กรมสรรพากรชี้แจงข้อสังเกตเกี่ยวกับร่าง พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (e-Payment)

ศุกร์ ๐๗ ธันวาคม ๒๐๑๘ ๑๔:๔๒
นายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวถึงประเด็นข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. ....(เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan)) โดยชี้แจงว่า "ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 นั้น มีวัตถุประสงค์หลักเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษี โดยเป็นการแก้ไขกฎหมาย ให้รองรับการทำธุรกรรมและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ การให้ผู้จ่ายเงินได้สามารถเลือกวิธีการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายผ่านตัวกลาง (เช่น ธนาคาร) โดยผู้จ่ายเงินได้ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีและนำส่งภาษีให้แก่กรมสรรพากรในภายหลังอีก พร้อมทั้งสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี โดยมิได้มุ่งเน้นที่จะจัดเก็บภาษีจากผู้ขายสินค้าทางออนไลน์หรือธุรกิจหนึ่งธุรกิจใดเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ได้มีการเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแล้ว จำนวน 3 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม 2560 ถึงเดือนกันยายน 2561 ทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร (www.rd.go.th) และเว็บไซต์ www.lawamendment.go.th ซึ่งมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นจากหน่วยงานภาคเอกชน ภาครัฐ และประชาชนทั่วไปทางเว็บไซต์และทางหนังสือ จำนวนรวมกว่า 400 ราย โดยในระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ กรมสรรพากรได้ประชุมหารือร่วมกับสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับฟังความคิดเห็นมาปรับปรุงร่างให้สอดคล้องกับผู้ใช้กฎหมายอย่างแท้จริงและไม่ก่อให้เกิดภาระเกินสมควร"

โฆษกกรมสรรพากร กล่าวต่อไปว่า "ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ผ่านกระบวนการตรากฎหมายอย่างรอบคอบ โดยได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิของบุคคล การรักษาความเป็นส่วนตัว และการรักษา ความปลอดภัยของข้อมูลอย่างถี่ถ้วนแล้ว ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้นำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ และการจัดเก็บภาษีอากรมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยรายได้ให้รัฐนำไปใช้จัดบริการสาธารณะต่าง ๆ แก่ประชาชน การรายงานธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะตามร่างพระราชบัญญัตินี้จึงเป็นการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้"

โฆษกกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า "การกำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งข้อมูลแก่กรมสรรพากรมิได้ขัดแย้งกับนโยบายสังคมไร้เงินสดของรัฐบาล เนื่องจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในปัจจุบันมีความสะดวกรวดเร็วและช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น และหากผู้ประกอบการมีประวัติทางการเงินที่ถูกต้องและโปร่งใส ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน และการขอสินเชื่อต่าง ๆ อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการขึ้นไปอีก ทั้งนี้ กรมสรรพากรทราบว่า การรับโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารนั้นมิได้หมายความว่าเงินจำนวนทั้งหมดต้องนำไปเสียภาษี เนื่องจากในหลายกรณีมิได้เป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี เช่น การคืนเงินกู้ยืม การรับเงินที่ฝากไปทำบุญแทน เป็นต้น โดยกรมสรรพากรจะนำข้อมูล ที่ได้รับไปประมวลผลร่วมกันกับข้อมูลอื่น ๆ เพื่อประกอบการจัดกลุ่มผู้เสียภาษีในการดูแลและให้บริการ ที่เหมาะสมต่อไป"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4