มุมมองเศรษฐกิจไทย ค่าเงินบาท และตลาดพันธบัตร

จันทร์ ๒๘ ธันวาคม ๒๐๑๕ ๑๗:๒๗
ส่วนเศรษฐกิจไทย โดย นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย

จากรายงาน Global Economic Quarterly (17 Dec 2015)

ภาพรวม : มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง

ภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มไปทางด้านบวกมากขึ้นหลังจากที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 เป็นต้นมา เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีและอื่นๆ ให้แก่ผู้ที่ลงทุนก่อนสิ้นปี 2559 นอกจากนี้ การอนุมัติแผนดำเนินการเร่งด่วนสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งน่าจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม เรายังคงคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเรายังเผชิญกับปัญหาหนี้ครัวเรือนและการปรับโครงสร้างในภาคอุตสาหกรรม

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากที่ขยายตัว 2.8% ในไตรมาสที่ 2 ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการหดตัวที่มากกว่าคาดของการนำเข้าสินค้า ทั้งนี้ การขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของการท่องเที่ยวช่วยลดผลกระทบจากความอ่อนแอของการส่งออกสินค้าได้บางส่วน และการบริโภคภาคเอกชนที่ยังพอขยายตัวได้ก็ช่วยบรรเทาผลกระทบจากความซบเซาของการลงทุนภาคเอกชน ส่วนในไตรมาสที่ 4 คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอันเนื่องมาจากผลของฤดูกาลและฐานปีก่อน

เราคงการคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีในปี 2558 ที่ 2.6% แต่ได้ปรับลดการคาดการณ์ในปี 2559 ลงจาก 3.3% เป็น 3.1% สำหรับปี 2016 เรามองว่าการฟื้นตัวของการส่งออกอาจทำได้จำกัด (คาดการณ์ล่าสุด: มูลค่าการส่งออกในรูป USD +1.4%yoy ส่วนปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ +2.2%yoy ) สืบเนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของเอเชีย (ที่สำคัญ นักเศรษฐศาสตร์ประเทศจีนของ HSBC ได้ปรับประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีหน้าลงเป็น 6.7% จากเดิมที่คาดไว้ 7.2%) และการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเครือข่ายการผลิตโลก ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยยังเผชิญข้อจำกัดทางเทคนิคจากหลายปัจจัยจะต้องใช้เวลาในการปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น เราคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินที่ระดับ 1.5% ไปจนถึงปลายปี 2559 เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

อนึ่ง แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวสู่ภาวะปกติได้ช้ากว่าที่คาดในช่วงที่ผ่านมา (ล่าสุดอยู่ที่ -1.0% ในเดือนพฤศจิกายน) แต่ผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อนจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเป็นบวกที่ 1.3% ในปี 2559

ด้านหนี้สาธารณะและภาวะการคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2558 หนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับ 43.0% ของ GDP ซึ่งน้อยกว่าประมาณการก่อนหน้านี้ของเราที่ 45.8% โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลของรายได้นำส่งคลังที่มาจากการประมูลคลื่นความถี่ 3G เราคาดว่าในช่วงปี 2559-2560 ระดับหนี้สาธารณะมีแนวโน้มที่จะอยู่ต่ำกว่า 50% ของ GDP แม้รัฐบาลมีแผนใช้จ่ายที่สูงขึ้นเพื่อการลงทุน ดังนั้น คาดว่ารัฐบาลยังมี "พื้นที่" ในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหากมีความจำเป็นในช่วงต่อไป

ประเด็นด้านนโยบาย (update และ ข้อคิดเห็น)

จากคำปราศรัยของผู้ว่าฯธปท. ดร. วิรไท สันติประภพ ในวันที่ 2 ธันวาคม ดูเหมือนว่าธปท.ยังคงมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดได้ดี จากเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งเราเห็นด้วยกับมุมมองนี้ โดยยังคงการคาดการณ์ว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงในปี 59 (6.2% ของ GDP) นอกจากนี้ การถือครองหลักทรัพย์สกุลเงินบาทของนักลงทุนต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมาลดลงมาอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนี้ต่างประเทศก็อยู่ในระดับที่ไม่สูงนักเช่นเดียวกัน ดังนั้น เราคาดว่า ธปท.มีแนวโน้มที่จะคงนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่ดำเนินมาตลอด คือ ให้การเคลื่อนไหวของเงินบาทมีความยืดหยุ่น และเป็นไปตามภาวะตลาดเป็นหลัก

เรายังคงเห็นความพยายามในการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการวัดผลกระทบในเชิงปริมาณอาจทำได้ยากในระยะสั้น ยกตัวอย่างนโยบายที่เด่นๆในช่วงที่ผ่านมาคือ การระบุ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญที่มีแนวโน้มขยายตัวดีและมีโอกาสเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต และแผนการจัดตั้งกองทุน 1 หมื่นล้านบาท สำหรับการพัฒนา 10 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวเพิ่มเติมจากการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมการค้าโลกและการก่อตัวขึ้นของข้อตกลงการค้าขนาดใหญ่ใหม่ๆ (เช่น TPP RCEP) ได้เพิ่มความกังวลหลายประเด็นให้แก่เศรษฐกิจไทย ดังนั้นรัฐบาลจึงจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) ขึ้นมาใหม่ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อมาช่วยการวางแผนยุทธ์และนโยบายด้านการค้า รวมทั้งช่วยกำหนดจุดยืนของไทยเกี่ยวกับข้อตกลงด้านการค้าในอนาคต (ประเด็นนี้ยังคงเป็นประเด็นที่เราคาดว่าน่าติดตามต่อไป)

กระทรวงการคลังมีแผนจะสรุปข้อเสนอการปฏิรูปการคลังภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 โดยหวังว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จก่อนสิ้นปี 2559 โดยการปฏิรูปด้านภาษีรายได้ส่วนบุคคลอาจส่งผลให้ผู้เสียภาษี (หลายขั้นรายได้) เสียภาษีในอัตราที่ลดลง และสามารถลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น ซึ่งเราคาดว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะช่วยเพิ่มรายได้หลังหักภาษีและสนับสนุนการขยายตัวของการบริโภคในช่วงต่อไป อย่างไรก็ดี เราต้องพิจารณาภาระของครัวเรือนที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากการปฏิรูปภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปเช่นกัน

ปัจจัยความเสี่ยง

ตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 ประเทศไทยได้สถานะ 'ใบเหลือง' ด้านการประมงจากสหภาพยุโรป หรือ อียู ซึ่งสืบเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามระเบียบของ IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) ในช่วงที่เราออกบทวิเคราะห์นี้ ทางอียูยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะตัดสินอย่างไร แต่ประเทศไทยหวังว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงสถานะ 'ใบแดง' ซึ่งอาจนำไปสู่การห้ามการส่งออกอาหารทะเลไปยุโรป และมีผลต่อการฟื้นตัวของการส่งออกโดยรวม เช่นเดียวกับส่วนแบ่งการตลาดโลก ล่าสุด ทางการไทยมีการออกกฎหมายใหม่ด้านการประมงเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการประมงให้มีมาตรฐานสากลในช่วงต่อไป ซึ่งเราคาดว่าการปฏิรูปที่ต่อเนื่องน่าจะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างถาวร

ส่วนค่าเงินบาท โดย ทีมวิเคราะห์อัตราแลกเปลี่ยนเอเชีย ธนาคารเอชเอสบีซี ฮ่องกง

Paul Mackel, Joey Chew, Ju Wang, and Alastair Pinder

จากรายงาน Emerging Markets FX Roadmap : Time for pick 'n' mix (18 Dec 2015)

ค่าเงินบาทมีแนวโน้มเดิน "ทางสายกลาง"

สรุป: คาดการณ์ค่าเงินบาทในปี 2559 ที่ 36.20 (ปลายไตรมาส 1) 36.40 (ปลายไตรมาส 2) 36.60 (ปลายไตรมาส 3) และ 36.80 (ปลายไตรมาส 4) เราคาดว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯอีกเล็กน้อยในปี 2559 แต่เทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนเอเชียอื่นๆแล้ว ถือว่าไม่อ่อนค่ามากไปและไม่แข็งค่าเกินไป เช่นเดียวกับ performance ในอดีต นโยบาย FX ได้หวนกลับไปเน้นด้านการลดความผันผวน ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอและอัตราผลตอบแทนในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ จะยังคงผลักดันให้นักลงทุนในประเทศออกไปลงทุนในต่างประเทศ ในขณะที่เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศยังไม่ไหลกลับเข้ามา นอกจากนี้ เราคาดว่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่ามากในไตรมาสที่ 2 ตามผลของฤดูกาล

ในปี 2558 ค่าเงินบาทผันผวนเป็นพิเศษเนื่องมาจากการเปลี่ยนนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนของธปท. แต่ตอนนี้การแข็งค่าที่เกินไปของค่าเงินช่วงต้นปี 58 ได้ปรับเข้าสู่สมดุลแล้ว จึงคาดว่า ธปท.จะปล่อยให้ค่าเงินปรับตัวตามทิศทางตลาด โดยช่วยเข้ามาดูแลความผันผวนเป็นหลัก

การดำเนินนโยบายของธ??ปท.ก่อนหน้านี้ในบางส่วนอาจมีผลกระทบระยะยาว เช่น การผ่อนปรนกฎระเบียบด้านการซื้อเงินตราต่างประเทศและการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศให้บุคคลทั่วไปในเดือนเมษายน 2558 นักลงทุน high-net worth ยังสามารถลงทุนโดยตรงในหลักทรัพย์ต่างประเทศในปี 2558 การตอบสนองต่อมาตรการดังกล่าวในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีส่วนส่งผลให้กระแสเงินสดในกองทุนรวมทุ่มเทไปกับการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น

ปัจจัยแห่งวัฏจักรเศรษฐกิจที่มีส่วนในการผลักดันให้มีการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เช่น แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจที่อ่อนแอและความแตกต่างของอัตราผลตอบแทนที่ลดลง ก็มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้การไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศมีจำกัดเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเชิงโครงสร้างอื่นๆ เช่น ความไม่แน่นอนทางการเมือง ความกังวลด้านการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ อาจจะมีบางช่วงของปีที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นเพราะการถือครองสินทรัพย์เงินบาทของต่างชาติอยู่ในระดับต่ำ กล่าวคือช่วงที่เกิดภาวะเลี่ยงความเสี่ยงในตลาดการเงินโลก (risk aversion) ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนลดการลงทุนในตลาดเกิดใหม่มากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ดี ความอ่อนแอของเงินบาทอาจจะมีมากเป็นบางช่วงตามฤดูกาลปกติ เช่น จากความอ่อนแอของดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงเดือน พ.ค. -มิ.ย. และในบางสัปดาห์ในไตรมาสที่ 3

ส่วนตลาดพันธบัตร โดย พิน-รู ตัน นักกลยุทธ์อาวุโส ธนาคารเอชเอสบีซี สิงคโปร์

Pin Ru Tan, Senior Strategist, HSBC Singapore

จากรายงาน Asia-Pac Rates : TOP CONVICTIONS FOR 2016 (19 พ.ย.)

เศรษฐกิจไทยในปี 59 ยังมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ไม่สูงนัก ส่วนแรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำแม้ว่าธปท.ยังสามารถลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีกเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่พื้นที่ในการลดอัตราดอกเบี้ยได้เหลือน้อยเต็มที เนื่องจากความกังวลด้านเสถียรภาพการเงิน

ด้วยเหตุนี้ โอกาสที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยจะลดลงก็มีจำกัดเช่นกัน เราจึงยังมองว่าตลาดพันธบัตรไทยยังมีแนวโน้มที่เป็นบวกในช่วงสั้นๆ เท่านั้น เพราะการคาดการณ์ด้านการลดดอกเบี้ยยังมีอยู่

แต่สำหรับระยะยาว เรามองว่าตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยจะมีแนวโน้มบวกน้อยลง (neutral rating) ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมุมมองที่ว่า เมื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอัตราดอกเบี้ยมีข้อจำกัดมากขึ้น การกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะต้องพึ่งพานโยบายการคลังและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น

เมื่อการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปเป็นปี 2560 การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลปัจจุบันน่าจะมีความต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อแนวโน้มของการออกพันธบัตรที่สูงขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ความกังวลเกี่ยวกับอุปทานตราสารหนี้ยังมีไม่มากตอนนี้

งบประมาณขาดดุลการคลังของไทยปี 2559 ตั้งไว้ที่ 3.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2.5 แสนล้านบาท การคาดการณ์งบประมาณปี 58 ทั้งนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) วางแผนที่จะออกขายพันธบัตรรัฐบาลในปริมาณ 5 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 59 (รวมพันธบัตรรัฐบาลทั่วไปและพันธบัตรรัฐบาลที่อ้างอิงอัตราเงินเฟ้อ)

เมื่อพิจารณาจากพันธบัตรที่จะครบกำหนดในปีนี้จำนวน 1.49 แสนล้านบาท และความตั้งใจที่สบน.จะปรับโครงสร้างหนี้โดยการแลกเปลี่ยนพันธบัตร (bond-switching) อีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท อุปทานพันธบัตรโดยสุทธิ ในปี 59 จึงมีแนวโน้มที่จะอยู่ที่ 4.01 แสนล้านบาท สูงกว่าในปีงบประมาณ 58 คิดเป็น 68% (ไม่รวมพันธบัตรออมทรัพย์ และตั๋วสัญญาใช้เงิน) และในกรณีที่สบน.ไม่ทำการแลกเปลี่ยนพันธบัตร อุปทานสุทธิจะเพิ่มขึ้นเพียง 46% จากปีก่อน อยู่ที่ 3.51 แสนล้านบาท

การออกพันธบัตรสุทธิในระดับต่ำในไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 59 (ต.ต.-ธ.ค. 2558) หมายความว่าตลาดอาจจะต้องดูดซับอุปทานพันธบัตรสุทธิในช่วงสามไตรมาสหลังเป็นจำนวนที่ค่อนข้างใหญ่ของปีงบประมาณ

เรายังไม่กังวลมากไปสำหรับปัจจัยด้านอุปทานในช่วงนี้ แต่หากธปท. ส่งสัญญาณนโยบายการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป ตลาดอาจจะกลับมาให้ความสนใจด้านอุปทานมากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสที่จะเกิดการขายพันธบัตรออกมา

พันธบัตรรัฐบาลที่อ้างอิงอัตราเงินเฟ้อ หรือ ILB มีผลตอบแทนที่ไม่สู้ดีนักในปี 2558 เพราะไทยเผชิญปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่อง แต่ในช่วงต่อไป ผลของฐานจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น โดย นักเศรษฐศาสตร์ประเทศไทยของเรา มองว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงปลายปี 59 จะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 2.3% จาก -0.8% ในเดือน ต.ค. 58 เราจึงคาดว่าแนวโน้มของพันธบัตรอ้างอิงอัตราเงินเฟ้อจะเป็นบวกมากขึ้นในช่วงต่อไป

อย่างไรก็ดี เราคาดว่าตอนนี้ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอให้นักลงทุนต่างชาติเพิ่มการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย การถือครองของต่างชาติจึงมีแนวโน้มที่จะทรงตัวมากกว่าการเพิ่มขึ้นในปี 59 ปัจจัยที่อาจจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้ คือ โอกาสที่ค่าเงินบาทอาจจะ outperform หรือมีผลตอบแทนที่ดีกว่าสกุลเงินในภูมิภาคอื่นๆ แม้ว่ายังมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ

สรุป การที่จะเพิ่มน้ำหนักการลงทุน (overweight) พันธบัตรรัฐบาลไทยอาจจะไม่มีเหตุผลเพียงพอ เพราะอัตราผลตอบแทนยังอยู่ในระดับต่ำ การผ่อนคลายด้านนโยบายการเงินมีจำกัด และยังมีความเป็นห่วงด้านอุปสงค์ของพันธบัตรในปีนี้

Forecasts:

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี 1.3% (เดือน มิ.ย 59) และ 1.6% (เดือน ธ.ค. 59)

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 5 ปี 2.1% (เดือน มิ.ย 59) และ 2.4% (เดือน ธ.ค. 59)

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี 2.8% (เดือน มิ.ย 59) และ 3.1% (เดือน ธ.ค. 59)

โดย HSBC คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 59 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย Fed funds rate ไปอยู่ที่ 0.75-1.00% ณ ปลายปี 59

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4