ฟิทช์คงอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศบลจ.ไทยพาณิชย์ที่ 'Excellent(tha)’

อังคาร ๒๑ กรกฎาคม ๒๐๒๐ ๑๖:๑๐
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศ (National Investment Management Quality Rating) ของบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM) ที่ 'Excellent(tha)’ แนวโน้มอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนมีเสถียรภาพ

ปัจจัยสนับสนุนอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศ

อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศของ SCBAM มีพื้นฐานมาจากคะแนนของปัจจัยต่างๆในการจัดอันดับดังนี้

กระบวนการการลงทุน: Strong

บุคลากรและระบบในการจัดการการลงทุน: Excellent

การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง: Excellent

ผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการการลงทุน: Consistent

บริษัทและการบริการลูกค้า: Excellent

อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนเป็นการจัดอันดับในเชิงคุณภาพ

โดยที่ฟิทช์จะประเมินความสามารถของบริษัทจัดการกองทุนในด้านการบริหารจัดการการลงทุนและปฏิบัติการการลงทุน บริษัทจัดการกองทุนจะถูกจัดอันดับในระดับต่างๆแบ่งเป็น 'Excellent’ 'Strong’ 'Proficient’ 'Adequate’ หรือ 'Weak’ โดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศใช้ในการพิจารณาบริษัทจัดการกองทุน บริษัทจัดการกองทุนที่ได้รับการจัดอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศที่ระดับ 'Excellent(tha)’ แสดงถึงการที่บริษัทมีการจัดการด้านการปฏิบัติการและการลงทุนที่ฟิทช์คิดว่าโดดเด่นกว่ามาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศใช้ในการพิจารณาบริษัทจัดการกองทุน

กระบวนการการลงทุน

ฟิทช์มองว่า SCBAM มีกระบวนการการลงทุนที่ดีในการบริหารกองทุนที่หลากหลาย บริษัทมีการวิเคราะห์การลงทุนในเชิงลึกและเลือกลงทุนอย่างมีระบบ และมีระบบการประเมินผลการดำเนินงานของการลงทุนที่บันทึกไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากนี้บริษัทมีการใช้เครื่องมือเชิงปริมาณ (quantitative tools) และปัจจัยเชิงคุณภาพ (qualitative factors) เพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์การลงทุนและกระบวนการการลงทุน ผู้จัดการการลงทุนของบริษัทยังคงใช้เทคโนโลยี machine learning อย่างต่อเนื่อง ซึ่งครอบคลุมทั้งกองทุนตราสารหุ้นภายในประเทศและต่างประเทศ

กระบวนการการลงทุนของบริษัทยังคงมีความสม่ำเสมอแม้ในภาวะที่ตลาดทุนมีความผันผวนจากผลกระทบจากโคโรน่าไวรัสในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ฟิทช์เชื่อว่าความสม่ำเสมอของกระบวนการการลงทุนและการใช้เทคโนโลยี machine learning อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลให้กองทุนมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อาจส่งผลให้คะแนนในส่วนกระบวนการการลงทุนได้รับการปรับเพิ่ม

บุคลากรและระบบในการจัดการการลงทุน

ฟิทช์เชื่อว่า SCBAM มีบุคลากรในการจัดการการลงทุนที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก ผู้จัดการการลงทุนของบริษัทมีประสบการณ์ ทำงานผสมผสานกันตามความเหมาะสมในแต่ละประเภทของกองทุน การพัฒนาระบบ machine learning และการนำมาใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง น่าจะช่วยสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานของกองทุนปรับตัวดีขึ้นในระยะยาว ผู้จัดการการลงทุนอาวุโสส่วนใหญ่มีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทเป็นระยะเวลานาน บริษัทไม่ได้พึ่งพาบุคลากรคนใดคนหนึ่งมากเกินไป โดยมีทีมบุคลากรในระดับผู้บริหารที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ นอกจากนี้บริษัทมีการแยกความรับผิดชอบการบริหารจัดการการลงทุนอย่างชัดเจนและการแบ่งทีมตามสายงานอย่างชัดเจน ระบบงานต่างๆ มีความเชื่อมต่อกันผ่านระบบอัตโนมัติ รวมทั้งมีความพร้อมในการปรับปรุงและบำรุงรักษาระบบอย่างสม่ำเสมอ ทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรองรับการลงทุนที่หลากหลายของบริษัท บุคลากรในการจัดการการลงทุนมีแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจลงทุนที่หลากหลาย ฟิทช์มองว่า SCBAM มีบุคคลากรและทรัพยากรด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการจัดการการลงทุน

การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง

บริษัทแม่ของ SCBAM ซึ่งคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB; 'AA+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) เป็นผู้กำหนดนโยบายบริหารความเสี่ยงโดยรวมของกลุ่ม แต่ได้มีการกระจายอำนาจ (decentralise) การบริหารความเสี่ยงให้กับบริษัทลูกในกลุ่ม การปรับโครงสร้างดังกล่าวเป็นไปอย่างราบรื่นเนื่องจากฝ่ายงานที่จัดตั้งขึ้นได้ย้ายมาจาก SCB และยังคงมีความรับผิดชอบและการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก แต่อย่างไรก็ตามฝ่ายงานกำกับและควบคุม (compliance) ยังคงรวมศูนย์ (centralized) อยู่ที่ SCB เพื่อการดำเนินงานเป็นไปอย่างอิสระในสถานะบุคคลที่สาม แม้ฝ่ายบริหารความเสี่ยงของ SCBAM จะยังคงมีความอิสระจากบุคลากรสายงานการจัดการการลงทุน แต่ทั้ง 2 สายงานยังคงทำงานรวมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อความสอดคล้องและผสานการดำเนินงานด้านการบริหารความเสี่ยง (integrated) ทีมบริหารความเสี่ยงใช้ระบบที่เป็นมาตรฐานสากลสำหรับการประเมินความเสี่ยงและการทดสอบภาวะวิกฤต

ผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการการลงทุน

ผลการดำเนินงานของกองทุนภายใต้การบริหารของ SCBAM อยู่ในระดับที่สม่ำเสมอเมื่อเทียบกับบริษัทจัดการกองทุนอื่นๆในประเทศไทย ซึ่งวัดจากผลการดำเนินงานของกองทุนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงเป็นเกณฑ์ (risk-adjusted performance) ในส่วนของกองทุนตราสารหนี้ ซึ่งมีสัดส่วนที่มากที่สุดของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (assets under management; AUM) มีผลการดำเนินงานของกองทุนอยู่ในระดับที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับกองทุนตราสารหนี้อื่นๆในอุตสาหกรรม สำหรับกองทุนหุ้นและกองทุนประเภทจัดสรรเงินลงทุนไปลงในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ (asset allocation funds) ผลการดำเนินการโดยรวมสอดคล้องกับกองทุนประเภทเดียวกันที่อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทอื่นๆ เช่นกัน

บริษัทและการบริการลูกค้า

SCBAM มีการดำเนินกิจการมาอย่างยาวนานในประเทศไทย โดยบริษัทจัดตั้งขึ้นในปี 2535 บริษัทมีเครือข่ายทางธุรกิจ (franchise) ที่แข็งแกร่งในธุรกิจบริหารจัดการกองทุน โดยมีผลิตภัณฑ์กองทุนที่มีความหลากหลายในด้านนโยบายการลงทุน และมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) รวมอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 แม้บริษัทจะมีสัดส่วนกองทุนประเภทจัดสรรเงินลงทุนไปลงในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ (asset allocation funds) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งช่วยสนับสนุนเครือข่ายธุรกิจกองทุนรวมของบริษัทให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามกองทุนตลาดเงินและตราสารหนี้ยังคงคิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่า 70% ของ AUM ทั้งหมดของบริษัท

SCBAM มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 แม้ว่าธุรกิจจัดการกองทุนต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างมากเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของเครือข่ายธุรกิจของบริษัท SCBAM ยังคงเป็นผู้นำในธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงกว่า 40% ของกองทุนส่วนบุคคลทั้งหมดในอุตสาหกรรม ซึ่งแสดงถึงเครือข่ายทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในธุรกิจ กองทุนส่วนบุคคล โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ (high net worth) การรายงานข้อมูลต่อผู้ถือหน่วยลงทุนสำหรับกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สอดคล้องกับเกณฑ์และมาตรฐานของอุตสาหกรรม

ปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่ออันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนในอนาคต

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุน (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน) เนื่องจากอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนปัจจุบันอยู่ในอันดับที่สูงที่สุดแล้ว การปรับเพิ่มอันดับจึงไม่น่าจะเกิดขึ้น

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุน (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน) อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนอาจเปลี่ยนแปลงได้หากเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางลบอย่างมีนัยสำคัญกับ 5 ปัจจัยหลัก (pillars) ที่ใช้ในการจัดอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุน ซึ่งได้แก่ กระบวนการการลงทุน บุคลากรและระบบในการจัดการการลงทุน การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง ผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการการลงทุน และบริษัทและการบริการลูกค้า การปรับลดคะแนนสำหรับปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับคุณภาพการจัดการการลงทุน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?