ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร &หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และแนวโน้ม “บ. กรุงเทพดุสิตเวชการ” ที่ “AA-/Stable”

พุธ ๒๘ ตุลาคม ๒๐๑๕ ๐๙:๓๗
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "AA-" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำธุรกิจของบริษัทในฐานะผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ รวมถึงเครือข่ายโรงพยาบาลที่แข็งแกร่งของบริษัท ผลการดำเนินงานที่ดีและสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง ตลอดจนคณะผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่มีความสามารถและมากประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพทั้งจากผู้ประกอบการภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งจากโรงพยาบาลใหม่ในเครือข่ายที่เพิ่งเริ่มดำเนินงานซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพ และการใช้เงินลงทุนจำนวนมากเพื่อขยายกิจการของบริษัทในระยะปานกลาง

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" ของบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการสะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถคงความเป็นผู้นำในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนทั้งในประเทศและในภูมิภาค อีกทั้งยังคงผลประกอบการที่เข้มแข็งไว้ได้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังให้การทำกำไรในโรงพยาบาลใหม่ที่เข้ามาในเครือข่ายปรับตัวดีขึ้นและบริษัทสามารถรวมการดำเนินงานโรงพยาบาลเหล่านี้เข้าสู่เครือข่ายได้อย่างราบรื่น

อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับแรงกดดันให้ต้องปรับลดลงหากบริษัทมีการลงทุนโดยการก่อหนี้เชิงรุกหรือหากการทำกำไรของบริษัทแย่ลงเป็นระยะเวลานาน ในขณะที่โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทสามารถเกิดขึ้นได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทปรับดียิ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการเป็นผู้นำธุรกิจในฐานะผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศโดยมีเครือข่ายโรงพยาบาลทั้งหมด 41 แห่ง ณ เดือนมิถุนายน 2558 บริษัทเน้นการรักษาในระดับตติยภูมิเป็นหลัก ในขณะที่ช่วงระยะหลังบริษัทได้ขยายฐานการรักษาไปยังระดับทุติยภูมิในพื้นที่ภูมิภาคบางส่วนมากยิ่งขึ้น ตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลหลักของบริษัทจำนวน 5 ตราเป็นที่รู้จักอย่างดีในกลุ่มคนไทย คือ โรงพยาบาลกรุงเทพ (19 แห่ง) โรงพยาบาลสมิติเวช (5 แห่ง) โรงพยาบาลบีเอ็นเอช (1 แห่ง) โรงพยาบาลพญาไท (5 แห่ง) และ โรงพยาบาลเปาโล (3 แห่ง) ส่วนโรงพยาบาล 2 แห่งในประเทศกัมพูชาดำเนินงานภายใต้ชื่อ Royal International Hospital นอกจากนี้ บริษัทยังมีโรงพยาบาลอีก 6 แห่งที่ดำเนินงานภายใต้ตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลท้องถิ่นด้วย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 บริษัทมีความสามารถในการให้บริการผู้ป่วยในทั้งสิ้น 5,534 เตียง โดยฐานลูกค้าของบริษัทครอบคลุมกลุ่มคนไข้ระดับกลางถึงระดับบนในหลากหลายทำเล

ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากความหลากหลายทั้งในด้านบริการ ฐานลูกค้า และทำเลที่ตั้ง บริษัทมีเครือข่ายระบบส่งต่อผู้ป่วยที่แข็งแกร่งที่สุดและเป็นแหล่งรวมบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ การประหยัดจากขนาดจากการใช้บริการห้องปฏิบัติการ ตลอดจนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือทางการแพทย์หลักร่วมกันในกลุ่มก่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้ต้นทุนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงแข็งแกร่งซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของจำนวนคนไข้ในเครือข่ายโรงพยาบาลของบริษัท รวมทั้งจากการเพิ่มขึ้นของค่ารักษาพยาบาล ระดับความรุนแรงของโรคที่สูงขึ้น และการรวมรายได้จากกิจการโรงพยาบาลที่ควบรวมเข้ามา รายได้จากการดำเนินกิจการโรงพยาบาลของบริษัทในช่วงปี 2552-2557 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ระดับ 20% โดยบริษัทมีการเติบโตจากโรงพยาบาลที่มีอยู่เดิมในอัตรา 8% ในปี 2557 และ 5% สำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 รายได้จากธุรกิจโรงพยาบาลสำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 อยู่ที่ 28,962 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้จากผู้ป่วยประมาณ 55% มาจากผู้ป่วยใน และที่เหลือมาจากผู้ป่วยนอก ส่วนรายได้จากกลุ่มผู้ป่วยที่ชำระเงินเองมีประมาณ 64% ของรายได้รวม ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 โรงพยาบาลมีความสามารถในการให้บริการผู้ป่วยนอกจำนวน 24,600 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และรองรับผู้ป่วยในจำนวน 3,499 เตียงต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่สำคัญในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก โดยบริษัทวางแผนจะขยายเครือข่ายโรงพยาบาลในเครือให้ถึง 50 แห่งภายในปี 2561 ด้วยการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่และการซื้อกิจการโรงพยาบาลอื่น ๆ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านจนถึงเดือนมิถุนายน 2558 บริษัทได้เพิ่มโรงพยาบาลในเครือข่ายจำนวน 11 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ โรงพยาบาลสนามจันทร์ โรงพยาบาลเทพากร โรงพยาบาลสิริโรจน์ โรงพยาบาล Royal Phnom Penh โรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น โรงพยาบาลเมืองเพชร โรงพยาบาลศรีระยอง โรงพยาบาลดีบุก โรงพยาบาลกรุงเทพไชน่าทาวน์ และโรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี ซึ่งโรงพยาบาลใหม่เหล่านี้ทำให้เครือข่ายของบริษัทมีจำนวนเตียงเพิ่มขึ้นถึง 1,700 เตียง

ในช่วงกลางปี 2558 บริษัทได้ซื้อโรงพยาบาลเมืองราชซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 125 เตียงที่ตั้งอยู่ในจังหวัดราชบุรี โดยได้มีการรับโอนกิจการทั้งหมดแล้วเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 นอกจากนี้ บริษัทกำลังสร้างโรงพยาบาลใหม่อีก 2 แห่งด้วย คือ โรงพยาบาลเปาโล รังสิต และโรงพยาบาลจอมเทียน ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2559 และ 2561 ตามลำดับ บริษัทจะเพิ่มโรงพยาบาลใหม่อีก 6 แห่งในหลายภูมิภาคของประเทศตามกลยุทธ์การเติบโตของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังได้ทำการซื้อที่ดินผืนใหม่ใกล้กับโรงพยาบาลหลักของบริษัทบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่เพื่อการขยายธุรกิจในอนาคต เครือข่ายโรงพยาบาลที่แข็งแกร่งของบริษัทจะเสริมสร้างสถานะทางการแข่งขันของบริษัทให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในอุตสาหกรรมการให้บริการด้านสุขภาพทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ

สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทได้รับแรงหนุนจากผลการดำเนินงานที่ดี ตลอดจนความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้น และสภาพคล่องที่เพียงพอ อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) เพิ่มขึ้นจาก20.4% ในปี 2556 เป็น 21.5% ในช่วงปี 2557 และ 21.3% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 โดยเป็นผลมาจากการทำกำไรที่แข็งแกร่งของโรงพยาบาลหลักของบริษัทและความพยายามในการควบคุมค่าใช้จ่าย ถึงแม้ว่าโรงพยาบาลใหม่ในเครือบางแห่งจะยังไม่ทำกำไร แต่บริษัทก็พยายามปรับกระบวนการภายในของโรงพยาบาลใหม่ให้ได้ระดับมาตรฐานของบริษัทพร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทปรับดีขึ้นจาก 9,007 ล้านบาทในปี 2556 มาที่ 10,832 ล้านบาทในปี 2557 และ 5,807 ล้านบาทสำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2558 สภาพคล่องของบริษัทมีความแข็งแกร่งโดยวัดจากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมซึ่งอยู่ที่ 34.2% ใน 2557 และ 35.9% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558

ในช่วงปี 2559-2561 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตในอัตรา 8%-10% ต่อปี โดยปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจจะมาจากการเติบโตของจำนวนผู้ป่วยและโรงพยาบาลแห่งใหม่ในเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะอยู่ในช่วง 21%-22% โดยคาดว่าผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลใหม่จะปรับดีขึ้นและสร้างกำไรในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ในช่วง 12,000-14,000 ล้านบาทต่อปี

ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 22,801 ล้านบาทในปี 2556 เป็น 31,144 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 40% มาตั้งแต่ช่วงปี 2555 ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 เนื่องจากบริษัทมีฐานทุนขนาดใหญ่และมีการบริหารโครงสร้างเงินทุนอย่างระมัดระวัง ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนโดยรวมประมาณ 27,500 ล้านบาทในช่วงปี 2559-2561 ซึ่งหากรวมเงินลงทุนที่คาดไว้ดังกล่าวแล้ว อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนน่าจะอยู่ในระดับไม่เกิน 45% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS)

อันดับเครดิตองค์กร: AA-

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

BDMS166A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 AA-

BDMS233A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA-

BDMS256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐:๕๙ ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ให้การต้อนรับอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม
๒๐:๓๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๒๐:๕๒ Vertiv เปิดตัวดาต้าเซ็นเตอร์ไมโครโมดูลาร์รุ่นใหม่ที่มี AI ในเอเชีย
๒๐:๐๙ พิธีขึ้นเสาเอก เปิดไซต์ก่อสร้าง โครงการ แนชเชอแรล ภูเก็ต ไพรเวท พูลวิลล่า บ้านเดี่ยวบนทำเลทองใจกลางย่านเชิงทะเล
๒๐:๔๖ เขตบางพลัดประสาน รฟท.-กทพ. ปรับภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวหน้าสถานีรถไฟบางบำหรุ
๒๐:๕๘ ร่วมแสดงความยินดีแก่อธิบดีกรมยุโรป ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๒๐:๐๓ กทม. เดินหน้าจัดกิจกรรมริมคลองโอ่งอ่าง ส่งเสริมอัตลักษณ์ กระตุ้นเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว
๒๐:๔๙ พาราไดซ์ พาร์ค ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พาคุณไปสัมผัสการนวดเพื่อสุขภาพจาก 4 ภูมิภาคของไทย
๒๐:๒๔ Digital CEO รุ่นที่ 7 เรียนรู้เข้มข้นต่อเนื่อง จากวิทยากรชั้นนำของวงการ
๒๐:๒๔ เด็กไทย คว้ารางวัลระดับโลก โดรนไทย ชนะเลิศนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านอากาศยานไร้คนขับ UAV ณ กรุงเจนีวา