Executive Summary - นโยบายการเงินเริ่มหมดลง มาตรการการคลังเริ่มมาแทนที่

ศุกร์ ๓๐ กันยายน ๒๐๑๖ ๑๙:๒๖
โดย นางเจเน็ต เฮนรี่ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี

การผ่อนคลายนโยบายการเงินทั่วโลกอาจจะเริ่มหมดลง แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการการคลังยังคงหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจต่อไป ... หากไม่ใช้มาตรการการคลังลดความไม่สมดุลของโลก การเติบโตของเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินโลกมีแนวโน้มที่จะเลวร้ายลงต่อจากนี้

แม้ธนาคารกลางทั่วโลกได้ทุ่มสุดตัว การเติบโตของเศรษฐกิจโลกยังคงเชื่องช้าและอัตราเงินเฟ้อยังคงอ่อนแอเช่นเดิม การประมาณการเศรษฐกิจของเราสำหรับสองปีข้างหน้า สะท้อนว่าสถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อความสามารถของธนาคารกลางในการกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มลดลงและประสิทธิผลของมาตรการปัจจุบันยังไม่ชัดเจน นโยบายการคลังเริ่มมีบทบาทมากขึ้น แต่ยังคงไม่เพียงพอและควรจะต้องมีขนาดใหญ่และตรงเป้าหมายมากขึ้น เพื่อที่ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจให้ได้ในระยะยาวและลดความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่คอยส่งผลให้เกิดภาวะเงินฝืด แม้ว่าทางออกนี้ดูจะตรงไปตรงมา แต่อุปสรรคทางการเมืองและเชิงสถาบันสะท้อนว่าการเปลี่ยนแปลงจะเชื่องช้า ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายต้องอยู่ในระดับต่ำต่อไป และบ่งชี้ว่าความเสี่ยงด้านการเติบโตและเสถียรภาพทางการเงินยังจะมีอยู่ต่อไป เมื่อคำนึงถึงความกังวลเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่สูงขึ้น นั่นย่อมหมายความว่านโยบายด้านเศรษฐกิจในช่วงสองปีข้างหน้าอาจจะเน้นด้านเศรษฐกิจจุลภาคมากขึ้นจากเดิมที่เป็นด้านมหภาค

การลงคะแนนเสียง 'Brexit' ของสหราชอาณาจักรอาจจะไม่ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรหรือยุโรปปรับตัวเป็นขาลงในทันทีดังที่หลายฝ่ายเป็นกังวล แต่ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ระดับหนี้ยังคงสูงกว่าก่อนวิกฤตการเงินปีค.ศ. 2008 และการเติบโตด้านผลิตผลยังอยู่ในระดับที่อ่อนแอกว่ามาก การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตหลัก ในขณะที่การการลงทุนยังคงซบเซาและการค้าโลกอย่างมากได้แค่ทรงตัว นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำจนน่ากังวล

การผ่อนคลายทางการเงินยังคงไม่เปลี่ยนแปลงสำหรับหลายประเทศทั่วโลกและยังคงมีมาตรการตัวเลือกที่ยังไม่ถูกนำออกมาใช้ อย่างไรก็ดี การที่ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจใหญ่ เช่น บีโอเจ และ อีซีบี ไม่ได้เพิ่มมาตรการในการประชุมนโยบายการเงินหลายรอบที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความกังวลและข้อสงสัยในทั้งด้านประสิทธิผลของนโยบายการเงินและข้อจำกัดทางเทคนิคเกี่ยวกับมาตรการ QE ในช่วงต่อไป และความกังวลดังกล่าวมีแต่จะมีมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ที่ว่านโยบายการเงินเพียงอย่างเดียวจะรักษาเป้าหมายเงินเฟ้อได้หรือไม่ และเป้าหมายเหล่านั้นจำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนหรือแม้กระทั่งแทนที่ด้วยแนวทางนโยบายการเงินรูปแบบใหม่หรือไม่

ในขณะที่ข้อถกเถียงในเรื่องเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไป เสียงที่เริ่มดังขึ้นคือการเรียกร้องให้อีกฟากหนึ่ง คือ นโยบายการคลัง เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการพยายามฟื้นฟูการเติบโตของเศรษฐกิจโลกให้แข็งแกร่งอีกครั้ง ประธานเฟดรายสาขาคนหนึ่งได้ออกมาเรียกร้องอย่างชัดเจนให้ใช้นโยบายด้านการคลังและด้านอื่นๆมาช่วยยกระดับการเติบโตของเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยในระยะยาว แม้ว่าธนาคารกลางอื่นอาจจะไม่ได้ระบุชัดเจน แต่ดูเหมือนว่าจะมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องพึ่งพานโยบายทางการคลังมากขึ้น ข่าวดีก็คือว่ามันได้เริ่มขึ้นแล้ว การปฏิรูปภาษีในกลุ่มประเทศ OECD ได้มุ่งเน้นในเรื่องของการเติบโตในปีที่ผ่านมา และการเติบโตของการใช้จ่ายภาครัฐทั่วโลกในปีนี้มีระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปีค.ศ. 2009 นโยบายที่ผ่อนคลายทางการคลังในกลุ่ม G7 และการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น จีน ตุรกี ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ส่งผลให้เราปรับประมาณการการใช้จ่ายภาครัฐในปีหน้าสำหรับทั่วโลกขึ้น

การกระตุ้นอุปสงค์ในระยะสั้นอาจจะมีส่วนช่วยในสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกยังขาดการเติบโตที่แข็งแกร่ง แต่หากเราต้องการให้การกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เป็นเพียงการเพิ่มหนี้ภาครัฐและความกังวลต่อเสถียรภาพการคลัง ภาครัฐควรจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะใช้มาตรการการคลังลดความไม่สมดุลของโลก

ก่อนอื่น ควรจะมีขั้นตอนที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของเยอรมนี จีน และญี่ปุ่น ซึ่งยังคงสร้างแรงกดดันให้เงินเฟ้อทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำเกินไป อนึ่ง เพื่อหนุนอุปสงค์ในประเทศ ญี่ปุ่นสามารถใช้มาตรการด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากขึ้นเพื่อลดการออมที่สูงเกินไปของภาคธุรกิจ เช่น การเพิ่มค่าจ้าง ซึ่งในที่สุดอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนความคาดการณ์เกี่ยวกับภาวะเงินฝืดในประเทศ สำหรับเยอรมนี การลดระดับเงินออมของรัฐบาลผ่านการลงทุนภาครัฐที่สูงขึ้นอาจเป็นแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น ส่วนในประเทศจีน หลักๆต้องลดการออมในภาคครัวเรือน

เราคาดว่าการเปลี่ยนแปลงหรือการใช้มาตรการจะไม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งบ่งชี้ว่าการเติบโตและเสถียรภาพทางการเงินของเศรษฐกิจโลกอาจจะเลวร้ายลง อันที่จริง จากประสบการณ์วิกฤตปี 2007-08 หลายฝ่ายเคยกล่าวหาว่าเงินออมที่มีขนาดใหญ่เกินไปจากประเทศเหล่านี้ส่งผลให้การจัดสรรทรัพยากรถูกบิดเบือน ส่งผลให้เกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดที่อยู่อาศัยและสินเชื่อและวิกฤตการเงินโลกในที่สุด

การเติบโตที่อ่อนแอและอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำในประเทศอื่นๆบ่งชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะยาวของเฟดมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำต่อไปและการลดการผ่อนคลายทางการเงินจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ปี 2017 จะไม่เป็นเพียงปีแห่งการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค แต่จะมีนโยบายด้านอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น เราไม่คาดว่าจะเห็นการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างกว้างขวาง แม้ว่าประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่หลายแห่งเริ่มเผชิญกับปัญหา carry trade (การลงทุนระยะสั้นเพื่ออัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า) อย่างไรก็ดี มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนแบบเฉพาะเจาะจงเริ่มมีให้เห็นมากขึ้น หากความไม่สมดุลในระดับทวิภาคียังคงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มาตรการกีดกันการค้าที่เฉพาะเจาะจงอาจจะเริ่มมีมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ หากความแตกต่างระหว่างอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจและอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ทางการเงินและสินทรัพย์ที่แท้จริงอื่นๆ กว้างขึ้นเรื่อยๆ ความกังวลเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางรายได้อาจจะเพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลให้เกิดมาตรการอื่นๆเพื่อลดปัญหานี้ เช่น ภาษีเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือความมั่งคั่งอื่นๆ

โดยสรุป การคาดการณ์ของเราสำหรับเศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย โดยคาดว่าการเติบโตปีนี้จะขยับลงสู่ระดับ 2.1% (ลดลงเมื่อเทียบกับ 2.4% ในปี 2011-2015 และ 3.5% ในปี 2005-07) โดยการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยของเศรษฐกิจยุโรปช่วงครึ่งปีแรกช่วยชดเชยการชะลอตัวของฝั่งสหรัฐฯในบางส่วน ในปี 2017 เราคาดว่าการเติบโตในยุโรปจะอ่อนแอลงแต่ในสหรัฐอเมริกาจะปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในละตินอเมริกาที่จะฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

นอกจากนี้ เราได้ออกประมาณการสำหรับปี 2018 เป็นครั้งแรก การคาดการณ์ของธนาคารกลางส่วนที่ระบุว่าเวลาจะเป็นตัวเยียวยาปัญหาทุกอย่าง หรือ สองปีจากนี้เศรษฐกิจจะกลับสู่ภาวะปกติทั้งในด้านการเติบโตและอัตราเงินเฟ้อ เป็นมุมมองที่แตกต่างจากทางเรา ดังนั้น หากต้องใช้คำพูดสั้นๆอธิบายการคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2018 ของเรา นั่นก็คือ 'คล้ายเดิม' โดยมองว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่ 2.5% ซึ่งปรับขึ้นจากปี 2017 เพียงเล็กน้อย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4