ฟิทช์ปรับแนวโน้มอันดับเครดิต JWD InfoLogistics เป็นลบ คงอันดับเครดิตที่ BBB(tha)

ศุกร์ ๑๒ มิถุนายน ๒๐๒๐ ๑๓:๔๙
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD เป็นลบ จากมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ของ JWD ที่ BBB(tha) และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ของบริษัทฯ ที่ F3(tha)

แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ สะท้อนถึงความเห็นของฟิทช์ว่า JWD อาจต้องเผชิญกับความยากลำบากในการลดอัตราส่วนหนี้สินที่วัดจาก อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) ให้ลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 4 เท่าภายใน 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากการลงทุนที่สูงในการขยายคลังสินค้า ประกอบกับรายได้และกระแสเงินสดจากการดำเงินงานที่ไม่มีการเติบโตในภาวะเศรษฐกิจซบเซา อันดับเครดิตของ JWD อาจถูกปรับลดลงได้ หากอัตราส่วน FFO net leverage ของบริษัทฯ ไม่สามารถลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 4 เท่าได้ภายในสิ้นปี 2564

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

อัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับสูงจากการลงทุน: JWD มีค่าใช้จ่ายลงทุนและการลงทุนรวม 1.3 พันล้านบาทในปี 2562 ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับการสร้างคลังสินค้าห้องเย็นระบบอัตโนมัติ ซึ่งแล้วเสร็จในไตรมาส 4 ปี 2562 และการลงทุนในสัดส่วนผู้ถือหุ้นส่วนน้อยในบริษัท Transimex Corporation ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศเวียดนาม ฟิทช์ไม่คาดว่า Transimex จะมีการจ่ายเงินปันผลในระดับสูงในช่วง 3 ปีข้างหน้า เนื่องจาก Transimex น่าจะมีการลงทุนที่สูงเพื่อรักษาอัตราการเติบโตให้ทันกับการเติบโตของตลาดโลจิสติกส์ในประเทศเวียดนาม JWD ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายลงทุนอีกประมาณ 800 ล้านบาทในปี 2563 สำหรับการสร้างคลังสินค้าห้องเย็นระบบอัตโนมัติคลังที่ 2 เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นจนคลังสินค้าห้องเย็นระบบอัตโนมัติคลังแรก มีอัตราการใช้ประโยชน์เกือบเต็มพื้นที่แล้ว รวมถึงการสร้างคลังสินค้าเอกสารระบบอัตโนมัติแห่งแรก

นอกจากนี้ JWD ยังกำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้างคลังสินค้าที่ออกแบบเฉพาะตามความต้องการใช้ของลูกค้า (Built-to-Suit) ตามสัญญาเช่าอายุ 15 ปี ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายลงทุนของบริษัทฯ น่าจะลดลงมาอยู่ระดับประมาณ 300 ล้านบาทถึง 400 ล้านบาทในปี 2564 ซึ่งน่าจะช่วยให้อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ลดลงมาอยู่ในระดับประมาณ 4 เท่าได้ อย่างไรก็ตาม การลงทุนโดยใช้แหล่งเงินทุนจากการก่อหนี้ที่สูงเกินกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ โดยเฉพาะการลงทุนที่มีระยะเวลาคืนทุนนาน ยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญในการลดอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ

ผลกระทบจากโรคระบาดอยู่ในระดับปานกลาง: ฟิทช์คาดว่ารายได้และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จะลดลงประมาณร้อยละ 5 ในปี 2563 และฟื้นตัวในปี 2564 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากคลังสินค้าใหม่ที่จะแล้วเสร็จ การมีลูกค้าที่อยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม และการให้บริการโลจิสติกส์ที่ครบวงจรของ JWD ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาและภาวะเศรษฐกิจซบเซา ที่มีต่อธุรกิจของบริษัทฯ ในขณะที่ อัตราการใช้ประโยชน์ของคลังสินค้าทั่วไป เพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นของลูกค้ารายใหญ่หนึ่งในห้ารายแรกของบริษัท รวมถึงลูกค้าใหม่ที่ทำสัญญาในช่วงปลายปี 2562 รายได้จากธุรกิจคลังสินค้าห้องเย็น ก็เพิ่มมากขึ้นหลังจากเกิดการระบาดของไวรัส เนื่องจากมาตรการปิดเมืองทำให้มีความต้องการบริการโลจิสติกส์สำหรับอาหารและส่วนประกอบอาหารเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่ต้องมีการรักษาอุณหภูมิ ซึ่งคลังสินค้าห้องเย็นใหม่และการให้บริการขนส่งสินค้าที่ต้องรักษาอุณหภูมิแบบด่วนให้แก่ลูกค้าบุคคลหรือรายย่อยที่เพิ่งมีการเปิดตัว มีส่วนช่วยรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ฟิทช์คาดว่ารายได้จากธุรกิจคลังสินค้าห้องเย็นจะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 19-20 ในปี 2563

อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้บริการคลังสินค้าสำหรับยานยนต์และสินค้าอันตรายกลับลดลงอย่างมาก โดยธุรกิจคลังสินค้าสำหรับยานยนต์เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสมากที่สุด อันเป็นผลจากภาวะซบเซาของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ฟิทช์คาดว่ารายได้จากธุรกิจดังกล่าวจะลดลงประมาณร้อยละ 30 ในปี 2563 ส่วนธุรกิจคลังสินค้าอันตรายก็ได้รับผลกระทบจากการสะดุดของระบบ Supply Chain ทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงต้นไตรมาส 2 ปี 2520

ความได้เปรียบในการแข่งขันในระดับปานกลาง: JWD เป็นผู้ได้รับสัมปทานเพียงรายเดียวในการให้บริการดูแลรับฝากและขนย้ายสินค้าที่เข้าข่ายสินค้าอันตรายตามกฎหมาย ที่ทำการขนส่งผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนการให้บริการโลจิสติกส์อื่นๆ ของ JWD ส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีผู้ให้บริการหลักๆ เพียงไม่กี่ราย โดยที่ผู้ให้บริการแต่ละรายมีความแตกต่างกันในการให้บริการในระดับหนึ่ง เช่น พื้นที่ที่ให้บริการ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดังนั้นฟิทช์จึงเห็นว่า JWD ได้รับประโยชน์จากการมีอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับปานกลาง จากความต้องการเงินลงทุนที่สูง ความชำนาญ และประวัติในการให้บริการที่จำเป็นสำหรับสินค้าบางประเภท JWD เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการคลังสินค้าและลานวางสินค้าภายในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ที่ใหญ่ที่สุดสามรายแรกในด้านขนาดของพื้นที่ โดยท่าเรือแหลมฉบัง เป็นท่าเรือที่มีสินค้าขนส่งผ่านมากกว่าร้อยละ 80 ของสินค้าทั้งหมดที่ขนส่งผ่านเข้าออกจากประเทศไทยในปี 2562

ขนาดของธุรกิจที่เล็ก: JWD เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์อิสระ (Third-party Logistics Services Provider) โดยจะให้บริการลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่สำหรับงานประเภทซึ่งมีการจ้างผู้ให้บริการภายนอก (Outsourcing) แทนหน่วยงานภายในองค์กร ในขณะที่ลูกค้าอีกส่วนหนึ่งจะเป็นผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อม ธุรกิจนี้จึงมีขนาดเล็ก และอาจถูกจำกัดโดยขนาดของท่าเรือแหลมฉบัง นอกจากนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่ของบริษัทฯ เกี่ยวข้องกับการให้บริการจัดการและรับฝากสินค้านำเข้าและส่งออกที่ท่าเรือ ทำให้บริษัทฯ มีความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวของทรัพย์สินที่บริเวณท่าเรือแหลมฉบังเพียงแห่งเดียว อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าแผนการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศรวมถึงการขยายธุรกิจต่อเนื่องไปยังธุรกิจบริการอาหาร น่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจรวมถึงการกระจายความเสี่ยงได้ในระยะยาว

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

JWD เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโลจิสติกส์ภาคพื้นดินแบบครบวงจรรายใหญ่ในประเทศไทย รายได้ประมาณร้อยละ 25 ของบริษัทฯ สามารถคาดการณ์ได้ เนื่องจากมีสัญญาสัมปทานและสัญญาระยะปานกลางถึงระยะยาวรองรับ บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF (BBB-(tha)/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าขนาดกลางภายใต้แนวความคิดศูนย์การค้าชุมชน ถือเป็นบริษัทที่มีอันดับเครดิตที่เทียบเคียงได้กับ JWD ในสถานการณ์ปัจจุบัน ฟิทช์เห็นว่า SF มีลักษณะธุรกิจที่อ่อนแอกว่า JWD แม้ว่า SF จะมีสัดส่วนรายได้ที่สามารถคาดการณ์ได้สูงกว่า เนื่องจากโครงสร้างต้นทุนที่มีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายคงที่ที่สูง ทำให้ไม่สามารถลดต้นทุนลงตามการลดลงของรายได้ได้ ดังนั้น กระแสเงินสดของ SF น่าจะใช้เวลานานกว่า JWD ในการฟื้นตัว นอกจากนี้ JWD ยังมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า จึงทำให้ JWD มีอันดับเครดิตสูงกว่า SF

ในขณะที่ JWD มีขนาดของธุรกิจที่เล็กกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC, A-(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ สถานะเครดิตโดยลำพัง bbb(tha)) ซึ่งเป็นโรงกลั่นน้ำมันและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศไทย แต่ IRPC มีความผันผวนของรายได้มากกว่า JWD เนื่องจากต้องเผชิญกับความเสี่ยงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ IRPC ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสมากกว่า JWD ทำให้น่าจะมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า JWD ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งน่าจะชดเชยกับขนาดของธุรกิจที่ใหญ่กว่าของ IRPC ดังนั้น JWD จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตอยู่ในระดับเดียวกับสถานะเครดิตโดยลำพัง ของ IRPC

สมมุติฐานที่สำคัญ สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

รายได้รวมลดลงประมาณร้อยละ 5 ในปี 2563 และมีการฟื้นตัวโดยมีอัตราการเติบโตร้อยละ 11-12 ในปี 2564 และ ร้อยละ 6-7 ในปี 2565 อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA Margin) ยังคงอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 18 ในปี 2563 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20-21 ในปี 2564-2565ค่าใช้จ่ายลงทุนและเงินลงทุนประมาณ 800 ล้านบาทในปี 2563, 300 ล้านบาท – 400 ล้านบาทในปี 2564 และและ 200 ล้านบาท – 250 ล้านบาทในปี 2565

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับกลับมาเป็นมีเสถียรภาพได้ หากอัตราส่วนหนี้สิน ซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 4.0 เท่า

ปัจจัยลบ:

อัตราส่วนหนี้สิน ซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) ไม่สามารถลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 4.0 เท่าได้ในปี 2564

สภาพคล่อง

ความเสี่ยงในการ Refinancing อยู่ในระดับที่จัดการได้: JWD มีหนี้สินประมาณ 892 ล้านบาท ที่จะครบกำหนดชำระภายใน 31 มีนาคม 2564 ซึ่งรวมถึงหุ้นกู้จำนวน 386 ล้านบาทที่ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนพฤศจิกายน 2563 บริษัทฯ มีแผนจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อนำเงินมาชำระคืนหุ้นกู้ชุดดังกล่าวที่ครบกำหนดไถ่ถอน นอกจากนี้ เงินกู้ระยะยาวจะครบกำหนดชำระภายในหนึ่งปี ยังได้รับการพักการชำระคืนเงินต้นจำนวน 88 ล้านบาท ในปี 2563 โดยให้ไปชำระคืนในปีถัดๆ ไป ตามนโยบายพักชำระหนี้ของรัฐบาลที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศ

สภาพคล่องของ JWD มีปัจจัยสนับสนุนจากเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 539 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 และกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีทรัพย์สินปลอดหลักประกันที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีราคาตามบัญชีรวมประมาณ 790 ล้านบาท ซึ่งน่าจะสามารถใช้เป็นหลักประกันในการกู้ยืมได้หากจำเป็น บริษัทฯ ยังมีความสามารถในการกู้ยืมเงินจากธนาคารภายในประเทศ โดยมีวงเงินกู้หมุนเวียนที่สามารถยกเลิกได้ที่ยังไม่ได้เบิกถอน (Uncommitted Facilities) ประมาณ 1 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2520 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังสามารถออกตราสารหนี้ในตลาดทุนภายในประเทศได้ โดยบริษัทฯได้มีการออกหุ้นกู้จำนวน 600 ล้านบาทในเดือนกุมภาพันธ์ 2520 ที่ผ่านมา ซึ่งเงินที่ได้จากการจำหน่ายหุ้นกู้ได้ถูกนำไปใช้ชำระคืนเงินกู้ระยะสั้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๐ DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๖:๕๘ Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๖:๐๓ Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๖:๓๕ โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๖:๓๑ 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๖:๒๗ TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๖:๔๗ SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๖:๐๐ โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๖:๒๙ หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๖:๒๘ คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital