มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวโครงการวิจัย “สุขภาพหนึ่งเดียวและการดื้อยาปฏิชีวนะในประเทศไทย” หวังเป็นแนวทางพัฒนามาตรการควบคุมและป้องกันการดื้อยาปฏิชีวนะในประเทศไทย

พุธ ๑๘ ธันวาคม ๒๐๑๙ ๑๓:๕๑
มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ มหาวิทยาลัยบริสตอล สหราชอาณาจักร สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และเครือข่าย เปิดตัวโครงการวิจัย "สุขภาพหนึ่งเดียวและการดื้อยาปฏิชีวนะในประเทศไทย" โดยมี นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เปิดประธานเปิดงาน พร้อมนี้ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ นพ. วชิร คชการ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร้อยตรีพงศธร ศิริสาคร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม รองศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ ผู้ช่วยประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายธุรการวิทยาศาสตร์ และเครือข่ายวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมเป็นเกียรติในงาน ณ โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพมหานคร

ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้แสดงปาฐกถา เรื่อง "กระทรวงการอุดมศึกษาฯ กับ วิกฤติเชื้อดื้อยา" พร้อมทั้ง การเสวนาเรื่อง "สุขภาพหนึ่งเดียว: ทางเลือก และ ทางรอด จากวิกฤติเชื้อดื้อยา" โดย ผู้ทรงคุณวุฒิ

โครงการวิจัย "สุขภาพหนึ่งเดียวและการดื้อยาปฏิชีวนะในประเทศไทย" เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 สถาบัน คือมหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะสัตวแพทยศาสตร์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยบริสตอล สหราชอาณาจักรและมหาวิทยาลัยเครือข่าย และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ภายใต้ทุนสนับสนุนจาก Medical Research Council สหราชอาณาจักร เพื่อศึกษาปัจจัยที่ก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ ที่มุ่งเน้นการศึกษาขนาดปัญหา และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดื้อยาปฏิชีวนะในคน สัตว์ พืช อาหาร และสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health approach)

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตั้งเป้าหมายภายในปี 2564 มีการลดการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ลงร้อยละ 30 มีการให้ความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในกลุ่มเกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และเร่งพัฒนาระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ประเทศไทยยังร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เพื่อดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพในภาคเกษตร ปศุสัตว์ และสัตว์น้ำ ให้สอดคล้องกับแผนงานของสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ประกอบการภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สมาคมวิชาชีพต่างๆ เกษตรกร และองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อจัดการปัญหาการดื้อยาตามแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพที่ดีของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติในการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ พ.ศ. 2560 – 2564

รองศาสตราจารย์ ดร. ลือชัย ศรีเงินยวง คณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การดื้อยาปฏิชีวนะเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตมนุษย์ทั่วโลก เนื่องจากทำให้ประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะลดลงหรือหมดไป ไม่สามารถยับยั้งหรือทำลายเชื้อโรคดังกล่าวได้ โดยในประเทศไทยถือเป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุข โดยพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะปีละประมาณ 80,000 ราย ต้องอยู่รักษาในโรงพยาบาลนานขึ้น และมีโอกาสเสียชีวิตสูง สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ปัจจัยสำคัญที่สัมพันธ์กับการดื้อยาปฏิชีวนะมีความซับซ้อนเชื่อมโยงทั้งเชื้อจุลชีพ การปศุสัตว์ ระบบบริการสุขภาพ การเกษตร พฤติกรรมของการดำเนินชีวิต จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อผลสำเร็จในการแก้ปัญกาในระยะยาวและยั่งยืน โดยแต่ละสถาบันจะทำหน้าที่แตกต่างกัน ได้แก่

1. มหาวิทยาลัยบริสตอล นำทีมผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จากมหาวิทยาลัยบริสตอล มหาวิทยาลัยบาธ มหาวิทยาลัยเอ็กซีเตอร์ และสถาบันอื่นๆ ให้คำแนะนำและร่วมดำเนินการโครงการ

2. สถาบันวิจัยจุฬาภณ์ จะทำหน้าที่ตรวจวัด วิเคราะห์สิ่งปนเปื้อน ที่ใช้ในการเกษตรและแร่ธาตุต่างๆ ที่เกิดตามธรรมชาติและนำมาใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ

3. มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะทำหน้าที่ตรวจหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในกลุ่มเป้าหมายที่เก็บจากประชาชน สัตว์ อาหาร และสิ่งแวดล้อม ศึกษาลักษณะทางกายภาพและพันธุกรรมของแบคทีเรียดื้อยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ ทำการศึกษาการใช้ยาต้านแบคทีเรียและการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียในสัตว์ ทั้งด้านปริมาณและรูปแบบการใช้ยา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จะทำการศึกษามิติทางสังคมวัฒนธรรมของการใช้ยาปฏิชีวนะและการดื้อยา ศึกษาเงื่อนไขทางสังคม วัฒนธรรม พฤติกรรม เศรษฐกิจและระบบสุขภาพที่กำหนดการใช้ยา เชื่อมโยงปัญหาการดื้อยา ซึ่งในการเดินหน้าโครงการได้รับความร่วมมือจากจังหวัดนครปฐมในการใช้พื้นที่อำเภอบางเลนเป็นพื้นที่ต้นแบบในการปฏิบัติการวิจัย ระหว่างปี 2561 – 2563 ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี ทั้งนี้ ข้อมูลที่จะได้จากโครงการนี้จะสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางการพัฒนามาตรการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้