ฟิทช์คงอันดับเครดิต ปตท.สผ. ที่ 'BBB+’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

พฤหัส ๑๔ พฤษภาคม ๒๐๒๐ ๑๑:๒๕
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาว (Issuer Default Rating) ของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่ระดับ 'BBB+’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

อันดับเครดิตของ ปตท.สผ. อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ ซึ่งได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ซึ่งมีอันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ 'BBB+’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงาน และด้านกลยุทธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างบริษัททั้งสอง อันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ ปตท.สผ. ยังคงอยู่ที่ระดับ 'bbb’ จากฐานะทางการเงินและธุรกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับบริษัทในธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ถูกจัดอันดับเครดิตที่ 'BBB’

ปตท.สผ. ยังคงมีความสามารถในการเพิ่มหนี้สินโดยไม่มีผลกระทบต่ออันดับเครดิตในระดับสูง โดยบริษัทฯ ยังคงมีอัตราส่วนหนี้สินที่สอดคล้องกับอันดับเครดิต แม้ว่าจะอยู่ภายใต้สมมุติฐานที่แย่ลงของฟิทช์ที่ราคาน้ำมันและปริมาณการขายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทฯ มีหนี้สินสุทธิใกล้เคียงศูนย์ ราคาขายที่มีความผันผวนต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบ ต้นทุนการผลิตปิโตรเลียมที่ต่ำ และความต้องการในประเทศที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ ดังนั้นความเสี่ยงในการปรับลดอันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท.สผ. จึงอยู่ในระดับต่ำ และฟิทช์อาจจะพิจารณาปรับเพิ่มอันดับเครดิตโดยลำพัง ในกรณีที่บริษัทฯ มีสถานะของปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ดีขึ้นอีก

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต ความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับบริษัทแม่: ฟิทช์พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่าง ปตท.สผ. และ ปตท.อยู่ในระดับแข็งแกร่ง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria) โดยสะท้อนถึงการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกันระหว่างสองบริษัท ซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของกลุ่ม ปตท. ปตท.สผ. ขายผลิตภัณฑ์มากกว่าร้อยละ 80 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดให้แก่ ปตท. และสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จาก ปตท.สผ. คิดเป็นร้อยละ 45 ของกลุ่ม ปตท. ในปี 2562

การดำเนินงานของ ปตท.สผ. ยังมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนบทบาทเชิงกลยุทธ์ของบริษัทแม่ต่ออุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย และช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ ปตท. มีตัวแทนในคณะกรรมการของ ปตท.สผ. และเป็นผู้แต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงบางส่วนของบริษัท นอกจากนี้ ปตท. ยังมีส่วนร่วมในการสนับสนุน ปตท.สผ. ในการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ ซึ่งรวมถึงการเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่

ความผันผวนของราคาขายที่ต่ำกว่า: ปตท.สผ. มีปรับราคาขายก๊าซธรรมชาติทุกๆ 3 ถึง 12 เดือน โดยสัญญาซื้อขายได้มีการอ้างอิงกับดัชนีน้ำมันดิบเฉลี่ยในช่วงระยะเวลา 6 ถึง 24 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้นฟิทช์คาดว่า ราคาขายก๊าซธรรมชาติของบริษัทฯ จะลดลงประมาณร้อยละ 14 ไปอยู่ที่ระดับประมาณ 6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู (mmbtu) ในปี 2563 (ในปี 2562 ราคาอยู่ที่ 6.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู) เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ที่คาดว่าปรับตัวลดลงร้อยละ 46

ฟิทช์คาดว่า ราคาก๊าซธรรมชาติจะลดลงไปต่ำกว่า 5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ในปี 2564 ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามประมาณการราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นของฟิทช์ นอกจากนี้ ปตท.สผ. ได้มีการป้องกันความเสี่ยงด้านราคาขาย จำนวนประมาณร้อยละ 40 ของการผลิตน้ำมันที่ราคา 50-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ในปี 2563 ซึ่งฟิทช์คาดว่า บริษัทฯ จะมีกำไรจากอนุพันธ์ดังกล่าว ประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ประมาณสองในสามของการผลิตของปตท.สผ. เป็นก๊าซธรรมชาติ และส่วนที่เหลือเป็นน้ำมัน

การเติบโตของปริมาณการขาย: ฟิทช์คาดว่า ปริมาณการขายในปี 2563 จะปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 7 จากประมาณการเดิมของบริษัทฯ ทั้งในส่วนของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ซึ่งเดิมบริษัทฯ ได้ประมาณการว่าจะมีปริมาณการขายเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 11 ไปอยู่ที่ระดับประมาณ 3.9 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปี 2563 ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าซื้อกิจการที่สำคัญในปี 2562 ทั้งนี้ปตท.สผ. มีการขายก๊าซธรรมชาติเกือบทั้งหมดในประเทศ ภายใต้สัญญาซื้อขายระยะยาวในรูปแบบ take-or-pay ซึ่งปริมาณการขายที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่สูงกว่าปริมาณการรับซื้อขั้นต่ำ ทั้งนี้ ฟิทช์มองว่า ปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติของบริษัทฯ จะลดลงใกล้เคียงกับปริมาณการรับซื้อขั้นต่ำ เนื่องจากผู้รับซื้อดังกล่าว จะให้ความสำคัญกับการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquid Natural Gas: LNG) ที่มาจากนำเข้ามากกว่า ที่ปัจจุบันมีราคาต่ำกว่า

อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตน้ำมันในประเทศของบริษัทฯ คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก จากการที่ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบสุทธิ (net importer) แต่ปริมาณการผลิตน้ำมันในต่างประเทศ คาดว่าจะลดลงในปี 2563 ปตท.สผ. มีการผลิตในประเทศ ประมาณร้อยละ 80 ของการผลิตทั้งหมด และที่เหลือมาจากฐานการผลิตในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ ฟิทช์คาดว่า การเติบโตของปริมาณการขายจะฟื้นตัวที่ระดับประมาณร้อยละ 5 ต่อปี ในช่วงที่ความต้องการในตลาดฟื้นตัว

ธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น: ปตท.สผ. มีปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้ว (Proved Reserves) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,140 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และมีปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วต่อปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 ปี ณ สิ้นปี 2562 (ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 677 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และ 5.2 ปี ตามลำดับ) เนื่องจากในปี 2562 บริษัทฯ ได้ดำเนินการซื้อสินทรัพย์ในธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจาก Partex Holding B.V และ Murphy Oil Corporation (อันดับเครดิตสากลที่ 'BB+’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ฟิทช์คาดว่า บริษัทฯ จะสามารถรักษาปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วต่อปริมาณการผลิตให้อยู่ในระดับประมาณ 7 ปี ในช่วง 2 ถึง 3 ปีข้างหน้า โดยพิจารณาจากการเข้าซื้อกิจการที่ผ่านมา และการลงทุนในธุรกิจอย่างต่อเนื่องของบริษัทฯ

ฟิทช์มองว่า ปตท.สผ. มีสถานะทางการเงินที่ดี เพียงพอที่จะรักษาระดับปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วต่อปริมาณการผลิตขั้นต่ำที่ 7 ปีได้ ในช่วง 3 ถึง 5 ปีข้างหน้า ตามแผนธุรกิจของบริษัทฯ ที่ประกาศไว้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้รับประโยชน์จากต้นทุนการผลิตปิโตรเลียม (Cash cost) ที่ต่ำ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2562 ปตท.สผ. มีปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อยู่ในระดับใกล้เคียงกับบริษัทอื่นในธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่มีอันดับเครดิตที่ระดับ 'BBB’ อีกทั้งยังมีราคาขายที่คุ้มทุนในการผลิตอยู่ในเกณฑ์แข็งแกร่งกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม ปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของ ปตท.สผ. ที่มีอัตราส่วนปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว (Proved Developed Reserves) ประมาณร้อยละ 60 ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า เมื่อเทียบกับบริษัทในธุรกิจเดียวกันที่ระดับ 'BBB’

ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตของ ปตท.สผ. ยังคงแข็งแกร่ง สอดคล้องกับอันดับเครดิตโดยลำพังของบริษัทฯ โดยคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 0.5 เท่า จนถึงปี 2567 และบริษัทฯ มีความสามารถในการเพิ่มหนี้สินโดยไม่มีผลกระทบต่ออันดับเครดิตในระดับสูง จากฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยฟิทช์เชื่อว่า ฐานะทางการเงินของบริษัทฯ จะยังคงอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตโดยลำพังปัจจุบัน แม้ว่าจะอยู่ภายใต้สมมุติฐานที่แย่ลงของฟิทช์ที่ราคาน้ำมันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ ปตท.สผ.ได้มีการปรับลดแผนการลงทุนของปี 2563 ในอัตราร้อยละ 15 ถึงร้อยละ 20 จากแผนเดิม อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คิดว่า ความหยืดหยุ่นของ ปตท.สผ. ในการลดการลงทุนมากกว่านี้ มีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากแหล่งปิโตรเลียมในประเทศมีการผลิตมานานแล้ว ซึ่งจำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มเพื่อรักษาระดับการผลิต นอกเหนือจากการลงทุนที่มีภาระผูกพันภายในประเทศจากสัมปทานใหม่ที่เพิ่งได้มา

การกระจายความเสี่ยงของธุรกิจที่ดีขึ้นจากการซื้อกิจการ: ฟิทช์คิดว่า ปตท.สผ. ยังคงมีนโยบายระยะยาวในการซื้อกิจการเพื่อบรรลุเป้าหมายของบริษัทฯ ในการรักษาระดับปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วต่อปริมาณการผลิตขั้นต่ำที่ 7 ปี และมีอัตราการเติบโตของรายได้ต่อปีที่ร้อยละ 6 ไปจนถึงในปี 2568 ทั้งนี้ในช่วงปี 2561-2562 บริษัทฯ ได้มีการลงทุนเพื่อซื้อกิจการ จำนวนรวมกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อสถานะทางเครดิตของบริษัทฯ โดยฟิทช์มองว่าการซื้อกิจการดังกล่าวช่วยเพิ่มการผลิตและปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงเพิ่มจำนวนโครงการและมีการกระจายตัวมากขึ้นด้วย ทั้งนี้การประมาณการของฟิทช์นั้น ยังไม่ได้รวมเงินลงทุนสำหรับการซื้อกิจการเพิ่มเติมที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

อันดับเครดิตโดยลำพังที่ 'bbb’: อันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ ปตท.สผ. อยู่ในระดับเดียวกันกับ Pioneer Natural Resources Co. (Pioneer; อันดับเครดิตที่ 'BBB’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และ Concho Resources Inc. (Concho; อันดับเครดิตที่ 'BBB’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งมีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมที่ใกล้เคียงกันที่ระดับ 3.3 ถึง 3.4 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และมีปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้วประมาณ 1 พันล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดย ปตท.สผ. มีราคาน้ำมันที่คุ้มทุนอยู่ในระดับเดียวกับ Pioneer แต่ดีกว่า Concho และ ปตท.สผ. มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่าสองบริษัทดังกล่าว แนวโน้มเครดิตเป็นลบของ Noble Energy Inc. (Noble; อันดับเครดิตที่ 'BBB’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) สะท้อนถึงการดำเนินการด้านสำรวจและพัฒนาการผลิตที่ลดลงในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบต่ำลง ซึ่งจะทำให้การผลิตปิโตรเลียมลดลง ในปี 2562 Noble มีปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้ว ที่สูงกว่า โดยอยู่ที่ระดับประมาณ 1.9 พันล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และการผลิตปิโตรเลียมที่ 3.6 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งใกล้เคียงกับ ปตท.สผ. อย่างไรก็ตาม Noble มีอัตราส่วนการทำกำไรต่อหน่วยที่ต่ำกว่า และอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตที่อ่อนแอกว่าปตท.สผ.

ปตท.สผ. มีสัดส่วนการขายก๊าซธรรมชาติมากกว่าบริษัทสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกา ซึ่งสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติในประเทศจะมีการกำหนดปริมาณการรับซื้อขั้นต่ำ จึงทำให้โครงสร้างราคาของปตท.สผ. มีความผันผวนของราคาขายที่ต่ำกว่า ปตท.สผ. มีระดับปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วต่อปริมาณการผลิตที่ต่ำกว่าบริษัทในธุรกิจเดียวกัน แต่ถูกชดเชยด้วยฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป ฟิทช์จัดอันดับเครดิต ปตท.สผ เท่ากับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ ซึ่งได้แก่ ปตท. เนื่องจากความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างบริษัททั้งสอง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria) ฟิทช์มองว่าความสัมพันธ์กับบริษัทแม่ของ ปตท.สผ. ในด้านการดำเนินงาน และด้านกลยุทธ์อยู่ในระดับสูง โดย ปตท.สผ. เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของกลุ่ม ปตท. และเป็นผู้ผลิตปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยการดำเนินงานของบริษัทมีความสำคัญในการรักษาเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศ และสนับสนุนบทบาทเชิงกลยุทธ์ของบริษัทแม่ในอุตสาหกรรมอีกด้วย นอกจากนี้กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จาก ปตท.สผ. มีสัดส่วนสูงสุดในกลุ่ม ปตท. โดย ปตท.สผ. ขายผลิตภัณฑ์เกือบทั้งหมดที่ผลิตได้ให้แก่ ปตท. ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงานกับ ปตท. ที่อยู่ในระดับสูง

การจัดอันดับเครดิตของ ปตท.สผ. ในระดับเดียวกันกับบริษัทแม่ เป็นการจัดอันดับในลักษณะเดียวกับการจัดอันดับของ PetroChina Company Limited (PetroChina; อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ 'A+’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ China National Petroleum Corporation (CNPC; อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ 'A+’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) โดย PetroChina มีความสัมพันธ์กับ CNPC ที่แข็งแกร่ง ซึ่งส่งผลให้อันดับเครดิตเท่ากับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ ฟิทช์มองว่าความสัมพันธ์ด้านกลยุทธ์และการดำเนินงานของ ปตท.สผ. และ ปตท. อยู่ในระดับมากกว่าความสัมพันธ์ระหว่าง PT Perusahann Gas Negara Tbk (PGN; อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ 'BBB-’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และ บริษัทแม่ PT Pertamina (Persero; อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ 'BBB’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งส่งผลให้อันดับเครดิตของ PGN ต่ำกว่าอันดับเครดิตของบริษัทแม่อยู่หนึ่งอันดับ

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ 35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2563, 45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2564, 53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2565 และ 55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปีถัดๆไปฟิทช์คาดว่า บริษัทฯ จะมีกำไรจากอนุพันธ์ประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการป้องกันความเสี่ยงของราคาน้ำมันราคาขายก๊าซธรรมชาติที่ราคา 5.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียูในปี 2563, 4.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียูในปี 2564, 5.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียูในปี 2565 และ ค่อยๆปรับตัวเพิ่มขึ้นในปีถัดๆไปการผลิตของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 3 ในปี 2563 และประมาณร้อยละ 5 ในปีถัดๆไปค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563, 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564 และ 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565

ปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิต

ปัจจัยบวก

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะยาวของ ปตท. โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่าง ปตท.สผ. และ ปตท. ยังคงเหมือนเดิม

ปัจจัยลบ

การปรับลดอันดับเครดิตสากลระยะยาวของ ปตท.ความสัมพันธ์ระหว่าง ปตท.สผ. และ ปตท. ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

สภาพคล่อง

สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: สภาพคล่องของปตท.สผ. ได้รับการสนันสนุนจากเงินสดจำนวน 98 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับหนี้สิน จำนวน 102 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 ทั้งนี้บริษัทฯ มีเงินสดลดลงจาก 132 พันล้านบาทในปี 2561 เนื่องจากค่าใช้ในการซื้อกิจการในปี 2562 จำนวน 84 พันล้านบาท ฟิทช์คาดว่า ปตท.สผ.จะยังคงมีกระแสเงินสดที่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการลงทุนในอีก 4-5 ปีข้างหน้า รวมถึงความสามารถของบริษัทฯ ในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ที่จะช่วยสนับสนุนสภาพคล่องของบริษัทฯ เพิ่มเติมอีกด้วย

รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดของ ปตท.สผ. มีดังนี้

คงอันดับเครดิตสากลระยะยาว (Issuer Default Rating) ที่ระดับ 'BBB+’; แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิที่ระดับ 'BBB+’

ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้ที่ www.fitchratings.com

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4