ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร” ที่ “A+” และหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุนที่ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable”

ศุกร์ ๑๑ พฤษภาคม ๒๐๑๘ ๑๕:๓๙
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "A+" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนซึ่งไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (Hybrid Debentures) ของบริษัทที่ระดับ "A-"

อันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของบริษัทยังคงสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของไทย ตลอดจนการมีฐานการผลิตในหลายประเทศ การมีสินค้าและตลาดที่หลากหลาย กลยุทธ์ที่เน้นผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมบริโภคที่มีตราสัญลักษณ์ รวมทั้งความยืดหยุ่นทางการเงินจากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ของบริษัท อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากระดับหนี้สินของบริษัทที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ของบริษัทซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์และราคาธัญพืชซึ่งเป็นวัตถุดิบ รวมทั้งความเสี่ยงจากโรคระบาดและการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้า

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร

บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของประเทศโดยบริษัทเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในหลากหลายผลิตภัณฑ์ ในแขนงอาหารสัตว์นั้นบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในแง่ของปริมาณการผลิตประมาณครึ่งหนึ่งในธุรกิจอาหารกุ้งและมีส่วนแบ่งทางการตลาดคิดเป็น 1 ใน 3 ของตลาดอาหารสัตว์บก สำหรับธุรกิจไก่และสุกรนั้นบริษัทมีปริมาณการผลิตไก่และสุกรคิดเป็น 1 ใน 4 ของประเทศ ทั้งนี้ บริษัทได้รับประโยชน์อย่างมากจากการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) เนื่องจากบริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของประเทศ

การกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์

การกระจายตัวของฐานการผลิตและแหล่งที่มาของรายได้เชิงภูมิศาสตร์ช่วยลดความเสี่ยงในด้านการพึ่งพิงและช่วยให้ผลการดำเนินงานของบริษัทมีความสม่ำเสมอมากขึ้น ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 บริษัทมีฐานการผลิตอยู่ใน 16 ประเทศซึ่งตั้งอยู่ใน 5 ทวีป ในปี 2560 รายได้รวมของบริษัทประมาณ 36% มาจากฐานการผลิตภายในประเทศและอีก 64% มาจากฐานการผลิตในต่างประเทศ กิจการในประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วน 25% ของรายได้รวม ตามมาด้วยรายได้จากกิจการในประเทศเวียดนาม 13% แหล่งรายได้ส่วนที่เหลือมาจากกิจการในประเทศสหรัฐอเมริกา ไต้หวัน ตุรกี อินเดีย รัสเซีย และกัมพูชาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในแต่ละแหล่งคิดเป็นสัดส่วน 1%-4% ของรายได้รวมในปี 2560

ในด้านของการตลาดนั้น รายได้ของบริษัทมีการกระจายตัวตามพื้นที่ ทั้งนี้ รายได้จากการขายมีสัดส่วนเพียง 30% ของรายได้รวม รายได้จากการขายในทวีปเอเชียซึ่งเป็นภูมิภาคที่กำลังเติบโตปัจจุบันมีสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็น 55% ของรายได้รวมในปี 2560 ในขณะที่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกามีรายได้คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% และ 5% ของรายได้รวมตามลำดับ ทั้งนี้ ความพยายามอย่างต่อเนื่องของบริษัทในการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์จะค่อย ๆ ลดผลกระทบที่อาจเกิดจากโรคระบาดและการกีดกันทางการค้าได้ในระดับหนึ่ง

ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์

บริษัทเป็นผู้ผลิตสินค้าสัตว์บกและกุ้งที่ครบวงจร ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีความหลากหลายซึ่งประกอบด้วย อาหารสัตว์ เนื้อไก่ กุ้ง และสุกร รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อาหาร ธุรกิจที่สร้างรายได้มากที่สุดในปี 2560 คือธุรกิจอาหารสัตว์ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 45% ของรายได้รวม ตามมาด้วยรายได้จากธุรกิจไก่ สุกร และกุ้ง (37%) และธุรกิจอาหาร (18%)

ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ช่วยลดความผันผวนของกำไรของบริษัท ตัวอย่างเช่นในปี 2556-2558 ธุรกิจสัตว์น้ำของบริษัทประสบปัญหาการระบาดของโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome -- EMS) ในกุ้ง ทว่าผลการดำเนินงานที่ดีของธุรกิจสัตว์บกก็ได้ช่วยบรรเทาผลขาดทุนในธุรกิจสัตว์น้ำในทางตรงกันข้ามในปี 2560 การฟื้นตัวของธุรกิจสัตว์น้ำในต่างประเทศก็ช่วยบรรเทาผลการดำเนินงานที่อ่อนแอของธุรกิจสัตว์บกได้บางส่วนด้วยเช่นกัน

มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม

เพื่อลดความผันผวนของราคาสินค้าที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ บริษัทกำลังดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ระยะยาวที่จะมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม ในปี 2560 บริษัทมีรายได้จากผลิตภัณฑ์อาหารคิดเป็น 18% ของรายได้รวม เพิ่มขึ้นจากระดับ 12% ในปี 2559 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการซื้อกิจการของ Bellisio Parent, LLC ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ทั้งนี้ คาดว่ารายได้จากผลิตภัณฑ์อาหารของบริษัทจะยังคงมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่ฐานธุรกิจในประเทศจีนของบริษัทมีการขยายกิจการสู่ผลิตภัณฑ์อาหาร

ผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลง

เนื่องจากรายได้ของบริษัทเกือบ 40% มาจากการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์จึงส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทมีความผันผวนไปตามวัฏจักรของอุตสาหกรรมสัตว์บกและสัตว์น้ำ

บริษัทมีผลประกอบการที่อ่อนแอลงในปี 2560 กำไรที่ปรับตัวลดลงเป็นผลเนื่องมาจากภาวะอุปทานส่วนเกินที่ส่งผลลบต่อราคาสุกร ในปี 2560 ราคาสุกรในประเทศเวียดนามและไทยลดลงอย่างมาก อ้างอิงจากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยและข้อมูลของบริษัท พบว่าราคาเฉลี่ยของสุกรในเวียดนามลดลง 38% เมื่อเทียบกับปีก่อนโดยมาอยู่ที่ระดับ 28,614 ดองต่อกิโลกรัม (กก.) และราคาเฉลี่ยของสุกรในไทยลดลง 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งมาอยู่ที่ระดับ 58 บาทต่อ กก. ส่งผลทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจสัตว์บกลดลงจาก 7.2% ในปี 2559 มาอยู่ที่ 1.6% ในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของธุรกิจสัตว์บกที่อ่อนแอลงได้รับการชดเชยบางส่วนจากธุรกิจสัตว์น้ำในต่างประเทศ อัตรากำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจสัตว์น้ำปรับเพิ่มขึ้นจาก 4.2% ในปี 2559 เป็น 9.2% ในปี 2560 อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงจาก 8.6% ในปี 2559 มาอยู่ที่ 4.7% ในปี 2560 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเท่ากับ 35,941 ล้านบาทในปี 2560 ลดลงจากระดับ 50,022 ล้านบาทในปี 2559

แม้ว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานลดลง แต่บริษัทก็ยังคงมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ บริษัทมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนเพิ่มจาก 6,512 ล้านบาทในปี 2559 เป็น 7,983 ล้านบาทในปี 2560 นอกจากนี้ บริษัทยังมีกำไรจากการขายเงินลงทุนอีกจำนวน 10,429 ล้านบาทในปี 2560 ด้วย ส่งผลให้กำไรสุทธิของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 14,703 ล้านบาทในปี 2559 มาอยู่ที่ 15,259 ล้านบาทในปี 2560

ในอนาคตคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงได้รับแรงกดดันจากราคาสัตว์บกที่ปรับตัวลดลงและต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทจะยังคงได้รับอานิสงส์จากการเพิ่มขึ้นของความต้องการผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ในตลาดส่งออกและการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกิจกุ้งทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังคาดว่ากระแสเงินสดของบริษัทจะเพิ่มขึ้นจากการรวมผลการดำเนินงานของกิจการที่บริษัทลงทุนเพิ่มอีกหลายแห่งในช่วงที่ผ่านมาด้วย ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าในช่วงปี 2561-2563 รายได้ของบริษัทจะเติบโตระหว่าง 520,000-620,000 ล้านบาท กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 33,000-58,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ในช่วง 3 ปีข้างหน้าก็คาดว่าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 3-4 เท่า

ภาระหนี้จะยังคงอยู่ในระดับสูง

ในปี 2560 บริษัทได้เสริมสถานะทางการเงินด้วยการเพิ่มทุนจำนวน 21,707 ล้านบาท โดยมีการนำเงินเพิ่มทุนดังกล่าวไปใช้จ่ายคืนภาระหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ส่งผลให้เงินกู้รวม (ซึ่งรวมถึง 50% ของจำนวนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ที่ถูกนำมาคำนวณเป็นเงินกู้) ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 296,210 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 จากระดับ 312,728 ล้านบาทในปี 2559 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 57.5% ณ สิ้นปี 2560 จากระดับ 61.8% ในปี 2559

แม้ว่าหนี้สินของบริษัทในช่วงที่ผ่านมาจะลดลง แต่ก็ยังคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์การเติบโต บริษัทได้วางแผนงบลงทุนจำนวน 20,000-30,000 ล้านบาทต่อปีสำหรับการขยายงานโดยไม่รวมการซื้อกิจการ บริษัทยังคงแสวงหาโอกาสในการลงทุนต่อไปตราบเท่าที่การซื้อกิจการหรือการลงทุนนั้นสอดคล้องกับธุรกิจหลักและสามารถสร้างผลกำไรที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะบริหารจัดการอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 60% ได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าแม้จะมีการลงทุนขยายกิจการจำนวนมากก็ตาม

กระแสเงินสดจากการดำเนินงานอ่อนแอลงแต่มีความยืดหยุ่นทางการเงินในระดับสูง

กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงจากอัตรากำไรที่ลดลง อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ 3.1 เท่าในปี 2560 เทียบกับระดับ 4.9 เท่าในปี 2559 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทเท่ากับ 8.7% ในปี 2560 ลดลงจากระดับ 11.6% ในปี 2559 ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 บริษัทมีเงินกู้รวมเท่ากับ 288,710 ล้านบาท โดยที่ประมาณ 60% เป็นหุ้นกู้และเงินกู้ระยะยาว ส่วนที่เหลือเป็นเงินกู้ระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน บริษัทมีเงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2561 ประมาณ 25,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทมีสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินที่เข้มแข็ง กล่าวคือ ณ สิ้นปี 2560 บริษัทมีเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวนรวม 26,838 ล้านบาท นอกจากนี้ สถานะสภาพคล่องของบริษัทก็แข็งแกร่งขึ้นด้วยจากการมีความยืดหยุ่นทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง บริษัทยังมีเงินลงทุนในสัดส่วน 34.3% ใน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านค้าสะดวกซื้อในประเทศไทยอีกด้วยเช่นกัน โดยมูลค่าเงินลงทุนดังกล่าวตามราคาตลาด ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2561 อยู่ที่ระดับประมาณ 271,000 ล้านบาท

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเอาไว้ได้ นอกจากนี้ การเป็นบริษัทที่มีความหลากหลายทั้งในด้านของการดำเนินงาน สินค้า และตลาดก็น่าจะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรซึ่งมีลักษณะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์และความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคได้บางส่วน

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถทำให้โครงสร้างเงินทุนมีความแข็งแรงมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็สามารถเพิ่มกระแสเงินสดส่วนเกินสำหรับการชำระหนี้อย่างมีนัยสำคัญได้อย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงได้หากบริษัทมีการซื้อกิจการโดยใช้เงินกู้จำนวนมากซึ่งจะส่งผลต่อโครงสร้างเงินทุนและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ หรือในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอกว่าที่คาดไว้เป็นอย่างมาก

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF)

อันดับเครดิตองค์กร: A+

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

CPF188A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+

CPF198A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A+

CPF198B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A+

CPF204A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,060 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+

CPF205A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+

CPF218A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+

CPF218B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+

CPF228A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+

CPF235A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+

CPF237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,940 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+

CPF244A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+

CPF251A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,460 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+

CPF257A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+

CPF277A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+

CPF281A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,540 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+

CPF314A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A+

CPF328A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 A+

CPF418A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2584 A+

CPF41DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2584 A+

CPF17PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน 15,000 ล้านบาท A-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้