ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์” ที่ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable”

อังคาร ๐๓ เมษายน ๒๐๑๘ ๑๔:๔๒
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "A-" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินรวมไม่เกิน 4,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "A-" ด้วยเช่นกัน โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (WHA; อันดับเครดิต "A-/Stable") ซึ่งเป็นผู้นำระดับประเทศในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและธุรกิจคลังสินค้าที่สร้างตามความต้องการของลูกค้า (Built-to-suit) อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นผู้ให้บริการสาธารณูปโภคแต่เพียงผู้เดียวในนิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ ตลอดจนฐานรายได้ประจำที่บริษัทได้รับจากธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภค และเงินปันผลรับจากการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังคำนึงถึงภาระหนี้ของบริษัทที่อาจเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในโครงการใหม่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นผู้ให้บริการสาธารณูปโภคแต่เพียงรายเดียวในนิคมอุตสาหกรรมชั้นนำ

บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ WHA ถือหุ้นร้อยละ 98.5% ได้ให้สิทธิบริษัทในการประกอบธุรกิจสาธารณูปโภคแต่เพียงผู้เดียวในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของกลุ่ม โดยบริษัทมีการทำสัญญาเช่าสิทธิเป็นระยะเวลา 50 ปีในการให้บริการน้ำดิบ น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม และบำบัดน้ำเสียในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น และบริษัทย่อยทั้งในประเทศไทยและในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมียนมา และเวียดนาม การที่บริษัทได้รับสิทธิในการเป็นผู้ให้บริการสาธารณูปโภคแต่เพียงผู้เดียวช่วยให้บริษัทมีความเสี่ยงในการดำเนินงานที่ต่ำจากการที่คู่แข่งไม่สามารถเข้ามาประกอบธุรกิจในพื้นที่เหล่านี้ได้

อุปสงค์ของธุรกิจสาธารณูปโภคที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

บริษัทได้รับโอนธุรกิจสาธารณูปโภคจากบริษัทเหมราชพัฒนาที่ดิน ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2559 ปริมาณการจำหน่ายน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมและการให้บริการบำบัดน้ำเสียยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการลงทุนและกิจกรรมการผลิตจะชะลอตัวลงที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากข้อมูลในอดีตของบริษัทและ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน พบว่าปริมาณการให้บริการน้ำลดลงเพียง 0.6% ซึ่งอยู่ที่ระดับ 94 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในปี 2558 และจากนั้นก็เพิ่มขึ้น 1.6% มาอยู่ที่ระดับ 95 ล้าน ลบ.ม. ในปี 2559 โดยที่ปริมาณความต้องการยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีก 4.7% มาอยู่ที่ 100 ล้าน ลบ.ม.ในปี 2560 ผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมจากกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มีการใช้น้ำอย่างมากและลูกค้าใหม่ในกลุ่มธุรกิจผลิตไฟฟ้า ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของความต้องการบริการบำบัดน้ำเสีย

ในทางตรงกันข้าม ความต้องการน้ำดิบลดลงในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากการใช้กำลังการผลิตที่ลดลงของโรงไฟฟ้าภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer – IPP) แห่งหนึ่ง รวมทั้งบริษัทมีนโยบายที่จะเน้นการจำหน่ายน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในนิคมอุตสาหกรรมใหม่ ๆ

มีสถานะเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA)

บริษัทมีสถานะเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น ในการรับผิดชอบธุรกิจสาธารณูปโภคและการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า ในปี 2560 บริษัทมีรายได้ที่ระดับ 1,634 ล้านบาท (17% ของรายได้ของบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น) และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ระดับ 2,066 ล้านบาท (38% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น) ปัจจุบันบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น ถือหุ้นของบริษัทในสัดส่วน 72% โดยผ่านบริษัทเหมราชพัฒนาที่ดินและบริษัทย่อยอื่น ๆ แผนธุรกิจและนโยบายทางการเงินของบริษัทมีความสอดคล้องกับของบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น เป็นอย่างมาก บริษัทให้บริการสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรมทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะเปิดใหม่ในอนาคตที่ดำเนินงานโดยบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น และบริษัทย่อยทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ นอกจากนี้บริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่นยังเสนอรายชื่อตัวแทนเพื่อเป็นคณะกรรมการของบริษัทอีกด้วย

อัตรากำไรอยู่ในระดับปานกลางแต่มั่นคง

อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทอยู่ที่ระดับ 34%-41% ในช่วงปี 2558-2560 โดยขึ้นอยู่กับสัดส่วนของรายได้จากน้ำแต่ละประเภทและรายได้ค่าธรรมเนียมจากการขอใช้น้ำเพิ่ม อัตรากำไรของบริษัทอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการสาธารณูปโภครายใหญ่เพราะบริษัทซื้อน้ำดิบประมาณ 80% จาก บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการน้ำดิบเพียงรายเดียวในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรของบริษัทค่อนข้างมั่นคงเนื่องจากบริษัทให้บริการสาธารณูปโภคโดยคิดราคาจากต้นทุนบวกส่วนเพิ่ม (Cost-plus Basis)

รายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รายได้จากการให้บริการสาธารณูปโภคของบริษัทเติบโตเป็นอย่างมากในปี 2560 ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างองค์กรในปีก่อนหน้าและการทยอยเริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้า 4 แห่งในปี 2560 ฐานรายได้ของบริษัทในปี 2559 อยู่ในระดับต่ำเนื่องจากบริษัทได้รับโอนธุรกิจสาธารณูปโภคมาจากบริษัทเหมราชพัฒนาที่ดิน ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2559 นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้ค่าธรรมเนียมการขอใช้น้ำเพิ่มซึ่งเป็นรายได้ที่เรียกเก็บจากลูกค้าที่มีความต้องการใช้น้ำเกินกว่าระดับที่จัดสรรให้ด้วย หากไม่รวมผลกระทบจากฐานรายได้ที่ต่ำเกินไปในปี 2559 และรายได้เพิ่มจากค่าธรรมเนียมการขอใช้น้ำเพิ่มแล้ว ปริมาณการให้บริการน้ำของบริษัทในไตรมาสที่ 2 ถึงไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 จะเติบโตที่ระดับ 6%-9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจากธุรกิจน้ำของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ 700 ล้านบาทต่อปีในปี 2559-2560

กระแสเงินสดเพิ่มเติมจากธุรกิจไฟฟ้าที่ค่อนข้างแน่นอน

สถานะทางธุรกิจของบริษัทแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นจากกระแสเงินสดที่มั่นคงจากธุรกิจไฟฟ้า กล่าวคือ บริษัทมีการลงทุนในโรงไฟฟ้าหลายแห่งร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่มีชื่อเสียงโดยการถือหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าหลายแห่งภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) และโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (Very Small Power Producer -- VSPP) ปัจจุบันกำลังการผลิตติดตั้งรวมของโรงไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทอยู่ที่ 510 เมกะวัตต์ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 543 เมกะวัตต์ในปี 2562 บริษัทได้รับเงินปันผลจากโครงการโรงไฟฟ้าจำนวน 747 ล้านบาทในปี 2560 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 36% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย และคาดว่าเงินปันผลรับจะเติบโตมาอยู่ที่ระดับ 1,400-1,500 ล้านบาทต่อปีเมื่อโรงไฟฟ้าทั้งหมดที่บริษัทลงทุนดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ครบทุกหน่วยตามแผนงาน

ขยายการลงทุนในต่างประเทศที่เวียดนาม

นอกเหนือจากธุรกิจให้บริหารสาธารณูปโภคในประเทศไทยแล้ว บริษัทยังมีแผนการลงทุนในประเทศเวียดนามเพื่อให้บริการน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมและบริการบำบัดน้ำเสียแก่ลูกค้าในนิคม WHA Hemraj Industrial Zone ในจังหวัด Nghe An ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนามด้วย บริษัทได้รับใบอนุญาตลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภคจากรัฐบาลเวียดนามเรียบร้อยแล้วและคาดว่าจะเริ่มพัฒนาพื้นที่ดำเนินการได้ในปี 2561 หลังจากนั้นคาดว่าบริษัทจะมีรายได้จากการลงทุนนี้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 เป็นต้นไป บริษัทได้วางงบประมาณสำหรับการลงทุนนี้ประมาณ 40-80 ล้านบาทต่อปีในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้เป็นนิคมแรกที่บริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทแม่ทำการลงทุนในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานจากการลงทุนในต่างประเทศครั้งนี้คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับผลประกอบการของบริษัทเนื่องจากอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการลงทุน

ภาระหนี้จะยังคงเพิ่มขึ้น

โครงสร้างทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเป็นอย่างมากในปี 2560 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นครั้งแรกแก่ประชาชน (Initial Public Offering -- IPO) ในเดือนเมษายน บริษัทได้รับเงินสุทธิจำนวน 3,181 ล้านบาทจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ บริษัทได้นำเงินประมาณ 80% ของเงินดังกล่าวไปจ่ายชำระคืนหนี้ ส่งผลให้เงินกู้รวมของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 7,930 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 จากระดับ 10,421 ล้านบาทในปี 2559 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 38.7% ณ สิ้นปี 2560 จากระดับ 58.4% ในปี 2559 ในอนาคตคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทมีแผนการลงทุนจำนวนมากในช่วง 3 ปีข้างหน้า

บริษัทมีแผนจะขยายธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้นโดยมีเป้าหมายจะขยายพื้นที่การให้บริการออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านและขยายขอบเขตการให้บริการทั้งในธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจผลิตไฟฟ้า โดยแผนลงทุนประกอบด้วยการลงทุนให้บริการน้ำในเขตชุมชน โรงไฟฟ้าซึ่งให้บริการสำหรับลูกค้าเฉพาะรายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม (Captive Power Plant) และบริการระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ซึ่งบริษัทตั้งงบลงทุนประมาณ 2,000-2,500 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2561-2563 ประมาณครึ่งหนึ่งของงบลงทุนนี้ตั้งไว้สำหรับโรงงานผลิตน้ำทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงการลงทุนในโรงไฟฟ้าด้วย ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งจะใช้สำหรับการลงทุนในโครงการใหม่ ๆ การลงทุนจำนวนมากดังกล่าวจะส่งผลให้ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาโครงการใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้คาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับประมาณ 40%-45% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าได้

กระแสเงินสดจากการดำเนินงานและสภาพคล่องที่อยู่ในระดับเพียงพอ

สภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่ดี บริษัทมีกำหนดการชำระหนี้เงินกู้ในระยะเวลาเร็วที่สุดในปี 2563 กระแสเงินสดเพื่อรองรับการชำระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับเพียงพอ การเพิ่มขึ้นของเงินทุนจากการดำเนินงานและภาระหนี้สินที่ลดลงส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 12.71% ในปี 2560 จาก 8.6% ในปี 2559 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับ 4.5 เท่าในปี 2560 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 4.1 เท่าในปี 2559 ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 15% และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ที่ระดับ 5-7 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงได้รับกระแสเงินสดที่ดีจากธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคและเงินปันผลรับที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้าตามที่วางแผนไว้

ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1,400-1,700 ล้านบาทในปี 2561-2563 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2,100-2,400 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากระดับกระแสเงินสดและเงินลงทุนของบริษัทตามที่ประมาณการแล้วคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับปานกลาง ในช่วง 3 ปีข้างหน้า อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทคาดว่าน่าจะอยู่ในระดับประมาณ 15% และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายน่าจะอยู่ในระดับ 5-7 เท่า

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

ในฐานะที่บริษัทเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญของบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น อันดับเครดิตของบริษัทจึงเป็นไปตามทิศทางเดียวกับอันดับเครดิตของบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงใดที่เกี่ยวกับอันดับเครดิตของหรือความสัมพันธ์กับบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน

บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (WHAUP)

อันดับเครดิตองค์กร:

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

WHAUP208A:หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563

WHAUP208B:หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest