ปตท.สผ. ไตรมาส 1 แข็งแกร่ง กำไรสุทธิ 394 ล้านดอลลาร์ สรอ. พร้อมเดินหน้ากลยุทธ์เชิงรุก “Expand & Execute”

พฤหัส ๒๕ เมษายน ๒๐๑๙ ๑๓:๔๘
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เผยผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2562 มีกำไรสุทธิ (Net Income) 394 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (ดอลลาร์ สรอ.) (เทียบเท่า 12,479 ล้านบาท) สะท้อนความสำเร็จในการเดินหน้าตามแผนกลยุทธ์ "Expand & Execute" พร้อมสร้างการเติบโตทั้งระยะสั้นและระยะยาว

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. กล่าวว่า ในไตรมาส 1 ปี 2562 ปตท.สผ. มีกำไรจากการดำเนินงานปกติ (Recurring Net Income) 374 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 11,847 ล้านบาท) ปรับสูงขึ้นร้อยละ 23 จากช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่ 304 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า9,578 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกำไรจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (Non-recurring Items) ประมาณ 20 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงเมื่อเทียบกับ 119ล้านดอลลาร์ สรอ. ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าน้อยลง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสด ส่งผลให้ ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1ที่ 394 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 12,479 ล้านบาท) ลดลงประมาณร้อยละ 7 จาก 423 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 13,381 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561

ทั้งนี้ ในไตรมาส 1 ปี 2562 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 1,428 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 45,147 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับ 1,240 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 39,105 ล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยหลักมาจากปริมาณการขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 319,230 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เมื่อเทียบกับ 293,099 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในไตรมาสเดียวกันของปี 2561 จากความสำเร็จในการซื้อสัดส่วนเพิ่มเติมในโครงการบงกช ประกอบกับราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นเป็น 46.21 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เมื่อเทียบกับ 44.01 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในไตรมาส 1 ปี2561 ส่งผลให้มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานจำนวน 943 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 29,815 ล้านบาท) และมีระดับอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA Margin) ที่ร้อยละ 76

"ปตท.สผ. ได้เดินหน้าดำเนินธุรกิจภายใต้แผนกลยุทธ์ใหม่ "Expand & Execute" ซึ่งเป็นกลยุทธ์เชิงรุกตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา และประสบความสำเร็จตามแผนงานที่วางไว้หลายด้าน ทั้งการเข้าไปลงทุนในตะวันออกกลาง โดยการได้รับสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่ง 2 แหล่ง ร่วมกับพันธมิตรที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพปิโตรเลียมสูงแห่งหนึ่งของโลก และการขยายการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีความเคลื่อนไหวที่สำคัญคือการเข้าซื้อกิจการของ เมอร์ฟี่ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะสามารถเพิ่มปริมาณการขายและสร้างผลตอบแทนการลงทุนได้ทันที รวมถึงการได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 2 แปลงนอกชายฝั่งมาเลเซียเช่นกัน ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะช่วยสร้างการเติบโตให้ ปตท.สผ. ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว" นายพงศธร กล่าว

สานต่อความสำเร็จด้วยแผนกลยุทธ์เชิงรุก Expand & Execute

ภายใต้กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ "Expand & Execute" นั้น ในส่วนของ Expand ปตท.สผ. จะให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนในพื้นที่ที่มีความชำนาญ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพปิโตรเลียมสูง จะร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อขยายการลงทุนต่อไป นอกจากนี้ ปตท.สผ. จะการเร่งพัฒนาธุรกิจด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ผ่านบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพิ่มความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน

สำหรับด้าน Execute นั้น จะเน้นการเพิ่มปริมาณการผลิตและการสร้างมูลค่าของโครงการปัจจุบัน รวมถึงการเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมโดยเร่งรัดกิจกรรมในโครงการซึ่งอยู่ในระยะสำรวจ และการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายในโครงการหลักที่อยู่ระหว่างรอการพัฒนา เช่น โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน นอกจากนี้ จะดำเนินการในแหล่งบงกชและเอราวัณในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อรักษาความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติ และบริหารต้นทุนการดำเนินงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความก้าวหน้าในโครงการที่สำคัญของ ปตท.สผ. ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2562

ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2562 ปตท.สผ. มีโครงการและการดำเนินกิจกรรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศรวมจำนวน 46 โครงการใน 12 ประเทศ โดยมีความคืบหน้าโครงการที่สำคัญ ดังนี้

โครงการในประเทศไทย

โครงการบงกช สามารถรักษาระดับการผลิตได้ตามแผน นอกจากนี้ บริษัทได้ลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract) ในแปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และแปลง G2/61 (แหล่งบงกช) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งกำหนดปริมาณการผลิตขั้นต่ำที่ 800 และ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามลำดับในระหว่างปี 2565 และ 2566 จนถึงปี 2575 โครงการเอส 1 ได้ทำการเจาะหลุมผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาระดับปริมาณการผลิต

โครงการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โครงการซอติก้า ได้เสร็จสิ้นการเจาะหลุมผลิตบนแท่นผลิตเฟส 1C ทั้งหมด 4 แท่น และยังคงมีแผนการเจาะหลุมผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาระดับการผลิต ในไตรมาสนี้ โครงการมีปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยตามเป้าหมายที่ 290 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (ประมาณ 46,431 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน) โครงการเมียนมา เอ็ม 3 อยู่ระหว่างรออนุมัติแผนพัฒนาโครงการ (Field Development Plan) จากรัฐบาลเมียนมาที่ทางบริษัทได้ยื่นไปในไตรมาส 4 ปี 2561 โครงการเมียนมา เอ็มดี-7 อยู่ระหว่างเตรียมแผนการเจาะหลุมสำรวจจำนวน 1 หลุมในปี 2562 โครงการเมียนมา เอ็ม 11 อยู่ระหว่างเตรียมการเจาะหลุมสำรวจจำนวน 1 หลุมในปี 2562 รวมทั้งหาผู้ร่วมทุนเพื่อบริหารความเสี่ยงของโครงการ โครงการเมียนมา เอ็มโอจีอี 3 ได้เสร็จสิ้นการเจาะหลุมสำรวจจำนวน 1 หลุมในเดือนมกราคม 2562 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจาะหลุมสำรวจหลุมที่ 2 และอยู่ระหว่างการเตรียมการเจาะหลุมสำรวจอีก 2 หลุมในปี 2562 สำหรับมาเลเซีย โครงการซาราวักเอสเค 410 บี อยู่ระหว่างการดำเนินการเจาะหลุมประเมินผลจำนวน 1 หลุม โครงการซาราวักเอสเค 417 และ โครงการซาราวักเอสเค 438 อยู่ระหว่างการศึกษาด้านธรณีวิทยาและประเมินศักยภาพปิโตรเลียมเพื่อการดำเนินการเจาะหลุมสำรวจในอนาคต โครงการพีเอ็ม 407 และ พีเอ็ม 415 ได้ลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมการศึกษาทางธรณีวิทยาและประเมินศักยภาพปิโตรเลียมเพื่อวางแผนสำรวจต่อไป โครงการเวียดนาม บี และ 48/95 และโครงการเวียดนาม 52/97 อยู่ระหว่างการเจรจาสัญญาเชิงพาณิชย์เพื่อรองรับการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision หรือ FID) ต่อไป

โครงการในตะวันออกกลาง

โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 1 และโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 ได้มีการลงนามในสัญญาสัมปทานเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2562 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมการศึกษาทางธรณีวิทยาและประเมินศักยภาพปิโตรเลียมเพื่อวางแผนสำรวจต่อไป

โครงการในทวีปอเมริกา

โครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ ประเทศแคนาดา อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการโครงการที่เหมาะสม โครงการบารารินเนียส์ เอพี 1 และโครงการบราซิล บีเอ็ม อีเอส 23 อยู่ระหว่างการศึกษาด้านธรณีวิทยาและศักยภาพของปิโตรเลียม โครงการเม็กซิโก แปลง 12 (2.4) และโครงการเม็กซิโก แปลง 29 (2.4) อยู่ระหว่างการเตรียมการศึกษาทางธรณีวิทยาและประเมินศักยภาพปิโตรเลียมเพื่อวางแผนสำรวจต่อไป

โครงการในทวีปออสเตรเลีย

โครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเชีย ตั้งอยู่ในเครือรัฐออสเตรเลีย ประกอบด้วย 8 แปลงสัมปทาน สำหรับแหล่งที่ดำเนินการผลิตแล้ว คือ แหล่งมอนทารา อยู่ในระหว่างการส่งต่อการดำเนินการ (Operatorship Transfer) ให้กับผู้ซื้อ ซึ่งจะมีผลสมบูรณ์เมื่อได้รับการอนุมัติจากองค์กรบริหารความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมด้านปิโตรเลียมทางทะเล ของประเทศออสเตรเลีย โดยคาดว่าจะได้รับอนุมัติภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 แหล่งแคช เมเปิลอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการพัฒนาโครงการที่เหมาะสม พร้อมทั้งเตรียมการหาผู้ร่วมทุนเพื่อบริหารความเสี่ยงของโครงการ สำหรับแปลงสำรวจเอซี/พี54 ได้ทำการเจาะหลุมสำรวจจำนวน 1 หลุมเสร็จสิ้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ผลจากการเจาะสำรวจค้นพบชั้นหินกักเก็บก๊าซธรรมชาติและคอนเดนเสท ความหนา 34 เมตร โดยมีแผนพัฒนาร่วมกับแหล่งแคช เมเปิล ต่อไป

โครงการในแอฟริกา

โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ได้บรรลุข้อตกลงเพื่อเริ่มพัฒนาโครงการระยะที่ 1 ตามแผนพัฒนาที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล โดยสามารถเริ่มดำเนินการพัฒนาได้ในเดือนมีนาคม 2562 และคาดว่าจะเริ่มผลิตในปี 2564 ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 10,000-13,000 บาร์เรลต่อวัน พร้อมทั้งมีแผนระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตในปี 2568 เป็น 50,000-60,000 บาร์เรลต่อวัน ส่วนโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน มีความคืบหน้าที่สำคัญหลายด้านในไตรมาสนี้ ได้แก่ การลงนามและได้รับอนุมัติจากรัฐบาลโมซัมบิกในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Sale and Purchase Agreement) ระยะยาวกับผู้ซื้อรายต่าง ๆ รวมทั้งสิ้นประมาณ 9.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งเพียงพอต่อการจัดหาแหล่งเงินกู้ในรูปแบบ Project Finance กับสถาบันการเงิน นอกจากนั้น โครงการฯ ยังได้รับอนุมัติจากโครงการ Area 4 ที่อยู่ข้างเคียงและรัฐบาลโมซัมบิกให้เป็น First Mover ของการพัฒนาโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวบนบก (Onshore LNG Plant) โดยจะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างท่าเรือขนส่งวัสดุในการก่อสร้าง (Material Offloading Facility) ท่าเรือส่งออก LNG (LNG Jetty) เพื่อใช้ร่วมกัน ทั้งนี้ ผู้ร่วมทุนต่างๆ จะร่วมกันตัดสินใจการลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ในไตรมาส 2 ของปี 2562 โดยมีแผนจะผลิต LNG เชิงพาณิชย์ได้ในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิตรวม 12.88 ล้านตันต่อปี

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้