PwC แนะผู้ประกอบการเตรียมพร้อมด้านกฎหมายและภาษีรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล

จันทร์ ๒๒ ตุลาคม ๒๐๑๘ ๑๕:๑๖
PwC ประเทศไทย แนะธุรกิจวางแผนด้านกฎหมายและภาษีเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล หลังกรมสรรพากรมีการยกร่างแก้ไขกฎหมายภาษีหลายฉบับ อาทิ ร่างกฎหมายการป้องกันการตั้งราคาโอนที่กำลังจะประกาศใช้เป็นกฎหมายเร็วๆ นี้ รวมทั้งร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อปูทางไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ชี้ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้ามการบริหารความเสี่ยงด้านกฎหมายและภาษีที่เกิดจากการควบรวมกิจการเพื่อขยายขนาดของธุรกิจ ระบุหากมีการวางแผนด้านกฎหมายและภาษีที่ดี จะช่วยให้กิจการไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูง และเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

นาย สมบูรณ์ วีระวุฒิวงศ์ หัวหน้าหุ้นส่วนอาวุโส และกรรมการบริหารสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาประจำปี PwC Thailand's Symposium 2018 ในหัวข้อ "บริหารความท้าทาย เตรียมความพร้อมองค์กรสู่การเติบโต" (Managing challenges to unleash corporate growth) ว่า สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านองค์กร บุคลากร และแผนกลยุทธ์ เพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว รวมทั้งยังต้องเตรียมรับมือกับข้อกฎหมายและภาษีอากรของภาครัฐ ที่ปรับเปลี่ยนให้ทันสถานการณ์เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการตั้งราคาโอน (Transfer Pricing Provisions) ที่กำลังจะประกาศใช้เป็นกฎหมายเร็วๆ นี้ และร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนี้ ยังต้องบริหารความเสี่ยงทางกฎหมายและภาษีอากรที่เกิดจากการขยายตัวของภาคธุรกิจอย่างรวดเร็วในรูปแบบของการควบรวมกิจการทั้งในและนอกประเทศ และความเสี่ยงทางภาษีที่เกี่ยวข้อง หากผู้ประกอบกิจการมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนไปจากเดิม

"หากธุรกิจไทยมีความพร้อมและสามารถปรับตัวให้ทันกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น การเข้ามาของดิจิทัล กฎระเบียบ ทั้งข้อกฎหมาย ภาษีอาการ มาตรฐานการบัญชี หรือแม้กระทั่งคู่แข่งรายใหม่ที่เข้ามาในตลาดอย่างรวดเร็ว ก็จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้"

ทั้งนี้ ไทยอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยปัจจุบัน กรมสรรพากรเองในฐานะหน่วยงานจัดเก็บภาษีได้วางเป้าหมายในการพัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีเพื่อรองรับเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล ตามแผนโรดแมประยะ 5 ปี (ระหว่างปี 2559-2563) ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการบริหารการจัดเก็บภาษีให้มีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภาษีอากรต่างๆ เพื่อให้ระบบการจัดเก็บภาษีของไทยสอดคล้องกับนโยบายการจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศในระดับสากล

สำหรับแนวทางและเป้าหมายของกรมสรรพากรนั้น ได้สะท้อนผ่านการยกร่างแก้ไขกฎหมายภาษีหลายฉบับ หนึ่งในนั้นคือ ร่างกฎหมายการป้องกันการตั้งราคาโอน ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจและได้รับการกล่าวถึงจากผู้ประกอบการมากที่สุดในเวลานี้ โดยที่มาของกฎหมายฉบับดังกล่าว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายของภาครัฐเพื่อให้สอดรับกับแนวทางการจัดเก็บภาษีที่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับสากล อันเป็นผลพวงจากการที่ไทยได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของกรอบความตกลงร่วมมือการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไรไปต่างประเทศ (Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting: BEPS) เป็นผลให้ไทยต้องยอมรับข้อผูกพันในการรับหลักการบางหลักการมาปรับใช้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ มาตรการป้องกันการตั้งราคาโอนนั่นเอง

ปัจจุบันร่างกฎหมายการป้องกันการตั้งราคาโอน ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างรอประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งหากกฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ ก็จะส่งผลให้ผู้ประกอบการที่เข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายและมีการทำธุรกรรมกับบริษัทในเครือ ต้องจัดทำรายการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมการตั้งราคาโอนให้แก่กรมสรรพากร

ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการตั้งราคาโอนและกฎระเบียบต่างๆ ที่กำลังจะออกมา เพื่อให้สามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมความพร้อมในการจัดเตรียมเอกสารพิสูจน์ราคาโอน อันเป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินและบริหารความเสี่ยงทางภาษีที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกตรวจสอบในอนาคตได้

"การเตรียมพร้อมสำหรับกฎหมายการป้องกันการตั้งราคาโอน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องตื่นตัว เพราะหากเตรียมพร้อมไม่ดีพอ และรอให้กรมสรรพากรเข้าตรวจสอบประเด็นราคาโอนแล้วจึงค่อยหาทางแก้ไข จะทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานสูงขึ้น แต่หากมีการเตรียมตัววางแผนล่วงหน้า นั่นจะทำให้เราทราบถึงทิศทางและกำหนดกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงทางภาษีได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง" นาย สมบูรณ์ กล่าว

นอกจากนี้ การปฏิบัติตามกฎหมาย (Legal compliance) ของผู้ประกอบการ ยังถือเป็นประเด็นที่ภาครัฐให้ความสำคัญ เนื่องจากการประกอบกิจการบางอย่างอาจมีข้อสงสัยว่า ได้มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กฎหมายกำหนดไว้ถูกต้องหรือไม่อย่างไร เช่น การปฏิบัติตามกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว การปฏิบัติตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายอื่นๆ ซึ่งบทลงโทษจากการไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด อาจส่งผลให้การดำเนินธุรกิจต้องสะดุด หรือหยุดชะงักได้

ยิ่งไปกว่านั้น การดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัลก่อให้เกิดความเสี่ยงจากข้อกฎหมายและระเบียบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นค่อนข้างมาก บริษัทจึงควรทำความเข้าใจและศึกษาถึงข้อกฎหมาย รวมทั้งแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นพ.ร.บ. ธุรกรรมออนไลน์ และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนและพัฒนาระบบงานในทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจในยุคปัจจุบัน

นาย สมบูรณ์ กล่าวต่อว่า นอกจากธุรกิจต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับข้อกฎหมายและภาษีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังต้องบริหารความเสี่ยงทางกฎหมายและภาษีอากรที่เกิดจากแผนการขยายตัวธุรกิจในรูปแบบการควบรวมกิจการทั้งในและนอกประเทศ การซื้อขายหุ้น (Share Deal) หรือ การซื้อขายทรัพย์สิน (Asset Deal) ซึ่งเป็นกลยุทธ์รูปแบบหนึ่งที่เป็นที่นิยมของธุรกิจในปัจจุบัน เพราะช่วยเพิ่มมูลค่ากิจการ ขยายฐานลูกค้า ลดต้นทุนและการแข่งขันทางอ้อม อีกทั้งช่วยยกระดับความสามารถในการเพิ่มรายได้และกระแสเงินสด อย่างไรก็ดี แม้วิธีนี้จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็วในทางอ้อม แต่หากไม่มีการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการความเสี่ยงทางด้านกฎหมายหรือภาษีอากรที่ดีเพียงพอ ก็อาจนำมาซึ่งภาระภาษี ความเสี่ยงทางกฎหมายและภาษีที่ติดมากับบริษัทเดิม ทำให้ต้องมาแบกรับภาระต้นทุนในการดำเนินงานที่สูงขึ้นได้

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับภาษีอากรที่ผู้ประกอบการต้องเร่งทำความเข้าใจ คือ ภาระภาษีที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกรรมทางการค้า (Business Model) จากรูปแบบหนึ่งไปยังอีกรูปแบบหนึ่ง รวมไปถึง การจ่ายค่าตอบแทนไปให้บริษัทในเครือที่ต่างประเทศ หรือ รูปแบบเงินได้ที่จ่ายออกไปนั้นว่าเป็นการจ่ายในรูปแบบใด เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามข้อกฎหมายภาษีในประเด็นต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการลงรายจ่ายในการภาษี การนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะหากไม่ปฏิบัติตาม ผลกระทบที่ตามมาจากบทลงโทษของหน่วยงานกำกับก็อาจทำให้กิจการหยุดชะงักได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?