โรงงานผลิตพืช...มิติใหม่แห่งภาคเกษตรไทย คาดอีก 3 ปีข้างหน้า ต้นทุนจะถูกลงกว่าร้อยละ 20

ศุกร์ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๙ ๑๕:๒๑
ประเด็นสำคัญ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า โรงงานผลิตพืช (Plant Factory) เป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจในฐานะเครื่องมือทางการเกษตรที่มีความแม่นยำสูง ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ในยุคเกษตร 4.0 เพื่อเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โดยคาดว่า ไทยมีเทคโนโลยีโรงงานผลิตพืชที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นในช่วง 3 ปีนี้ (ปี 2562-2564) เนื่องจากต้นทุนยังสูงอยู่ที่ราว 3.0 ล้านบาท ผนวกกับความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ยังจำกัดในเฉพาะกลุ่ม ซึ่งต้องเน้นไปที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี ตลอดจนต้องเน้นไปที่พืชที่สามารถนำมาสกัดได้สารสำคัญเป็นสารตั้งต้นเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงได้ (High-end Product) อย่างกลุ่มพืชสมุนไพร และกลุ่มพืชที่สามารถนำมาสกัดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในระยะ 3-8 ปีข้างหน้า น่าจะเห็นภาพที่ไทยมีการนำโรงงานผลิตพืชเข้ามาใช้ในภาคการเกษตรอย่างแพร่หลายมากขึ้น และสามารถทำในลักษณะการค้าเชิงพาณิชย์ได้ ตามแนวทางของภาครัฐและเอกชนที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ ตลอดจนจากการที่กลุ่มทุนมีการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทรนด์ของสินค้าจำพวกเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มแพร่หลายมากขึ้นและมีราคาถูกลงเรื่อยๆ โดยคาดว่า ตั้งแต่ปี 2565-2569 ต้นทุนโรงงานผลิตพืชอาจลดลงราวร้อยละ 20 ต่อปี ไปอยู่ที่ 1.0-2.4 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ผู้ที่สนใจในธุรกิจโรงงานผลิตพืชเข้าสู่ธุรกิจได้ง่ายขึ้น

จากปัญหาการทำการเกษตรในปัจจุบันที่ต้องเผชิญข้อจำกัดต่างๆ ทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวน พื้นที่ทางการเกษตรที่มีจำกัด ตลอดจนปัญหาแรงงานในภาคการเกษตรที่มีแนวโน้มลดลง ล้วนส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรที่ยากต่อการควบคุม ดังนั้น เทคโนโลยีการผลิตพืชสมัยใหม่ที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจอย่างมากคือ โรงงานผลิตพืช (Plant Factory) จึงเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะเป็นการผลิตพืชในรูปแบบใหม่ที่เป็นระบบปิด ซึ่งสามารถควบคุมการปลูกพืชได้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งสภาพแสง ความชื้น อุณหภูมิ แร่ธาตุ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่พืชใช้ในการเจริญเติบโต รวมถึงสามารถกระตุ้นให้พืชหลั่งสารสำคัญ/สารออกฤทธิ์บางอย่างที่ต้องการ เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตให้เป็นไปตามที่ต้องการได้และมีความสม่ำเสมอ มีมาตรฐานสูง ด้วยการใช้แสงไฟ LED เป็นแหล่งกำเนิดของแสง เนื่องจากให้ความร้อนน้อยกว่าและประหยัดไฟได้มากกว่าหลอดฟลูออเรสเซนส์ และยังสามารถเลือกสีของแสงได้ตามความต้องการของพืช ทำให้พืชมีสารที่ตอบสนองต่อความต้องการใช้งานได้ดี นับเป็นเทรนด์การปลูกพืชรูปแบบใหม่ของโลกที่น่าสนใจในการที่ไทยจะนำมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับภาคเกษตรของไทยในอนาคต

โรงงานผลิตพืช เป็นเทรนด์ของโลกด้านการเกษตรสมัยใหม่ที่หลายประเทศให้ความสนใจมากขึ้น จากการควบคุมการผลิตได้ด้วยเทคโนโลยี อีกทั้งเป็นการปลูกพืชในระบบปิด ทำให้ปราศจากโรคและแมลง ปลอดสารเคมี ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสนับสนุนให้โรงงานผลิตพืชเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ตามแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคที่หันมารักสุขภาพด้วยการบริโภคผักที่ปลอดภัยจากสารเคมี ผู้ป่วยที่ต้องการควบคุมสารอาหารต่างๆ เช่น ผักกาดขาวโพแทสเซียมต่ำ สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง เป็นต้น ตลอดจนสังคมผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้คาดว่าโรงงานผลิตพืชจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี จากในปี 2561 มูลค่ายอดขายของตลาดโรงงานผลิตพืชของโลกอยู่ที่ราว 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565 หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 11.0 ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีจำนวนโรงงานผลิตพืชทั่วโลกราว 400 แห่ง โดยมีญี่ปุ่น เป็นผู้นำของเทคโนโลยีโรงงานผลิตพืช ด้วยการครองตลาดในสัดส่วนเป็นอันดับ 1 กว่าร้อยละ 20.0 ของมูลค่าตลาดโรงงานผลิตพืชทั่วโลก ซึ่งญี่ปุ่นมีโรงงานผลิตพืช 200 แห่ง ตามมาด้วยไต้หวัน 100 แห่ง จีน 50 แห่ง สหรัฐอเมริกา 25 แห่ง เกาหลี 10 แห่ง และสิงคโปร์ 2 แห่ง

สำหรับความสำเร็จโรงงานผลิตพืชของผู้เล่นหลักอย่างญี่ปุ่น น่าจะมาจากประชากรญี่ปุ่นนิยมบริโภคพืชผัก ผลไม้ ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกมีน้อย เนื่องจากสภาพพื้นที่ของประเทศมีจำกัด อีกทั้งการขยายตัวของเมือง รวมถึงพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่อยู่นอกเมือง ทำให้การขนส่งพืชผักผลไม้จากนอกเมืองเพื่อมาในเมืองมีโอกาสปนเปื้อนมลพิษต่างๆ ญี่ปุ่นจึงหันมาปลูกผักในเมืองมากขึ้น โดยพืชที่นิยมปลูกคือ ผักกาดหอม ผักโขมญี่ปุ่น มินต์ ใบโหระพา มะเขือเทศ สตรอเบอรี่ และดอกไม้ต่างๆ ซึ่งโรงงานผลิตพืชจะใช้แสงไฟเทียม และที่สำคัญคือกว่าร้อยละ 25 ของโรงงานผลิตพืชนี้มีกำไรสูงถึงร้อยละ 50 เพราะการใช้หลอดไฟ LED ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานค่อนข้างมาก

แม้โรงงานผลิตพืชจะเป็นเทคโนโลยีการผลิตพืชรูปแบบใหม่ที่สามารถควบคุมปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จนได้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตตามความต้องการ อย่างไรก็ตาม สำหรับในประเทศไทย ด้วยพื้นที่ทางการเกษตรที่มีมากกว่า 138 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 43.0 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ทำให้โรงงานผลิตพืชเพิ่งได้รับความสนใจในไทยไม่นานนักและยังอยู่ในระยะเริ่มต้น เนื่องจากต้นทุนยังสูงอยู่ที่ราว 3.0 ล้านบาท[1] ผนวกกับความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ยังจำกัดในเฉพาะกลุ่มอย่างสถาบันการศึกษาและ หน่วยงานภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ จึงยังไม่ได้ดำเนินการในลักษณะการค้าเชิงพาณิชย์ แต่จะเป็นการผลิต เพื่อรองรับการใช้ในหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก เช่น การผลิตสมุนไพรอย่างฟ้าทะลายโจรเพื่อใช้ในโรงพยาบาล นอกจากนี้ โรงงานผลิตพืชของไทยอาจไม่เหมาะกับการปลูกพืชเกษตรทั่วไป เนื่องจากไทยผลิตได้จำนวนมากอยู่แล้ว ดังนั้น โรงงานผลิตพืชของไทยในที่นี้จึงต้องเน้นไปที่กลุ่มพืชมูลค่าสูง ที่สามารถนำมาสกัดได้สารสำคัญเป็นสารตั้งต้นเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงได้ (High-end Product) อย่างกลุ่มพืชสมุนไพร และกลุ่มพืชที่สามารถนำมาสกัดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งจะสอดรับกับการสนับสนุนของนโยบายรัฐบาลตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ซึ่งมีความเชื่อมโยงอยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐให้การสนับสนุนมากถึง 5 อุตสาหกรรมคือ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร ท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวสุขภาพ

ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Hub of ASEAN)[2] ภายในปี 2570 โดยใช้เขตพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC โดยมี Biopolis ใน EECi เป็นแพลตฟอร์มหรือโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการลงทุน และทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างฐานรายได้ใหม่และความยั่งยืนให้กับประเทศ โดย Biopolis เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา/สถาบันวิจัย จะทำการศึกษาและวิจัยเพื่อให้ได้สารประกอบที่นให้ผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค/อาหารเสริมและเวชสำอาง (Functional Ingredient/Nutraceutical) รวมถึงชีวการแพทย์/ชีวเภสัชภัณฑ์ (Biomedical/Biopharma) เช่น อุตสาหกรรมด้านการแพทย์ อุตสาหกรรมยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผลิตภัณฑ์สปา เป็นต้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า พืชที่ควรนำมาปลูกในโรงงานผลิตพืชจะต้องเป็นพืชที่สามารถนำมาสกัดได้สารสำคัญเป็นสารตั้งต้นเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงได้ ดังนี้

1. กลุ่มพืชสมุนไพร นับว่าเป็นกลุ่มพืชศักยภาพที่มีแนวโน้มการเติบโตของตลาดที่ดี โดยคาดว่า มูลค่าตลาดสมุนไพรโลกในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 4 ล้านล้านบาท จาก 3.2 ล้านล้านบาทในปี 2559 และจากการที่ไทยเป็นแหล่งผลิตพืชสมุนไพรกว่า 11,625 ชนิด แต่นำมาใช้ประโยชน์เป็นยาสมุนไพรได้เพียง 1,800 ชนิด หรือคิดเป็นร้อยละ 15.5 เท่านั้น เพื่อรองรับตลาดในประเทศเป็นหลัก โดยถ้าดูในห่วงโซ่การผลิตสมุนไพรของไทย เริ่มจากอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีมูลค่าตลาดวัตถุดิบสมุนไพรรวมราว 18,600 ล้านบาท[3] แต่สามารถสร้างมูลค่าจากการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรในส่วนของอุตสาหกรรมกลางน้ำได้ถึง 260,000 ล้านบาท หรือ สร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 14 เท่า สะท้อนถึงความสำคัญในการแปรรูปและมูลค่าของตลาดผู้บริโภคที่มีมูลค่าสูง ดังนั้น นับเป็นโอกาสของไทยในการนำโรงงานผลิตพืชมาใช้เพื่อผลิตพืชสมุนไพรให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีรองรับในผลิตภัณฑ์สมุนไพร เนื่องจากไทยมีพื้นที่ปลูกพืชสมุนไพรเพียงร้อยละ 0.02 ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศ อันจะเป็นการผลิตวัตถุดิบสมุนไพรเพื่อเป็นการทดแทนการนำเข้าในปัจจุบันที่มีมูลค่าสูงถึง 17,000 ล้านบาทต่อปี และในระยะข้างหน้าจะยังเป็นการขยายตลาดส่งออกของผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้มีมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี หรือมากกว่าร้อยละ 40 เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกที่มีรองรับจำนวนมาก จากกระแสรักสุขภาพ รวมถึงการที่สมุนไพรไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากขึ้น และได้รับการส่งเสริมจากแผนพัฒนาสมุนไพรของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมปลายน้ำ คงต้องเน้นไปที่การกระจายสินค้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรไปในช่องทางการตลาดที่หลากหลาย ทั้งในธุรกิจค้าส่ง/ค้าปลีก โรงพยาบาล ร้านขายยา ฟาร์มเอาท์เลตสโตร์ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ พรีเมี่ยมซุปเปอร์มาร์เก็ต/โมเดิร์นเทรด ร้านเพื่อสุขภาพและความงาม ร้านสปา และการขายแบบออนไลน์ (E-commerce) ซึ่งเป็นช่องทางในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคที่มีความสะดวกสบายและรวดเร็วตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น ดังนั้น ไทยจึงมีความจำเป็นต้องยกระดับประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพร ด้วยการนำเทคโนโลยีโรงงานผลิตพืชมาช่วยเพิ่มคุณภาพและปริมาณการผลิตพืชสมุนไพรให้เพียงพอ เพื่อรองรับความต้องการที่มีทั้งในและต่างประเทศ สอดคล้องกับการคาดการณ์การเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศที่ขยายตัวในทุกอุตสาหกรรมหลัก และยัง นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่จะปรับใช้เทคโนโลยี/นวัตกรรม หรือการร่วมมือกับทางผู้เล่นอื่นในห่วงโซ่การผลิต เช่น สถาบันวิจัยสมุนไพร โรงพยาบาล เพื่อการพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสมุนไพรหรือสารสกัดจากธรรมชาติได้อีกมาก และยังเป็นการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว

ทั้งนี้ พืชสมุนไพรที่เป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนตามการส่งเสริมของภาครัฐจากแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยเรื่องการพัฒนาสมุนไพรไทยฉบับที่ 1 (ปี 2560-2564) คือ กระชายดำ ไพล บัวบก ขมิ้นชัน (ก.พบ.ข) ที่เป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงเพื่อเป็นเป้าหมายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากมีคุณสมบัติทางยาเป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากนี้ ยังมีพืชสมุนไพรอื่นอีกที่มีศักยภาพในการนำมาผลิตในโรงงานผลิตพืช คือ ฟ้าทะลายโจร ว่านหางจระเข้ พริกไทย กฤษณา ตะไคร้หอม พลู เป็นต้น เนื่องจากพืชสมุนไพรเหล่านี้มีการผลิตสารสำคัญทางยาอย่างน้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) แคโรทีนอยด์ (Carotenoids) หรือแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่สามารถนำไปใช้ได้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้หลายประเภท

2.กลุ่มพืชอื่นที่สามารถนำมาสกัดเป็นสารตั้งต้นได้ เช่น ดอกไม้ ผัก เป็นต้น (กุหลาบ มะกรูด มะนาว มะเขือเทศ ดอกอัญชัน ผักชี) หรือพืชกินใบ เช่น ผักไฮโดรโปนิกส์ นับว่าเป็นกลุ่มพืชที่มีมูลค่าสูงเพื่อใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรมใกล้เคียงกับพืชสมุนไพร โดยเฉพาะในธุรกิจบริการอย่างสปา ที่ใช้สารสกัดที่ได้เป็นหัวน้ำหอม หรือใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ใช้สารสกัดใส่ในเครื่องดื่มให้มีความหอมเป็นกลิ่นธรรมชาติที่ผู้บริโภครักสุขภาพหันมาให้ความสนใจมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในแง่ของการลงทุนในโรงงานผลิตพืช ควรต้องเน้นไปที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี และควรทำในขนาดธุรกิจที่เล็กไปก่อนในระยะเริ่มต้น (3 ปีแรก) เพราะต้นทุนยังอยู่ในระดับสูงและยังอยู่ในช่วงระยะเวลารอการคืนทุน จึงเหมาะกับผู้ประกอบที่มีความพร้อมทั้งในแง่เงินทุนและความรู้ด้านเทคโนโลยีโรงงานผลิตพืชในระดับหนึ่ง ขณะที่ผู้ประกอบการเดิมที่มีโรงเรือนอยู่แล้ว แต่ต้องการเพิ่มเติมเทคโนโลยีให้เป็นโรงงานผลิตพืช ก็อาจมีการลงทุนในเทคโนโลยี เช่น เซ็นเซอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ในการควบคุมอุณหภูมิและแสงภายในโรงเรือน ซึ่งอาจใช้เงินลงทุนไม่มากเท่าผู้ประกอบการหน้าใหม่ นอกจากนี้ จากความช่วยเหลือของภาครัฐตลอดช่วง 3 ปีแรก ทั้งด้านเงินทุนและความรู้ เช่น การสนับสนุนเงินทุน/สิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือการที่ภาครัฐช่วยพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการสร้างความเข้าใจทางด้านเทคโนโลยีและการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการในการยอมรับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เข้ามา การวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทย ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่สนใจในธุรกิจโรงงานผลิตพืชในช่วงระยะเริ่มต้นนี้เข้ามาทำธุรกิจนี้ได้ง่ายและสะดวกขึ้น

แม้ปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีโรงงานผลิตพืชของไทยจะยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่คาดว่า ในอนาคตราคาโรงงานผลิตพืชจะถูกลงเรื่อยๆ เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตโรงงานผลิตพืชมีการแข่งขันกันหลายบริษัท[1] ผนวกกับองค์ความรู้ในเรื่องโรงงานผลิตพืชของผู้ประกอบการที่มีมากขึ้นเพื่อใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช รวมทั้งเทรนด์ของสินค้าจำพวกเทคโนโลยีที่มักจะมีราคาลดลงอย่างรวดเร็วตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในอีก 3-8 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2569) ไทยจะมีการนำโรงงานผลิตพืชเข้ามาประยุกต์ใช้ในภาคเกษตรแพร่หลายเพิ่มขึ้น และสามารถทำในลักษณะการค้าเชิงพาณิชย์ได้ ตามแนวทางรูปแบบของภาครัฐและเอกชนที่ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว ผนวกกับการที่ภาครัฐมีการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทยและสนับสนุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่น่าจะมีความสำเร็จที่ชัดเจนขึ้น ตลอดจนกลุ่มทุนมีการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทรนด์ของสินค้าจำพวกเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มแพร่หลายมากขึ้นและมีราคาถูกลง ทำให้คาดว่า โรงงานผลิตพืชจะเริ่มอยู่ในช่วงแพร่หลาย ตั้งแต่ปี 2565-2569 โดยต้นทุนโรงงานผลิตพืชอาจลดลงราวร้อยละ 20 ต่อปี ไปอยู่ที่ 1.0-2.4 ล้านบาท จากต้นทุนในช่วงระยะเริ่มต้นที่ราว 3 ล้านบาท อันจะทำให้ผู้ที่สนใจในธุรกิจโรงงานผลิตพืชเข้าสู่ธุรกิจได้ง่ายขึ้น สอดคล้องกับการคำนวณในรูปเปรียบเทียบการทำงานของโรงงานผลิตพืชและโรงเรือนทั่วไปในปี 2562 (ระยะเริ่มต้น) และปี 2567 (ระยะแพร่หลาย) แสดงให้เห็นว่า อีก 5 ปีข้างหน้า ในแง่ของผลผลิตและประสิทธิภาพของแรงงานต่อพื้นที่อาจไม่เปลี่ยนแปลงคือ โรงงานผลิตพืชจะมีผลผลิตและประสิทธิภาพของแรงงานต่อพื้นที่มากกว่าโรงเรือนทั่วไปถึง 10 และ 16 เท่า ตามลำดับ ขณะที่ในด้านต้นทุนการผลิตต่อหน่วย พบว่า อีก 5 ปีข้างหน้า โรงงานผลิตพืชจะมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่ลดลง คือ ในปี 2567 โรงงานผลิตพืชจะมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูงกว่าโรงเรือนทั่วไปราว 8.9 เท่า จาก 18.4 เท่าในปี 2562 ขณะที่ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยของโรงเรือนทั่วไปจะเพิ่มขึ้นจากต้นทุนแรงงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

สรุป โรงงานผลิตพืช (Plant Factory) เป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจในฐานะเครื่องมือทางการเกษตรที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งขณะนี้นับว่าไทยยังมีเทคโนโลยีโรงงานผลิตพืชที่อยู่ในระยะเริ่มต้นในช่วง 3 ปีนี้ (ปี 2562-2564) โดยพืชที่ปลูกคงต้องเน้นไปที่พืชที่สามารถนำมาสกัดได้สารสำคัญเป็นสารตั้งต้นเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง (High-end Product) และคงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภาครัฐในระยะแรก โดยเฉพาะด้านเงินทุนและองค์ความรู้ โดยมองต่อไปในระยะ 3-8 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2569) น่าจะเห็นภาพที่ไทยมีการนำเทคโนโลยีโรงงานผลิตพืชเข้ามาประยุกต์ใช้ในภาคการเกษตรได้แพร่หลายมากขึ้น จากการที่กลุ่มทุนมีการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทรนด์ของสินค้าจำพวกเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มแพร่หลายมากขึ้นและมีราคาถูกลงเรื่อยๆ จะทำให้ผู้ที่สนใจในธุรกิจโรงงานผลิตพืชเข้าสู่ธุรกิจได้ง่ายขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้