปยังประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่าง อิตาลี ฝรั่งเศส และเยอรมนี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการส่งออกของไทยอย่างมาก” ดร. สุทธาภา กล่าวสรุป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4