ฟิทช์เพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะสั้นของ KTB เป็น 'F2’ และคงอันดับเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบอีก 4 แห่ง

พุธ ๐๒ พฤษภาคม ๒๐๑๘ ๑๖:๑๒
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-Term Issuer Default Rating) ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เป็น 'F2' จาก 'F3' และคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency IDR) ที่ 'BBB' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AA+(tha)' โดยธนาคารมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

พร้อมกันนี้ฟิทช์ยังได้คงอันดับเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ (Domestic Systemically-Important Bank หรือ D-SIB) ที่เหลืออีก 4 แห่ง ดังนี้

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBank และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ได้รับการคงอันดับที่ 'BBB+' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารทั้ง 3 แห่งได้รับการคงอันดับที่ 'AA+(tha)' โดยทั้งหมดมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ได้รับการคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ 'A-' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AAA(tha)' โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

นอกจากนี้ฟิทช์ยังได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศของบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์อีก 2 แห่ง คือ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KS) และบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) โดยทั้ง 2 บริษัทได้รับการคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AA(tha)' และแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

รายละเอียดอันดับเครดิตทั้งหมดได้แสดงไว้ในส่วนท้าย

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BBL KBank และ SCB พิจารณาจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของแต่ละธนาคาร (Viability Rating หรือ VR)

การสนับสนุนจากรัฐบาลไทยเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศและอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ KTB โดยฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนพิเศษที่นอกเหนือจากการดำเนินงานตามปรกติ (Extraordinary Support) แก่ KTB ในกรณีที่มีความจำเป็น ทั้งนี้การสนับสนุนดังกล่าวจากรัฐบาลเป็นปัจจัยหนุนอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ที่ 'BBB' ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KTB ที่ 'bbb-' การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นของ KTB สะท้อนถึงการทบทวนการประเมิน (re-assess) ความสามารถในการชำระหนี้สินระยะสั้นของธนาคาร ซึ่งฟิทช์เชื่อว่าความแตกต่างของความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้น ซึ่งสะท้อนจากอันดับเครดิตสากลระยะสั้นของ KTB ที่อยู่ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีสถานะเป็น D-SIB อยู่ 1 อันดับ นั้น อาจไม่ใช่ระดับที่เหมาะสมอีกต่อไป เนื่องจาก KTB มีอัตราส่วนทางการเงินด้านสภาพคล่องที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกทั้งธนาคารยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นที่เป็นสถาบันการเงินเป็นปัจจัยหลักในการพิจาณาอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BAY ทั้งนี้ฟิทช์มองว่า BAY เป็นบริษัทลูกที่มีบทบาทสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อ MUFG Bank, Ltd. ('A'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/'a') ซึ่งเป็นธนาคารแม่ที่มีสัดส่วนการถือหุ้นใน BAY ที่ 76.9% การดำเนินงานระหว่าง MUFG Bank กับ BAY มีความเชื่อมโยงและผสานการดำเนินงาน (integration) กันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การรวมกิจการของ MUFG Bank สาขากรุงเทพฯ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ BAY เมื่อปี 2558 BAY มีบทบาทสำคัญในการดำเนินกลยุทธ์ของกลุ่มในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นหนึ่งในบริษัทลูกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดนอกประเทศญี่ปุ่นของ MUFG Bank

อันดับเครดิตภายในประเทศของ KS และ SCBS พิจารณาจากการที่บริษัททั้งสองมีสถานะเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อธนาคารแม่ ซึ่งคือ KBank และ SCB ตามลำดับ โดยทั้งสองบริษัทมีบทบาทที่สำคัญในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจรูปแบบธนาคารครบวงจร (universal banking strategy) ของธนาคารแม่ อีกทั้งธนาคารแม่ยังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัทลูก และยังมีการผสานการดำเนินงานและบริหารงานกันอย่างใกล้ชิดมากกับธนาคารแม่

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL KBank SCB KTB และ BAY สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในประเทศไทยและฐานลูกค้าขนาดใหญ่ ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารทั้ง 5 แห่งมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าภาคอุตสาหกรรมธนาคารในระยะปานกลาง อัตรากำไรและคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ไทยโดยรวมเผชิญกับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่อ่อนแอจนถึงปี 2560 และส่งผลให้อัตราส่วนทางการเงินในด้านคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารทั้ง 5 แห่งปรับตัวอ่อนแอลงเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์กลุ่มเดียวกันในต่างประเทศ (global peers) แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าแรงกดดันดังกล่าวน่าจะเริ่มทยอยปรับตัวลดลงในช่วงปี 2561 เนื่องจากแนวโน้มของสภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งธนาคารได้เพิ่มความเข้มงวดในเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

BBL มีเครือข่ายทางธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้าธุรกิจต่างประเทศ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่งและฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของธนาคาร อีกทั้งยังสะท้อนถึงระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (risk appetite) ของ BBLที่ต่ำกว่าและการบริหารจัดการในด้านการระดมเงินและสภาพคล่อง (funding and liquidity) ที่ระมัดระวังกว่า เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศ ซึ่งสะท้อนได้จากการที่ธนาคารมีอัตราส่วนเงินฝากต่อสินเชื่อในระดับที่ต่ำกว่าธนาคารอื่นอย่างต่อเนื่องและมีสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องในระดับสูง BBL มีอัตรากำไรที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในประเทศ ฟิทช์คาดว่าการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) น่าจะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ในขณะที่อัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารที่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง (160% ณ สิ้นปี 2560) และฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง น่าจะช่วยรองรับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในระดับที่มากกว่าคาดการณ์ได้

KBank มีเครือข่ายทางธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในด้านลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) อีกทั้งธนาคารยังมีฐานลูกค้าเงินฝากที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นปัจจัยช่วยลดความเสี่ยงด้านการระดมเงินและสภาพคล่อง อีกทั้งยังช่วยให้ธนาคารมีต้นทุนทางการเงินที่ค่อนข้างต่ำ KBank มีอัตรากำไรและฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งกว่าธนาคารพาณิชย์ในประเทศส่วนใหญ่ ในขณะที่ธนาคารมีระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ที่ต่ำกว่าเช่นกัน ฟิทช์คาดว่าอัตรากำไรและฐานะเงินกองทุนจะปรับตัวมีเสถียรภาพมากขึ้นในปี 2561 จากสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นนอกจากนี้ KBank ยังมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่แข็งแกร่งขึ้น ในด้าน ระดับของสำรองหนี้สูญ (loan loss reserve) และฐานะเงินกองทุน ซึ่งน่าจะช่วยให้ธนาคารสามารถรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระดับที่มากกว่าคาดการณ์ โดยรวมถึงความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งคล้ายกับธนาคารอื่นในประเทศไทยที่คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก แต่อย่างไรก็ตามคุณภาพสินทรัพย์มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น

SCB มีเครือข่ายธุรกิจธนาคารครบวงจร (universal bank) ที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในด้านลูกค้ารายย่อย นอกจากนี้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินยังสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของ SCB ที่ค่อนข้างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศ SCB มีความสามารถในการสร้างรายได้ที่ค่อนข้างสม่ำเสมอโดยมีอัตราดอกเบี้ยสุทธิในระดับสมเหตุสมผล อีกทั้งยังมีการควบคุมต้นทุนที่ค่อนข้างดี ฟิทช์มองว่า SCB มีระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกันธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของสินเชื่อ แต่อย่างไรก็ตามธนาคารมีความสามารถในการบริหารจัดการและควบคุมความเสี่ยงดังกล่าวในระดับที่สมเหตุสมผล และธนาคารยังคงสามารถรักษาอัตราส่วนด้านคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ แม้ว่าจะเผชิญกับแรงกดดันที่สูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ฟิทช์ยังคาดว่า SCB น่าจะยังคงสามารถรักษาระดับรายได้ อัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และฐานะเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้อย่างต่อเนื่อง และทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าวกันน่าจะช่วยให้ธนาคารสามารถรับมือกับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KTB อยู่ต่ำกว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL KBank และ SCB อยู่ 2 อันดับ ซึ่งสะท้อนถึงฐานะทางการเงินโดยรวมที่ด้อยกว่าโดยเฉพาะในด้านฐานะเงินกองทุน อีกทั้ง KTB (ซึ่งเป็นธนาคารที่ภาครัฐถือหุ้นในสัดส่วน 55%) มีระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้สูงกว่าธนาคารขนาดใหญ่ที่มีสถานะเป็น D-SIB รายอื่น ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ธนาคารมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ด้อยกว่า แม้ KTB ยังคงมีความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าความเสี่ยงดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ จากการที่ KTB ได้เพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่เริ่มปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ฟิทช์คาดว่าผลประกอบการโดยรวมของ KTB น่าจะยังคงด้อยกว่าธนาคาร D-SIB รายอื่น ดังนั้นฐานะเงินกองทุนของ KTB น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับธนาคาร D-SIB ในประเทศ เนื่องจากกำไรสะสมที่น่าจะเติบโตช้ากว่า

BAY มีอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินต่ำกว่า BBL KBank และ SCB อยู่ 1 อันดับ สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจในประเทศที่เล็กกว่าและความแข็งแกร่งทางการเงินโดยรวมที่ด้อยกว่าเมื่อเทียบกันธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่า ในด้านฐานะเงินกองทุนและอัตรากำไร รวมถึงระดับความเสี่ยงที่ยอมรับที่สูงกว่า BAY มีการเติบโตของธุรกิจในระดับที่สูงเมื่อเทียบธนาคารพาณิชย์ในประเทศ ในขณะที่โครงสร้างธุรกิจมีการกระจายตัวมากขึ้น เนื่องจากธนาคารมีความแข็งแกร่งทางการตลาดในด้านสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อธุรกิจกลุ่มบริษัทญี่ปุ่น อัตราส่วนทางการเงินในด้านกำไรโดยรวมมีการปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับผู้นำในภาคอุตสาหกรรมธนาคารในประเทศ MUFG Bank เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน BAY ตั้งแต่ปี 2556 และเริ่มได้ดำเนินการเชื่อมโยงและผสานการดำเนินงาน (integration) ของ BAY เข้ากับทางกลุ่มในระดับที่สูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารแม่ให้การสนับสนุนในการดำเนินงานปรกติ (ordinary support) ที่สำคัญ เช่น การระดมเงินและการบริหารจัดการ

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ

อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ BBL KBank SCB และ KTB สะท้อนถึงการที่ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 4 แห่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย ซึ่งสะท้อนได้จากการที่ธนาคารแต่ละแห่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านเงินฝากมากกว่า 14% ของระบบธนาคารพาณิชย์ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ KTB ที่ 'BBB' อยู่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์อีก 3 แห่ง 1 อันดับ เนื่องจาก KTB ไม่เพียงแต่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศเท่านั้น แต่ KTB ยังมีความสำคัญในเชิงกลยุทย์ต่อรัฐบาลไทย โดย KTB เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งเดียวที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ ทั้งยังมีความใกล้ชิดในการดำเนินงานกับกระทรวงการคลังและธนาคารยังใช้สัญลักษณ์ทางการค้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกับสัญลักษณ์ของกระทรวงการคลัง

อันดับเครดิตสนับสนุนของ BAY สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ BAY จะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษที่นอกเหนือจากการสนับสนุนในด้านการดำเนินงานปรกติจาก MUFG Bank แม้ว่า BAY จะมีสถานะเป็นธนาคาร D-SIB แต่ฟิทช์ไม่ได้ให้อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำแก่ธนาคาร เนื่องจากอันดับเครดิตของ BAY พิจารณาจากการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นที่เป็นสถาบันการเงิน

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – หุ้นกู้ด้อยสิทธิ

หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ที่ไม่เข้าเกณฑ์บาเซล 3) ของ BBL และ SCB มีอันดับเครดิตที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว หรือ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ 1 อันดับ เพื่อสะท้อนสถานะด้อยสิทธิตามโครงสร้างเงินทุนเมื่อเทียบกับอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของฟิทช์ในการจัดอันดับเครดิตตราสารประเภทดังกล่าว

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ของ KBank BAY และ KTB ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ 1 อันดับ ซึ่งสะท้อนถึงการที่หุ้นกู้ดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติในการรองรับผลขาดทุนในลักษณะที่เป็นการบังคับตัดเป็นหนี้สูญทั้งจำนวน (mandatory full write-down) และความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่มากกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิเนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะด้อยสิทธิ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ดังกล่าวไม่ได้ถูกปรับลดอันดับเพิ่มเติมเพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงที่ผู้ถือหุ้นกู้จะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดการณ์ (non-performance risk) เนื่องจากหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption)

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 สกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ ของ KTB ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารอยู่ 1 อันดับ ทั้งนี้แนวทางในการพิจารณาอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวฟิทช์ใช้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศที่สะท้อนถึงโอกาสที่ KTB จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ (support driven) เป็นอันดับเครดิตที่ใช้อ้างอิง (anchor rating) ในการจัดอันดับแทนที่จะใช้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร เนื่องจากฟิทช์มองว่าภาครัฐน่าจะให้การช่วยเหลือเพื่อป้องกันมิให้ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (non-viability) ในขณะที่อันดับเครดิตของหุ้นกู้ดังกล่าวที่อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตอ้างอิงอยู่ 1 อันดับ สะท้อนถึงสถานะด้อยสิทธิ การรองรับผลขาดทุนในลักษณะการตัดเป็นหนี้สูญบางส่วน (partial write-down) โดยไม่มีการบังคับตัดหนี้สูญทั้งจำนวน และการไม่มีคุณสมบัติที่สามารถรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BBL KBank และ SCB จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของระดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศและอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ KTB อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ ซึ่งอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำนั้นสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ต่อความสามารถของภาครัฐในการให้การสนับสนุนและโอกาสที่รัฐจะให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BAY อาจเปลี่ยนแปลงได้จากการเปลี่ยนแปลงของสมมติฐานของฟิทช์ต่อความสามารถหรือโอกาสที่ MUFG Bank จะให้การสนับสนุนแก่ BAY อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ BAY อยู่ในระดับเดียวกับเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย (Country Ceiling) และอันดับเครดิตภายในประเทศก็อยู่ในระดับที่สูงสุดแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสที่จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับ อันดับเครดิตของ BAY อาจได้รับผลกระทบในเชิงลบหากอันดับเครดิตของ MUFG Bank ถูกปรับลดอันดับ หรือความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ BAY ต่อ MUFG Bank ลดลง

อันดับเครดิตภายในประเทศของ บล.กสิกรไทย และ บล.ไทยพาณิชย์ จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารแม่ อีกทั้งยังอาจได้รับผละกระทบจากการเปลี่ยนแปลงมุมมองของฟิทช์เกี่ยวกับโอกาสในการที่ KBank และ SCB จะให้การสนับสนุนกับบริษัทลูก เช่น หากมีการลดการถือหุ้นในบริษัทลูกอย่างมากหรือมีการลดของระดับความใกล้ชิดหรือความเชื่อมโยงในด้านการดำเนินงานและการบริหารงาน อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

โอกาสที่อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL KBank และ SCB จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากอันดับเครดิตของธนาคารทั้ง 3 แห่งอยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และยังมีสัดส่วนเงินลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลในระดับสูง ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยน่าจะส่งผลให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL KBank และ SCB ถูกปรับลดอันดับเช่นกัน สำหรับธนาคารทั้ง 3 แห่ง การปรับตัวแย่ลงของคุณภาพสินทรัพย์และอัตรากำไรอย่างต่อเนื่องและมากกว่าระดับที่ฟิทช์คาดการณ์ในด้านคุณภาพสินทรัพย์หรือความสามารถในการทำกำไร (ทั้งนี้รวมถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากของระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ปัจจัยทั้ง 2 ปรับตัวลดลงอย่างมากได้ในอนาคต) พร้อมกับการที่ธนาคารไม่สามารถรักษาความสามารถในการรองรับความเสี่ยงไว้ในระดับที่เพียงพอ ในด้าน ระดับของสำรองหนี้สูญและฐานะเงินกองทุน อาจส่งผลให้ธนาคารถูกปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้

การเปลี่ยนแปลงของฐานะเงินกองทุนเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KTB ฟิทช์อาจปรับลดอันดับเครดิตของ KTB หากธนาคารมีความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์เพิ่มขึ้นและมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ลดลงต่ำกว่าธนาคารอื่นในกลุ่ม 'bbb-' ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้จากการที่ KTB มีการเติบโตของสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐในระดับสูงขึ้น และส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารปรับตัวแย่ลงอย่างรวดเร็ว ในทางกลับกันอาจมีการปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน หากคุณภาพสินทรัพย์และฐานะเงินกองทุนของธนาคารปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง และอัตราส่วนทางการเงินอื่นโดยรวมยังคงอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BAY อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากการร่วมมือและผสานการดำเนินงานของ BAY กับ MUFG Bank ส่งผลให้ธนาคารมีเครือข่ายธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่งมากเพิ่มขึ้น ประกอบกับการที่ธนาคารมีฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งขึ้นโดยที่ความเสี่ยงที่ธนาคารยอมรับได้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในทางกลับกันอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BAY อาจถูกปรับลดอันดับหากคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไร หรือความสามารถในการรองรับความเสี่ยงในด้านสภาพคล่อง มีการปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่อง

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ

ฟิทช์อาจต้องทบทวนการประเมินอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ BBL KBank และ SCB ใหม่ หากมีการเปลี่ยนแปลงในความสามารถของรัฐบาลในการให้การสนับสนุนแก่ธนาคารพาณิชย์ เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้จากการที่อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยถูกปรับลดอันดับลง อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ KTB จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงในมุมมองของฟิทช์ต่อแนวโน้มที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย อาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 4 แห่ง อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง

อันดับเครดิตสนับสนุนของ BAY ที่ '1' อาจได้รับผลกระทบเชิงลบจากการลดลงของโอกาสที่ MUFG Bank จะให้การสนับสนุนแก่ BAY ทั้งนี้อาจสะท้อนได้จากการปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นลงอย่างมีนัยสำคัญหรือการลดลงของการเชื่อมโยงในการดำเนินงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น อันดับเครดิตสนับสนุนของ BAY อาจได้รับผลกระทบจากการปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ MUFG Bank ได้เช่นกัน

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – หุ้นกู้ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งทั้ง 5 ธนาคาร จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในอันดับเครดิตอ้างอิงของตราสารนั้นๆ

รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้

BBL:

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'BBB+'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F2'

- อันดับความเข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ 'bbb+'

- อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับที่ '2'

- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับที่ 'BBB-'

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'AA+(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F1+(tha)'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของโครงการหุ้นกู้ Global Medium Term Note ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน มูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คงอันดับเครดิตที่ 'BBB+'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ 'BBB+'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับที่ 'BBB'

KBank:

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'BBB+'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F2'

- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ 'bbb+'

- อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับที่ '2'

- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับที่ 'BBB-'

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'AA+(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F1+(tha)'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของโครงการหุ้นกู้ Euro Medium-Term Note ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน มูลค่ารวม 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คงอันดับเครดิตที่ 'BBB+'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ 'BBB+'

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) คงอันดับที่ 'AA(tha)'

SCB:

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'BBB+'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F2'

- อันดับความเข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ 'bbb+'

- อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับที่ '2'

- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับที่ 'BBB-'

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'AA+(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F1+(tha)'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของโครงการหุ้นกู้ Medium-Term Note ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน มูลค่ารวม 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คงอันดับเครดิตที่ 'BBB+'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ 'BBB+'

- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ระยะสั้น ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ 'F1+(tha)'

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับที่ 'AA(tha)'

KTB:

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'BBB'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น ปรับเพิ่มอันดับเป็น 'F2' จาก 'F3'

- อันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ 'bbb-'

- อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับที่ '2'

- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ คงอันดับที่ 'BBB'

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'AA+(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F1+(tha)'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของโครงการห้นกู้ Euro Medium-Term Note ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน มูลค่า 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ คงอันดับที่ 'BBB'

- อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ 'BBB'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) คงอันดับที่ 'BBB-'

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของโครงการห้นกู้ระยะสั้น มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท คงอันดับที่ 'F1+(tha)'

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) คงอันดับที่ 'AA(tha)'

BAY

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับเครดิตที่ 'A-'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ 'F2'

- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับเครดิตที่ 'bbb'

- อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับเครดิตที่ '1'

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ 'AAA(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ 'F1+(tha)'

- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน คงอันดับเครดิตที่ 'AAA(tha)'

- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) คงอันดับที่ 'AA+(tha)'

บล.กสิกรไทย:

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'AA(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F1+(tha)'

บล.ไทยพาณิชย์:

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'AA(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F1+(tha)'

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4