ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 27

พุธ ๓๐ กันยายน ๒๐๒๐ ๑๕:๒๑

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นางสาวเกตสุดา สุประดิษฐ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้รับมอบหมายเป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Virtual Finance Ministers? Meeting: APEC VFMM) ครั้งที่ 27 ในรูปแบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 ณ สศค. โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหพันธรัฐมาเลเซีย (นาย Tengku Zafrul Tengku Abdul Aziz) เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนระดับสูงจากสมาชิกเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ และผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เป็นต้น เข้าร่วมการประชุม ซึ่งแนวคิดหลักของการประชุมเอเปคประจำปี 2563 คือ การใช้ประโยชน์สูงสุดจากศักยภาพมนุษย์เพื่ออนาคตที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความรุ่งเรืองร่วมกัน ผ่านการกำหนดความสำคัญ การจัดลำดับความสำคัญ และความก้าวหน้า (Optimizing Human Potential towards a Resilient Future of Shared Prosperity: Pivot. Priorities. Progress.) โดยมีการหารือที่สำคัญ ดังนี้

1. การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของโลกอย่างมาก ทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการทั้งในและต่างประเทศ ระบบห่วงโซ่อุปทาน ความผันผวนของตลาดการเงิน ฐานะทางการคลัง และปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่มีต่อวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises: MSMEs) และจากการที่สมาชิกเอเปคดำเนินนโยบายด้านการเงินและการคลังเพื่อการรับมือและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของ COVID-19 ความโปร่งใสและความยั่งยืนทางการคลังเป็นสิ่งต้องให้ความสำคัญ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจาก COVID-19 ที่ได้ก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดนับแต่ปี 2473 (ค.ศ. 1930) ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบาง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีการนำมาใช้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลก จะฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2564 และกลุ่มธนาคารโลกคาดการณ์ตัวเลขคนยากจนมาก (Extreme Poverty) จะเพิ่มจาก 100 ล้านคนในปี 2563 เป็น 150 ล้านคน ในปี 2564

2. การประชุม APEC VFMM ในครั้งนี้สมาชิกได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรับมือและใช้มาตรการต่าง ๆ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของ COVID-19 เพื่อที่เขตเศรษฐกิจต่าง ๆ จะนำไปพิจารณาปรับใช้ตามความเหมาะสม โดยผู้แทนไทยได้ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงมาตรการด้านการคลังและการเงินในการรับมือและกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการให้เงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ การบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านอุปโภคบริโภค การขยายระยะเวลาการยื่นแบบชำระภาษี รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การปรับโครงสร้างหนี้ และการออกกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ประสบการณ์ในการรับมือกับวิกฤต COVID-19 ของสมาชิกแสดงให้เห็นว่า ทุกเขตเศรษฐกิจดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยต่างให้ความสำคัญกับการรักษาระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเพื่อการฟื้นตัวและการเติบโตอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับไทยที่ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง โดยระดับหนี้สาธารณะของไทยยังคงอยู่ภายใต้กรอบความมั่นคงทางการคลัง โดยร้อยละ 98 ของแหล่งเงินกู้มาจากแหล่งเงินกู้ในประเทศ

การประชุม APEC FMM ครั้งที่ 28 จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2564 โดยมีนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest