ฟิทช์คงอันดับเครดิต บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ ที่ BBB-/AA(tha); แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

พฤหัส ๐๒ สิงหาคม ๒๐๑๘ ๑๗:๒๖
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ThaiBev ที่ 'BBB-' และคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัทฯ ที่ 'AA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ThaiBev ต้องเผชิญความท้าทายในธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบการเงินสิ้นสุดเดือนกันยายน 2561 (ปีงบการเงิน 2561) ซึ่งส่งผลให้การปรับลดอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ล่าช้ากว่าที่ฟิทช์เคยคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คงแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ เนื่องจากฟิทช์ยังคาดว่า ThaiBev จะสามารถลดอัตราส่วนหนี้สินลงมาอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันได้

นอกเหนือจากความท้าทายจากการฟื้นตัวของความต้องการบริโภคเครื่องดื่มในประเทศที่ช้ากว่าที่คาดและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นทั้งในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ บริษัทฯ ยังประสบปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งฟิทช์มองว่าเป็นปัญหาระยะสั้น โดยคาดว่าสถานการณ์จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปีงบการเงิน 2561 เป็นต้นไป ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฯ ฟื้นตัวดีขึ้น การฟื้นตัวของธุรกิจ ประกอบกับการที่ ThaiBev ให้ความสำคัญกับการลดหนี้ และยึดมั่นในการที่จะคงอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับต่ำ หลังจากมีการลงทุนขยายธุรกิจโดยใช้หนี้สินเป็นแหล่งทุน น่าจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินมีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยฟิทช์คาดว่าการลดอัตราส่วนการจ่ายเงินปันผล และการเร่งเพิ่มผลประกอบการของกิจการที่ซื้อมาใหม่ น่าจะเป็นหนึ่งในมาตรการที่บริษัทฯ จะใช้ในการปรับลดอัตราส่วนหนี้สิน อย่างไรก็ตาม หากการฟื้นตัวของสถานะทางการเงินของบริษัทฯ เป็นไปได้ช้ากว่าที่ฟิทช์คาดในช่วง 12 เดือนข้างหน้า อาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตได้

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

ความท้าทายสำหรับธุรกิจในประเทศ แต่อัตราส่วนกำไรคาดว่าจะดีขึ้น – ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและส่งเสริมการขายที่สูงขึ้นเพื่อสู้กับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนที่สูงขึ้นชั่วคราวจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางด้านบรรจุภัณฑ์ เป็นปัจจัยที่เข้ามาเพิ่มความท้าทายให้กับ ThaiBev อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจปัจจุบันของบริษัทฯ น่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของความต้องการบริโภคเครื่องดื่มในประเทศ และการลดลงของต้นทุนการผลิตในปีงบการเงิน 2562 ซึ่งจะนำไปสู่การลดอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ

กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ซึ่งรวมถึงกำไรจากธุรกิจใหม่ของบริษัทฯ น่าจะเติบโตมาอยู่ที่ระดับ 4.0-4.5 หมื่นล้านบาท ในปีงบการเงิน 2561-2562 จาก 3.2 หมื่นล้านบาท ในปีงบการเงิน 2560 รายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิตของธุรกิจเครื่องดื่มของบริษัทฯ (ไม่รวมธุรกิจในประเทศเวียดนามและเมียนมาร์) ลดลงประมาณร้อยละ 2 และ EBITDA ลดลงประมาณร้อยละ 20 ในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบการเงิน 2561 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สถานะทางธุรกิจที่ดีขึ้น – การเข้าซื้อกิจการของ ThaiBev ในประเทศเวียดนามและเมียนมาร์ช่วยขยายขนาดธุรกิจของบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ ฟิทช์คาดว่า EBITDA ของบริษัทฯ จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 40 และช่วยให้การกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ดีขึ้น โดยสัดส่วน EBITDA จากประเทศไทยน่าจะลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 80 ในปีงบการเงิน 2562 จากเดิมมากกว่าร้อยละ 90 ในปีงบการเงิน 2560 อันดับเครดิตของ ThaiBev ได้รับการสนับสนุนจากการเป็นผู้นำในตลาดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์ในประเทศไทย เมียนมาร์ และเวียดนาม ธุรกิจสุราภายในประเทศยังคงเป็นจุดแข็งที่สำคัญ ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดกว่าร้อยละ 90 และ EBITDA Margin (สัดส่วนต่อรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต) ในระดับสูงกว่าร้อยละ 50 ซึ่งความแข็งแกร่งดังกล่าวมาจากตราสินค้าที่เป็นที่ยอมรับในตลาด เครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้าที่กว้างขวาง และอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมที่สูงสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย

สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของกิจการที่เข้าซื้อ – Sabeco เป็นผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 41 วัดจากปริมาณการขายในปี 2559 เวียดนามเป็นตลาดเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหนึ่งในห้าประเทศที่มีปริมาณการบริโภคเบียร์สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ฟิทช์เชื่อว่าตลาดเบียร์เวียดนามมีศักยภาพในการเติบโตสูง เนื่องจากความนิยมในการดื่มเบียร์และเป็นประเทศที่มีอายุเฉลี่ยของประชากรค่อนข้างน้อย

Myanmar Supply Chain and Marketing Services Co.,Ltd (MSC) และ Myanmar Distillery Co.,Ltd. (MDC) รวมเรียกว่า Grand Royal Group หรือ GRG ซึ่ง ThaiBev ซื้อมาในเดือนตุลาคม 2560 เป็นผู้นำตลาดวิสกี้ในประเทศเมียนมาร์ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดกว่าร้อยละ 65 ณ เดือนมีนาคม 2560 ถึงแม้ว่าการบริโภควิสกี้ในประเทศเมียนมาร์จะน้อยกว่าการบริโภคสุราขาว การแข่งขันในตลาดวิสกี้อยู่ในระดับปานกลางระหว่างผู้ผลิตสามรายใหญ่ในประเทศ

ส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยใน Sabeco – ในการพิจารณาอันดับเครดิตของ ThaiBev ฟิทช์มองว่า ThaiBev และ Sabeco มีความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงานและกลยุทธ์ทางธุรกิจในระดับสูง ฟิทช์จึงพิจารณารวมสถานะการทางการเงินและผลการดำเนินงานทั้งหมดของ Sabeco เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ThaiBev ซึ่งในการคำนวณกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO) จะนำเงินปันผลที่จ่ายให้กับผู้ถือหุ้นส่วนน้อยมาหักออก นอกจากนี้ ในกรณีนี้ ฟิทช์ยังถือว่าเงินสดในมือของ Sabeco (จำนวนประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปีงบการเงิน 2561) ในสัดส่วนตามการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย เป็นเงินสดที่มีภาระผูกพันซึ่งไม่สามารถนำมาเป็นรายการหักในการคำนวณหนี้สินสุทธิได้ ทั้งนี้ ThaiBev มีอำนาจการควบคุม Sabeco คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53.6 ซึ่งมาจากสัดส่วนการถือหุ้นทางอ้อมร้อยละ 26.3 และสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น ซึ่งทำให้ ThaiBev มีอำนาจควบคุมการตัดสินใจที่สำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานและกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัทลูกทางอ้อมที่เป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงใน Sabeco

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

อันดับเครดิตของ ThaiBev สะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำทางการตลาดของสุราและเบียร์ในประเทศไทย เวียดนาม และเมียนมาร์ ซึ่งช่วยชดเชยการที่บริษัทฯ มีการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ที่น้อยกว่าและมีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ทั่วโลกที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตในช่วง 'BBB' โดยสถานะทางธุรกิจของ ThaiBev ใกล้เคียงกับ Molson Coors Brewing Company (Molson Coors, อันดับเครดิต BBB- แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ถึงแม้ว่า Molson Coors จะมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า และมีการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ที่ดีกว่า แต่ก็มีความกระจุกตัวในตลาดอเมริกาเหนือ ThaiBev มีสถานะทางการเงินที่ใกล้เคียงกับ Molson Coors โดยทั้งคู่มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงเนื่องจากการซื้อกิจการโดยใช้หนี้เป็นแหล่งเงินทุน

Pernod Ricard S.A. (Pernod, อันดับเครดิต BBB แนวโน้มเครดิตเป็นบวก) เป็นเจ้าของธุรกิจสุราระดับโลก ซึ่งเทียบเคียงกับสถานะทางธุรกิจของ ThaiBev ที่เป็นผู้นำตลาดที่แข็งแกร่งมากในประเทศและมีธุรกิจในต่างประเทศที่เติบโตขึ้น อันดับเครดิตที่ต่างกันหนึ่งระดับเป็นผลมาจากอัตราส่วนหนี้สินของ ThaiBev ที่อยู่ในระดับที่สูงกว่า ThaiBev และ Anheuser Busch InBev NV/SA (ABI, อันดับเครดิต BBB แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงจากการซื้อกิจการ อย่างไรก็ตาม ABI ซึ่งเป็นผู้ผลิตเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและมีความสามารถในการทำกำไรในระดับสูง ซึ่ง ABI มีสถานะทางธุรกิจเทียบเท่าอันดับเครดิตที่ 'A' ดังนั้น ABI จึงมีอันดับเครดิตที่สูงกว่า ThaiBev

เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตภายในประเทศ สถานะทางเครดิตของ ThaiBev อยู่ในระดับต่ำกว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS, อันดับเครดิต 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งมีสถานะทางธุรกิจใกล้เคียงกัน โดยทั้งสองบริษัทครองตำแหน่งผู้นำในอุตสาหกรรมของตน อย่างไรก็ตาม ThaiBev มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า ซึ่งส่งผลให้ได้รับการจัดอันดับเครดิตต่ำกว่าที่ 'AA(tha)'

เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC, อันดับเครดิต AA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งมีสถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ AA-(tha)) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC, อันดับเครดิต AA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งมีสถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ AA-(tha)) ThaiBev มีความเสี่ยงทางธุรกิจในระดับที่ต่ำกว่ามาก โดย ThaiBev มีฐานะความเป็นผู้นำตลาด มีกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash flow หรือ FCF) ที่แข็งแกร่ง โดยอัตราส่วน FCF ต่อรายได้สุทธิ (หลังหักภาษีสรรพสามิต) อยู่ที่ระดับร้อยละ 8-11 และเผชิญกับการแข่งขันทางธุรกิจที่ต่ำกว่า DTAC ต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงในธุรกิจโทรคมนาคมของไทย ในขณะที่ PTTGC มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มีความผันผวนตามวัฏจักรของธุรกิจมากกว่า ThaiBev ซึ่งเป็นผลจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตรากำไรในธุรกิจการกลั่นน้ำมัน ทั้ง DTAC และ PTTGC มี FCF เป็นลบเป็นส่วนใหญ่ตลอดช่วงวัฏจักรของธุรกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูงในธุรกิจโทรคมนาคม และความผันผวนของความต้องการเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจปิโตรเคมี ดังนั้น ThaiBev จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตที่สูงกว่าหนึ่งระดับ

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

- รายได้สุทธิจากธุรกิจปัจจุบันในประเทศไทยค่อนข้างคงที่ในปีงบการเงิน 2561 และเติบโตตามสภาวะอุตสาหกรรมในอัตราประมาณร้อยละ 3-4 ในปีงบการเงิน 2562-2563

- รายได้สุทธิจากธุรกิจใหม่ ที่ระดับประมาณ 4.5 - 5.0 หมื่นล้านบาท ในปีงบการเงิน 2561 และมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าร้อยละ 30 จากการรวมผลประกอบการเต็มปี ในปีงบการเงิน 2562

- EBITDA margin (โดยเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิ) สำหรับธุรกิจปัจจุบันในประเทศไทย ลดลงในปีงบการเงิน 2561 เมื่อเทียบกับปีก่อน และค่อยๆ ฟื้นตัวในปีงบการเงิน 2562-2563 โดย EBITDA margin อยู่ในระดับร้อยละ 48-54 สำหรับธุรกิจสุรา; ร้อยละ 15-21 สำหรับธุรกิจเบียร์; ต่ำกว่าร้อยละ 3 สำหรับธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์; ร้อยละ 10-13 สำหรับธุรกิจอาหาร ในปีงบการเงิน 2561-2563

- EBITDA margin (โดยเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิ) สำหรับธุรกิจใหม่ ค่อนข้างคงที่ที่ระดับ ร้อยละ 20-23 ในปีงบการเงิน 2561-2563

- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน 5-7 พันล้านบาทต่อปี ในปีงบการเงิน 2561-2563 (ไม่รวมการเข้าซื้อกิจการ)

- ลดอัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ในปีงบการเงิน 2561-2563

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

ฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วง 24 เดือนข้างหน้านี้ เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ฟิทช์อาจพิจารณาปรับเพิ่มอันดับเครดิต ในกรณีดังต่อไปนี้

- FFO adjusted net leverage ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 3.0 เท่า อย่างต่อเนื่อง โดยที่สามารถรักษาอัตราส่วนกระแสเงินสดสุทธิต่อรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต (Free Cash Flow Margin) ในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 3.5 อย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยลบ:

- บริษัทฯ ไม่สามารถลด FFO adjusted net leverage ให้ลงมาอยู่ในระดับประมาณ 4.0 เท่า ได้ในปีงบการเงิน 2563

- มีหลักฐานหรือเหตุการณ์ที่แสดงถึงตำแหน่งทางการตลาด หรือประสิทธิภาพในการดำเนินงาน หรืออำนาจในการต่อรองราคา ที่อ่อนแอลง ส่งผลให้มีอัตราการเติบโตของรายได้และอัตรากำไรที่อ่อนแออย่างต่อเนื่อง

- การขยายการลงทุนใหม่ในธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ซึ่งส่งผลให้ความเสี่ยงทางธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น

สภาพคล่อง

ความจำเป็นในการหาแหล่งเงินทุนเพื่อชำระคืนหนี้: ThaiBev มีหนี้ที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้านับจากสิ้นเดือนมีนาคม 2561 จำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงหนี้สำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน อย่างไรก็ตาม หนี้จำนวนนี้ยังไม่รวมหนี้ระยะสั้นอีกจำนวน 1.6 แสนล้านบาท ที่เกิดจากการเข้าซื้อกิจการ ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะเปลี่ยนเป็นหนี้ระยะยาวแทน ความเสี่ยงที่บริษัทฯ จะไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนเพียงพอต่อการชำระหนี้อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากบริษัทฯ มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ และมีประวัติที่ดีในการเข้าถึงเงินทุนผ่านตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ ThaiBev เป็นบริษัทในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุด และเป็นหนึ่งในสิบบริษัทที่มีมูลค่าตามราคาตลาดในตลาดตลาดหลักทรัพย์สูงสุด ในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศสิงคโปร์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?