บทบาทของตลาดทุน กับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย (Aging Society)

ศุกร์ ๑๔ กรกฎาคม ๒๐๑๗ ๑๒:๒๖
Highlight

- ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ตั้งแต่ปี 2548 และกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมหลายด้าน

- หลายประเทศทั่วโลกจัดให้มีระบบการออมเพื่อการเกษียณตามแนวคิดเสาหลัก 5 ต้น (Five Pillar Framework) และใช้มาตรการภาษีเพื่อช่วยสนับสนุนการออมแบบสมัครใจ อาทิเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้

- สำหรับประเทศไทยนั้น แม้จะมีระบบการออมครบทุกเสาหลัก และมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับการออมแบบสมัครใจเช่นกัน แต่การออมเพื่อวัยเกษียณยังอยู่ในระดับที่น้อยมาก

- ภาคส่วนต่างๆในตลาดทุนจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยยกระดับการออมเพื่อวัยเกษียณให้มาก

ในปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรที่สำคัญ ได้แก่ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ[1] โดยองค์การสหประชาชาติ (United Nation) นิยามผู้สูงอายุไว้ที่ประชากรซึ่งมีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ขณะที่ข้อมูลจากรายงาน World Population Aging 2015 ของ United Nation (UN) ระบุจำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 900 ล้านคน หรือคิดเป็น 12.3% ของประชากรทั่วโลก และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยคาดว่าจะแตะ 2.1 พันล้านคน หรือ 21.5% ของประชากรทั่วโลกในปี 2050 อันเป็นผลจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและด้านการแพทย์ที่ช่วยให้ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น ขณะที่อัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วตั้งแต่ปี 2548 (ประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีเป็นสัดส่วน 10.4% ของประชากรทั้งหมด และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 16.5% ในปี 2559) และจากการคาดการณ์ประชากรของไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)[2] คาดว่าใน 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (ประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีคาดว่าจะอยู่ที่ 20.5%ของประชากรทั้งหมด) ส่งผลให้อัตราการเป็นภาระในวัยสูงอายุ (Old-Age Dependency Ratio[3])เพิ่มขึ้นจาก 25.1% ในปี 2559 สู่ 32.6% สะท้อนให้เห็นว่าประชากรในวัยแรงงานจะต้องมีภาระเพิ่มขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุ

หลายประเทศทั่วโลกจัดให้มีระบบการออมเพื่อการเกษียณตามแนวคิดเสาหลัก 5 ต้น (Five Pillar Framework) ของธนาคารโลก และใช้มาตรการภาษีช่วยในส่วนการออมแบบสมัครใจ

หากพิจารณาถึงสถานการณ์ของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในต่างประเทศพบว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา โดยยุโรปเป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดมากที่สุด ขณะที่ประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดมากที่สุด 5 อันดับแรกในปี 2015 ได้แก่ ญี่ปุ่น อิตาลี เยอรมัน ฟินแลนด์ และโปรตุเกส ในขณะที่ประเทศไทยเป็น ลำดับที่ 63 ด้วยเหตุดังกล่าวการมีระบบการออมเพื่อการเกษียณที่เพียงพอสำหรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจึงเป็นประเด็นที่หลายประเทศในความสำคัญ ตามแนวคิดเกี่ยวกับระบบการออมเพื่อเกษียณอายุโดยธนาคารโลก (World Bank) ที่เรียกว่า ทฤษฎีเสาหลัก 5 ต้น (Five Pillar Framework) ประกอบด้วย

A non-contributory "zero pillar"

เป็นเงินสวัสดิการสังคมแบบให้เปล่าของภาครัฐ ที่มาจากเงินงบประมาณ

· A mandatory "first pillar" (Public pension, Publicly managed, Defined benefit system: DB) เป็นระบบแบบบังคับ โดยประชาชนจ่ายส่วนหนึ่งและรัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนอีกส่วนหนึ่ง บริหารโดยหน่วยงานของรัฐกำหนดผลประโยชน์เป็นอัตราขั้นต่ำที่สมาชิกจะได้รับ ในประเทศไทย ได้แก่ กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ

· A mandatory "second pillar" (Occupational/Personal pension, Privately managed, Defined contribution system: DC) เป็นระบบแบบบังคับ โดยเงินสะสมจากการทำงานของตนเองและนายจ้างช่วยสมทบ รูปแบบการออมเป็นบัญชีรายบุคคล เอกชนเป็นผู้บริหาร ในประเทศไทย ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

· A voluntary "third pillar" (Privately managed, Voluntary taking many forms e.g. individual saving, employer sponsored, DB or DC) เป็นระบบการออมแบบสมัครใจโดยเงินสะสมของตนและนายจ้างสมทบ รูปแบบการออมเป็นบัญชีรายบุคคล เอกชนเป็นผู้บริหาร ในประเทศไทย ได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ประกันชีวิตแบบบำนาญ และกองทุนการออมแห่งชาติ

· A non-financial "fourth pillar" (Other financial & nonfinancial assets, informal support e.g. family

support) ได้แก่ ทรัพย์สินส่วนบุคคลอื่นๆ การเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ การสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการ เช่น จากครอบครัว

การออมเพื่อวัยเกษียณของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ขณะที่รายได้ของผู้สูงอายุส่วนใหญ่มาจากการพึ่งพิงบุตรเป็นหลัก

สำหรับประเทศไทยนั้น แม้จะมีระบบการออมครบทุกเสาหลักเช่นเดียวกับหลายประเทศ และมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับการออมแบบสมัครใจเช่นกัน แต่คงต้องยอมรับว่าการออมเพื่อวัยเกษียณยังคงอยู่ในระดับที่น้อยมาก ทั้งนี้ ข้อมูลจากผลสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ.2557 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ด้านความเพียงพอของรายได้ (Income sufficiency) ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ตอบว่า เพียงพอ (62.0%) เพียงพอเป็นบางครั้ง (21.3%) และไม่เพียงพอ (14.8%) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแหล่งที่มาของรายได้พบว่า รายได้หลักในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพิงจากบุตร (36.7%) รองลงมาได้แก่ รายได้จากการทำงานเอง (33.9%) จากเบี้ยยังชีพทางราชการ (14.8%) ขณะที่รายได้จากเงินบำเหน็จบำนาญ (4.9%) และส่วนที่มาจากการเงินออมของตนมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (3.9%) ซึ่งหาก

เมื่อมองไปถึงแนวโน้มโครงสร้างประชากรในอนาคตที่ประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานจะมีจำนวนลดลง ทำให้การที่ผู้สูงอายุจะหวังพึ่งพิงรายได้หลักจากบุตรเช่นในปัจจุบันจะเป็นไปได้ยากขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตนเองด้วยการออมเพื่อวัยเกษียณให้มากขึ้น

ภาครัฐเองได้มีการดำเนินการที่สำคัญในการเพิ่มสัดส่วนการออมแบบบังคับ (a mandatory "second pillar") โดย คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการของร่างพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ซึ่งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ สำหรับแรงงานในระบบที่มีอายุตั้งแต่ 15 - 60 ปี ครอบคลุมลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการ พนักงานราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งยังไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อช่วยให้บุคคลในกลุ่มนี้มีรายได้หลังเกษียณเพิ่มขึ้น โดยให้มีการจ่ายเงินเข้ากองทุนจาก 2 ฝ่าย คือ ลูกจ้าง และนายจ้าง ซึ่งลูกจ้างจะได้รับบำนาญหรือบำเหน็จเมื่ออายุครบ 60 ปี และกำหนดให้ กบช. เปิดรับสมาชิกตั้งแต่ปี 2561

ทุกภาคส่วนในตลาดทุนมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเพิ่มระดับการออมเพื่อวัยเกษียณ

การที่จะเพิ่มระดับการออมเพื่อวัยเกษียณให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมได้นั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในตลาดทุนอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นสำนักงานก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลอดจน ผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุน ในรูปแบบต่างๆ อาทิเช่น

- การจัดกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักเรียน นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไปรับรู้ และตระหนักถึงความสำคัญของการออมเพื่อวัยเกษียณ เพื่อให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว และควรเริ่มต้นการออมตั้งแต่อายุยังน้อยโดยไม่ต้องรอให้ใกล้วัยเกษียณ

- การให้ความรู้และคำปรึกษาในเรื่องของการวางแผนทางการเงิน เพื่อให้มีเงินออมหลังเกษียณในระดับที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งอาจทำได้โดยการที่สถาบันการเงินต่างๆจัดอบรมให้คำแนะนำด้านวางแผนทางการเงินแก่ประชาชนทั่วไป รวมถึง การจัดให้มีโปรแกรมที่ช่วยวางแผนการออมที่ประชาชนสามารถดาวน์โหลดและเข้าไปใช้งานด้วยตนเองได้ในรูปแบบที่ง่ายต่อการใช้งาน ซึ่งในส่วนของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยและสถาบันฝึกอบรม สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ATI) ก็ได้จัดทำ application ที่ชื่อ อิทธิ RICH เพื่อให้ความรู้และช่วยในการวางแผนทางการเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

- การมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ช่วยตอบโจทย์การออมระยะยาว ซึ่งมีการบริหารโดยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญและเพิ่มโอกาสได้ผลตอบแทนระยะยาวที่น่าพอใจมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ยังไม่มั่นใจที่จะตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง อาทิเช่น กองทุนหุ้นปันผล รวมถึง การสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่องแบบ DCA (Dollar Cost Average) เพื่อสร้างวินัยในการออม

- การพิจารณาเพิ่มรูปแบบการออมภาคสมัครใจที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในอนาคต อาทิเช่น บัญชีการลงทุนรูปแบบพิเศษในทำนองเดียวกับ NISA ของญี่ปุ่นหรือ ISAs ของเกาหลีใต้ ที่สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลายขึ้นในบัญชีเดียว และสามารถตัดสินใจลงทุนได้ด้วยตนเอง แต่ทั้งนี้ คงต้องคำนึงถึงระยะเวลาการถือครองบัญชีที่นานพอ เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการออมเพื่อวัยเกษียณอย่างแท้จริง

[1] องค์การสหประชาชาติ (United Nation) แบ่งระดับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่า 7% ของประชากรทั้งประเทศ 2.สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ 3.สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ

[2] การคาดประมาณประชากรของไทย 2553-2583 โดยสศช. (กุมภาพันธ์ 2556)

[3] จำนวนประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป หารด้วยจำนวนประชากรอายุ 15 - 59 ปี

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้