หนี้ครัวเรือนของประเทศไทย ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2562 “หนี้ครัวเรือนยังไม่น่ากังวลพร้อมให้ความสำคัญในการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน และใช้จ่ายให้เหมาะสมกับตนเอง โดยใช้กลไกผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ”

พุธ ๐๔ กันยายน ๒๐๑๙ ๑๗:๑๘
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงประเด็นหนี้ครัวเรือนของประเทศไทย ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ว่า "ระดับหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2562 อยู่ที่ 12.97 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 78.7 ต่อ GDP โดยหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ (ร้อยละ 42.8) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (ร้อยละ 28.4) และหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและมีวัตถุประสงค์เพื่อการซื้อสินทรัพย์ เช่น อสังหาริมทรัพย์ (ร้อยละ 29.2) รถยนต์และรถจักรยานยนต์ (ร้อยละ 15.4) นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อเพื่อการดำเนินธุรกิจ (ร้อยละ 16.4) สหกรณ์ (ร้อยละ 15.6) และสินเชื่ออื่นๆ (ร้อยละ 17.1) ทั้งนี้ หากไม่รวมหนี้ที่ครัวเรือนกู้ยืมไปเพื่อทำธุรกิจ หนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 1 ปี 2562 จะอยู่ที่ 10.84 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 65.8 ต่อ GDP"

แม้ว่าระดับหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2562 ของไทยจะอยู่ในระดับสูง แต่ถือได้ว่าลดลงเมื่อเทียบกับระดับหนี้ครัวเรือนที่เคยสูงสุดที่ร้อยละ 81.2 ต่อ GDP เมื่อปี 2558 กระทรวงการคลังประเมินว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังไม่เป็นประเด็นที่น่ากังวล เนื่องจาก (1) หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกัน เช่น ที่พักอาศัย รถยนต์ ซึ่งหากมองว่าหนี้เหล่านี้เป็นไปเพื่อการสะสมความมั่งคั่งในรูปสินทรัพย์และเพื่อการลงทุนทำธุรกิจหารายได้แล้ว ก็จะส่งผลดีต่อความมั่นคงทางทรัพย์สินและรายได้ของครัวเรือนด้วย (2) หนี้ครัวเรือนบางส่วนใช้เพื่อประกอบธุรกิจของครัวเรือน ซึ่งถือเป็นสินเชื่อที่สร้างรายได้ให้ครัวเรือน โดยเมื่อหักสินเชื่อธุรกิจนี้ออก ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยจะลดลงอยู่ที่ 65.8 ของ GDP (3) สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเพื่อการบริโภค เช่น สินเชื่อบุคคล และบัตรเครดิต อยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 6.3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด (4) สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับที่ต่ำที่ร้อยละ 3.3 ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2562

อย่างไรก็ตาม สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้มีการติดตามและประเมินสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยอย่างใกล้ชิด เพราะหากหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงมากเกินไปอาจจะส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของระดับครัวเรือน และเสถียรภาพของเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะให้ความสำคัญในการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน และใช้จ่ายให้เหมาะสมกับตนเองอย่างจริงจังและทั่วถึง ปัจจุบัน ธนาคารออมสินได้ดำเนินโครงการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารการเงิน การออม และบัญชีพอเพียง ผ่านโครงการการออมและการบริหารหนี้ที่สมดุลเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีมีสุข และโครงการสำหรับเด็กและเยาวชนในโรงเรียนและสถาบันการศึกษา ผ่านโครงการธนาคารโรงเรียน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีโครงการให้ความรู้ทางการเงินแก่เกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศผ่านโครงการสร้างสังคมแห่งปัญญาผ่านศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. ซึ่งมีหลักสูตรการทำบัญชีครัวเรือน การสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ การออม การชำระหนี้ ความรู้ในการประกอบอาชีพที่เหมาะสม การดำเนินโครงการธนาคารโรงเรียน นอกจากนี้ จะให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเข้ามามีบทบาทในการดูแลการปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๐ อิมแพ็ค จัดงาน Happy Hours: Wine Tasting Craft Beer ต้อนรับลูกค้าช่วงมอเตอร์โชว์
๑๗:๓๒ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแพร่ มอบเครื่องมือพื้นฐานชุดการฝึก (ชุดเครื่องมือทำมาหากิน) รุ่นที่ 4/2567
๑๗:๕๒ ดีพร้อม ดึงผู้ประกอบการเงินทุนฯ ทั่วประเทศ เปิดพื้นที่ทดสอบตลาด จัดงาน พร้อมเปย์ ที่ DIPROM FAIR
๑๗:๔๕ เขตราชเทวีจัดเทศกิจกวดขันผลักดันผู้ค้าตั้งวางแผงค้ารุกล้ำบนทางเท้าถนนราชปรารภ
๑๗:๑๗ เขตวัฒนากวดขันผู้ค้าทางออกสถานีรถไฟฟ้า MRT แยกอโศก ไม่ให้กีดขวางทางสัญจร
๑๗:๒๒ ดื่มด่ำกับมื้ออาหารสุดพิเศษ ช่วงเทศกาลอีสเตอร์ ที่รอยัล คลิฟ พัทยา
๑๖:๐๙ SEhRT กรมอนามัย ปฏิบัติการประเมินความเสี่ยงสุขภาพจากไฟไหม้โรงงานพลาสติก จังหวัดระยอง
๑๖:๑๒ สิ่งที่ควรรู้ก่อนส่งอาหารไปอเมริกา แพ็คยังไง ส่งอะไรได้บ้าง?
๑๖:๐๘ ตอบข้อสงสัยการทำประกันออนไลน์ ข้อดี-ข้อเสีย และวิธีการเคลม
๑๖:๐๓ 5 คุณประโยชน์ของวิตามินบำรุงสมอง อาหารเสริมที่ควรมีติดบ้าน