ฟิทช์คงอันดับเครดิต บมจ. อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป ที่ 'A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ศุกร์ ๒๔ กรกฎาคม ๒๐๒๐ ๑๑:๒๐
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ที่ 'A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

การคงอันดับเครดิตสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ ที่คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ จะยังคงมีเสถียรภาพที่ดีในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ชะลอตัวลง โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากความเป็นผู้นำในผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่ม (Niche Product) ซึ่งมีการกระจายตัวของธุรกิจปลายทางที่หลากหลาย นอกจากนี้ อันดับเครดิตของบริษัทฯ ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งคาดว่าบริษัทฯ จะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิ (Net Financial Leverage) ให้ต่ำกว่าระดับ 1 เท่าได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ด้วยงบการลงทุนในการขยายธุรกิจที่ไม่สูงมากนัก และความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash-Flow) ที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี

ธุรกิจชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ของบริษัทฯ คาดว่าจะเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นในปี 2563 จากความต้องการที่อ่อนแอลง เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส และจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในปี 2564-2565 อย่างไรก็ตาม ธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็น และธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับเครื่องดื่มและอาหาร ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า น่าจะช่วยบรรเทาธุรกิจชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ที่มีความต้องการที่ลดลงมากกว่าได้ ทั้งนี้ฟิทช์ประมาณการว่าบริษัทฯ จะสามารถรักษาอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA margin) ที่ร้อยละ 14-15 ในช่วง 2 ปีข้างหน้า ด้วยการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินจากประสิทธิภาพที่ดีขึ้นของโรงงานใหม่ ซึ่งน่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายแรงงาน รวมถึงราคาวัตถุดิบที่ลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

การลดลงของรายได้ธุรกิจชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์: ฟิทช์คาดว่ารายได้ของบริษัทฯ สำหรับปีงบการเงิน 2564 สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2564 จะลดลงประมาณร้อยละ 17 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากความอ่อนแอของธุรกิจชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ ในด้านสัดส่วนรายได้ตามลักษณะธุรกิจ ฟิทช์มองว่าธุรกิจชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์จะปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 25 ในปีงบการเงิน 2564 ส่วนธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็น และธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกจะปรับลดลงประมาณร้อยละ 10 โดยการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัสนั้น ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ทั้งในประเทศไทย สหรัฐอเมริกา และในภูมิภาคยุโรป หยุดการผลิตชั่วคราวในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม จึงทำให้รายได้ของบริษัทฯ ลดลง

ฟิทช์คาดว่าการฟื้นตัวของความต้องการของธุรกิจชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์จะใช้เวลา 2-3 ปี ก่อนจะกลับมาอยู่ในระดับก่อนเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส ในขณะที่การฟื้นตัวของธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็น และธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกจะฟื้นตัวเร็วกว่า โดยการฟื้นตัวของธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็นนั้น จะได้รับแรงสนับสนุนจากการกลับมาดำเนินของธุรกิจก่อสร้าง หลังจากการผ่อนคลายมาตราการล็อคดาวน์ทั่วโลก แม้ว่ายังคงมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดในระยะที่สองซึ่งอาจทำมีโอกาสล็อคดาวน์อีกครั้งหนึ่งได้ ในขณะที่การฟื้นตัวของธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกจะได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ฟื้นตัวได้เร็วกว่า

การทำกำไรอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทฯ น่าจะคงอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 15 ในปีงบการเงิน 2564 แม้ว่ายอดขายจะลดลง โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากค่าใช้จ่ายในการผลิตที่คาดว่าจะลดลงจากประสิทธิภาพที่ดีขึ้นของโรงงานใหม่ในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายในด้านแรงงานจากการดำเนินการผลิตด้วยระบบเครื่องจักรอัตโนมัติมากขึ้น นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายด้านวัตถุดิบโพลิเมอร์ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 30-55 ของค่าใช้จ่ายในการผลิต คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำ เนื่องจากราคาวัตถุดิบโพลิเมอร์ได้รับแรงกดดันจากภาวะอุปทานส่วนเกิน (Oversupply) และราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ

สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง: EPG มีอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินซึ่งคำนวณจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) ที่คาดว่าจะต่ำกว่า 1.0 เท่าในช่วงปีงบการเงินปี 2564-2566 และอัตราส่วนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียนต่อดอกเบี้ยและค่าเช่า (FFO fixed-charge coverage) ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 7-12 เท่า โดยบริษัทฯ จะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Operating cash flow) เพียงพอต่อการลงทุนในระดับปกติ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีความยืดหยุ่นในการปรับลดงบการลงทุนได้หากจำเป็น เนื่องจากงบการลงทุนส่วนใหญ่จะใช้สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพของโรงงาน เช่น เครื่องจักรอัตโนมัติในกระบวนการผลิต

ผู้นำในธุรกิจเฉพาะกลุ่ม (Niche Market): EPG เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งสำหรับรถกระบะและรถเอนกประสงค์ที่ทำจากโพลีเมอร์และพลาสติก และเป็นผู้นำในการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับใช้เพียงครั้งเดียวสำหรับเครื่องดื่มและอาหารในประเทศไทย EPG เป็นผู้ริเริ่มในการผลิตพื้นปูกระบะ (Bed Liner) ที่ใช้ระบบตัวยึดโดยไม่ต้องเจาะรูบนตัวถังรถ (No-drilling Technology) เป็นรายแรกของโลก ซึ่งทำให้บริษัทฯ เป็นผู้นำในการผลิตพื้นปูกระบะในประเทศไทย นอกจากนี้ EPG ยังเป็นผู้ผลิตหลังคารถกระบะ (Canopy) ที่ผลิตจาก Acrylonitrile Butadiene Styrene (ABS) Alloy แบบ 2 ชั้น ขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียวไร้รอยต่อ เนื่องจากพลาสติกประเภท ABS เป็นพลาสติกที่บริษัทผลิตรถยนตร์นิยมใช้ EPG จึงมีความได้เปรียบจากการเป็นผู้นำในผลิตภัณฑ์นี้

EPG ยังเป็นผู้นำในธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็นที่ผลิตจากยางสังเคราะห์ประเภท Ethylene Propylene Diene Monomer (EPDM) ของโลก อย่างไรก็ตาม ฉนวนยางกันความร้อน/เย็นที่ผลิตจากยางสังเคราะห์ประเภท Nitrile Butadiene Rubber (NBR) ยังเป็นฉนวนที่ใช้กันมากที่สุดในตลาดฉนวนยางกันความร้อน/เย็น (Synthetic Rubber Insulation) ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากถึงร้อยละ 90 ของตลาด ดังนั้นบริษัทฯ จึงมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียงประมาณร้อยละ 8-11 NBR มีการใช้มาเป็นเวลานานกว่าและมีการใช้แพร่หลายมากกว่าเมื่อเทียบกับ EPDM อีกทั้งยังมีราคาที่ถูกกว่า อีกด้วย

การกระจายความเสี่ยงในธุรกิจที่หลากหลาย: EPG มีการกระจายแหล่งรายได้ที่ดีจากผลิตภัณฑ์ในสามธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งสำหรับรถยนต์ (มีสัดส่วนรายได้คิดเป็นร้อยละ 46 ของรายได้ทั้งหมดในปีงบการเงิน 2563 สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2563) ธุรกิจผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็น (ร้อยละ 30 ของรายได้ทั้งหมด) และธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับเครื่องดื่มและอาหาร (ร้อยละ 24 ของรายได้ทั้งหมด) ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงเฉพาะที่อาจเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งได้ เนื่องจากบริษัทฯ ต้องเผชิญกับความผันผวนของธุรกิจผลิตรถยนต์และธุรกิจก่อสร้าง รวมถึงธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับเครื่องดื่มและอาหาร ที่มีการแข่งขันสูงและจำนวนคู่แข่งที่มาก นอกจากนี้ EPG ได้รับประโยชน์รวมกันจากการที่มีการผลิตในธุรกิจเหล่านี้ในด้าน การจัดหาวัตถุดิบ และการวิจัยและพัฒนา เนื่องจากวัตถุดิบสำหรับการผลิตในธุรกิจเหล่านี้เป็น สารประกอบโพลีเมอร์และพลาสติก

ฐานลูกค้าที่กระจายตัวดี: EPG ขายชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งสำหรับรถกระบะและรถเอนกประสงค์ ประมาณร้อยละ 50-60 ให้กับ ผู้รับจ้างที่ออกแบบและผลิตสินค้า (Original Design Manufacturer) และ ผู้รับจ้างผลิตสินค้า (Original Equipment Manufacturer) ให้กับบริษัทผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก ในส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 40-50 ขายให้กับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์และร้านจำหน่ายสินค้าตกแต่งรถในประเทศและต่างประเทศกว่า 100 ประเทศทั่วโลกภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทฯ เอง สำหรับธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็น รายได้ประมาณร้อยละ 30 มาจากยอดขายในประเทศไทย ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นการขายให้กับโครงการก่อสร้างโดยตรง และเพื่อช่วยสนับสนุนการขายในต่างประเทศ EPG มีโรงงานผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็น อีกสองแห่งในประเทศสหรัฐฯ และจีน และให้ใบอนุญาตในการผลิตผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ แก่โรงงานสองแห่งในประเทศ รัสเซียและอินเดีย สำหรับธุรกิจผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับเครื่องดื่มและอาหาร รายได้ประมาณร้อยละ 90 มาจากยอดขายในประเทศไทย ซึ่งประมาณร้อยละ 40 ของยอดขายในประเทศเป็นการขายให้กับบริษัทฯ ผู้ผลิตเครื่องดื่มและอาหารชั้นนำ

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

EPG มีสถานะทางธุรกิจอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับบริษัทในประเทศไทยอื่นๆ ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต แต่มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า EPG ดำเนินธุรกิจแปรรูปโพลีเมอร์และพลาสติก คล้ายกับ บริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PTL หนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นฟิล์ม PET รายใหญ่ที่สุดในโลกในด้านการผลิต ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ แต่มีธุรกิจปลายทางที่แตกต่างกัน EPG มีการกระจายตัวของธุรกิจตามภูมิภาคที่น้อยกว่าแต่มีธุรกิจปลายทางที่กระจายตัวมากกว่าซึ่งช่วยลดทอนขนาดของธุรกิจที่เล็กกว่า ทั้งสองบริษัทฯ ยังมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำ โดยมี FFO net leverage ต่ำกว่า 1.0 เท่า อันดับเครดิตจึงเท่ากัน

สถานะทางธุรกิจและสถานะทางการเงินของ EPG มีความใกล้เคียงกันกับของ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตเป็นลบ KCE เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกวัดจากรายได้ KCE ดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่า แต่ความเสี่ยงดังกล่าวถูกลดทอนลงด้วยการที่บริษัทเน้นผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งมีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรมดังกล่าว ทั้งนี้แนวโน้มเครดิตเป็นลบสะท้อนถึงความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส ซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวของรายได้และความสามารถในการทำกำไรของ KCE ต้องใช้เวลานานจนถึงปี 2565

EPG มีรายได้และ EBITDA ที่มากกว่า บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD (BBB(tha)/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโลจิสติกส์ภาคพื้นดินแบบครบวงจรรายใหญ่ในประเทศไทย JWD มีส่วนของรายได้ที่สามารถคาดการณ์ได้มากกว่า เนื่องจากสัญญาสัมปทานและสัญญระยะปานกลางถึงระยะยาว ในธุรกิจให้บริการดูแลรับฝากและขนย้ายสินค้า แต่ EPG มีการกระจายตัวของธุรกิจตามภูมิภาคที่มากกว่า ฐานลูกค้าของทั้งสองบริษัทฯ มีการกระจายตัวของธุรกิจที่ดี โดยแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบของ JWD สะท้อนถึงความท้าทายในการลดอัตราส่วนหนี้สิน เนื่องจากการลงทุนที่สูงในการขยายคลังสินค้าและในภาวะเศรษฐกิจซบเซา EPG มีอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตที่แข็งแกร่งกว่ามาก ดังนั้นอันดับเครดิตของ EPG จึงสูงกว่า

สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:

รายได้ลดลงร้อยละ 17 ในปีงบการเงิน 2564 จากสภาวะถดถอยของธุรกิจรถยนต์ ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ได้มีการหยุดการผลิตในช่วงมี.ค.-พ.ค. ในขณะที่ธุรกิจอื่นของบริษัทฯ ได้รับผลกระทบน้อยกว่าจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัสการฟื้นตัวของรายได้ในปีงบการเงิน 2565-2566 อยู่ที่ระดับร้อยละ 10 ต่อปี โดยมีแรงสนับสนุนจากความต้องการที่ฟื้นตัวได้เร็วกว่าของธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็น และ ธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก รวมถึงการเพิ่มขึ้นการกำลังผลิตใหม่EBITDA margin อยู่ที่ระดับร้อยละ 14-15 ต่อปีงบการลงทุนประมาณ 1.9 พันล้านบาท ในช่วงปีงบการเงิน 2564-2566จ่ายเงินปันผลร้อยละ 70 ของกำไรสุทธิ

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวกฟิทช์คาดว่าไม่น่าจะมีปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทฯ ในช่วง 24 เดือนข้างหน้า เนื่องจากขนาดธุรกิจของ EPG มีขนาดเล็กกว่าบริษัทในประเทศไทยอื่นๆ ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตที่สูงกว่าปัจจัยลบกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ลดลง หรือการลงทุนโดยใช้หนี้ที่เพิ่มขึ้น มากกว่าที่ฟิทช์คาดการไว้ ส่งผลให้ อัตราส่วน FFO net leverage สูงกว่า 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่องEBITDAR margin ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 13 อย่างต่อเนื่อง

สภาพคล่อง

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้: สภาพคล่องของบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 1.3 พันล้านบาท ณ สิ้นปีงบการเงิน 2563 โดยบริษัทฯ มีหนี้ที่ถึงกำหนดชำระภายใน 12 เดือนนับจากเดือนมีนาคม 2563 อยู่ที่ 1.0 พันล้านบาท โดยประมาณ ร้อยละ 89 เป็นหนี้ระยะสั้นที่ใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ บริษัทฯ มีวงเงินหมุนเวียนจากสถาบันการเงิน ถึงแม้ว่าจะเป็นวงเงินที่สามารถยกเลิกได้ จำนวน 5.2 พันล้านบาท ฟิทช์คาดว่าบริษัทฯ จะสามารถ roll over หนี้ระยะสั้นที่ใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจออกไปได้ เนื่องจากบริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้