ธนาคารกรุงเทพรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2562 จำนวน 9,028 ล้านบาท

ศุกร์ ๑๙ เมษายน ๒๐๑๙ ๐๙:๒๐
อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 คาดว่าน่าจะอยู่ในระดับที่ร้อยละ 3.8 ลดลงจากร้อยละ 4.1 ในปี 2561 ท่ามกลางภาวะการชะลอตัวของการค้าโลกและความเสี่ยงจากนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ การส่งออกในสองเดือนแรกของปีชะลอลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันการผลิตในอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก ส่งผลให้กิจกรรมการผลิตในประเทศโดยรวมลดลง อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัว สอดคล้องกับรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในระยะต่อไป ถึงแม้ว่าความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเพิ่มขึ้นจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายของภาครัฐ รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชน นอกจากนี้ นโยบายเพื่อเพิ่มกำลังซื้อของครัวเรือนซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ จะช่วยสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศได้ในระดับหนึ่ง

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2562 ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารจำนวน 9,028 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3 จากไตรมาส 1 ปี 2561 โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.34 เป็นร้อยละ 2.48 ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 28.3 สาเหตุหลักจากกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง จากผลของการยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล และจากค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อ สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงร้อยละ 3.1 และมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานที่ร้อยละ 42.6

ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,029,810 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.6 จากสิ้นปี 2561 จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคล สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.5 และอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ร้อยละ 189.0

ด้านเงินกองทุน ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องแนวทางการระบุและกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบ (Domestic Systemically Important Banks: D-SIBs) ซึ่งกำหนดให้ธนาคารในฐานะธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบต้องดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสียหาย (Higher Loss Absorbency) ในรูปของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยง เพิ่มเติมจากการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำอีกร้อยละ 1.0 โดยให้ทยอยดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มอีกร้อยละ 0.5 ในแต่ละปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 จนอัตราส่วนเพิ่มเป็นร้อยละ 1.0 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 สำหรับธนาคารหากนับกำไรสุทธิงวดกรกฎาคมถึงธันวาคม 2561 และกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2562 หักด้วยเงินปันผลที่จะจ่ายในเดือนพฤษภาคม 2562 เข้าเป็นเงินกองทุน อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยจะอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 18.9 ร้อยละ 17.4 และร้อยละ 17.4 ตามลำดับ ทั้งนี้ เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ซึ่งรวมส่วนเพิ่มตาม D-SIBs เรียบร้อยแล้ว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4