ทีเซลส์ จับมือจุฬาฯ แถลงผลวิจัยสำเร็จใช้เซลล์นักฆ่ารักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว

พุธ ๒๔ เมษายน ๒๐๑๙ ๑๓:๕๙
ที่มา: ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

หัวข้อข่าว: ทีเซลส์ จับมือจุฬาฯ แถลงผลวิจัยสำเร็จใช้เซลล์นักฆ่ารักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว

เนื้อข่าว:

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ฝ่ายโปรแกรมบริหารเภสัชภัณฑ์และเซลล์บำบัด ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดงานแถลงข่าว "ก้าวแรกสู่ความสำเร็จ การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วยเซลล์นักฆ่า" ในวันอังคารที่ 23 เมษายน 2562 เวลา 10.00 น. ณ ห้อง 1301 ชั้น 13 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรุงเทพฯ โดย ทีเซลส์ (TCELS) จับมือร่วมกับ จุฬาฯ พัฒนาการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวที่กลับเป็นซ้ำด้วยเซลล์นักฆ่า พร้อมผลักดันต่อเป็นการรักษามาตรฐาน

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาฯ สภากาชาดไทย กล่าวถึงแผนและวิสัยทัศน์ของคณะแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลจุฬาฯด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง

"คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยมุ่งมั่นมาอย่างต่อเนื่องที่จะพัฒนาวิธีดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบครบวงจร และกำลังจะดำเนินการโครงการก่อสร้างศูนย์บูรณาการวิจัยและรักษาโรคมะเร็งของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อมุ่งเน้นการวิจัยนวัตกรรมที่สามารถเป็นต้นแบบในการดูแลรักษาโรคมะเร็งควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการรักษาผู้ป่วย เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 จนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ยุทธศาสตร์ด้านโรคมะเร็งจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อความก้าวหน้าของประเทศ"

"หนึ่งในโครงการมุ่งเป้า คือ การวิจัยพัฒนาการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดหลายรูปแบบเพื่อที่จะนำไปต่อยอดไปสู่การบริการ เพื่อให้ผู้ป่วยชาวไทยสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้อย่างทัดเทียมเช่นเดียวกันกับนานาชาติที่พัฒนาแล้ว และหนึ่งในโครงการวิจัยที่กำลังดำเนินการอยู่คือ การพัฒนาการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วยเซลล์บำบัด ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัด" ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าว

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "อย่างไรก็ดี กระบวนการพัฒนายาและเซลล์ต้นแบบมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน จึงจำเป็นต้องทำในสถาบันที่มีความพร้อม และมีมาตรฐานเชื่อถือได้เท่านั้น โรงพยาบาลจุฬาฯ จึงได้เตรียมความพร้อมโดยมีการสร้างห้องปฏิบัติการปลอดเชื้อพิเศษที่สามารถผลิตเซลล์ที่ได้มาตรฐาน รวมถึงพัฒนาบุคลากรและระบบที่มีคุณภาพในด้านการผลิต ซึ่งในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขอรับรองตามมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง"

"การแถลงข่าวในวันนี้ มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการด้วยกันคือ เพื่อแจ้งถึงความสำเร็จก้าวแรกของงานวิจัย และการให้ความรู้แก่ประชาชนว่าเซลล์บำบัดด้วยเซลล์นักฆ่าคืออะไร สามารถใช้ในการรักษาโรคมะเร็งชนิดใดบ้าง และมีข้อจำกัดหรือข้อควรระวังใด"

"ดังที่ทราบกันดีว่า งานนวัตกรรมทางการแพทย์เหล่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ทุนทรัพย์เพื่อให้การวิจัยและการพัฒนาการรักษาด้วยเซลล์บำบัดต้นแบบเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และราบรื่น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้การสนับสนุนแก่ กองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯมาอย่างต่อเนื่อง จึงขอเป็นตัวแทนในการขอบคุณทุกฝ่ายมา ณ ที่นี้" ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย

ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและนวัตกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวถึงนโยบายและความมุ่งหวังในการสนับสนุนงานวิจัยสู่การให้บริการทางการแพทย์

"ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ ทีเซลส์ (TCELS) เป็นหน่วยงานภายใต้กำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับมอบนโยบายให้ผลักดันสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีเซลล์บำบัดและยีนบำบัดโดยจัดตั้งเป็นโครงการพิเศษ ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งในปัจจุบัน เป็น 1 ใน 4 โปรแกรมหลักของ TCELS ในการขับเคลื่อนงานวิจัยสู่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและการให้บริการทางการแพทย์"

"ทีเซลส์ (TCELS) ได้สนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนงานวิจัยด้านเซลล์บำบัดและยีนบำบัดอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 เพราะ ทีเซลส์ (TCELS) เล็งเห็นถึงศักยภาพ ขีดความสามารถ และความพร้อมของนักวิจัยภายในประเทศ แต่ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และ Ecosystem ที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนงานวิจัยด้านเทคโนโลยีเซลล์บำบัดและยีนบำบัดสู่การให้บริการทางการแพทย์ ให้สามารถก้าวทันตามเทคโนโลยีของโลก"

"ทีเซลส์ (TCELS) มีเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และการรับรองวิธีการรักษาใหม่สำหรับโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดด้วยวิธีการปัจจุบัน จึงมุ่งเน้นการสนับสนุนและผลักดันงานหลักๆ 3 ส่วน คือ

(1) โครงสร้างพื้นฐานด้านสถานที่ผลิตสอดคล้องตามมาตรฐาน GMP และความพร้อมทางเทคโนโลยี ในประเทศ

(2) ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาในกลุ่มโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดยการสนับสนุนให้เกิดการสร้าง Prototype, Prove of concept ตลอดจนการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพในระดับก่อนคลินิกและในระดับคลินิก และ

(3) สนับสนุน ส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์เข้าสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์และบริการ เน้นการสร้าง Ecosystem เช่น การสนับสนุน อย. ในการจัดทำ "แนวทางการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่เป็นผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง ชนิดผลิตภัณฑ์เซลล์บำบัด"

ดร.ศิรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "นอกจากให้ความสำคัญด้านโครงสร้างพื้นฐานและสร้าง ecosystem แล้ว TCELS ยังเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำ "Mapping การวิจัยและ Roadmap การวิจัยและการให้บริการทางการแพทย์ด้านเซลล์บำบัดและยีนบำบัดในประเทศไทย" และสนับสนุนโครงการวิจัยที่สำคัญทางด้านนี้ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับรักษาในกลุ่มโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นซ้ำและเสียชีวิต เช่น "โครงการพัฒนาการรักษาโดยเซลล์ Natural killer ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีความเสี่ยงสูง" ซึ่งได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6"

อ.นพ.กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยเซลล์บำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการวิจัยและการพัฒนาวิธีการรักษามะเร็งด้วยเซลล์นักฆ่า ดังนี้

"คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดเพื่อการเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพแก่ของผู้ป่วยมะเร็งชาวไทย จึงริเริ่มโครงการวิจัยและพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีความเสี่ยงสูงด้วยเซลล์นักฆ่า มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 โดยได้รับทุนสนับสนุนในระยะเริ่มต้นและได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี"

"Natural Killer cell หรือ เซลล์นักฆ่า เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกาย ซึ่งเซลล์ชนิดนี้ เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวส่วนน้อยของเม็ดเลือดขาวทั้งหมด โดยจะมีอยู่ประมาณ 5-10% ของเม็ดเลือดขาวที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกาย โดยทั่วไปเซลล์นักฆ่าจะมีหน้าที่หลักคือ การลาดตระเวน และตรวจตราหาเซลล์แปลกปลอม เซลล์ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือ เซลล์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจนอาจก่อให้เกิดอันตราย ภายในร่างกาย เมื่อเซลล์นักฆ่าตรวจสอบพบเซลล์ที่มีความเปลี่ยนแปลง หรือ กลายพันธุ์ไปซึ่งมักเกิดจากจากการติดเชื้อ หรือกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นเซลล์มะเร็งนั้น เซลล์นักฆ่าจะทำลายเซลล์ผิดปกติดังกล่าวก่อนที่เซลล์เหล่านั้นจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือพัฒนาไปสู่การเป็นโรคมะเร็ง"

อ.นพ.กรมิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ด้วยความสามารถพิเศษของเซลล์นักฆ่าที่สามารถทำลายเซลล์แปลกปลอมและเซลล์ที่ผิดปกติได้โดยไม่ต้องอาศัยการเรียนรู้แบบเม็ดเลือดขาวชนิดอื่น ๆ จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์เกิดความสนใจและพยายามศึกษาวิจัยในการนำเซลล์นักฆ่ามาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ต่อมานักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าเราสามารถกระตุ้นและเพิ่มจำนวนเซลล์นักฆ่าภายนอกร่างกายได้ และเซลล์นักฆ่าที่ถูกกระตุ้นและเพิ่มจำนวนภายนอกร่างกายนั้นมีประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์มะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในมะเร็งหลาย ๆ ชนิด ทั้งมะเร็งก้อนและมะเร็งทางโลหิตวิทยา ทั้งในการศึกษาระดับหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง การค้นพบดังกล่าว จึงทำให้เริ่มมีการศึกษาวิจัยการรักษามะเร็งด้วยเซลล์นักฆ่าในผู้ป่วยมะเร็งที่มีโรคกลับเป็นซ้ำหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐาน"

"เนื่องจาก โดยปกติเซลล์นักฆ่ามีจำนวนน้อยมากในเลือด การจะนำเซลล์นักฆ่ามาใช้ในรักษาผู้ป่วยนั้นจำเป็นจะต้องนำเซลล์นักฆ่าออกมากระตุ้นและเพิ่มจำนวนเสียก่อนโดยจะมีขั้นตอนโดยสังเขปดังนี้กล่าวคือ 1) ทำการเจาะเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยหรือผู้บริจาค 2) ปั่นแยกเซลล์เม็ดเลือดขาวออกจากเลือด 3) คัดแยกเซลล์นักฆ่าออกจากเม็ดเลือดขาว 4) ทำการกระตุ้นและเพิ่มจำนวนเซลล์นักฆ่า ด้วยอาหารเลี้ยงเซลล์ชนิดพิเศษและโปรตีนไซโตคาย เป็นเวลา 2-3 อาทิตย์ 5) ตรวจสอบคุณภาพของเซลล์นักฆ่าที่ได้ในเชิงปริมาณ คุณภาพ ปลอดจากการปนเปื้อนและปลอดจากเชื้อโรค 6) นำเซลล์นักฆ่าประสิทธิภาพสูงที่ได้กลับไปให้แก่ผู้ป่วย โดยกระบวนการกระตุ้นและเพิ่มจำนวนทั้งหมดนี้จะทำอยู่ภายในห้องปฏิบัติการสะอาดปลอดเชื้อพิเศษ (Clean room) ในแบบที่คล้ายกับการผลิตยา"

"อย่างไรก็ดี จากการศึกษาวิจัยการรักษาโรคมะเร็งด้วยเซลล์นักฆ่าในระดับการวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีโรคกลับเป็นซ้ำหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐานนั้น กลับพบว่าประสิทธิภาพของการรักษามะเร็งด้วยเซลล์นักฆ่าในกลุ่มโรคมะเร็งก้อนทั้งหมดนั้นยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่พบว่าการรักษามะเร็งด้วยเซลล์นักฆ่านั้นมีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรคและป้องกันโรคกลับเป็นซ้ำในมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ โดยเฉพาะการใช้เซลล์นักฆ่าจาก พ่อแม่ พี่น้อง หรือ ลูกที่มีสารพันธุกรรมตรงกันเพียงครึ่งเดียว"

"สำหรับทางโครงการ ได้เริ่มวิจัยและพัฒนาการรักษาเซลล์บำบัดมะเร็งด้วยเซลล์นักฆ่า ตั้งแต่การทดสอบประสิทธิภาพในหลอดทดลอง การทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง การปรับปรุงกระบวนการผลิตและควบคุมคุณภาพของเซลล์นักฆ่าที่นำมาใช้ในผู้ป่วย รวมถึงการพัฒนาห้องปฏิบัติการพิเศษเพื่อผลิตเซลล์สำหรับการวิจัยด้านเซลล์บำบัดสำหรับโรคมะเร็ง ซึ่งในปีพ.ศ. 2561 ศูนย์ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง และ สาขาโลหิตวิทยา ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เริ่มโครงการนำร่องเพื่อศึกษาการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีความเสี่ยงสูงด้วยเซลล์นักฆ่า โดยได้รับทุนวิจัยและการสนับสนุนเพิ่มเติมจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ และ กองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯ ซึ่งโครงการนำร่องนี้มีจุดประสงค์หลัก 2 ข้อคือ 1) เพื่อประเมินความพร้อมของบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้มีหน้าที่ผลิตเซลล์ ทีมแพทย์และพยาบาล ความพร้อมของห้องปฏิบัติการและเทคโนโลยีสำหรับการเตรียมผลิตเซลล์ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย เพื่อรองรับการให้บริการแก่ผู้ป่วยชาวไทย 2) เพื่อประเมินความปลอดภัยของการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชาวไทยด้วยเซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาค"

"ปัจจุบันมีผู้ป่วยร่วมโครงการอยู่ 5 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ที่มีความเสี่ยงสูง โดยผู้ป่วยทั้ง 5 รายในโครงการนี้ ได้รับการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาคทั้งหมด ซึ่งนักวิจัยประสบความสำเร็จในการกระตุ้นและเพิ่มจำนวนเซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาค ให้มีปริมาณและคุณภาพที่ได้มาตรฐานสำหรับการใช้เซลล์จริงในผู้ป่วย ได้แก่ 1) สามารถเพิ่มจำนวนเซลล์นักฆ่าขึ้นมาได้ในระดับที่เพียงพอสำหรับการใช้ในผู้ป่วย 2) เซลล์นักฆ่าที่ได้ไม่มีเซลล์อื่น ๆ ปนเปื้อนเกินมาตรฐาน 3) ตัวอย่างทั้งหมดสามารถผ่านมาตรฐานการตรวจควบคุมคุณภาพสำหรับเซลล์ที่จะนำไปใช้ในผู้ป่วย ทั้งในด้าน จำนวนเซลล์ สัดส่วนเซลล์มีชีวิต ความสามาถในการทำลายเซลล์มะเร็ง การไม่พบจุลชีพปนเปื้อน และ ไม่พบการปลอมปนของ endotoxin (พิษจากเชื้อแบคทีเรีย) โดยในปี 2562 นี้ทางโครงการมีความตั้งใจจะเริ่มดำเนินโครงการต่อเนื่องเพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีความเสี่ยงสูงด้วยเซลล์นักฆ่าในลำดับต่อไป" อ.นพ.กรมิษฐ์ กล่าว

ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์ หัวหน้าสาขาวิชาโลหิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงตัวอย่างการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วยเซลล์นักฆ่าและข้อควรระวังสำหรับประชาชนเกี่ยวกับการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่า

"ดังที่กล่าวมาแล้วว่า โครงการนำร่องเพื่อศึกษาการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีความเสี่ยงสูงด้วยเซลล์นักฆ่าในปี 2561 นี้ มีผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ร่วมโครงการทั้งสิ้นจำนวน 5 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่มีโรคกลับเป็นซ้ำ และไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐาน หรือ เป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีโรคกลับเป็นซ้ำแต่ไม่สามารถรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกได้"

"มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ เป็น 1 ใน 4 ชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศไทยโดยเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นหนึ่งใน 10 อันดับแรกของโรคมะเร็งในผู้ป่วยชาวไทย มะเร็งเม็ดเลือดขาวสามารถแบ่งเป็น 4 ชนิด โดยแบ่งป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน และ มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเรื้อรัง และแบ่งย่อยตามชนิดของเซลล์ออกเป็น ชนิดลิมฟอยด์และ ชนิดมัยอิลอยด์ ซึ่งมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันที่พบบ่อยที่สุดในผู้ใหญ่ โดยการรักษามาตรฐานจะประกอบไปด้วยการให้ยาเคมีบำบัด และการปลูกถ่ายไขกระดูกในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่โรคกลับเป็นซ้ำ ซึ่งสามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดได้"

"อย่างไรก็ตาม จะมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่มีโรคกลับเป็นซ้ำหลังจากการปลูกถ่ายไขกระดูก และไม่มีทางเลือกอื่น ๆในการรักษา ซึ่งโอกาสที่จะมีชีวิตรอดเกิน 1 ปี หลังจากที่มีโรคกลับมาเป็นซ้ำนั้นน้อยมากจนแทบจะไม่มีเลย จึงมีการวิจัยและพัฒนาการรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้ด้วยเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด โดยการวิจัยทางคลินิกของการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ในต่างประเทศในหลายการวิจัยพบว่า การรักษาด้วยเซลล์นักฆ่ามีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ การใช้เซลล์นักฆ่าจากตัวผู้ป่วยเองนั้น มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคค่อนข้างต่ำ ตรงข้ามกับการใช้เซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาคซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรค โดยมีโอกาสควบคุมโรคได้ถึง 40-80% และยังช่วยลดโอกาสการเป็นซ้ำในผู้ป่วยกลุ่มนี้"

ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "สำหรับโครงการนำร่อง มีขั้นตอนในการศึกษาความปลอดภัยของการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่าโดยสังเขปดังนี้ เริ่มต้นจากการเจาะเลือดผู้บริจาคแล้วนำไปแยกเซลล์นักฆ่าและนำไปกระตุ้นเพิ่มจำนวนในห้องปฏิบัติการเป็นเวลา 2 อาทิตย์ จากนั้นผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแบบผู้ป่วยในโดยจะได้รับยากดภูมิคุ้มกันก่อนเป็นเวลา 3-6 วัน จากนั้นจึงจะนำเซลล์นักฆ่าที่ถูกกระตุ้น และเพิ่มจำนวนมาฉีดเข้าในหลอดเลือดดำหลังจากหยุดยากดภูมิไป 1-2 วัน โดยในผู้ป่วยบางรายมีความจำเป็นต้องได้รับยากระตุ้นเซลล์นักฆ่าหลังจากได้รับเซลล์ ซึ่งหลังจากได้รับเซลล์แล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลต่อเพื่อเฝ้าดูอาการอย่างน้อย 24 ชั่วโมง หากไม่พบผลข้างเคียงใดๆ จึงสามารถกลับบ้านได้และมาตรวจติดตามแบบผู้ป่วยนอก"

"ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์รายแรกที่เข้าร่วมโครงการ เป็นผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 52 ปี ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวในปี 2560 โดยที่ผู้ป่วยรายนี้ได้รับยาเคมีบำบัดถึง 3 สูตรยาที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมโรคได้ดีเท่าที่ควร ในไขกระดูกของผู้ป่วยนั้น ยังมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่หลังจากการให้ยาเคมีบำบัดรอบที่ 3 ทีมแพทย์ผู้รักษาจึงตัดสินใจทำการการปลูกถ่ายไขกระดูกจากพี่สาวเพื่อเพิ่มโอกาสในการควบคุมโรค อย่างไรก็ดี 3 เดือนหลังจากการปลูกถ่ายไขกระดูกนั้น ผู้ป่วยกลับมาด้วยอาการเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดต่ำ และได้รับการวินิจฉัยยืนยันว่ามีโรคมะเร็งกลับเป็นซ้ำหลังจากปลูกถ่ายไขกระดูก ทีมแพทย์ผู้รักษาประเมินจากลักษณะการกลับเป็นซ้ำแล้วผู้ป่วยมีโอกาสการตอบสนองต่อการรักษามาตรฐานต่ำมากจึงเสนอให้ผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการนำร่องโดยใช้เซลล์นักฆ่าจากพี่สาว ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวรายดังกล่าว ได้รับเซลล์นักฆ่าและหยุดรักษามาเป็นเวลาประมาณ 1 ปี โดยที่ไม่มีอาการ และอาการแสดงของโรคกลับเป็นซ้ำ โดยที่ผู้ป่วยรายแรกนี้ มีอาการเซลล์ต่อต้านแบบเรื้อรังในระดับที่ไม่รุนแรงในบริเวณเยื่อบุช่องปากซึ่งสามารถควบคุมอาการได้ด้วยการใช้ยากดภูมิชนิดบ้วนปากเท่านั้น"

"ปัจจุบันโครงการนำร่องของการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีความเสี่ยงสูงด้วยเซลล์นักฆ่านั้น ยังมีผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ที่มีความเสี่ยงสูงอยู่ในโครงการอยู่อีก 4 ราย โดยเป้าหมายของการให้เซลล์นักฆ่านั้น มีทั้งเพื่อการรักษาโรคที่กลับซ้ำและเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรค โดยผู้ป่วยทั้งหมดมีระยะปลอดจากโรคหลังจากหยุดรักษาไปแล้วตั้งแต่ 2 เดือน - 1 ปี จากการประเมินความปลอดภัยเบื้องต้นเห็นได้ว่าการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่าในผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความปลอดภัยแต่ต้องอยู่ในการดูแลของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป" ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว

การดำเนินโครงการนี้ จึงถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการศึกษาการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่าในผู้ป่วยชาวไทย ทางโครงการมีความมุ่งหวังจะดำเนินโครงการต่อเนื่องเพื่อประเมินประสิทธิภาพของการรักษานี้ในผู้ป่วยชาวไทยต่อไป

ในช่วงระยะ 1-2 ปี ที่ผ่านมานี้มีการโฆษณาชวนเชื่อ การอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และมีการเสนอบริการด้านเซลล์บำบัดในการรักษาโรคต่างๆ ออกมาในสื่อต่างๆ รวมถึง social media อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยและญาติเกิดความเข้าใจผิด และคลาดเคลื่อน เกิดความคาดหวังที่สูงเกินความเป็นจริง รวมถึงมีการเสียทรัพย์สินไปกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ และรักษาด้วยสิ่งที่อ้างว่าเป็นเซลล์บำบัด ทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตหลังจากการได้รับการรักษาที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นจากทั่วโลก เช่นในกรณีของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อรุนแรงหลังจากได้รับเซลล์นักฆ่าจากคลินิกเสริมความงามที่ฮ่องกงในปี 2017 จึงจำเป็นต้องมีการให้ความรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจเบื้องต้นที่ถูกต้องเกี่ยวกับการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่า ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายควบคุมในเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยจะมี พระราชบัญญัติเซลล์บำบัด เพื่อมาควบคุมมาตรฐานการรักษาด้วยเซลล์บำบัด และกำกับมาตรฐานห้องปฏิบัติการสำหรับผลิตเซลล์เพื่อมาใช้ในผู้ป่วย รวมถึงข้อบ่งชี้ในการใช้เซลล์บำบัดเฉพาะในโรคที่มีการรับรองประสิทธิภาพของการรักษา แต่ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุม ประชาชนควรรับทราบข้อพึงระวัง ดังนี้

1. การรักษาด้วยเซลล์บำบัด อาจเกิดผลข้างเคียงจากเซลล์ที่ใส่กลับเข้าไปได้ โดยเฉพาะเซลล์ที่มีการปนเปื้อน

จากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการแพ้อย่างรุนแรงหรือการติดเชื้ออย่างรุนแรง

2. เซลล์นักฆ่า ไม่สามารถใช้ได้กับมะเร็งทุกชนิด จากข้อมูลการศึกษาวิจัยทางคลินิกในปัจจุบันพบว่า เซลล์นัก

ฆ่ามีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคไม่ค่อยดีในมะเร็งก้อนทุกชนิด ถึงแม้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิลอยด์เอง การเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมก็มีความสำคัญต่อประสิทธิภาพในการควบคุมโรค

3. การวิจัยทางคลินิกหลายชิ้นสรุปตรงกันว่า เซลล์นักฆ่าที่ได้จากตัวผู้ป่วยเองมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรค

ต่ำ

4. ในปัจจุบัน ยังมีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงในการใช้เซลล์นักฆ่าในการช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ใช้ในการ

ป้องกันการเกิดมะเร็ง ช่วยชะลอวัย ใช้ในการรักษาโรคเอดส์ หรือ แม้แต่การใช้ในการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งการอวดอ้างดังกล่าว ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ รองรับทั้งสิ้น

5. การรักษาด้วยเซลล์นักฆ่านั้น ยังไม่ใช่การรักษามาตรฐานของโรคมะเร็งชนิดใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น ผู้ป่วยควรได้

รับการรักษาตามมาตรฐานของโรคนั้นๆ ให้เสร็จสิ้นเสียก่อนที่จะพิจารณาการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่า ผู้ป่วยควรที่จะได้รับการรักษาภายใต้โครงการการศึกษา หรือ การวิจัยทางคลินิกในโรงเรียนแพทย์เท่านั้นเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วยเองเนื่องจาก

- แพทย์ผู้รักษาต้องเป็นแพทย์ทางโลหิตวิทยาที่มีประสบการณ์ด้านการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดหรือการให้เซลล์ภูมิคุ้มกันเพื่อการเฝ้าระวังและแก้ไขผลข้างเคียงของการให้เซลล์ได้ทันท่วงที

- ก่อนการให้เซลล์นักฆ่าแก่ผู้ป่วยนั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อสร้างสภาวะที่เหมาะสมต่อการทำงานของเซลล์นักฆ่าที่ให้เข้าไปใหม่และป้องกันไม่ให้เซลล์ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยรบกวนการทำงานของเซลล์นักฆ่าที่ได้รับเข้าไป

- หลังจากการได้รับเซลล์แล้วผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาชนิดพิเศษเพื่อช่วยให้เซลล์นักฆ่าที่ได้รับเข้าไปสามารถเพิ่มจำนวนต่อไปได้ในตัวผู้ป่วย เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา

อ.นพ.กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยเซลล์บำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงแผนการวิจัยต่อไปว่า

"สำหรับการเตรียมตัวสู่ก้าวต่อไปในช่วงปีที่ผ่านมานี้ ทางศูนย์ฯได้รับความอนุเคราะห์จากทางสำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในการให้คำแนะนำในด้านปรับปรุงห้องปฏิบัติการสะอาดพิเศษสำหรับการผลิตเซลล์ เพื่อใช้กับผู้ป่วยรวมถึงกระบวนการควบคุมการผลิตเซลล์ เพื่อใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งในเบื้องต้นทางสำนักยา ได้อนุมัติแบบแปลนสำหรับการปรับปรุงห้องปฏิบัติการดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย ทางศูนย์ฯกำลังดำเนินการปรับปรุงห้องปฏิบัติการดังกล่าว และกระบวนการควบคุมการผลิตเซลล์ เพื่อการรับรองตามมาตรฐานการผลิตเซลล์สำหรับใช้ในผู้ป่วยภายในสถานพยาบาล สำหรับการดำเนินการวิจัยทางคลินิกด้านเซลล์บำบัด สำหรับโรคมะเร็งและเตรียมพร้อม สำหรับการขึ้นทะเบียนการรักษากับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต่อไปในอนาคต"

"นอกจากการวิจัยและพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิลอยด์ด้วยเซลล์นักฆ่าแล้วทางศูนย์ยังมีการวิจัยและพัฒนาการรักษามะเร็งด้วยเซลล์บำบัดชนิดอื่นๆ อีกได้แก่ ที-เซลล์ที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้จำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง (Chimeric Antigen Receptor T-cell: CAR T-cell) สำหรับการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดลิมฟอยด์, ที-เซลล์ที่มีความจำเพาะต่อไวรัส (Virus specific T-cell) สำหรับการรักษาการติดเชื้อไวรัสภายหลังการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด และโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก และวัคซีนมะเร็งจากเดนไดรติกเซลล์ (Dendritic cell vaccine) โดยจะนำความคืบหน้าของโครงการต่างๆ มาแจ้งในโอกาสต่อไป" อ.นพ.กรมิษฐ์ กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4