หนึ่งในภารกิจของสภาวิชาชีพบัญชีที่สำคัญคือการพิจารณากลั่นกรองหลักสูตรปริญญาทางด้านบัญชี เพื่อให้บัณฑิตที่จบมามีมาตรฐานเดียวกันและมีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการทำงาน ซึ่งในปีนี้มีการปรับมาตรฐานการพิจารณาหลักสูตรให้เป็นสากล โดยเปลี่ยนจาก Content based เป็น Learning Outcome based ซึ่งเน้นที่การวัดผลการเรียนรู้ มากกว่าการพิจารณาว่าได้เรียนเรื่องอะไรไปบ้าง
ไม่เพียงแต่การพัฒนาหลักสูตรการศึกษา สภาฯ ยังคงมุ่งพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีอย่างต่อเนื่อง ผ่านการจัดอบรมสัมมนาทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด โดยมีเนื้อหาครอบคลุมทุกแขนงวิชาชีพบัญชี อาทิ ด้านมาตรฐานบัญชี สอบบัญชี บัญชีบริหาร การบัญชีภาษีอากร และความรู้ข้ามศาสตร์อื่น ๆ โดยในปีที่ผ่านมามีผู้เข้าอบรมหลักสูตรของสภาฯ จำนวนกว่า 27,000 คน นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพอย่างผู้สอบบัญชีให้มีการเรียนรู้ด้วยตนเองเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาคุณภาพของงานสอบบัญชี
สำหรับงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนที่มีผู้ใช้เป็นจำนวนมาก ผู้บริหารสูงสุดทางด้านการเงิน หรือ CFO มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดทำและนำเสนอข้อมูลทางการเงินที่ถูกต้อง จึงต้องมีองค์ความรู้และตระหนักถึงความรับผิดชอบและความสำคัญของการจัดทำงบการเงินให้ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีสากล สภาฯ จึงได้ร่วมมือกับสำนักงาน กลต. ในการพัฒนาหลักสูตรสำหรับ CFO ของบริษัท IPOs และบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการบัญชีที่สำคัญ และผลกระทบกับงบการเงิน ทำให้สามารถนำไปวางแผนและตัดสินใจได้ดีขึ้น เรียกว่าหลักสูตร CFO Orientation Course - "Focus on financial Reporting" ซึ่งจัดไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจาก CFO ที่เข้าร่วมงานกว่า 60 ราย หลักสูตรนี้จะจัดต่อเนื่องเพื่อรองรับประกาศของสำนักงาน กลต.ที่จะกำหนดคุณสมบัติของ CFO ของบริษัท IPOs ในอนาคตอันใกล้ โดยคาดว่ารุ่นต่อไปจะจัดขึ้นประมาณเดือนสิงหาคมปีนี้
นอกจากนั้น สภาฯ ยังมีหลักสูตรสำหรับ CFO ทั่วไปอีกมากมาย อาทิ "หลักสูตร CFO In Practice (Fundamental Practice for CFO)" ที่เน้นการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรทางการเงินรุ่นใหม่ สามารถต่อยอดจากนักบัญชีสู่ CFO ซึ่งเปิดสอนแล้ว 7 รุ่น มีผู้ผ่านการอบรมกว่า 200 ราย หรือ "หลักสูตร CFO Current Issue" ที่เน้นให้ความรู้และประเด็นทางบัญชีและการเงินที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ มีผู้ผ่านการอบรมกว่า 135 ราย และ"หลักสูตรประกาศนียบัตร CFO" ที่มุ่งเพิ่มศักยภาพของ CFO และผู้บริหารทางบัญชีขององค์กรให้เป็นผู้ที่มีความรู้ข้ามศาสตร์ สามารถปฏิบัติงานผสมผสานเทคนิคในการบริหารงานแบบมืออาชีพ ซึ่งเปิดสอนแล้ว 20 รุ่น มีผู้ผ่านการอบรมแล้วเกือบ 600 ราย
ในส่วนของมาตรฐานบัญชีสำหรับ SME ที่นักบัญชีสนใจกันมากในขณะนี้ สำหรับกิจการ SME ที่ไม่ซับซ้อน ไม่มีกลุ่มบริษัท ซึ่ง SME ลักษณะนี้เป็นส่วนใหญ่ของกิจการในประเทศนั้น การนำมาตรฐานบัญชี SME ไปใช้ไม่ได้แตกต่างจากมาตรฐานบัญชีเดิมที่ใช้อยู่เลย มีเพียงแค่การจัดทำงบกระแสเงินสดซึ่งก็จะได้รับการผ่อนผันการจัดทำไปอีก 2 ปี เพื่อให้มีเวลาเพียงพอสำหรับนักบัญชีในการเตรียมฐานข้อมูล ซึ่งงบกระแสเงินสดนี้จะเป็นประโยชน์ในการใช้ขอสินเชื่อจากธนาคาร และเป็นการพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็กในการแข่งขัน โดยสื่อสารข้อมูลทางการเงินตามมาตรฐานสากลที่ผู้ใช้ทั่วไปเข้าใจได้ง่าย
และเพื่อให้การจัดทำงบการเงินเป็นเรื่องง่ายขึ้น สภาฯ มีโครงการจัดทำ "โปรแกรมบัญชีสำหรับ SMEs" ที่รองรับระบบขายปลีกหน้าร้าน POS เชื่อมกับโปรแกรมบัญชีครบวงจรบนคลาวด์ ซึ่งรองรับ e-Withholding Tax ของกรมสรรพากร รองรับการส่งงบ e-Filing ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า รองรับ Prompt pay และจะรองรับ e-Tax Invoice , e-Tax Receipt e-Payment ในอนาคต นอกจากนั้นยังออกงบการเงินตามมาตรฐานบัญชีให้อัตโนมัติ เช่น งบกำไรขาดทุน งบแสดงฐานะทางการเงิน และงบกระแสเงินสด ซึ่งจะช่วยลดภาระและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ SME ในปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบโปรแกรมดังกล่าว คาดว่าจะแจกให้ผู้ประกอบการใช้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้เร็ว ๆ นี้
สภาวิชาชีพบัญชีจะทำหน้าที่ในฐานะองค์กรวิชาชีพบัญชีของไทยให้ดีที่สุด โดยทุ่มเทและใส่ใจในการเสริมสร้างบุคลากรด้านบัญชีที่มีคุณภาพ "เพื่อให้เป็นมืออาชีพ มีจรรยาบรรณเพื่อให้บริการ และพร้อมรับการแข่งขันในระดับสากล"