รพ.กรุงเทพ จัดกิจกรรม “อย่าให้สูงวัยล้ม เดี๋ยวไม่ลุก” ห่วงผู้สูงอายุลื่นหกล้ม เสี่ยงบาดเจ็บทางสมองและกระดูกสะโพกหัก รณรงค์ลูกหลานร่วมป้องกัน เพื่อคุณภาพชีวิตสูงวัย เนื่องในวันผู้สูงอายุ

ศุกร์ ๑๙ เมษายน ๒๐๑๙ ๑๕:๓๐
โรงพยาบาลกรุงเทพ ห่วงใยผู้สูงอายุ ป้องกันการลื่นหกล้ม พร้อมร่วมรณรงค์ให้บุตรหลานช่วยกันระวัง เนื่องในวันผู้สูงอายุ 13 เมษายนนี้ "อย่าให้สูงวัยล้ม เดี๋ยวไม่ลุก" จากสถิติ คาดว่าปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (complete Aged Society) ทั้งนี้ พบว่าประชากรผู้สูงอายุไทยยังมีปัญหาเรื่องสุขภาพที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และบางส่วนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น รับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำและแต่งตัวเองไม่ได้ มากถึงร้อยละ 5 ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ย่อมกลายเป็นภาระกับคนใกล้ชิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาที่พบบ่อยของผู้สูงอายุที่ได้รับอุบัติเหตุภายในบ้าน คือ กระดูกสะโพกแตกหัก และอุบัติเหตุทางสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีอัตราการความพิการและอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง

นพ.เอกกิตติ์ สุรการ ผู้อำนวยการศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึงสถิติจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทย ล่าสุดเมื่อปี 2561 พบว่า ปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมดในประเทศไทยมีจำนวน 10,666,803 คน จากจำนวนประชากรไทยทั้งหมด 66,413,979 คน คิดเป็นร้อยละ 16.06% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มสูงถึงปีละ 1,600 คน ถือเป็นสาเหตุการตายอันดับสองในกลุ่มของการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจ (Unintentional) รองจากอุบัติเหตุทางถนน โดย 1 ใน 3 เป็นผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี โดยความเสี่ยงในการบาดเจ็บจะเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ

การบาดเจ็บปัญหาที่พบบ่อยใน "ผู้สูงอายุ" ที่ได้รับอุบัติเหตุพลัดตกหกล้มส่วนมากคือ กระดูกสะโพกหัก ศีรษะได้รับความกระทบกระเทือน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้พิการและมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง สาเหตุของอุบัติเหตุที่พบบ่อยในผู้สูงอายุคือ การหกล้ม เช่น ลื่นล้มในห้องน้ำ การตกเตียง ตกบันได ซึ่งมักเกิดกับผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 65-75 ปี อันตรายที่สำคัญ คือ การบาดเจ็บร่วมกันในหลายอวัยวะ ได้แก่ ศีรษะ อก ท้อง หลัง สะโพก แขน ขา ประกอบกับผู้สูงวัยมักมีโรคประจำตัว มวลกระดูกลดลง ทำให้กระดูกจะหักง่าย และรุนแรงกว่า

การปฐมพยาบาลเมื่อผู้สูงอายุล้ม ผู้ดูแลจะต้องประเมินการบาดเจ็บที่เป็นอันตรายถึงชีวิตเช่น ภาวะช็อค บาดเจ็บที่สมอง และไขสันหลัง แล้วจึงประเมินการบาดเจ็บที่พบบ่อย เช่น สะโพกหัก และต้องป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นในขณะอุ้ม ยก เคลื่อนย้ายเพื่อนำส่งโรงพยาบาล เมื่อทีมรถฉุกเฉินประเมินอาการ และดูแลเบื้องต้นแล้ว จะประสานงานมาที่แพทย์ฉุกเฉิน เพื่อเตรียมการดูแลตามแนวทางการรักษาผู้บาดเจ็บขั้นสูง (Advanced Trauma Life Support) ผู้สูงอายุที่มีการบาดเจ็บหลายระบบต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขาที่เกี่ยวข้องร่วมดูแล ได้แก่ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศัลยแพทย์อุบัติเหตุ ศัลยแพทย์สมองและระบบประสาท ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ แพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ฯลฯ ร่วมกันดูแลรักษา ในภาวะเร่งด่วนจะมีการประกันเวลาการตรวจรักษา และเตรียมผ่าตัดเพื่อผลการรักษาที่ดี

นพ.ประณต นิพัทธสัจก์ ศัลยแพทย์สมองและระบบประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาทกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งที่อาจพบได้จากการหกล้มของผู้สูงอายุคือ การบาดเจ็บที่ศีรษะ (Traumatic Brain Injury) ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเลือดคั่งในสมองที่สูงขึ้น โดยอาการแสดงที่มีอาจไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงที่ได้รับ อาจเกิดการบาดเจ็บต่อหนังศีรษะ กะโหลกศีรษะและเนื้อเยื่อที่เป็นส่วนประกอบภายในกะโหลกศีรษะ ซึ่งอาจทำให้มีหรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึกตัว ในผู้สูงวัยมักหกล้มง่ายเนื่องจากมีระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำงานประสานกันไม่ดี ผู้สูงวัยมักเดินช้า ตามองไม่ชัด การได้ยินเสียงและความจำไม่ดี รวมทั้งมักมีอาการเวียนศีรษะจึงพลัดตกหกล้มได้ง่าย นอกจากนี้บางรายรับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น warfarin (coumadin), clopidogrel (plavix)ซึ่งทำให้เลือดออกไม่หยุดเมื่อเกิดบาดเจ็บ มีความเสี่ยงให้เกิดสมองกระเทือน หรือสมองช้ำ มีเลือดคั่งในกระโหลกศีรษะได้

ผู้สูงอายุที่ได้รับการบาดเจ็บที่ศีรษะจึงควรได้รับการตรวจประเมินจากแพทย์โดยเร็ว การสังเกตอาการในโรงพยาบาลตามข้อบ่งชี้ อาทิ ระดับความรู้สึกตัว มีแขนขาอ่อนแรง ตาพร่า ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน มีความจำหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ฯลฯ หากมีอาการรุนแรงแพทย์จะพิจารณาส่งตรวจสมองด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ CT หรือ MRI ดังนั้นทีมแพทย์ระบบประสาท จะตรวจเช็กระบบประสาท ทุก 1-4 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บ หากผู้ป่วยจำเป็นต้องผ่าตัดสมอง เพื่อระบายเลือดที่กดเนื้อสมองออก ในบางรายที่มีภาวะสมองบวมหรือช้ำ ไม่เป็นก้อนเลือดชัดเจน แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดสายวัดแรงดันในกระโหลกศีรษะ เพื่อเฝ้าดูการความเปลี่ยนแปลงของแรงดันในกระโหลกศีรษะ ดังนั้นลูกหลานควรตรวจประเมินความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุ เช่น หมั่นคอยสังเกตอาการ และความผิดปกติของการมองเห็นของผู้สูงวัย สังเกตอาการและความผิดปกติของการเดิน การทรงตัว เนื่องจากผู้สูงอายุมีกลไกการทำงานที่ควบคุมการทรงตัวของระบบอวัยวะต่างๆ ลดลง ทำให้สมดุลในการทรงตัวบกพร่อง สังเกตอาการและความผิดปกติทางด้านการรับรู้ เช่น สับสน หลงลืมเกี่ยวกับ วัน เวลา สถานที่ และบุคคล เป็นต้น รวมทั้งมีการรับรู้ ตัดสินใจ หรือตอบสนองได้ช้าลง หมั่นคอยประเมินสภาพบ้านที่อยู่อาศัย ทั้งในบ้านและบริเวณบ้าน อย่างไรก็ตาม ในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุในบ้านควรระมัดระวัง ทันทีที่ล้มควรพามาพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กว่ากระดูกหักหรือไม่ และสมองได้รับการกระทบกระเทือนหรือไม่ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อย่าคิดไปเองว่าอาการลุกยืนเดินไม่ได้เกิดจากความเสื่อมของร่างกายตามปกติ หรือเกิดจากโรคประจำตัว เช่น โรคสมองเสื่อม โรคซึมเศร้า เป็นต้น หากมีศีรษะกระแทกและไม่รู้สึกตัว ให้นอนในท่าเดิมและเรียกรถพยาบาล แต่ถ้าผู้ป่วยรู้ตัวดีและมีอาการปวดต้นคอร่วมด้วยให้นอนราบไม่หนุนหมอน เรียกรถพยาบาล พยายามขยับผู้ป่วยให้น้อยที่สุด

นพ.เอกจิต ศิขรินกุล ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ศูนย์กระดูกและข้อกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า หนึ่งในปัญหาสุขภาพที่สร้างความทรมานในการใช้ชีวิต คือ กระดูกหัก คนส่วนใหญ่เข้าใจว่ากระดูกหักเพราะ "อุบัติเหตุ" แต่กระดูกหักในผู้สูงอายุนั้นมีภัยเงียบที่เป็นสาเหตุหลักของกระดูกหัก คือ "โรคกระดูกพรุน" เพราะไม่พบอาการใดๆ มาพบอีกทีเมื่อล้มแล้วเกิดกระดูกหักขึ้น ข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2542 พบว่า อุบัติการณ์การเกิดกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุไทยสูงขึ้นจากปีละ 180 รายต่อแสนประชากรผู้สูงวัย เป็น 450-750 รายต่อแสนประชากรผู้สูงวัย ภายในปี พ.ศ. 2568 และจากการศึกษาของ Cooper et al ในปีพ.ศ. 2540 พบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้กว่า 20% จะเสียชีวิตภายใน 1ปี โดย 40% ไม่สามารถเดินด้วยตัวเองได้ และมากถึง 80% ขาดความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง

โดยแต่ละปี 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมักประสบการลื่นล้มและครึ่งหนึ่งลื่นล้มมากกว่า 1 ครั้ง เมื่อผู้สูงอายุหกล้ม ร้ายแรงที่สุดก็คือ 20% ของผู้สูงอายุหกล้มแล้วกระดูกสะโพกหัก อาจมีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้ภายใน 1 ปี ดังนั้น ผู้ป่วยสูงอายุที่กระดูกสะโพกหักจึงจำเป็นต้องได้รับการป้องกันการเกิดกระดูกหักซ้ำภายหลังการผ่าตัดร่วมด้วย อาการที่สงสัยว่ามีกระดูกสะโพกหัก คือ หลังจากหกล้มจะมีอาการปวดบริเวณสะโพกข้างที่หัก ลุกเดินไม่ได้ หรือลงน้ำหนักขาข้างที่สะโพกหักไม่ได้ หากญาติพบผู้ป่วยหกล้มและสงสัยกระดูกสะโพกหักให้ผู้ป่วยพักในท่าที่สบาย พยายามอย่าเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และโทรเรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วยไปตรวจโดยเร็ว

ดังนั้น การรักษาผู้ป่วยสูงอายุที่กระดูกหักจากการพลัดตกหรือหกล้มนั้นจะให้ความสำคัญกับกระดูกสะโพกเป็นหลัก ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาหรือผ่าตัดภายใน 24 - 48 ชม. ด้วยระบบการรักษาแบบ Co-management โดยให้ผู้เชี่ยวชาญสหสาขาวิชาชีพ (Multidisciplinary team) ร่วมดูแล ประกอบไปด้วย แพทย์ศัลยกรรม แพทย์ศัลยกรรมออโธปิดิกส์ อายุรแพทย์ผู้สูงอายุ วิสัญญีแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด เภสัชกรคลินิก นักโภชนากร และพยาบาล จะเข้าร่วมประเมินผู้ป่วยตั้งแต่แรกรับในทุกๆด้านอย่างเป็นองค์รวม เพื่อร่วมวางแผนการรักษาร่วมกับผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาเดินได้ในสภาพเดิมในเวลาอันสั้น แพทย์จะใช้การผ่าตัดกระดูกสะโพกหักแบบแผลเล็ก โดยเทคนิคการรักษากระดูกหักแบบรถไฟใต้ดิน (Minimally Invasive Plate Osteosynthesis, MIPO) เป็นการผ่าตัดตรึงกระดูกแบบแผลเล็ก ใช้อุปกรณ์เฉพาะในการทำทาง เพื่อสอดโลหะแกน หรือโลหะแผ่นใต้ชั้นกล้ามเนื้อผ่านตำแหน่งที่หัก โดยวางเหล็กแผ่นอยู่เหนือผิวกระดูก จากนั้นจึงเปิดแผลเล็กๆ เพื่อยึดกระดูกด้วยสกรูด้านบนและด้านล่างของตำแหน่งที่หัก โดยพยายามทำให้เกิดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อให้น้อยที่สุด ซึ่งแพทย์จะใช้เครื่องเอ็กซเรย์ฟรูโอโรสโคปช่วยในการจัดแนวกระดูกและวางตำแหน่งของโลหะ ข้อดีคือ ช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการปวดน้อยลง ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด และลดการเสียเลือด ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว กระดูกติดเร็ว และแผลมีขนาดเล็กสวยงาม นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแนวใหม่ แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ" โดยผ่าตัดเข้าจากด้านหน้าข้อสะโพกแนวใหม่ แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ (Direct Anterior Approach: DAA) เป็นการผ่าตัดทางด้านหน้า ระหว่างการผ่าตัดแพทย์จะใช้เครื่องฟลูออโรสโคป C-ARM ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการใส่ข้อสะโพกเทียม และประเมินความสั้นยาวของสะโพก จึงหมดห่วงว่าหลังผ่าตัดแล้วขาทั้งสองข้างสั้นยาวไม่เท่ากัน โดยแผลยังมีความยาวประมาณ 3-4 นิ้ว และตื้นมาก สำหรับสุภาพสตรียังสามารถซ่อนแผลใต้ขอบบิกินี่ (Bikini incision) ได้อีกด้วย คนไข้จะสูญเสียเลือดน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว อาการเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อย จึงสามารถเดินได้ตามปกติไม่ต้องกะเผลกเอียงตัว สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้โดยไม่ต้องห่วงหากต้องลงน้ำหนักที่ข้อสะโพก มีความเสี่ยงของการหลุดของข้อสะโพกเทียมต่ำ คือ 0-0.5% ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้ในผู้สูงอายุที่กระดูกสะโพกหัก คือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งจะพบได้ประมาณ 7-30% ในผู้ป่วยที่มีกระดูกสะโพกหัก สามารถป้องกันโดยให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวร่างกายและลุกเดินโดยเร็วหลังการผ่าตัด ร่วมกับการให้ยาป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

พญ. ธันยาภรณ์ ตันสกุล แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยระยะพักฟื้นการกายภาพและฟื้นฟูร่างกายโดยทีมสหสาขา จะเป็นอีกทางเลือก ที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรงได้เร็ว สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ โดยไม่เป็นภาระของครอบครัว ลดภาวะแทรกซ้อนและลดอัตราการเข้ารักษาซ้ำ(re-admission) ที่โรงพยาบาล โดยกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านระบบประสาทและสมอง ผู้ป่วยระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางด้านการทรงตัวและการเคลื่อนไหว เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดการตระหนักรู้ในการป้องกันการหกล้ม และมีความสามารถในการทรงตัวและการเคลื่อนไหวที่มีประสิทธิภาพ แพทย์จะทำการตรวจประเมินความเสี่ยงในการหกล้ม ให้การรักษาด้วยโปรแกรมฝึกความสามารถในการทรงตัวและการเคลื่อนไหว โดยแนวทางป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ อาทิการฝึกเดินที่ถูกต้อง รวมถึงการสวมรองเท้าที่เหมาะสม การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกำลังของกล้ามเนื้อ ฝึกการทรงตัว ทดสอบด้วยเครื่อง Balance Master เพื่อตรวจความสามารถในการทำกิจกรรมประจำวัน ทดสอบการเซ ความสมดุล จุดศูนย์ถ่วงของร่างกาย เครื่อง Aquatic Treadmill เป็นเครื่องออกกำลังกายแบบสายพานวิ่งในน้ำ เพื่อช่วยผู้สูงอายุที่มีปัญหาการทรงตัว ผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังผ่าตัดข้อกระดูกสันหลัง สะโพกเสื่อม กระดูกหัก ช่วยลดอาการบาดเจ็บบริเวณข้อต่อและกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นโปรแกรมเฉพาะบุคคลที่สามารถปรับระดับน้ำได้ หรือใช้เครื่อง Alter-G Treadmill ลู่วิ่งต้านแรงโน้มถ่วง อุปกรณ์คล้ายถุงลมช่วยแบกรับน้ำหนักของร่างกายเอาไว้ได้สูงสุดถึง 80% ของน้ำหนักตัว สำหรับผู้ป่วยมีปัญหาในการลงน้ำหนัก เช่น หลังผ่าตัดใหม่ๆ บริเวณขา หัวเข้า ข้อเท้าหรือเท้า ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก นักกีฬาหรือผู้ป่วยที่ต้องการให้ร่างกายแข็งแรงจำเป็นต้องมีการออกกำลัง เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของข้อต่อและกล้ามเนื้อ การใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น โครงเหล็ก 4 ขา (Walker) ไม้เท้า การปรับพฤติกรรมส่วนตัว เช่น การค่อยๆ ลุกยืนอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ความดันโลหิตตกในท่ายืน หรือหน้ามืด การหาราวสำหรับเกาะเดิน นอกจากนี้ผู้ป่วยควรสร้างเสริมภาวะโภชนาการที่ดี การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หรือเมื่อต้องใช้ยาควรที่จะปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ประเมินการใช้ยา หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น หรือมากเกินไป หากได้รับยาหลายชนิดที่อาจส่งผลให้เกิดการหกล้มแนะนำให้ปรึกษาแพทย์

พญ.พัณณิดา วัฒนพนม ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การฟื้นฟูผู้สูงอายุที่ได้รับบาดเจ็บทางสมอง และกระดูกสะโพกหักเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุกลับมาใช้ชีวิตได้อีกครั้ง หลังผ่าตัดอาจจะยังมีข้อจำกัดในการทำกิจวัตรประจำวัน การเดินการทรงตัวก็ยังไม่มั่นคง ต้องการการฟื้นฟูต่อเนื่อง เพื่อให้กลับมาแข็งแรงได้ใกล้เคียงปกติ ซึ่งการกลับไปดูแลต่อที่บ้านในระยะแรกจะต้องการคนดูแลใกล้ชิด การทำกายภาพต่อเนื่อง รวมไปถึงการปรับสถานที่สภาพแวดล้อมที่บ้าน เช่น ควรมีวัสดุกันลื่นในห้องน้ำ ไม่วางของระเกะระกะ ควรมีแสงสว่างเพียงพอโดยเฉพาะตรงราวบันได ติดตั้งหลอดไฟบริเวณมุมมืดที่เดินผ่านบ่อยๆ โดยปุ่มสวิทซ์อยู่ใกล้มือเอื้อม มีอุปกรณ์เครื่องเรือนบริเวณที่อยู่เท่าที่จำเป็น และต้องแข็งแรงมั่นคงอยู่สูงจากพื้นมองเห็นได้ง่าย ไม่ย้ายที่บ่อยๆ เตียงนอน เก้าอี้ และโถส้วมมีความสูงพอเหมาะ ไม่เตี้ยเกินไป ทางเดินและบันได ควรมีราวจับตลอด และขั้นบันไดสม่ำเสมอ พื้นห้องสม่ำเสมอและเป็นวัสดุที่ไม่ลื่นโดยเฉพาะในห้องน้ำ บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างห้องควรอยู่ในระดับเดียวกัน หลีกเลี่ยงธรณีประตู ไม่ควรมีสิ่งของเกะกะ เช่น พรมเช็ดเท้า สายไฟฟ้า

พญ. พัณณิดา กล่าวเสริมว่า ภายในรพ. กรุงเทพ เรามีรพ.ชีวา ทรานสิชั่นนัล แคร์ เป็นโรงพยาบาลที่ให้บริการทางการแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพระยะฟื้นฟูสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัดและต้องการฟื้นฟูทำกายภาพบำบัด เช่น ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ผ่าตัดกระดูกสะโพก และผู้ป่วยที่เป็นโรคทางระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง อย่างอัมพาต อัมพฤกษ์ หรือ อาการบาดเจ็บทางศีรษะ (Traumatic brain injury) หรือผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรง มีอาการบาดเจ็บหลายระบบของร่างกาย หรือกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัว โดยจะได้รับการดูแลจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ อายุรศาสตร์ผู้สูงอายุและเวชศาสตร์ฟื้นฟู พยาบาล นักกายภาพบำบัด ให้การดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ ภาวะโภชนาการ รวมถึงพัฒนาศักยภาพ ความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆ ให้ครอบคลุมถึงสุขภาพร่างกาย จิตใจ แบบองค์รวม เพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับไปใช้ชีวิตประจำวัน ช่วยเหลือตัวเองได้ หรือมีส่วนร่วมในสังคมได้ดีขึ้น พร้อมด้วยห้องพักผู้ป่วย ที่เป็นสัดส่วน สะอาด ทันสมัย ออกแบบฟังค์ชั่นการใช้งาน โดยคำนึงถึงผู้ป่วยในระยะพักฟื้นโดยเฉพาะ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4