มูลนิธิเวชดุสิต ร่วมกับ รพ.หัวใจกรุงเทพ เปิดตัวโครงการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วแต่กำเนิดผ่านสายสวน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จำนวน 14 ราย เนื่องในวันหัวใจโลก

พฤหัส ๑๙ กันยายน ๒๐๑๙ ๐๙:๔๖
เนื่องในวันหัวใจโลก 2562 และโอกาสครบรอบ 14 ปี โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ จัดงาน World Heart Day : BE A HEART HERO พร้อมเปิดตัวโครงการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter ASD Closure) ให้กับผู้ป่วย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งทางมูลนิธิเวชดุสิต ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยการกำกับดูแลของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ดำเนินโครงการรักษาให้ผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิด ชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว ซึ่งมีกายวิภาค หรือมีลักษณะรอยโรคที่เหมาะสม ตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา จำนวน 14 ราย ซึ่งโรคนี้พบได้บ่อยและมาพบแพทย์ตั้งแต่ยังเด็ก ส่วนใหญ่จะมีอาการและมาพบแพทย์เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว อาการใจสั่น เหนื่อยง่าย ยิ่งถ้าปล่อยไว้นานอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจล้มเหลวได้

นพ.ประดับ สุขุม ที่ปรึกษา รพ.หัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า รพ.หัวใจกรุงเทพ ก่อตั้งขึ้นจากศูนย์หัวใจ ซึ่งเดิมเป็นศูนย์รักษาโรคเฉพาะทางของโรงพยาบาลกรุงเทพมาก่อน แต่ด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคหัวใจ ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ จึงได้ก่อตั้ง "โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ" ในปีพ.ศ.2548 เป็นโรงพยาบาลชั้นนำด้านโรคหัวใจของประเทศไทย ที่มีความพร้อมด้วยปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ บุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขา เทคโนโลยีที่ทันสมัย และการให้บริการครบครันตั้งแต่ การป้องกันโรคหัวใจ การตรวจรักษา และ การฟื้นฟูส่งเสริมสมรรถภาพหัวใจของผู้ป่วยตามมาตรฐานสากล เพื่อความพึงพอใจของผู้รับบริการ ดำเนินการจวบจนถึงปัจจุบันรวมเป็นระยะเวลา 14 ปี ให้การรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจประมาณปีละ 100,000 ราย ทีมแพทย์มีประสบการณ์ในการผ่าตัดหัวใจประมาณ 300 รายต่อปีและทำหัตถการสวนหัวใจผู้ป่วยประมาณปีละ1,000 ราย ซึ่งในปีนี้ทางโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ร่วมกับมูลนิธิเวชดุสิตฯ เปิดตัว โครงการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด โดยการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายของการรักษาในครั้งนี้ เป็นผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายได้เอง รวมถึงต้องรอคอยการรักษาที่โรงพยาบาลอื่นเป็นระยะเวลานาน จำนวน 14 ราย และมีกายวิภาคหรือลักษณะรอยโรคที่เหมาะสมสำหรับการรักษาด้วยเทคนิคสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาในการรักษา จุดมุ่งหมายที่รพ. อยากให้ผู้ป่วยโรคหัวใจได้รับการรักษาให้หายขาด พร้อมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยไม่ต้องรับการผ่าตัด เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพื่อสังคมที่ทางมูลนิธิเวชดุสิตฯ และโรงพยาบาลอยากมอบสุขภาพที่ดีให้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ

นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี ผู้อำนวยการ รพ.หัวใจกรุงเทพ และในฐานะอายุรแพทย์โรคหัวใจ ชำนาญด้านหัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด กล่าวว่า โรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว (ASD : Atrial Septal Defect Secundum trype) เกิดจากการที่มีรูรั่วบริเวณผนังกั้นหัวใจห้องบน ส่งผลให้เลือดแดงไหลจากหัวใจห้องบนซ้ายไปห้องบนขวาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หัวใจมีโอกาสโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในเด็กเล็กอาจจะไม่ปรากฏอาการ แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้น จะมีอาการหรือบางรายตรวจพบจากการตรวจเช็กสุขภาพด้านหัวใจ ซึ่งอายุรแพทย์หัวใจจะฟังได้ยินเสียงหัวใจที่ผิดปกติ ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น หรือบางรายมาด้วยอาการของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วชนิด Secundum type พบได้ประมาณ 75%ของผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วทั้งหมด

การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว สามารถทำได้โดยการฟังเสียงหัวใจและการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจความถี่สูง(Echocardiogram) หลักการทำงานของเครื่องคือ ส่งคลื่นเสียงที่ปลอดภัยเข้าไปในทรวงอกแล้วรับเสียงที่สะท้อนออกมาไปแปลเป็นภาพให้เห็นบนจอ ซึ่งจะแสดงถึงรูปร่าง ขนาด การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ และลิ้นหัวใจว่าปกติหรือไม่ ซึ่งการตรวจด้วยวิธีนี้ จะเป็นการตรวจเพื่อดูขนาดของห้องหัวใจตามแรงการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจผ่านผนังหน้าอก การทำงานของลิ้นหัวใจ ภาวะน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ ช่องหัวใจโต และสามารถตรวจหาภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการเหนื่อยง่าย หรือแน่นหน้าอก การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจความถี่สูง(Echocardiogram) ที่ได้รับความนิยมมี 2 แบบ ได้แก่ 1)การทำผ่านทางผนังหน้าอก (Transthoracic Echocardiogram) ผู้ป่วยไม่ต้องเตรียมตัวมาก สะดวก ภาพให้รายละเอียดได้ดี แต่หากผู้ป่วยมีผนังหน้าอกหนา ผนังหน้าอกผิดรูป หรือช่องระหว่างซี่โครงแคบอาจได้ภาพที่ ไม่ชัดเจนควรตรวจในลักษณะส่องกล้องจะแน่ชัดกว่า 2)การส่องกล้องผ่านทางหลอดอาหาร (Transesophageal Echocardiogram) เป็นการตรวจหัวใจจากด้านในทางเดินอาหารที่อยู่ด้านหลังหัวใจเพื่อให้ได้ภาพการเคลื่อนไหวของหัวใจที่ชัดเจน ช่วยให้การวินิจฉัยได้ชัดเจนและต้องทำในทุกรายก่อนส่งผู้ป่วยมาปรึกษา

ในส่วนของการรักษาโรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วชนิด Secundum type(รอยรั่วตรงกลางผนัง) หากผู้ป่วยมีรูรั่วขนาดเล็กมาก มีโอกาสที่รูจะปิดได้เอง แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อย ซึ่งหากรูที่รั่วมีขนาดเล็กและไม่มีอาการหรือส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันอาจไม่ต้องทำการรักษาเพิ่มเติม แต่หากรูที่รั่วนั้นมีขนาดปานกลางตั้งแต่ 1 เซนติเมตรจนถึง 3 เซนติเมตรขึ้นไป ซึ่งถือเป็นรูขนาดใหญ่ ต้องมาพบอายุรแพทย์โรคหัวใจเพื่อตรวจเช็กหัวใจโดยละเอียด ในรายที่มีลักษณะรูรั่วที่เหมาะสม แพทย์สามารถทำการรักษาด้วย เทคนิคสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter ASD Closure) โดยนำอุปกรณ์ที่เป็นโลหะ เข้าไปปิดรูรั่วระหว่างผนังกั้นห้องหัวใจผ่านทางสายสวนหัวใจโดยนำเข้าทางหลอดเลือดดำที่ขาหนีบขา เมื่อถึงบริเวณรูรั่วอุปกรณ์จะถูกปล่อยไปวางยังตำแหน่งรูรั่วเพื่อปิดรูที่รั่ว หลังจากนั้นร่างกายจะค่อยๆ สร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาคลุมภายใน 3 - 6 เดือน โดยอุปกรณ์ที่เลือกใช้จะขึ้นอยู่กับลักษณะและขนาดของรูรั่วเป็นสำคัญ วิธีนี้มีข้อดีคือ ลดความเสี่ยงและลดความเจ็บปวดจากการผ่าตัด ช่วยให้แผลมีขนาดเล็ก ใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน ประมาณ 48 ชั่วโมง ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว หลังทำการรักษาผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจติดตามผลด้วยการตรวจเอคโคหัวใจ หรือการตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เป็นระยะๆ ทุก 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี จากการติดตามผู้ป่วยหลังการรักษา แพทย์จะนัดติดตามอาการผู้ป่วยเป็นระยะๆ โดยการตรวจเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เป็นระยะๆ ซึ่งผลการรักษาพบว่าเทคนิคสายสวนนี้สามารถปิดรูรั่วได้ สำเร็จประมาณ 98% และพบภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า 2% การดูแลตัวเองของคนไข้หลังผ่าตัดคือ งดการยกของหนักประมาณ 1 เดือน งดออกกำลังกายหนักๆ ในช่วงระยะ 3 เดือนแรก รับประทานยาต้านเกล็ดเลือดตามที่แพทย์สั่ง คุมกำเนิดเป็นเวลา 1 ปี สำหรับผู้หญิงวัยเจริญพันธ์ รวมถึงกินยาป้องกันการติดเชื้อ (Infective endocarditis prophylaxis) ในช่วง 6 เดือนแรก

อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วด้วยเทคนิคสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่สามารถทำได้ทุกราย ขึ้นอยู่กับขนาด ลักษณะกายวิภาค และพยาธิสภาพของรูรั่วระหว่างผนังกั้นห้องหัวใจของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ถ้ารูที่รั่วมีขนาดมากกว่า 36 มิลลิเมตร หรือมีรูรั่วหลายรู ในรายที่มีโรคหัวใจอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ลิ้นหัวใจรั่ว ก็ต้องพิจารณาร่วมกับศัลยแพทย์ทรวงอกเพื่อผ่าตัดรักษาต่อไป การรักษาด้วยเทคนิคสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter ASD Closure) เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ ขึ้นอยู่กับความชำนาญ ประสบการณ์ของทีมแพทย์หัวใจ และความพร้อมของเครื่องมือ อุปกรณ์ และห้องปฏิบัติการณ์ตรวจสวนหัวใจเป็นสำคัญ เพื่อให้การผ่าตัดประสบผลสำเร็จและลดปัญหาแทรกซ้อนในการรักษา

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4