PwC เผยซีอีโอทั่วโลกมีมุมมองเป็นลบต่อเศรษฐกิจโลกสูงสุดเป็นประวัติการณ์

อังคาร ๒๑ มกราคม ๒๐๒๐ ๐๘:๑๕
- ในทุกภูมิภาคทั่วโลก บรรดาซีอีโอคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตช้าลง

- บริษัทต่าง ๆ มีความเชื่อมั่นในการเติบโตของรายได้ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552

- ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ กฎระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวดมากเกินไป และความขัดแย้งทางการค้า คือสามอุปสรรคสำคัญ

ในขณะที่โลกก้าวเข้าสู่ทศวรรษใหม่ บรรดาซีอีโอทั่วโลกต่างแสดงมุมมองที่เป็นลบต่อเศรษฐกิจโลกสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ โดย 53% คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะลดลงในปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 29% ในปี 2562 และ 5% ในปี 2561 ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มถามคำถามนี้เป็นครั้งแรกในปี 2555 ในทางตรงกันข้าม จำนวนซีอีโอที่คาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะเพิ่มขึ้นนั้น ลดลงจาก 42% ในปี 2562 เหลือเพียง 22% ในปี 2563 และนี่คือข้อมูลสำคัญจากการสำรวจความคิดเห็นของซีอีโอครั้งที่ 23 โดย PwC ที่ทำการสำรวจซีอีโอเกือบ 1,600 คน จาก 83 ประเทศทั่วโลก และมีการเปิดเผยข้อมูลในวันนี้ ณ การประชุมประจำปี World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

บรรดาซีอีโอมีมุมมองที่เป็นลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมากเป็นพิเศษในอเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก และตะวันออกกลาง โดยซีอีโอ 63%, 59% และ 57% จากภูมิภาคดังกล่าวตามลำดับ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตช้าลงในปีนี้

"เมื่อพิจารณาจากความไม่แน่นอนอันเป็นผลมาจากความตึงเครียดทางการค้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และการขาดฉันทามติในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงไม่น่าแปลกใจที่ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจจะลดลง" บ๊อบ มอริตซ์ ประธานของ PwC Network กล่าว "ความท้าทายเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ขนาดของปัญหาและการลุกลามอย่างรวดเร็วเป็นเรื่องใหม่ ดังนั้น ประเด็นสำคัญสำหรับบรรดาผู้นำที่มารวมตัวกันที่ดาวอสก็คือ เราจะร่วมมือกันจัดการกับความท้าทายเหล่านี้อย่างไร"

"อย่างไรก็ดี แม้บรรดาผู้นำธุรกิจจะมีมุมมองเป็นลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ก็ยังมีโอกาสมากมายรออยู่ข้างหน้า การใช้กลยุทธ์ที่ว่องไว เน้นตอบสนองความคาดหวังที่เปลี่ยนไปของผู้ถือหุ้น และประสบการณ์ที่หลายบริษัทสั่งสมมานานนับสิบปีท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ท้าทาย จะช่วยให้บรรดาผู้นำธุรกิจสามารถรับมือกับภาวะเศรษฐกิจขาลงและเติบโตต่อไปได้"

ซีอีโอมีความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของรายได้ลดลง

บรรดาซีอีโอมีมุมมองที่ไม่เป็นบวกมากนักต่อแนวโน้มของบริษัทตัวเองในปีนี้ โดยมีซีอีโอเพียง 27% ที่ "มั่นใจมาก" เกี่ยวกับการเติบโตขององค์กรใน 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2552 และลดลงจากระดับ 35% ในปี 2562

อย่างไรก็ดี ระดับความเชื่อมั่นของซีอีโอแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหญ่นั้น จีนและอินเดียมีระดับความเชื่อมั่นสูงสุดที่ 45% และ 40% ตามลำดับ สหรัฐอเมริกา 36%, แคนาดา 27%, สหราชอาณาจักร 26%, เยอรมนี 20%, ฝรั่งเศส 18% และญี่ปุ่นต่ำสุด โดยมีซีอีโอเพียง 11% ที่มั่นใจมากเกี่ยวกับการเติบโตของรายได้ในปี 2563

การที่บรรดาซีอีโอมีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของรายได้เปลี่ยนไป ถือเป็นตัวคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้เป็นอย่างดี เพราะจากการวิเคราะห์การคาดการณ์ของซีอีโอนับตั้งแต่ปี 2551 พบว่าความเชื่อมั่นของซีอีโอที่มีต่อการเติบโตของรายได้ใน 12 เดือนข้างหน้า และการเติบโตที่แท้จริงของเศรษฐกิจโลกนั้น มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก (ดู exhibit 4 ในหมายเหตุ) หากเป็นไปตามการวิเคราะห์ การเติบโตของเศรษฐกิจโลกอาจชะลอลงแตะระดับ 2.4% ในปี 2563 ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ส่วนใหญ่ รวมถึงการคาดการณ์ของ IMF เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งระบุว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.4%

ซีอีโอจีนมองหาตลาดใหม่แทนสหรัฐ

สหรัฐยังคงเป็นตลาดอันดับหนึ่งที่บรรดาซีอีโอต้องการทำธุรกิจใน 12 เดือนข้างหน้า ที่ระดับ 30% ตามมาด้วยจีนที่ 29% อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งทางการค้าและความตึงเครียดทางการเมืองส่งผลให้ซีอีโอจีนสนใจตลาดสหรัฐลดลงอย่างมาก โดยในปี 2561 ซีอีโอจีน 59% เลือกสหรัฐเป็นตลาดสำคัญหนึ่งในสามอันดับแรก แต่ในปี 2563 ตัวเลขดังกล่าวร่วงลงเหลือเพียง 11% และพบว่าออสเตรเลียก้าวขึ้นมาเป็นตลาดสำคัญแทน โดยซีอีโอจีน 45% มองว่าออสเตรเลียเป็นตลาดสำคัญหนึ่งในสามอันดับแรก เพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2561

สำหรับตลาดสำคัญที่เหลือในห้าอันดับแรกไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากปีที่แล้ว ได้แก่ เยอรมนี (13%) อินเดีย (9%) และสหราชอาณาจักร (9%) โดยสหราชอาณาจักรยังติดห้าอันดับแรกแม้เผชิญความไม่แน่นอนจาก Brexit ส่วนออสเตรเลียยังไม่สามารถก้าวขึ้นมาติดห้าอันดับแรกแม้ได้รับความสนใจจากซีอีโอจีนมากขึ้นก็ตาม

ซีอีโอกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ

ในปี 2562 เมื่อถามถึงอุปสรรคสำคัญต่อแนวโน้มการเติบโตขององค์กร พบว่า ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไม่ติดสิบอันดับแรก โดยรั้งอันดับ 12 แต่ในปีนี้ ความเสี่ยงดังกล่าวได้กระโดดขึ้นมารั้งอันดับ 3 เป็นรองแค่ความขัดแย้งทางการค้า อีกหนึ่งความเสี่ยงที่โดดเด่นขึ้นมาในปีนี้ และกฎระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวดมากเกินไป ซึ่งครองแชมป์ความเสี่ยงอันดับหนึ่งอีกครั้งในปีนี้

นอกจากนี้ บรรดาซีอีโอยังกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม แม้จะมีภัยธรรมชาติรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และมีการถกเถียงในประเด็นดังกล่าวอย่างเข้มข้นมากขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงถูกปัจจัยเสียงอื่น ๆ บดบังความสำคัญ จึงยังไม่สามารถเข้ามาติดสิบอันดับแรกได้

การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์

ซีอีโอทั่วโลกแสดงความกังวลอย่างชัดเจนเกี่ยวกับอุปสรรคของกฎระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวดมากเกินไป นอกจากนั้นยังคาดการณ์ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบข้อบังคับอย่างมากในภาคส่วนเทคโนโลยี โดยซีอีโอทั่วโลกกว่าสองในสามเชื่อว่ารัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะออกกฎหมายใหม่เพื่อควบคุมเนื้อหาในโลกอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย และเพื่อลดอำนาจของบรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ขณะเดียวกัน ซีอีโอส่วนใหญ่ (51%) คาดการณ์ว่ารัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับให้ภาคเอกชนจ่ายเงินชดเชยให้แก่บุคคลเมื่อนำข้อมูลส่วนตัวมาใช้งาน

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการวางกฎระเบียบข้อบังคับด้านความเป็นส่วนตัว บรรดาซีอีโอยังก้ำกึ่งว่าการเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกับการรักษาความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจมีความสมดุลกันหรือไม่ โดยซีอีโอ 41% มองว่าสมดุล ขณะที่ 43% มองว่าไม่สมดุล

ความท้าทายในการเพิ่มทักษะ

การขาดแคลนทักษะที่จำเป็นยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโต โดยบรรดาซีอีโอเห็นด้วยว่าการฝึกอบรมใหม่และการเพิ่มทักษะ (retraining/upskilling) เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการอุดช่องว่างด้านทักษะ แต่การแก้ปัญหาดังกล่าวกลับไม่คืบหน้ามากนัก โดยมีซีอีโอเพียง 18% ที่ระบุว่า "มีความคืบหน้าอย่างมาก" ในการจัดโครงการเพิ่มทักษะ ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งผลสำรวจของ PwC ซึ่งสำรวจแรงงาน 22,000 คนทั่วโลก พบว่า 77% ต้องการเรียนรู้ทักษะใหม่หรือเข้ารับการฝึกอบรมใหม่ แต่มีเพียง 33% ที่รู้สึกว่าได้รับโอกาสพัฒนาทักษะทางดิจิทัลนอกเหนือไปจากงานประจำของตนเอง

บ๊อบ มอริตซ์ ประธานของ PwC Network กล่าวว่า "การเพิ่มทักษะจะเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่มีการพูดคุยกันในสัปดาห์นี้ที่ดาวอส โดยบรรดาผู้นำธุรกิจ นักการศึกษา รัฐบาล และภาคประชาสังคม ต้องร่วมมือกันสร้างความเชื่อมั่นว่าแรงงานทั่วโลกจะได้มีส่วนร่วมในงานที่มีความหมายและมีคุณค่า ซึ่งบรรดาผู้นำธุรกิจมีบทบาทสำคัญในส่วนนี้ หลายคนอาจหวั่นกลัวอนาคต แต่ก็ยังต้องการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง และพวกเขาต้องการผู้นำที่ไว้วางใจได้"

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ - ความท้าทายหรือโอกาส

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะไม่ติดสิบอันดับอุปสรรคสำคัญต่อแนวโน้มการเติบโตขององค์กร แต่บรรดาซีอีโอก็เห็นด้วยมากขึ้นกับการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจัง หากเทียบกับครั้งหลังสุดที่มีการถามคำถามนี้เมื่อสิบปีที่แล้ว บรรดาซีอีโอที่ "เห็นด้วยอย่างยิ่ง" ว่าการลงทุนในโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเพิ่มชื่อเสียงให้กับองค์กร มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า (30% ในปี 2563 เทียบกับ 16% ในปี 2553) ขณะเดียวกัน ซีอีโอที่มองว่าโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างโอกาสใหม่ ๆ ด้านผลิตภัณฑ์และบริการขององค์กร เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 25% ในปี 2563 เทียบกับ 13% ในปี 2553

มุมมองที่ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างโอกาสใหม่ ๆ ด้านผลิตภัณฑ์และบริการค่อนข้างคงที่ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร แต่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในจีนตลอดสิบปีที่ผ่านมา โดยในปี 2553 มีซีอีโอจีนเพียง 2% ที่มองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนำไปสู่โอกาส แต่ในปี 2563 มีมากถึง 47% นับว่าเพิ่มขึ้นมากที่สุดในบรรดาประเทศที่มีการสำรวจ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนโอกาสเหล่านี้ให้กลายเป็นความสำเร็จในระยะยาวนั้น จำเป็นต้องปลูกฝังหลักการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดห่วงโซ่อุปทานธุรกิจและประสบการณ์ของลูกค้า

หมายเหตุ

ดาวน์โหลดรายงานได้ที่ ceosurvey.pwc และชมวิดีโอการเผยแพร่ผลสำรวจซีอีโอทั่วโลกที่เมืองดาวอส รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ สำหรับสื่อมวลชนได้ที่ press.pwc.com

PwC สัมภาษณ์ซีอีโอ 1,581 คน ใน 83 ประเทศ ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2562 โดยกลุ่มตัวอย่างมีการถ่วงน้ำหนักด้วย GDP ของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจว่ามุมมองของซีอีโอจะถูกนำเสนออย่างยุติธรรมในทุกภูมิภาค การสัมภาษณ์แบ่งเป็นการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ 7%, ออนไลน์ 88% รวมถึงทางไปรษณีย์หรือตัวต่อตัว 5% โดยการสัมภาษณ์เชิงปริมาณทั้งหมดเป็นความลับ ทั้งนี้ บริษัท 46% ที่ให้สัมภาษณ์มีรายได้เกิน 1 พันล้านดอลลาร์, 35% มีรายได้ระหว่าง 100 ล้านดอลลาร์ ถึง 1 พันล้านดอลลาร์, 15% มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านดอลลาร์ และ 55% จากทั้งหมดเป็นบริษัทเอกชน

เกี่ยวกับ PwC

PwC มุ่งมั่นสร้างความไว้วางใจในสังคมและแก้ปัญหาที่สำคัญ เราคือเครือข่ายบริษัทที่ดำเนินธุรกิจใน 157 ประเทศ และมีบุคลากรกว่า 276,000 คนที่ทุ่มเทให้บริการด้านการประกันภัย การให้คำปรึกษา และภาษี สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมและแสดงความคิดเห็นได้ที่ www.pwc.com

PwC หมายถึงเครือข่ายบริษัท PwC และ/หรือ บริษัทสมาชิกหนึ่งบริษัทหรือหลายบริษัท โดยแต่ละบริษัทเป็นนิติบุคคลที่แยกกันชัดเจน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pwc.com/structure

รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1078672/PwC_CEO_Infographic.jpg

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?