หมอเผย คนไทยน้อยมากรู้ถึงอันตรายร้ายแรงจากโรคลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ โรคลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ เสี่ยงให้เกิดภาวะการทุพพลภาพเรื้อรัง

พฤหัส ๑๒ ตุลาคม ๒๐๑๗ ๑๑:๒๘
จากผลการสำรวจการรับรู้ถึงอันตรายของโรคลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ พบว่าคนไทยมีความเข้าใจถึงอันตรายของโรคลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำในระดับที่ต่ำมาก สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และสภากาชาดไทยจึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรม "ลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ: ป้องกันก่อนจะเกิดอันตราย" ในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการรณรงค์วันหลอดเลือดอุดตันโลก

จากผลสำรวจการรับรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดอุดตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอันตรายจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ (VTE) จัดทำโดยองค์การนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดอุดตัน หรือ ISTH ทำการสำรวจความคิดเห็นประชากรวัยผู้ใหญใน 9 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย พบว่าระดับความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำอยู่ในระดับที่ต่ำมาก

แม้ว่าโรคหลอดเลือดอุดตันและภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ (VTE) จะสามารถป้องกันได้ แต่ยังคงเป็นสาเหตุของสำคัญทำให้เสียชีวิต จากรายงานพบว่า1 ใน 4 ของประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากภาวะหลอดเลือดอุดตัน รวมถึงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases) ภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ เกิดขึ้นในระหว่างหรือภายหลังการนอนโรงพยาบาล เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและทุพพลภาพพบในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาหรือพัฒนาแล้วก็ตาม

โรคลิ่มเลือดอุดตัน (Thrombosis) เกิดจากลิ่มเลือดขัดขวางการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดแดง (Arterial Thrombosis) หรือ หลอดเลือดดำ (Venous Thrombosis) การจับตัวกันเป็นลิ่มเลือดจะขัดขวางการไหลเวียนของเลือดอย่างช้าๆ หากลิ่มเลือดส่วนหนึ่งส่วนใดหลุดออกจากผนังหลอดเลือดแล้วลอยไปตามกระแสเลือดจะเรียกว่า เอ็มโบไล (emboli) แม้ว่าโรคหลอดเลือดอุดตันจะสามารถป้องกันได้ แต่มักจะพบว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหลอดเลือดสมองตีบ และภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มของโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

จากผลสำรวจจัดทำโดยองค์การนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดอุดตัน หรือ ISTH ทำการสำรวจความคิดเห็นประชากรวัยผู้ใหญ่ (อายุ 40 ปีขึ้นไป) ใน 9 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อาร์เจนตินา สหรารชอาณาจักร เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อูกันดา รวมถึงประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการสำรวจระดับนานาชาติครั้งใหญ่ที่สุดในบรรดาการสำรวจในลักษณะเดียวกัน พบว่าคนไทย (ร้อยละ 64) เข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดอุดตัน แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำ หรือ DVT (ร้อยละ 26) และภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด หรือ PE (ร้อยละ 30) อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก และยังพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามมีความตระหนักถึงอันตรายของโรคอื่นๆ ในกลุ่มของโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ หัวใจล้มเหลว (ร้อยละ 72) เส้นเลือดในสมองตีบ (ร้อยละ 65) สำหรับโรคอื่นๆ อาทิ โรคเบาหวาน (ร้อยละ 84) มะเร็งต่อมลูกหมาก (ร้อยละ 73) ความดันสูง (ร้อยละ 77) มะเร็งเต้านม (ร้อยละ 78) และภูมิคุ้มกันบกพร้อง (ร้อยละ 80) โดยจะเห็นได้ว่าการตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงที่อันตรายของภาวะลิ่มเลือดอุดดันของหลอดเลือดดำยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก

"จากผลการสำรวจพบว่า คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจถึงสาเหตุ และผลของการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันนี้ สำหรับประเทศไทยเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำ หรือ DVT (ร้อยละ 26) และภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด หรือ PE (ร้อยละ 30) เราหวังว่าการรณรงค์วันหลอดเลือดอุดตันโลก จะทำให้คนรู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายจากโรคดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ (VTE) สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มแรก และมีการรักษาให้เหมาะสม ทั้งนี้ยังเป็นการสนับสนุนเป้าหมายของสมัชชาอนามัยโลกในการลดจำนวนการเสียชีวิตจากโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังลงให้ได้ร้อยละ 25 ภายในปี พ.ศ. 2568" ศาสตราจารย์นายแพทย์ พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หนึ่งในคณะกรรมการอำนวยการวันหลอดเลือดอุดตันโลก กล่าว

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ (VTE) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตและทุพพลภาพมากที่สุดทั่วโลก ปัจจัยความเสี่ยง อาทิเช่น การนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานาน การผ่าตัด มะเร็งบางชนิด พันธุกรรม ยาบางชนิด (อาทิ ยาคุมกำเนิด) การตั้งครรภ์ หรือหลังการคลอด จากผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลกพบว่า สาเหตุการเสียชีวิต หรือ ทุพพลภาพ (ร้อยละ 60) เกิดจากการที่ผู้ป่วยมานอนรับการรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยนอนอยู่กับเตียงเป็นเวลานาน ขยับขาไม่ได้ ลุกเดินไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องตรวจสอบกับแพทย์ถึงความเสี่ยงในการเกิดโรค แพทย์ก็จะแนะนำให้บริหารขา หรือหากมีความเสี่ยงมากก็จะใช้เครื่องปั้มเท้าหรือขา เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้เร็วขึ้น

อาการที่เกิดจากหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขาอุดตัน (DVT) ตัวบ่งชี้ภาวะดังกล่าวประกอบด้วย อาการกดเจ็บ หรืออาการบวมซึ่งมักเริ่มที่น่อง รอยแดง หรือสีผิวที่ขาเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด มีอาการร้อนที่ขา สำหรับภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (PE) ตัวบ่งชี้ภาวะดังกล่าวประกอบด้วย อาการหายใจไม่ทั่วปอด หรือหายใจเร็วโดยหาสาเหตุไม่ได้ อาการเจ็บหน้าอก (บางครั้งเจ็บมากขึ้นเมื่อหายใจเข้าลึกๆ) หัวใจเต้นเร็ว อาจมีอาการวิงเวียนคล้ายจะเป็นลม หรือหมดสติ แม้อาการดังกล่าวอาจไม่ได้บ่งชี้ถึงภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำเสมอไป บุคลากรทางการแพทย์ก็ควรประเมินผู้ป่วยในทันที

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ หรือ VTE หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มแรก และมีการรักษาให้เหมาะสมในช่วง 3 ถึง 6 เดือนแรก สามารถรักษาให้หายขาดได้

ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ สามารถเข้าไปยังเว็ปไซต์รณรงค์วันหลอดเลือดอุดตันโลก www.worldthrombosisday.org.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4