ทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคซึมเศร้า

ศุกร์ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๐๑๑ ๐๙:๐๔
ทราบไหมครับว่า โรคทางใจที่เรียกว่าโรคซึมเศร้านั้น เป็นความเจ็บป่วยของคนเราซึ่งสร้างปัญหาในการดำรงชีวิตและเป็นภาระในการดูแลรักษามากกว่าโรคทางกายหลายๆโรคเสียอีก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การวินิจฉัยและการรักษาก็ยังไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะได้อธิบายให้เข้าใจมากขึ้นดังต่อไปนี้

โรคซึมเศร้าเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในประชากรทุกชาติทุกภาษา การสำรวจชุมชนในหลายๆประเทศพบโรคนี้มากถึง 3-11% ในรอบปีที่สำรวจ และยังเกิดในกลุ่มวัยเด็กได้ 8% และผู้สูงอายุได้ 22% ดร.เมอเรย์และดร.โลเปซ ได้กล่าวไว้ในนิตยสารทางการแพทย์ Lancet ปี1997 ว่าในปี คศ. 2020 โรคซึมเศร้าจะเป็นภาวะของการเจ็บป่วยที่ทำให้เกิดทุพพลภาพอันดับสอง ซึ่งสูงกว่าปัญหาจากอุบัติเหตุจราจรเสียอีก เป็นรองเพียงจากโรคหลอดเลือดหัวใจ

โรคซึมเศร้าจัดว่าเป็นโรคเรื้อรัง สามารถกลับเป็นซ้ำได้อีกแม้ว่าจะรักษาหายดีแล้วก็ตาม และยิ่งไปกว่านั้นคือมีผู้ป่วยถึง 1 ใน 3 ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา (Treatment-resistant depression) คือผู้ป่วยที่ไม่ได้ผลตอบสนองต่อยาดีพอเมื่อรักษาด้วยยาแล้วอย่างน้อยสองชนิด ยังคงมีอาการซึมเศร้าอยู่เรื่อยๆแม้รับประทานยาต่อเนื่องแล้วก็ตาม ซึ่งประเด็นนี้เองที่เป็นปัญหาหลักในการรักษาผู้ป่วยซึมเศร้า กลุ่มผู้เชี่ยวชาญโรคซึมเศร้าจึงได้เสนอให้มีการศึกษาพัฒนาวิธีการใหม่ๆที่จะมาช่วยผู้ป่วยกลุ่มนี้

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีอาการเด่นคือ อารมณ์เศร้า มีความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อกิจกรรมต่างๆในชีวิต รู้สึกท้อแท้ ไม่มีกำลังใจที่จะทำหรือถ้าจะต้องทำก็ต้องฝืนใจอย่างมาก ร่วมกับอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก นอนไม่หลับ หลับไม่สนิทและตื่นเร็วกว่าปกติ กำลังวังชาถดถอย ความคิดความจำและสมาธิลดลง ตัดสินใจไม่ได้แม้กับเรื่องเล็กน้อย อารมณ์ทางเพศลดน้อยลงจนหมดความสนใจทางเพศ มีความคิดเกี่ยวกับความตายหรือความคิดฆ่าตัวตาย จนถึงการพยายามฆ่าตัวตายและฆ่าตัวตายสำเร็จ อาการที่กล่าวมาจะเป็นอยู่ตลอดทั้งวันและเป็นต่อเนื่องทุกวันติดต่อกันอย่างน้อยสองสัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งจะเห็นว่าผู้ป่วยในภาวะนี้จะเกิดปัญหาในการดำเนินชีวิตอย่างมากและส่งผลกระทบต่อบุคคลในครอบครัวด้วย

พบโรคซึมเศร้าเกิดร่วมกับโรคทางจิตอื่นๆ เช่นโรควิตกกังวล และปัญหาการใช้สารเสพติดได้แก่ สุรา บุหรี่ หรืออาจถึงขั้นติด กัญชา ยาบ้าและเฮโรอีน ซึ่งทำให้การรักษายิ่งยากลำบากและซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม โรคซึมเศร้าอาจเกิดร่วมกับโรคเรื้อรังทางกายอื่นได้ ผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลนานก็เกิดโรคซึมเศร้าได้ถึง 26% พบภาวะซึมเศร้าในโรคพาร์กินสันราว 50% พบหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ 33% หรือแม้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องดูแลรักษานาน ทั้งกินยาฉีดยาและตรวจเลือดเป็นประจำทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะเครียดและมีโรคซึมเศร้าร่วมด้วยถึง 27%

โรคซึมเศร้าเกิดจากอะไร

มีงานวิจัยมากมายพยายามหาสาเหตุของโรคซึมเศร้า เมื่อกล่าวโดยสรุปจะมีทั้งสาเหตุทางสมอง ปัญหาความเครียดทางจิตใจ และสาเหตุทางสังคมซึ่งก็คือความขัดแย้งในครอบครัว ในทำงาน ซึ่งไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม อารมณ์เศร้าก็จะมีลักษณะเดียวกัน เนื่องจากในช่วงเวลาที่เกิดโรคซึมเศร้านั้นสมองของผู้ป่วยจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง

เริ่มตั้งแต่สารสื่อประสาทที่ลดน้อยลงผิดปกติ ได้แก่ สารซีโรโทนิร นอร์แอดรีนาลิน โดปามีน จึงเป็นที่มาว่ายารักษาซึมเศร้าสามารถเพิ่มปริมาณสารเหล่านี้ในสมองจึงสามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้ แต่ก็ยังไม่อธิบายลักษณะของโรคที่มีความซับซ้อนได้ ว่าทำไมการรักษาจึงต้องใช้เวลานาน 3-6 สัปดาห์ขึ้นไป และยังมีความผิดปกติของระบบฮอร์โมน ความผิดปกติของวงจรการนอนร่วมด้วย ไม่ใช่ลำพังแต่ปัญหาที่สารสื่อประสาทเพียงอย่างเดียว

สมมติฐานซึ่งสามารถตอบโจทย์นี้ได้ดีขึ้นคือเรื่องของการสร้างและพัฒนาเซลล์สมองด้วยกระบวนการที่เรียกว่า brain plasticity ด้วยสารสำคัญตัวหนึ่งคือ Brain-derived neurotrophic factor(BDNF) ซึ่งสารสำคัญตัวนี้จะเป็นสารที่ก่อให้เกิดการสร้างและพัฒนาเซลล์ประสาท สารนี้จะลดลงในผู้ป่วยซึมเศร้าและกลับมาเป็นปกติหลังรักษาแล้วได้ผล ทำให้เกิดอารมณ์แจ่มใส รวมถึงความคิดและสมาธิที่ดีขึ้น

จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการถ่ายภาพสมอง ได้แก่ MRI fMRI PET scan ทำให้พบว่าในช่วงอารมณ์เศร้านั้น สมองส่วนหน้าด้านซ้าย dorso-lateral prefrontal cortex (DLPFC) ทำงานน้อยลง ในขณะที่สมองส่วน ventro-medial prefrontal cortex(VMPFC)และสมองส่วนหน้าด้านขวากลับทำงานมากขึ้นและส่งสัญญาณไปยับยั้งด้านซ้ายให้ทำงานลดน้อยลงอีก ผลคืออาการเคลื่อนไหวเชื่องช้า การคิดวางแผนและตัดสินใจลดลง ความรู้สึกสิ้นหวังและความรู้สึกผิด และความไม่สนใจใยดี ซึ่งเป็นอาการหลักของโรคซึมเศร้า

สมองส่วนหน้านั้นเป็นส่วนสำคัญที่เจริญพัฒนาขึ้นสูงสุดในมนุษย์ เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นจึงส่งผลต่อการทำหน้าที่สำคัญหลายด้าน เมื่อกล่าวโดยสรุปคือ โรคซึมเศร้านั้นก็คือโรคทางสมองอย่างหนึ่ง ทำให้เกิดความผิดปกติทางความความคิด (ความสนใจ สมาธิ ความจำ การวางแผนตัดสินใจ) เป็นผลมาจากการพร่องของสมองด้านหน้าด้านซ้าย ส่วน DLPFC และความผิดปกติทางอารมณ์ ( อารมณ์ทางลบ อารมณ์เศร้า ท้อแท้ วิตกกังวล อาการทางร่างกาย) ซึ่งเป็นผลมาจากสมองส่วน VMPFC ทำงานมากเกินไป และมีการทำงานมากเกินของสมองส่วนหน้าด้านขวาเป็นตัวรบกวนเพิ่มขึ้นด้วย

การรักษาด้วยการกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็กเฉพาะที่ [Transcranial Magnetic Stimulation(TMS)]

หลักการทำงานของเครื่อง TMS คือการปล่อยสนามแม่เหล็กเข้าสู่สมองเฉพาะที่แล้วไปกระตุ้นให้เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้นในเซล์ประสาท เมื่อกระตุ้นอย่างซ้ำๆจะก่อให้เกิดการทำงานในสมองแบบเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ ขึ้นกับลักษณะความถี่ของการกระตุ้น กล่าวคือเมื่อกระตุ้นด้วยความถี่ต่ำ (1 Hz. คือกระตุ้นหนึ่งครั้งต่อวินาที) จะก่อให้เกิดผลในเชิงการยั้บยั้ง ขณะที่เมื่อกระตุ้นด้วยความถี่สูง( 5 Hz. คือกระตุ้น 5 ครั้งต่อวินาทีขึ้นไป) จะเกิดการกระตุ้นให้สมองส่วนนั้นๆทำงานเพิ่มมากขึ้น เราจึงสามารถเลือกที่จะกระตุ้นสมองด้านหน้าซีกซ้ายส่วนที่ทำงานน้อยให้กลับมาทำงานเพิ่มขึ้น หรือยับยั้งสมองซีกขวาส่วนที่ทำงานมากเกินให้ลดน้อยลง เป็นการช่วยปลดปล่อยสมองซีกซ้ายที่ถูกสมองซีกขวากดเอาไว้ให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น

มีการวิจัยนำ TMS มารักษาโรคทางระบบประสาทและโรคทางจิตเวชหลายอย่าง แต่ที่มีการศึกษามากที่สุดคือการนำมารักษาโรคซึมเศร้า จากการสรุปรวมรวมผลการวิจัยอย่างเป็นระบบพบว่า TMS นั้นมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคซึมเศร้าระยะเฉียบพลันได้ดีเทียบเท่ากับยา และยังช่วยให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่ตอบสนองต่อยากลับมีอาการดีขึ้นจนหายจากอาการซึมเศร้าเพิ่มขึ้นด้วย จึงมีหลายประเทศที่ได้รับรองให้รักษาโรคซึมเศร้าด้วย TMS แล้ว คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา บางประเทศในยุโรป อิสราเอล และประเทศบราซิล

การใช้ TMS ในการรักษาโรคซึมเศร้านั้นอาจจะใช้เพียงลำพังในผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาต้านเศร้า หรือ สามารภใช้ร่วมรักษาพร้อมกับยาต้านเศร้า ทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาดีขึ้น คือทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายเพิ่มมากขึ้นในเวลารวดเร็วขึ้น

ในปัจจุบันเริ่มมีการใช้ TMS ในการป้องการการกลับเป็นซ้ำในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ด้วยการกระตุ้นสมองด้วย TMS สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง สามารถป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้นาน 2-3 ปี และเมื่อมีอาการซึมเศร้าเกิดขึ้นใหม่ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็ยังตอบสนองต่อการรักษาด้วย TMS ได้ดีอยู่ ซึ่งข้อมูลนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำมาใช้ในแง่ของการป้องกันโรคซึมเศร้าโดยไม่ต้องรับประทานยา

ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีการกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็ก

เป็นวิธีการรักษาที่ปลอดภัยเพราะไม่ต้องใช้ไฟฟ้ากระตุ้นสมองโดยตรง ไม่ต้องดมยาสลบ ไม่ต้องทำให้ผู้ป่วยเกิดการชัก ไม่ก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องความจำและความสามารถในการเรียนรู้ยังคงเดิมหรือดีขึ้น ผู้ป่วยสามารถเดินทางไปและกลับโดยไม่ต้องนอนค้างในโรงพยาบาล

ขั้นตอนการรักษา

การกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็กเฉพาะที่ ทำโดยใช้แท่งขดลวดชนิดพิเศษรูปเลขแปด นำมาวางชิดกับศีรษะบริเวณที่จะกระตุ้น ผู้ป่วยที่รับการรักษาจะนั่งนิ่งๆบนเก้าอี้ เพื่อให้การกระตุ้นเฉพาะที่นั้นไม่คลาดเคลื่อนไป

การรักษาจะใช้เวลาประมาณ 20-40 นาที และทำได้วันละ 1-2 ครั้ง ทุกวันเป็นเวลา 2- 4 สัปดาห์ โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องงดอาหารและน้ำแต่อย่างใด และในขณะที่ทำการรักษาอยู่นั้นจะมีผู้รักษาให้การดูแลตลอดเวลา ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังการรักษา

ข้อห้ามและข้อควรระวัง

การรักษาวิธีนี้ห้ามทำในผู้ป่วยที่มีโลหะฝังอยู่ในสมอง ( เช่น aneurysm clip) หรือผู้ที่ใส่เครื่องช่วยการได้ยินชนิดฝังในกระโหลก (Cochlear implant)

ควรให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในผู้ป่วยโรคลมชักเพราะการกระตุ้นสมองนี้อาจกระตุ้นการชักได้ 1.4 % ของผู้ป่วยโรคลมชัก แต่หากผู้ที่ไม่เป็นโรคลมชักก็อาจจะเกิดการชักได้แต่น้อยมากๆ ซึ่งในผู้ป่วยเหล่านั้นมักจะได้รับการกระตุ้นด้วยสนามแม่เหล็กสูงกว่าที่กำหนดไว้และได้ยากระตุ้นให้มีการชักง่ายขึ้นร่วมด้วย

การรักษาด้วยวิธีการนี้อาจชักนำให้เกิดภาวะแมเนียได้ในผู้ป่วยที่เป็น bipolar disorder ซึ่งแพทย์จะให้การประเมินติดตามผู้ป่วยทั้งในช่วงการรักษาและหลังการรักษา

ผลข้างเคียง และข้อมูลด้านความปลอดภัย

การรักษาด้วยการกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็กนี้ เป็นวิธีการที่ปลอดภัยเพราะไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรงใดๆ อาการข้างคียงเล็กน้อยที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ อาการปวดศีรษะ อาการเจ็บเล็กน้อยชั่วคราวบริเวณที่กระตุ้น

TMS ไม่มีผลเสียต่อเรื่องสมาธิและความจำ แต่ในทางตรงข้ามพบว่าผู้ป่วยกลับมีการทำงานของสมองดีขึ้น ซึ่งอาจเนื่องมาจากอาการทางจิตที่ดีขึ้น หรือการที่ TMS ไปช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนหน้าโดยตรงซึ่งเป็นสมองส่วนที่ทำหน้าที่คิด วางแผน และสมาธิ

ความคุ้มค่าเมื่อเทียบประสิทธิผลกับค่าใช้จ่าย

ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการศึกษาความคุ้มค่าเมื่อคิดเทียบค่าใช้จ่ายในการรักษากับผลของการเจ็บป่วยที่ทำให้ขาดงาน ขาดรายได้ ไม่สามารถทำหน้าที่ในครอบครัว ขาดการเข้าสังคมซึ่งเป็นคุณภาพชีวิตของบุคคล พบว่าการรักษาด้วย TMS เป็นการรักษาที่คุ้มค่า และยังอาจคุ้มค่ากว่าเมื่อผู้ป่วยไม่ตอบสนองการรักษาแล้วต้องรักษาด้วยยาราคาแพงหลายชนิดร่วมกัน

ติดต่อ:

Mind Brain Clinic

คลินิกเฉพาะทางจิตเวชและระบบประสาท

เบอร์โทร.02-3929271

E-mail : [email protected]

Website : www.mindbrainclinicthai.blogspot.com

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4