รายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนธันวาคม 2562

ศุกร์ ๐๓ มกราคม ๒๐๒๐ ๐๘:๕๑
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินและการประเมินภาวะเศรษฐกิจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

- การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2562

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่าระดับศักยภาพจากการส่งออกที่ลดลงเป็นสำคัญ ซึ่งส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้มีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อจะทยอยปรับดีขึ้นในปี 2563 ขณะที่ความเสี่ยงเสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต ในการประชุมวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี และมีมติเอกฉันท์ในวันที่ 18 ธันวาคม 2562ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี ทั้งนี้ ในการประชุมล่าสุด คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสองครั้งในช่วงที่ผ่านมา จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย ด้านค่าเงินบาทเคลื่อนไหวทั้งสองทิศทางและสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาคมากขึ้น แต่คณะกรรมการฯ ยังคงกังวลต่อเงินบาทที่ยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิดท่ามกลางความไม่แน่นอนที่มีอยู่สูง รวมถึงให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อให้เงินทุนไหลออกและพิจารณาความจำเป็นในการดำเนินมาตรการเพิ่มเติม สำหรับการดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะต่อไปจะต้องพิจารณาทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มาตรการ microprudential และมาตรการ macroprudential ควบคู่กับมาตรการเชิงโครงสร้าง เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ โดยใช้ร่วมกันอย่างเหมาะสมและตรงจุด

ในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของข้อมูลทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป (data dependent) โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม รวมทั้งจะติดตามปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน

- การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินเพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงิน

1. เศรษฐกิจโลก

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีพัฒนาการในทิศทางที่ดีขึ้น แม้ขยายตัวชะลอลงในปี 2562 แต่จะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นในปี 2563 โดยเฉพาะภาคการผลิตที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามปริมาณการค้าโลก การฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ และความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นหลังจากสหรัฐฯ และจีนบรรลุข้อตกลงการค้าระยะแรกอย่างไม่เป็นทางการ คณะกรรมการฯ จึงปรับลดข้อสมมติอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าลงเป็นร้อยละ 2.7 ในปี 2562 และคงข้อสมมติการขยายตัวในปี 2563 ที่ร้อยละ 2.7 อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังมีโอกาสขยายตัวต่ำกว่ากรณีฐานตามความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินโลกที่มีแนวโน้มเปราะบางมากขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะอยู่ในระดับต่ำลงเป็นเวลานานขึ้น (lower for longer)จะมีส่วนสนับสนุนการก่อหนี้และเพิ่มความเสี่ยงของพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks)นอกจากนี้การกีดกันทางการค้ายังมีความไม่แน่นอนโดยอาจยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจรุนแรงและขยายวงกว้าง อาจส่งผลกระทบต่อการผลิต การส่งออก และปริมาณการค้าโลก รวมถึงความเชื่อมั่นและการลงทุนในระยะต่อไป

ธนาคารกลางส่วนใหญ่มีทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย (dovish) เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนตุลาคม 2562 เป็นร้อยละ 1.50 - 1.75 ทั้งนี้คาดว่า Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดปี 2563 ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมในเดือนพฤศจิกายน 2562ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมหากเศรษฐกิจมีทิศทางชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับธนาคารกลางอื่นในภูมิภาคที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับลดลงอาทิ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) และธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA)

2. ภาวะการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินไทย

ภาวะการเงินไทยโดยรวมผ่อนคลายมากขึ้นจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนพฤศจิกายน สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงที่ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน และยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ EMs อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินไทยทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน และอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของ ธพ. บางประเภทปรับลดลงสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จากความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลกที่ดีขึ้นหลังการบรรลุข้อตกลงการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐฯ และจีนอย่างไม่เป็นทางการ การระดมทุนของภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อภาคครัวเรือนตามภาวะเศรษฐกิจและความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ด้านเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากสิ้นไตรมาสก่อน อย่างไรก็ดี เงินบาทเคลื่อนไหวทั้งสองทิศทางและสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาคมากขึ้น หลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกในเดือนพฤศจิกายน สำหรับดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) แข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อน

ระบบการเงินมีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต ได้แก่ (1) ความสามารถในการบริหารสภาพคล่องและการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนที่ลดลงในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว (2) อุปทานคงค้างในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะอาคารชุด เริ่มส่งผลให้ราคาอาคารชุดปรับลดลง และ (3) แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งในและต่างประเทศที่จะอยู่ในระดับต่ำลงเป็นเวลานานขึ้น (lower for longer) ส่งผลให้พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ยังมีต่อเนื่อง ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) โดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์และกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่

3. แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทย

เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพและต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5 และ 2.8 ในปี 2562 และ 2563 ตามลำดับ ทั้งนี้ ปริมาณการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากการกีดกันทางการค้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่กระทบต่อภาคการส่งออก ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนในปี 2562 ขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้จากผลดีของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจากภาครัฐ แต่มีแนวโน้มชะลอลงในปี 2563 ตามปัจจัยด้านรายได้ครัวเรือนที่ชะลอลงและภัยแล้ง สำหรับในปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ตามโครงการ PPP และโครงการลงทุนของภาครัฐบางโครงการที่เลื่อนไปดำเนินการในปี 2564 รายละเอียดมีดังนี้

มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2562 มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ โดยปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกและการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ การส่งออกไทยได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจาก (1) ปัจจัยเชิงโครงสร้าง อาทิ การสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในอาเซียนให้กับจีน (trade diversion loss) รวมถึงการสูญเสียความได้เปรียบในแง่ต้นทุนการผลิต (2) เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น (3) ราคาสินค้าส่งออกกลุ่มที่เคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบต่ำกว่าที่ประเมินไว้ อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยในระยะต่อไปจะกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อยในปี 2563 ตามแรงสนับสนุนจากการค้าโลกที่ปรับดีขึ้น วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว รวมถึงการบรรลุข้อตกลงทางการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐฯ และจีนอย่างไม่เป็นทางการที่จะนำไปสู่การลดและยกเลิกภาษีสินค้านำเข้าที่บังคับใช้ในช่วงก่อนหน้า

การส่งออกบริการมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเกือบทุกสัญชาติ ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐผ่านการขยายระยะเวลามาตรการยกเลิกค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (visa on arrival: VOA) ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2563แม้การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อคนมีแนวโน้มชะลอลงบ้างตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่ำ

การบริโภคภาคเอกชนในระยะสั้นได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ แต่คาดว่าจะเติบโตชะลอลงในระยะถัดไป หลังผลของมาตรการทยอยหมดลงและรายได้ครัวเรือนอ่อนแอลง โดยแนวโน้มการจ้างงานและชั่วโมงการทำงานลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งมีแนวโน้มลดลงในหลายสาขาธุรกิจมากขึ้น ขณะที่รายได้เกษตรกรในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวตามปริมาณผลผลิตเนื่องจากภัยแล้ง นอกจากนี้ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคภาคเอกชน

การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากผลกระทบของการส่งออกสินค้าที่ชะลอลงมีความชัดเจนขึ้น ความสามารถในการทำกำไรและความเชื่อมั่นต่อการลงทุนของภาคธุรกิจปรับลดลงต่อเนื่อง อีกทั้งมีการเลื่อนแผนลงทุนโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชน (public-private partnership: PPP) อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไปจะได้รับแรงสนับสนุนจากการทยอยฟื้นตัวของภาคการส่งออก โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่ยังมีต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนในโครงข่าย 5G

การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ตามความสามารถในการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายข้ามปีของหน่วยงานภาครัฐตาม พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณฉบับใหม่ การลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ และการปรับลดกรอบงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 2563

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2562 และ 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายและต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ ได้แก่ (1) ราคาหมวดพลังงานในช่วงที่ผ่านมา และข้อสมมติราคาน้ำมันดิบในระยะข้างหน้าที่ต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ และ (2) การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2563 น้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ชะลอลง อย่างไรก็ดีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากร้อยละ 0.7 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 0.8 ในปี 2563 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากร้อยละ 0.5 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 0.7 ในปี 2563 สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

ความเสี่ยงของประมาณการเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อยังคงโน้มไปด้านต่ำ ทั้งนี้ โอกาสที่เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวต่ำกว่ากรณีฐานมาจาก (1) ปริมาณการค้าโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าที่อาจชะลอลงกว่าคาดจากการกีดกันทางการค้าซึ่งอาจกลับมารุนแรงขึ้น (2) พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ล่าช้าอาจกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐมากกว่าคาด รวมถึงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่อาจล่าช้าและขาดความต่อเนื่อง และ (3) รายได้ครัวเรือนที่ชะลอลงอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนมากกว่าที่คาด รวมถึงผลกระทบจากภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น และ (4) ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะปานกลาง อย่างไรก็ดี โอกาสที่เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวสูงกว่ากรณีฐานมาจาก (1) เศรษฐกิจคู่ค้าที่อาจขยายตัวมากกว่าคาดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของภาครัฐ การกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศในระยะถัดไปอาจคลี่คลายลง รวมถึงวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อาจฟื้นตัวเร็วและแรงกว่าคาด และ (2) อุปสงค์ในประเทศที่อาจขยายตัวมากกว่าคาดจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและโครงการ PPP ซึ่งอาจจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนมากขึ้นและเร็วขึ้น รวมถึงกรณีที่ภาครัฐอาจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม สำหรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่ากรณีฐานเช่นกัน สอดคล้องกับความเสี่ยงของประมาณการเศรษฐกิจ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4