ตลาดเกิดใหม่ยังคงแข็งแกร่งไปจนถึงปี 2560

อังคาร ๑๘ ตุลาคม ๒๐๑๖ ๑๐:๕๗
โดย ดร. มูรัต อูลเกิน ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์ตลาดเกิดใหม่ ธนาคารเอชเอสบีซี

เรามีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดเกิดใหม่มาเกือบ 1 ปีแล้ว สินทรัพย์ทางการเงินของตลาดเกิดใหม่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดในรอบ 3 ปี โดยในปี 2559 มีเงินทุนไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ภายหลังจากที่ได้ไหลออกไปในช่วง 3 ปี ซึ่งเราพบว่ามาจากสาเหตุ 2 ประการ และคาดว่าจะเป็นสาเหตุที่เอื้อต่อการสร้างผลตอบแทนของสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ต่อเนื่องจนถึงปีหน้า

ประการแรก คือ ปัจจัยเกื้อหนุนจากภายนอกในปี 2559 จากการที่อัตราดอกเบี้ยพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำ การดำเนินนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกที่เป็นกลางโน้มเอียงไปทางผ่อนคลาย เงินดอลลาร์สหรัฐที่เคลื่อนไหวขึ้นลงไม่มาก กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนที่มีเสถียรภาพ และราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวมมีเสถียรภาพ หากไม่ขยับสูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะไม่เปลี่ยนแปลงในมุมมองด้านกลยุทธ์เศรษฐกิจมหภาคของเอชเอสบีซี และการกดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกในระยะยาว

ประการที่สอง คือ ภาวะเศรษฐกิจมหภาคของตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่หลายแห่งฟื้นตัวขึ้นอย่างมั่นคงและค่อยเป็นค่อยไป ภาพรวมของตลาดเกิดใหม่ดูดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาอย่างน้อยก็ในรอบ 3 ปีที่แล้ว และในปี 2560 ก็น่าจะเห็นการฟื้นตัวเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะทำให้ตลาดเกิดใหม่มีความแข็งแกร่งพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ผันผวนต่าง ๆ อาทิ การแกว่งตัวของอัตราดอกเบี้ยพื้นฐาน การลงประชามติ Brexit ข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ เป็นต้น

รายงานฉบับนี้ เราได้เจาะลึกถึงตัวแปรต่างๆของตลาดเกิดใหม่ที่ฟื้นตัวขึ้น เราชี้ให้เห็นถึงแนวโน้ม 8 ประการที่นำไปสู่ความแข็งแกร่งของตลาดเกิดใหม่ อันได้แก่

1. ความตึงเครียดทางการเงินลดลง

2. การค้าโลกเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น

3. เศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่เติบโตได้ดีกว่าตลาดที่พัฒนาแล้ว

4. วัฏจักรการระบายสินค้าคงคลังที่ยาวนานกำลังสิ้นสุดลง

5. วัฏจักรรายได้ของบริษัทจดทะเบียนอยู่ในช่วงขาขึ้น

6. ความไม่สมดุลจากปัจจัยภายนอกลดลง

7. แรงกดดันเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ

8. การปฏิรูปเชิงโครงสร้างมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

มุมมองเชิงบวกต่อสินทรัพย์ทุกประเภท – ให้น้ำหนักลงทุนในหุ้นตลาดเกิดใหม่มากกว่าสินทรัพย์อื่นเล็กน้อย

โดยรวมแล้ว เรายังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภทในตลาดเกิดใหม่ และมองการปรับฐานเป็นโอกาสเข้าซื้อ เนื่องจากเราเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจมหภาคในขณะนี้มีทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ เกื้อหนุน

ในด้านตราสารหนี้ ภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำทั่วโลก และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ค่อนข้างสูงในตลาดเกิดใหม่ซึ่งเป็นผลจากภาพรวมเงินเฟ้อที่ซบเซา น่าจะยังเป็นปัจจัยบวกต่ออัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ต่อไป ดังนั้น เราจึงให้น้ำหนักลงทุนในประเทศที่มีความคืบหน้าด้านการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง หรือมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม ดังที่เราเห็นโอกาสสร้างผลตอบแทนในอินเดีย อินโดนีเซีย บราซิล และรัสเซีย ขณะเดียวกัน เราแนะนำให้ป้องกันความเสี่ยงจากแนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในแอฟริกาใต้ และเม็กซิโก และคาดว่าความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนในตุรกีมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น (steepen) เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีการดำเนินนโยบายและการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ล่าช้า

การปรับแนวนโยบายการเงินให้เข้มงวดอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเฟด การเพิ่มความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจจีน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ร่วงลงถึงระดับต่ำสุดแล้ว โดยทั่วไปมีแนวโน้มสนับสนุนการเติบโตของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดเกิดใหม่ นักกลยุทธ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนของเอชเอสบีซี คาดจะเห็นการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ไปในระนาบเดียวกัน ขณะที่สกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงยังมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่น เช่น เงินรูปีอินเดีย (INR) เงินรูเปียอินโดนีเซีย (IDR) เงินแรนด์แอฟริกาใต้ (ZAR) เงินลีราใหม่ตุรกี (TRY) เงินเปโซโคลอมเบีย (COP) และสกุลเงินประเทศที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่า เช่น เงินวอนเกาหลีใต้ (KRW) เงินดอลลาร์ไต้หวัน (TWD) เงินบาทไทย (THB) เงินชาคิลล์อิสราเอล (ILS) และเงินโฟรินท์ฮังการี (HUF)

ส่วนหุ้นของตลาดเกิดใหม่ รายได้ของบริษัทจดทะเบียนเติบโตในทิศทางเดียวกับตลาดที่พัฒนาแล้ว สภาพคล่องที่มีอยู่มากทั่วโลก และมูลค่าหุ้นที่ยังมีราคาไม่แพง กำลังกระตุ้นความต้องการลงทุนในหุ้น นอกจากนี้ ทีมนักวิเคราะห์ตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลกของเอชเอสบีซี เห็นว่านอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว ยังมีสัญญาณล่วงหน้าบ่งบอกถึงการฟื้นตัวในภาคการลงทุนโดยทั่วไป ซึ่งหากเป็นการฟื้นตัวที่ยั่งยืน ก็จะเป็นแรงส่งสำหรับหุ้นตลาดเกิดใหม่ได้ ในบรรดาเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ เราได้ให้น้ำหนักลงทุนเพิ่มขึ้นในตลาดที่สำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย รัสเซีย แอฟริกาใต้ และตุรกี

เราคิดว่าหุ้นจะสามารถเป็นหลักประกันที่ดีในระยะอันใกล้ได้ ถ้าหากว่าเงินเฟ้อเริ่มขยับเพิ่มสูงขึ้นจากผลกระทบของราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ ที่ผ่านมาหุ้นในตลาดเกิดใหม่ยังสร้างผลตอบแทนได้ต่ำกว่าหุ้นในตลาดที่พัฒนาแล้วอยู่มาก และยังมีผลตอบแทนต่ำกว่าตลาดตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่อีกด้วย ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบแล้วจึงน่าสนใจที่จะลงทุน และเมื่อพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว แม้เราจะยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อสินทรัพย์ทุกประเภทในตลาดเกิดใหม่ แต่ขณะนี้เราให้น้ำหนักลงทุนในหุ้นมากกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่นอยู่เล็กน้อย

การเมืองในตลาดที่พัฒนาแล้วยังเป็นปัจจัยเสี่ยง

ความเสี่ยงที่มีต่อมุมมองเชิงบวกของเราในตลาดเกิดใหม่ยังคงเป็นปัจจัยการเมืองของตลาดที่พัฒนาแล้ว อันเนื่องมาจากห้วงเวลาของการเลือกตั้งในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งมีโอกาสนำไปสู่การดำเนินนโยบายทั้งประชานิยม และปกป้องนิยม อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซีได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของยูโรโซน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๗ ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๑๗:๕๓ NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๑๗:๐๕ แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๑๗:๓๒ แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๑๗:๒๕ RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๑๗:๔๘ ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๑๗:๐๕ เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๑๗:๐๖ ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๑๗:๔๙ ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud
๑๗:๐๐ เปิดรับสมัครแล้ว HaadThip Fan Run 2024 แฟนรัน ฟันแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ หาดสมิหลา จ.สงขลา