กรมสรรพากรร่วมมือกับ 4 พันธมิตรสำคัญ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ

พฤหัส ๐๒ พฤษภาคม ๒๐๑๙ ๑๔:๔๙
กรมสรรพากร สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดการเสวนาเรื่อง "มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ ภายใต้การบูรณาการร่วมกัน 5 หน่วยงาน" เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้อง กับสภาพที่แท้จริงของกิจการ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้ถูกต้อง เพิ่มโอกาสในการทำธุรกรรมการเงิน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ณ ห้อง Sapphire 204 - 206 เมืองทองธานี ถนนแจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า"จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs จัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ มีความถูกต้องตามมาตรฐานการเงินและมาตรฐานภาษีอากรอย่างจริงจัง โดยทั้ง 5 หน่วยงานได้บูรณาการร่วมกันในการอกมาตรการนี้พร้อมทั้งเดินสายให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว การจัดทำบัญชีที่ถูกต้อง ความช่วยเหลือของภาคเอกชน ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีและงบการเงินที่ถูกต้องทั่วประเทศในหัวเมืองใหญ่ 9 จังหวัด และที่อิมแพคเมืองทองธานีในครั้งนี้ การทำบัญชี และงบการเงินที่ถูกต้องเปรียบเสมือนปรอทวัดไข้ของธุรกิจ เมื่อใดที่ธุรกิจเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง กำไรธุรกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย บัญชีและงบการเงินจะเป็นตัวบ่งชี้ Pain Point และ Gain Point ของกิจการ ทำให้ธุรกิจรู้ว่าต้องปรับปรุงหรือแก้ไขที่จุดใด มาตรการนี้จะช่วยลด Pain Point และสร้าง Gain Point ให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้ สิ่งที่เคยผิดพลาดในอดีตเกิดภาระทางภาษีต่าง ๆ ทั้งเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าปรับอาญา มาตรการนี้จะช่วยบรรเทาภาระเหล่านั้นให้แก่ผู้ประกอบการช่วยให้ทำธุรกิจ ได้อย่างสบายใจ มีบัญชีและงบการเงินที่สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการมีความน่าเชื่อถือ มีข้อมูล เพื่อวางแผนธุรกิจ สามารถต่อยอดธุรกิจได้กว้างขึ้นในอนาคต เพราะการทำบัญชีและงบการเงินที่ดี จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการขยายกิจการของธุรกิจ"

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายกสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า "มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ ภายใต้ พ.ร.บ. ยกเว้น เบี้ยปรับเงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา เป็นมาตรการที่ดีและมีความจริงใจที่จะช่วยเหลือ และส่งเสริมผู้ประกอบการได้มีโอกาสเข้าสู่ระบบบัญชีที่ถูกต้อง คือระบบบัญชีเดียว เพื่อมุ่งเน้นให้ข้อมูลของธุรกิจเป็นไปอย่างถูกต้อง อันจะส่งผลให้รัฐนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนพัฒนาประเทศได้อย่างตรงเป้าหมาย

ในบทบาทของสภาวิชาชีพบัญชี กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสรรพากร ได้มีการออกตัวอย่างเพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดความเข้าใจในการปรับปรุงบัญชีเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดโดยอ้างอิงมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 8 เรื่อง นโยบายการบัญชี การเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชีและข้อผิดพลาด และบทที่ 5 ของมาตรฐาน NPAEs ส่วนรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต สภาวิชาชีพบัญชีได้มีตัวอย่างรายงานผู้สอบบัญชี กรณีสามารถและไม่สามารถตรวจสอบรายการปรับปรุงจากการแก้ไขข้อผิดพลาดได้เช่นกัน โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชี www.tfac.or.th"

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า "กกร. อันประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย จึงได้ร่วมมือกับกรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ธนาคารแห่งประเทศไทย และสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดสัมมนาเพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs จัดทำบัญชีให้ถูกต้องและปรับปรุงงบให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ เพื่อจะได้ชำระภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งจะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากสถาบันการเงินอย่างเต็มที่ ตามที่ภาครัฐได้ออกมาตรการยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่มให้กับผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดทำบัญชีให้ถูกต้อง ดังนั้น กกร. จะเป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนข้อมูลข่าวสารให้ผู้ประกอบการ SMEs มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับมานั้น ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและหน้าที่จะต้องชำระภาษี ตามกฎหมายกว่า 700,000 ราย มีผู้ยื่นงบการเงินเพียง 400,000 ราย โดยมีทั้งบัญชีที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง สำหรับการออกมาตรการในครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถผลักดันผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบบัญชีเดียว ได้มากกว่า 200,000 ราย (ทั้งรายเก่าและรายใหม่)

สำหรับ สมาคมธนาคารไทยในฐานะส่วนหนึ่งของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เห็นความสำคัญในการจัดให้ข้อมูลและความรู้แก่ผู้ประกอบการใช้ประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับมาตรการภาษีสำหรับลูกค้านิติบุคคล และประเด็นที่จะส่งผลต่อการขอสินเชื่อในอนาคตที่กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องใช้บัญชีที่ยื่นต่อกรมสรรพากรเป็นหลักฐาน ในการยื่นขอกู้แบงก์ซึ่งถือเป็นกติกาที่บังคับให้ผู้ประกอบการต้องทำบัญชีเล่มเดียว เพราะเงินทุนหมุนเวียนคือหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก หากไม่สามารถนำบัญชีที่ยื่นต่อกรมสรรพากรไปกู้แบงก์ได้ ก็เท่ากับว่า ขาดโอกาสในการทำธุรกิจ โดยถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องรีบตระหนักและทำการปรับปรุงบัญชีพร้อมยื่นและชำระภาษีทุกประเภทให้ครบภายใน 30 มิถุนายน 2562 เพราะเหลือระยะเวลาอีกไม่นานเท่านั้น ซึ่งหากพิจารณาแล้วมีความจำเป็นต้องการสินเชื่อเพื่อชำระภาษีอากร ก็ให้รีบติดต่อธนาคารเพื่อขอสินเชื่อสนับสนุน

ซึ่งมาตรการสนับสนุนของธนาคารพาณิชย์ไทยจะให้ความสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการเพื่อจะสนับสนุนให้ลูกค้าที่มีความพร้อมในการปรับงบการเงินเพื่อให้สะท้อนสถานะกิจการที่แท้จริงรวมถึงมาตรการที่ธนาคารด้านการเงินที่ออกมาช่วยการสนับสนุนการออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการถือปฏิบัติตามมาตรการบัญชีเล่มเดียว"

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า "ที่ผ่านมากรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการและกำกับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีให้จัดทำบัญชีได้อย่างถูกต้อง รวมทั้ง ได้เชื่อมโยงข้อมูลงบการเงินที่ผู้ประกอบการได้นำส่งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปยังกรมสรรพากร ดังนั้น ในการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงไม่ต้องแนบงบการเงินซ้ำอีก สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนตาม พ.ร.บ. ยกเว้นเบี้ยปรับฯ เมื่อปรับปรุงบัญชีพร้อมชำระภาษีต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562 แล้ว หากประสงค์จะส่งงบการเงินฉบับใหม่เพื่อทดแทนฉบับเดิมที่มีข้อผิดพลาด กรมได้เปิดช่องทาง Fast Track เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562"

นางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า "เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs จัดทำบัญชีและงบการเงินที่สะท้อนสถานะทางการเงินอย่างโปร่งใส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้ใช้งบการเงินที่ลูกค้าแสดงต่อกรมสรรพากรในการยื่นรายการภาษีเงินได้ซึ่งสะท้อนถึงฐานะและผลประกอบการในอดีต เป็นปัจจัยสำคัญประกอบการพิจารณาสินเชื่อ โดยอาจนำปัจจัยเชิงปริมาณหรือปัจจัยเชิงคุณภาพอื่น ๆ เช่น แผนธุรกิจ คำขอเสนอซื้อสินค้า มาใช้ในการประเมินศักยภาพของธุรกิจและความสามารถในการชำระหนี้คืนของผู้กู้ได้ ซึ่งแนวนโยบายดังกล่าวได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 62 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ เพื่อให้มาตรการดังกล่าวของภาครัฐสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ ตลอดจนเพื่อสร้างความโปร่งใสและยกระดับ ธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ อันจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและความยั่งยืนในระยะยาว ธปท. จึงได้สนับสนุนให้สถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีมาตรการจูงใจสำหรับลูกค้าที่มีงบการเงินที่โปร่งใส เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืม รวมทั้งสนับสนุนให้มีมาตรการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการทำบัญชีแก่ผู้ประกอบการด้วย"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้