ไทยไม่ติดบัญชีประเทศที่ถูกจับตาจากสหรัฐฯ แต่ยังอาจเสี่ยงที่จะเผชิญแรงกดดันทางด้านการค้า

พฤหัส ๓๐ พฤษภาคม ๒๐๑๙ ๑๖:๕๘
- กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ รอบครึ่งปี โดยที่ยังคงไม่มีการระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่า ประเทศใดมีพฤติกรรมเข้าข่ายบิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulator) อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ มีการปรับเกณฑ์การพิจารณาให้มีความเข้มงวดขึ้น ซึ่งทำให้รายชื่อประเทศที่สหรัฐฯ ติดตามอย่างใกล้ชิด (Monitoring List) เพิ่มจำนวนขึ้น มาเป็น 9 ประเทศ ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้น ไทยไม่ติดอยู่ใน Monitoring List ในรายงานฯ รอบนี้

- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์นี้ไม่กระทบต่อการค้าของไทยโดยตรง แต่การที่มีหลายประเทศในอาเซียนติดอยู่ในบัญชีที่ต้องจับตา เป็นสัญญาณว่าไทยก็มีความเสี่ยงที่จะถูกจับตาอย่างใกล้ชิดมากขึ้นในอนาคตจากการที่ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ใกล้เคียงกับเกณฑ์ที่ 2.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ

- ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทางการสหรัฐฯ อาจส่งผ่านแรงกดดันทางการค้าผ่านการพิจารณาสิทธิ GSP เท่านั้น แต่จะไม่ยกระดับไปสู่มาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบอื่น เพราะการผลิตและส่งออกของไทยไม่น่าจะขัดกับหลักเกณฑ์ใดๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งทางการไทยสามารถชี้แจงได้ นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าบางรายการของไทยไปสหรัฐฯ ที่มีสัญญาณเร่งตัวขึ้น ก็เป็นผลจากการปรับห่วงโซ่การผลิตของนักลงทุนในระดับโลกเป็นหลัก อย่างไรก็ดี ทางการไทยจำเป็นต้องเตรียมแผนหาตลาดใหม่ รวมทั้งผลักดัน FTA ฉบับต่างๆ ที่อยู่ในแผนให้เปิดเสรีได้สำเร็จ เพื่อช่วยขับเคลื่อนการส่งออกและการลงทุนไทยในระยะยาว

ในที่สุด กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ออกรายงานนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมประมาณ 1 เดือน โดยรายงานทบทวนนโยบายฯ ของประเทศคู่ค้ารอบนี้ ยังคงไม่มีการระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่า ประเทศใดมีพฤติกรรมเข้าข่ายบิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulator) เพื่อเพิ่มความได้เปรียบทางด้านการค้ากับสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์/เงื่อนไขในรายงานทบทวนนโยบายฯ ฉบับนี้ ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 2 เรื่อง สำคัญคือ (1) มีประเทศคู่ค้าที่ติดเข้ามาอยู่ในการประเมินรอบนี้เพิ่มมากขึ้นมาเป็น 21 ประเทศ จากเดิม 12 ประเทศ และ (2) มีการปรับเกณฑ์การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดให้เข้มงวดขึ้น สำหรับประเทศไทยนั้น นับเป็นข่าวดีที่ไทยไม่ติดอยู่ในรายชื่อประเทศที่สหรัฐฯ ติดตามอย่างใกล้ชิด (Monitoring List) ตามที่มีความกังวลในช่วงก่อนหน้านี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้จะยังไม่พบสัญญาณความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนภายหลังการเปิดเผยรายงานทบทวนนโยบายฯ ของสหรัฐฯ ฉบับนี้ แต่คงต้องจับตาความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนที่อาจมีผลต่อทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาคในช่วงหลังจากนี้อย่างใกล้ชิด เพราะแม้สหรัฐฯ ยังคงไม่เลือกที่จะกดดันจีนด้วยประเด็นด้าน Currency Manipulator ในขณะนี้ (ซึ่งทำให้ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากนักในช่วงรอการเจรจารอบใหม่) แต่ท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นของสหรัฐฯ ในรายงานทบทวนนโยบายฯ รอบครึ่งปีครั้งนี้ สะท้อนแรงกดดันต่อจีนที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องความไม่โปร่งใสในการเข้าแทรกแซงค่าเงินหยวน และการเกินดุลการค้าในระดับที่สูงเกินไปกับสหรัฐฯ

รายชื่อประเทศที่สหรัฐฯ ติดตามอย่างใกล้ชิด (Monitoring List) เพิ่มจำนวนขึ้น มาเป็น 9 ประเทศ (จาก 6 ประเทศในรายงานทบทวนนโยบายฯ เดือนต.ค. 2561) อย่างไรก็ดี ประเทศไทยผ่าน 2 ใน 3 เกณฑ์ที่สหรัฐฯ ใช้พิจารณา ดังนั้น ไทยจึงไม่อยู่ใน Monitoring List รอบนี้

รายละเอียดเกณฑ์ที่สหรัฐฯ ใช้ในการจัดทำรายงานรอบนี้

1. ขยายความครอบคลุมมากขึ้น สหรัฐฯ ปรับเปลี่ยนเกณฑ์ในการคัดเลือกประเทศ โดยพิจารณาจากประเทศที่มีมูลค่าการค้า (ส่งออก+นำเข้า) กับสหรัฐฯ มากกว่า 4.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี ซึ่งทำให้การพิจารณารอบนี้ ครอบคลุมประเทศคู่ค้าถึง 21 ประเทศ คิดเป็น 80% ของมูลค่าการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับคู่ค้าทั้งหมด และเพิ่มขึ้นจากเดิม 12 ประเทศ

2. เกณฑ์การพิจารณา ยังอยู่ที่ 3 เรื่องหลัก แต่บางเกณฑ์ถูกปรับให้เข้มงวดขึ้น

2.1 ยอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ไม่เกิน 2.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ตามเดิม

2.2 ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ไม่เกิน 2% ต่อจีดีพี เข้มงวดขึ้นจากเดิมที่ 3% ต่อจีดีพี

2.3 มียอดซื้อสุทธิ FX เพื่อการเข้าแทรกแซงค่าเงินให้อ่อนค่าเพียงด้านเดียว เกิน 2% ต่อจีดีพี ในช่วง 6 เดือนจาก 12 เดือนล่าสุด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อาจนับเป็นความโชคดีที่สภาพแวดล้อมของตลาดการเงินโลกในช่วงที่กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ จัดทำรายงานฉบับนี้ เป็นช่วงที่เงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้น สวนทางกับสกุลเงินในเอเชียที่เผชิญแรงกดดันในด้านอ่อนค่า ทั้งจากกระแสเงินทุนไหลออก และปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายในที่เริ่มอ่อนแอลงท่ามกลางสงครามทางการค้า ซึ่งทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศเข้าดูแลเพื่อชะลอการอ่อนค่าของสกุลเงินตัวเองด้วยการขายเงินตราต่างประเทศออกมา (ไม่ใช่เป็นฝั่งซื้อสุทธิตามเกณฑ์/เงื่อนไขที่สหรัฐฯ กำหนด) ดังนั้น ไทย และอีกหลายๆ ประเทศในเอเชีย แม้แต่ฮ่องกงซึ่งใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ผูกกับเงินดอลลาร์ฯ ต่างก็รอดพ้นจากเกณฑ์หรือเงื่อนไขเรื่องการเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้ค่าเงินอ่อนค่าเพียงด้านเดียวในรายงานฉบับนี้

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากการที่ไทยบันทึกยอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในระดับที่ค่อนข้างสูงระหว่าง 1.90-2.03 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (หมายเหตุ: ข้อมูลจาก Census Bureau ของสหรัฐฯ ไม่เท่ากับยอดดุลการค้าที่มองจากฝั่งไทยตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์) และไทยยังมีแนวโน้มเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในระดับสูงในระยะข้างหน้า ทำให้อาจยังมีความเสี่ยงที่ไทยจะไม่ผ่านเกณฑ์ในด้านยอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพิ่มเติมจากเกณฑ์ด้านดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งหากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ไทยต้องเตรียมรับมือกับแรงกดดันในประเด็นทางด้านการค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น

จับตาความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะพุ่งเป้ามากดดันไทย แต่คาดว่าทางการไทยจะสามารถชี้แจงทุกข้อสงสัยต่อสหรัฐฯ ได้

สงครามการค้าที่คุกรุ่นระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ก่อให้เกิดอานิสงส์ต่อสินค้าจากเวียดนามให้มีโอกาสเข้าไปทดแทนสินค้าจีนในสหรัฐฯ ได้ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งทำให้เวียดนามเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 4.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2561 ที่ผ่านมา และยังเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 1/2562 อีก 1.35 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ (เทียบกับยอดเกินดุลที่ 9.28 พันล้านดอลลาร์ฯ ในไตรมาส 1/2561) และติดเป็นประเทศที่ถูกจับตาอยู่รายงานทบทวนฯ ตามกรอบเงื่อนไขใหม่ที่เข้มขึ้น ซึ่งรายงานนี้เป็นเสมือนเครื่องมือที่สหรัฐฯ นำมาพิจารณาเดินหน้ากดดันทางการค้ากับนานาชาติด้วยมาตรการต่างๆ รวมทั้งกดดันให้เปิดตลาดการค้าสินค้าและบริการดังเช่นที่เกิดกับหลายประเทศอย่างจีน เกาหลีใต้ อินเดีย และญี่ปุ่น

การที่เวียดนามติดอยู่ในประเทศที่ถูกจับตา (Monitoring List) สะท้อนความเสี่ยงที่ใกล้เข้ามาที่ไทย ดังนั้น เหตุการณ์สำคัญในประเด็นทางการค้าที่ต้องจับตาในระยะอันใกล้ คือ การทบทวนสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ที่ให้กับนานาประเทศ ซึ่ง GSP ของไทยก็อาจถูกทบทวนในรอบนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากไทยใช้สิทธิการส่งออกภายใต้ GSP ของสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 4.3 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2561 (ฐานข้อมูลสหรัฐฯ) ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 โดยในกรณีที่ GSP ของไทยถูกทบทวนและมีผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ หลายรายการ ก็อาจเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า ไทยต้องเตรียมรับมือกับแรงกดดันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจจะเพิ่มขึ้น ดังเช่น กรณีของอินเดียที่มีมูลค่าการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง มีรายชื่อติดใน Monitoring List ในรายงานทบทวนฯ เดือนเมษายน 2561 และอินเดียเป็นผู้ใช้สิทธิ GSP ของสหรัฐฯ สูงสุดเป็นอันดับ 1 คิดเป็นมูลค่า 6.2 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2561 องค์ประกอบเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ หยิบยกมาเป็นประเด็นเพื่อพิจารณาตัดสิทธิ GSP ที่ให้แก่อินเดีย แม้สถานการณ์ล่าสุดสหรัฐฯ จะเลื่อนการพิจารณาการตัดสิทธิ GSP ออกไป เพื่อรออินเดียจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ประกอบกับอินเดียก็หลุดออกจากรายงานทบทวนนโยบายฯ แล้วในรอบนี้

นอกจาก ประเด็นทางด้านสิทธิ GSP แล้ว สหรัฐฯ ยังมีอีกหลายเครื่องมือที่สามารถนำออกมาใช้ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ AD/CVD มาตรการ Safeguard มาตรการ National Security แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไม่น่าจะประเด็นที่ไทยต้องกังวลเพราะการผลิตและการส่งออกของไทยสามารถตรวจสอบได้และไม่ขัดกับเงื่อนไขของแต่ละมาตรการ ทั้งนี้ แม้ในช่วงที่ผ่านมา จะมีสินค้าไทยหลายรายการที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการกีดกันทางการค้ามาบ้าง แต่ก็เป็นหลักเกณฑ์ภายใต้กรอบ WTO ที่ไม่ได้เลือกปฏิบัติเฉพาะกับไทย อาทิ Safeguard (มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น) ที่สหรัฐฯ ต้องการลดทอนผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศโดยมีเป้าหมายสกัดสินค้าจีนและเกาหลีใต้ที่ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศต่างๆ มาตรการทางการค้าด้านอื่นที่ใช้เป็นการทั่วไปอย่าง AD/CVD (มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและมาตรการตอบโต้การอุดหนุน) รวมทั้งมาตรการที่มีมูลเหตุมาจากสงครามการค้า แต่สหรัฐฯ ก็ใช้กับหลายประเทศเพื่อปกป้องผู้ผลิตในสหรัฐฯ อย่าง National Security (มาตรการปกป้องความมั่นคงของชาติ) ซึ่งมาตรการนี้สินค้าไทยก็สามารถชี้แจงขอผ่อนผันได้มาแล้ว

อย่างไรก็ดี หากสหรัฐฯ มีการตรวจสอบการส่งออกสินค้าจากไทยว่าอาจมีพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า ไทยน่าจะหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาดังกล่าวและไม่น่าจะถูกดึงเข้าสู่เกมสงครามการค้าของสหรัฐฯ กับจีน เนื่องจากมองว่า ทางการไทยน่าที่จะสามารถชี้แจงต่อสหรัฐฯ ได้ในทุกประเด็น ทั้งประเด็นด้านการลงทุนในไทยที่ทางการไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนกับทุกประเทศโดยไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนชาติใดชาติหนึ่งเป็นการเฉพาะ และการลงทุนที่มายังไทยก็มุ่งเน้นที่การผลิตที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว รวมทั้งประเด็นการส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าจับตา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสหรัฐฯ ที่ต้องหาแหล่งนำเข้าอื่นมาชดเชยสินค้าจากจีน โดยเมื่อพิจารณาตัวเลขการนำเข้าของสหรัฐฯ ในรายการเดียวกับที่จีนถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 พบว่าสหรัฐฯ นำเข้าจากประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสินค้า HDDs ขนาดเล็กกว่า 20 เซนติเมตร และ ICs มีการเติบโตค่อนข้างสูง (เติบโต 11.4% และ 13.9% ในปี 2561 ตามลำดับ) เมื่อเทียบกับสินค้าจีนที่สหรัฐฯ ชะลอการนำเข้า สินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่ไทยมีความแข็งแกร่งทางการผลิตอยู่แล้ว และการเติบโตดังกล่าวก็มาจากการขยายกำลังการผลิตและปรับเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตของนักลงทุนในระดับโลกที่อยู่ในไทยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการอย่างเร่งด่วนของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา อนึ่ง ปริมาณการส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ ที่น่าจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกทางการสหรัฐฯ ตรวจสอบว่ามีสินค้าจีนเข้ามาสวมสิทธิเป็นสินค้าไทยแล้วส่งออกไป จึงเป็นเรื่องอ่อนไหวที่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างมาก

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในเรื่อง GSP ยังคงเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตาต่อไปเพราะอยู่ในวิสัยที่สหรัฐฯ สามารถทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่ทุกฝ่ายยอมรับ ขณะที่เม็ดเงินลงทุนที่จะไหลเข้ามาไทยในอนาคตที่เป็นผลพวงจากสงครามการค้า สหรัฐฯ คงไม่สามารถใช้เป็นเหตุผลเพื่อยกระดับมาตรการกดดันการค้ากับไทยได้ เนื่องจากนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของไทยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการค้าที่ไม่เป็นธรรมหรือเอาเปรียบคู่แข่ง อย่างไรก็ดี ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนและความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยังมีอยู่ ทางการไทยจำเป็นต้องเร่งหาหาตลาดใหม่ หรือเร่งเจรจากรอบการค้าเสรีอื่นๆ ที่อยู่ในแผนงานให้สามารถเปิดเสรีได้ อาทิ FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (EU) ทั้งนี้เพื่อบรรเทาแรงกดดันทางการค้าจากมาตรการไม่คาดฝันของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4