กนง. คงดอกเบี้ยและปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ EIC

พฤหัส ๒๗ มิถุนายน ๒๐๑๙ ๐๘:๕๘
Key point

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย วันที่ 26 มิถุนายน 2019 คณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่า "เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าและบริการเป็นสำคัญ" คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

Analysis

กนง. ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ โดยมีปัจจัยสำคัญจากการส่งออกสินค้าที่ไม่ขยายตัว และภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาด เมื่อดูรายงานผลการประชุมและตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจในรอบนี้ พบว่า กนง. ประเมิน "การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม" ทั้งนี้ กนง. ปรับลดตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2019 ลงจาก 3.8% มาอยู่ที่ 3.3% ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้ "มาก" และภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ โดยเป็นผลจากนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก ประมาณการมูลค่าส่งออกสินค้าถูกปรับลดจาก 3.0% มาอยู่ที่ 0.0% ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น ส่วนคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปรับลดลงจาก 40.4 ล้านคน เป็น 39.9 ล้านคน สำหรับอุปสงค์ภายในประเทศ กนง. ประเมินว่า การลงทุนภาครัฐและเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนภาครัฐถูกปรับประมาณการลงค่อนข้างมากจาก 6.1% เป็น 3.8% ซึ่งเป็นผลจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่คาดว่าจะล่าช้าลง และการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง สำหรับประมาณการลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงไม่มากนัก จาก 4.4% เป็น 3.8% เนื่องจากยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากการย้ายฐานการผลิตมายังไทย ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป กนง. ยังคงประมาณการไว้เท่าเดิมที่ 1.0% ในปีนี้ ส่วนประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.7% ปรับลดลงจากที่ประเมินไว้เดิมที่ 0.8%

สำหรับตัวเลขประมาณการปี 2020 พบว่า กนง. ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2020 อยู่ที่ 3.7% จาก 3.9% โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าจะกลับมาขยายตัวที่ 4.3% การลงทุนภาครัฐจะขยายตัว 7.2% และการลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัว 5.5% จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีหน้า

กนง. ประเมินว่า ภาวะการเงินอยู่ในระดับผ่อนคลาย และแสดงความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาทที่อาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดย กนง. สื่อสารว่า "ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ" ซึ่งสะท้อนผ่านภาคเอกชนที่สามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้สิ่งที่ กนง. แสดงความกังวลมากขึ้นอย่างชัดเจน คือ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยกล่าวว่า "การแข็งค่าของเงินบาทอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ" อีกทั้งเงินบาทยัง "แข็งค่านำสกุลอื่นในภูมิภาค" โดย ธปท. จะติดตามสถานการณ์ทั้งอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้าย "อย่างใกล้ชิด"

ด้านเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ยังคงประเมินว่า ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่มีความกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) โดยนอกจากมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) แล้ว กนง. ยังได้กล่าวถึงมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) ที่อาจถูกใช้ควบคู่กับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงินต่อไป

Implication

อีไอซีมอง กนง. คงดอกเบี้ยในปีนี้ แต่ต้องจับตาดูความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจ การแข็งค่าของเงินบาท และแนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายต่อไป

อีไอซีมองว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ แม้จะมีการปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจลง เนื่องจาก 1) กนง. ยังมองว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวในปี 2563 แม้ กนง. จะประเมินเศรษฐกิจไทยชะลอลงต่อเนื่อง สะท้อนจากการปรับลดตัวเลขประมาณลงจาก 4.0% ในการประชุม ธ.ค 2018 ลงมาอยู่ที่ 3.8% ในการประชุม มี.ค 2019 และล่าสุดได้ปรับลดลงเหลือ 3.3% แต่อีไอซีมองว่า อัตราการขยายตัวดังกล่าวต่ำกว่าระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย (potential GDP) ไม่มากนัก นอกจากนี้ กนง. ยังคงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวที่ 3.7% ได้ในปีหน้า จึงทำให้ กนง. ยังไม่จำเป็นต้องรีบปรับลดดอกเบี้ยลงในปีนี้ 2) อีไอซีมองว่า กนง. ยังคงให้ความสำคัญในการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินอยู่ รายงานการประชุม กนง. ในรอบนี้ยังคงมีถ้อยคำที่แสดงความกังวลต่อเสถียรภาพระบบการเงินอยู่ ทั้งในเรื่องการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน (สินเชื่อรถยนต์) ความเสี่ยงจากสหกรณ์ออมทรัพย์ และการก่อหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ นอกจากนี้ กนง. ยังคงอ้างอิงด้วยว่าการลดความเสี่ยงดังกล่าวยังต้องใช้เครื่องมือที่หลากหลายซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วย และ 3) อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของไทยปัจจุบันที่ระดับ 0.75% ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ดังนั้นความสามารถและความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยของ กนง. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอาจมีไม่มากเท่าประเทศอื่น ๆ ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงยังคงอยู่ในระดับสูง (รูปที่ 1)

เงื่อนไขที่จะทำให้ กนง. อาจพิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบายได้ในระยะข้างหน้า : อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยอยู่ต่ำกว่า 3%, เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว, หรือเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง แม้อีไอซีจะมีมุมมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงที่ที่ 1.75% ทั้งปี อย่างไรก็ตาม ด้วยความไม่แน่นอนในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างสูง การปรับเปลี่ยนนโยบายอาจเกิดขึ้นได้

ซึ่งอีไอซีมองว่าเงื่อนไขที่จะทำให้ กนง. มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ มาจาก 1) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยทั้งปีอยู่ต่ำกว่า 3% ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หากภาคการส่งออกสินค้าหดตัวลงมากกว่าคาด จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานของไทย นอกจากนี้ยังต้องติดตามการชะลอตัวลงของภาคการท่องเที่ยว

หลังเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เพราะอาจส่งผลให้การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวปรับลดลงได้ 2) เงินบาทแข็งค่าขึ้นอีกต่อเนื่องจากระดับปัจจุบัน โดยเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นผลจากสงครามการค้าที่กลับมาปะทุอีกครั้งในช่วงต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนหันมาถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยซึ่งรวมถึงเงินบาท เพราะไทยที่มีเสถียรภาพด้านต่างประเทศแข็งแกร่ง นอกจากนี้ การประชุม FOMC ของสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งให้เงินบาท

แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงหลังจาก Fed

ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยในระยะต่อไป โดย กนง. ได้สื่อสารถึงความกังวลในประเด็นนี้อย่างชัดเจน ทั้งนี้แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา กนง. จะไม่เคยปรับลดดอกเบี้ยเพื่อหวังผลให้เงินบาทอ่อนค่า แต่หากเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันและรายได้ในรูปเงินบาทจากการส่งออกสินค้าและบริการ การลดดอกเบี้ยอาจมีความจำเป็นมากขึ้น และ 3) เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าในปริมาณมาก โดยในตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2018 ถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2019 มีเงินทุนไหลเข้าในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทยสูงถึง 8.7 หมื่นล้านบาท ซึ่ง กนง. ก็กล่าวว่าจะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้อีไอซีประเมินว่าหากในระยะข้างหน้ายังมีเงินทุนไหลเข้ามาต่อเนื่องก็อาจกดดันใน ธปท. ต้องออกมาตรการเพื่อดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจเข้ามาเพื่อเก็งกำไรจากสินทรัพย์ไทยในระยะสั้น โดยหนึ่งในมาตรการที่ ธปท. สามารถใช้ได้อย่างรวดเร็วคือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ไทย (carry) ลดลง สำหรับมาตรการอื่น ๆ ที่ ธปท. อาจพิจารณานำมาใช้ เช่น การปรับลดปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาลไทย เพื่อทำให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรผ่านตลาดพันธบัตรได้ยากขึ้น ซึ่งมาตรการนี้ถูกนำมาใช้ครั้งล่าสุดเมื่อเดือน เม.ย. ปี 2017

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๐ แคสเปอร์สกี้เผย บริษัทมากกว่าครึ่งในเอเชียแปซิฟิกใช้ AI และ IoT ในกระบวนการทางธุรกิจ
๑๗:๑๔ พร้อมจัดงาน สถาปนิก'67 ภายใต้ธีม Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์
๑๗:๓๓ โรงแรมชามา เลควิว อโศก กรุงเทพฯ จัดโปรโมชั่นฉลองเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๓๘ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ห่วงใยชาวสระแก้ว มอบศาลาที่พักผู้โดยสาร เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน และเพื่อเป็นที่หลบแดดหลบฝน ณ
๑๗:๔๙ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดพิธีประสาทปริญญาบัตร พร้อมมอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 3 ท่าน
๑๗:๑๘ แน็ก ชาลี - มุก วรนิษฐ์ ชวนเปิดประสบการณ์ความเฟรช ในงาน Space of Freshtival 30 มีนาคมนี้ ที่ สยามสแควร์วัน
๑๗:๑๐ อิมแพ็ค จัดงาน Happy Hours: Wine Tasting Craft Beer ต้อนรับลูกค้าช่วงมอเตอร์โชว์
๑๗:๓๒ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแพร่ มอบเครื่องมือพื้นฐานชุดการฝึก (ชุดเครื่องมือทำมาหากิน) รุ่นที่ 4/2567
๑๗:๕๒ ดีพร้อม ดึงผู้ประกอบการเงินทุนฯ ทั่วประเทศ เปิดพื้นที่ทดสอบตลาด จัดงาน พร้อมเปย์ ที่ DIPROM FAIR
๑๗:๔๕ เขตราชเทวีจัดเทศกิจกวดขันผลักดันผู้ค้าตั้งวางแผงค้ารุกล้ำบนทางเท้าถนนราชปรารภ