รพ.จิตเวชโคราช พัฒนาระบบบริการ “ผู้ต้องขังป่วยจิต” ในเรือนจำ 4 จังหวัดอีสานใต้ ป้องกันขาดยา ฆ่าตัวตาย ก่อคดีซ้ำ!!!

อังคาร ๒๓ เมษายน ๒๐๑๙ ๐๙:๑๕
รพ.จิตเวชนครราชสีมา เผยผู้ต้องขังมีปัญหาสุขภาพจิตและป่วยทางจิตเวชสูงถึงร้อยละ 46 สูงกว่าประชาชนทั่วไป 3 เท่าตัว เร่งพัฒนาระบบบริการดูแลในเรือนจำ 12 แห่ง ใน 4 จังหวัดอีสานใต้ ต่อเนื่องไปจนถึงหลังพ้นโทษ ป้องกันปัญหาขาดยา ฆ่าตัวตายและก่อคดีซ้ำ โดยพัฒนาโปรแกรมการส่งต่อหลังพ้นโทษ และเพิ่มชุดกรองความเสี่ยงฆ่าตัวตายในกลุ่มป่วยจิตเภท พร้อมเตรียมเปิดระบบการแพทย์ทางไกลรักษาระหว่างรพ.จิตเวชกับเรือนจำ คาดเริ่มใช้ในอีก 2 เดือน

นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้ รพ.จิตเวชนครราชสีมาได้เร่งพัฒนาระบบบริการประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตและป่วยทางจิตเวชครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ต้องโทษคดีความ ซึ่งถือเป็นวิกฤติของชีวิตประการหนึ่ง ทำให้มีปัญหาการปรับตัวเกิดความเครียดได้ง่ายและสูงกว่าคนทั่วไป โดยผลการศึกษาของกรมสุขภาพจิต พบว่าผู้ต้องขังมีปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวชร้อยละ 46 สูงกว่าประชาชนทั่วไป 3 เท่าตัว พบในผู้ชายร้อยละ 47 ผู้หญิงร้อยละ 35 โรคที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ติดเหล้าและสารเสพติดร้อยละ 30 รองลงมาโรคซึมเศร้าร้อยละ 16 และความเสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 16 โดยมีผู้ต้องขังป่วยด้วยโรคจิตเวช 2 โรคร่วมกันประมาณ 1 ใ น 4 เช่น โรคจากติดสารเสพติดกับโรคจิตเภท เป็นต้น ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ล่าสุดในปลายปี2561 มีผู้ต้องขังป่วยจิตเวช 4,867 คน จากผู้ต้องขังที่มีประมาณ 300,000 คนในเรือนจำ 142 แห่งทั่วประเทศ

นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อว่า ในส่วนของเรือนจำที่อยู่ในเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งอยู่ในความดูแลของรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ 4 จังหวัด ได้แก่นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ มีทั้งหมด 12 แห่ง มีผู้ต้องขังรวม 32,129 คน เป็นชาย25,225 คน ที่เหลือเป็นหญิง โดยร้อยละ 51 อยู่ในเรือนจำ 6 แห่ง ในจ.นครราชสีมา ที่ผ่านมาได้จัดระบบบริการการตรวจคัดกรองผู้ต้องหาและผู้ต้องโทษ เพื่อประเมินปัญหาสุขภาพจิตและการเจ็บป่วยทางจิตเวช เน้นพิเศษ 6 กลุ่ม เช่น ผู้ต้องขังเข้าใหม่ ผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์ หลังคลอด ผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษ 6 เดือน เป็นต้น โดยจัดระบบบริการแบบคู่แฝด ระหว่าง 1เรือนจำกับ 1 รพ.จังหวัดหรือรพ.ชุมชนหรือรพ.จิตเวช โดยรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯได้จัดหน่วยโมบาย (Mobile Hospital in Prison) มีจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช เข้าไปดูแลติดตามเยี่ยมอาการผู้ป่วยจิตเวชในเรือนจำ เช่นที่เรือนจำกลางนครราชสีมา ซึ่งมีผู้ป่วยจิตเวชประมาณ 30 คน ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคจิตเภท และโรคซึมเศร้า และให้ความรู้บุคลากรในเรือนจำอย่างต่อเนื่อง

สำหรับในปี 2562 นี้ จะเน้นหนักเรื่องการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในเรือนจำให้ต่อเนื่องเหมือนผู้ป่วยจิตเวชทั่วไป เพื่อป้องกัน 3 ปัญหาหลัก คือการป่วยซ้ำจากขาดยา การฆ่าตัวตาย การก่อคดีซ้ำจากอาการป่วยทางจิตเวช รวมทั้งการปกป้องสิทธิ์ของผู้ต้องขังที่ป่วยจิตเวช เริ่มตั้งแต่การเข้าเรือนจำวันแรก ไปจนถึงหลังพ้นโทษกลับไปอยู่ชุมชน โดยพัฒนา 4 ระบบหลัก ประกอบด้วย 1. การจัดทำฐานข้อมูล ขึ้นทะเบียนผู้ต้องขังที่ป่วยทางจิตเวชทุกคน เพื่อการติดตามต่อเนื่องจนกระทั่งอาการป่วยหายขาด 2.การพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยกลับสู่ชุมชน โดยรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯได้ร่วมกับรพ.สุรินทร์พัฒนาโปรแกรมไทยซีโอซี(Thai Continuous of Care : Thai CoC)ใช้สำหรับส่งต่อผู้ต้องขังที่พ้นโทษด้วยระบบออนไลน์และรายงานผลแบบปัจจุบันหรือเรียลไทม์ เชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างเรือนจำกับโรงพยาบาลที่เป็นภูมิลำเนาผู้ป่วยและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งจะเริ่มใช้ในเรือนจำ 12 แห่งในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 ทั้ง4 จังหวัด จากนั้นจะประเมินผลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและสามารถนำไปใช้ดูแลผู้ต้องขังที่ป่วยจิตเวชและพ้นโทษทั่วประเทศได้ด้วย

3. เพิ่มการตรวจคัดกรองผู้ต้องขังในเรือนจำที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย เพิ่มจากโรคซึมเศร้าอีก 1 โรคคือโรคจิตเภท ซึ่งเป็นโรคทางจิตที่พบมากอันดับ 1 มีความเสี่ยงฆ่าตัวตายจากอาการป่วยทางจิต ประสาทหลอนของตัวเอง เช่น มีคนสั่งให้ฆ่าตัวตาย พบได้ร้อยละ 20 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ

มาตรการสุดท้ายคือการจัดระบบการปรึกษา การรักษาด้วยการแพทย์ระบบทางไกลหรือเทเลเมดิซีน (Telemedicine) ระหว่างจิตแพทย์ของรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กับฝ่ายการแพทย์ของเรือนจำทั้ง 12 แห่ง สามารถให้การรักษาผู้ต้องขังที่อาการไม่รุนแรง ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล คาดว่าจะเปิดให้บริการจริงในเดือนมิถุนายนนี้ โดยได้ประชุมชี้แจง บุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เรือนจำทั้ง 12 แห่ง และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประจำเขตสุขภาพที่ 9 แล้ว มั่นใจว่าจะทำให้อัตราการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและจิตเวชของผู้ต้องขังในเรือนจำ และมีอัตราการดูแลต่อเนื่องเมื่อพ้นโทษ บรรลุเป้าหมายในปี2562 คือร้อยละ 90 นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4