สถาบันประสาทวิทยาจับมือกสิกรไทย เปิดตัวแอป PNI PLUS ตัวช่วยพบแพทย์ยุคนิวนอร์มอล ลดความแออัดในการรับบริการ เข้าถึงได้ทุกสิทธิ์การรักษา

ศุกร์ ๑๔ สิงหาคม ๒๐๒๐ ๐๙:๒๔
สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย เปิดตัว PNI PLUS แอปพลิเคชันทันยุครับชีวิตวิถีใหม่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการการรักษาโรคสมองและระบบประสาทไขสันหลังสำหรับคนไทยทั้งประเทศให้ง่ายขึ้น ช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาล ตอบโจทย์การใช้บริการที่สะดวกรวดเร็วขึ้น
สถาบันประสาทวิทยาจับมือกสิกรไทย เปิดตัวแอป PNI PLUS ตัวช่วยพบแพทย์ยุคนิวนอร์มอล ลดความแออัดในการรับบริการ เข้าถึงได้ทุกสิทธิ์การรักษา

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดี กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า PNI PLUS เป็นแอปพลิเคชันที่จะช่วยทำให้โรงพยาบาลของรัฐก้าวสู่ความเป็น Smart Hospital ที่แท้จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ระยะห่างระหว่างผู้ให้บริการทางด้านสาธารณสุขกับประชาชนคนไทยผู้รับบริการห่างออกไป ตรงกันข้ามแอปพลิเคชัน PNI PLUS จะเป็นตัวกลางที่เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ด้านโรคสมองและระบบประสาทไขสันหลังของประชาชนจากทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น ซึ่งสถาบันประสาทวิทยามุ่งเน้นพัฒนาการให้บริการที่ง่ายและสะดวกมาก โดยเริ่มต้นจากที่บ้าน ตั้งแต่การลงทะเบียนผู้ป่วย ตรวจสอบสิทธิ์การรักษาซึ่งเป็นแนวทางปกติของโรงพยาบาลภาครัฐ สามารถทราบขั้นตอนและจำนวนคิวที่ต้องรอ โดยในระหว่างนี้ ผู้รับบริการสามารถไปนั่งรับประทานอาหาร หรือทำธุระต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องคิวตรวจ และเมื่อใกล้ถึงเวลารับบริการจะมีการแจ้งเตือน จึงค่อยเดินทางมายังจุดรับบริการ ซึ่งถือเป็นการให้บริการแบบวิถีใหม่หรือนิวนอร์มอล (New Normal) ที่จะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลของรัฐทั้งในช่วงเวลาปกติ และในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเช่นในปัจจุบัน

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา เปิดเผยว่าแอปพลิเคชัน PNI PLUS ได้รับการออกแบบให้สามารถใช้งานได้ง่ายไม่ซับซ้อนเพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ของสถาบันประสาทวิทยาเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มคนไข้หลักของสถาบันประสาทวิทยาและบางส่วนเป็นผู้ป่วยทุพพลภาพที่มีความยากลำบากต่อการเข้ามารับการรักษาในแต่ละครั้งจึงต้องมีญาติมาด้วย โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยมารักษาประมาณ 400-600 รายต่อวัน หรือกว่า 9,900-12,000 รายต่อเดือน โดยในวันที่มีคลินิกเฉพาะโรคจะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอีก 250-350 รายต่อวัน ซึ่งเป็นจำนวนที่ค่อนข้างหนาแน่น ทำให้ผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการต้องรอคอยเป็นเวลานาน ดังนั้นการจะนำเทคโนโลยีใดมาใช้จึงต้องทำให้ขั้นตอนการเข้ารับบริการง่ายขึ้น สะดวกสบายขึ้น แต่หากผู้รับบริการท่านใดไม่ถนัด ก็ยังเปิดช่องทางให้บริการแบบปกติ ซึ่งจะได้รับการบริการที่สะดวกสบายไม่แตกต่างจากการใช้แอปพลิเคชัน เนื่องจากเมื่อมีผู้รับบริการส่วนหนึ่งหันไปใช้แอปพลิเคชัน ก็จะทำให้ผู้ขอรับบริการตามช่องทางปกติมีจำนวนลดลง จึงเพิ่มความคล่องตัวและความสะดวกสบายแก่ผู้ที่ไม่ถนัดใช้แอปพลิเคชัน สำหรับผู้ที่ใช้ PNI PLUS ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดคือ การลดระยะเวลาการใช้บริการในแต่ละขั้นตอน ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วย หรือญาติผู้ป่วยจัดสรรเวลาพบแพทย์ในแต่ละครั้งได้ดียิ่งขึ้น

นายทวี ธีระสุนทรวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาธนาคารได้ร่วมพัฒนาแอปพลิชันให้แก่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมาแล้วหลายแห่ง โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญ มาร่วมพัฒนาแอปพลิเคชันทางการแพทย์ให้คนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งครั้งนี้ได้ร่วมมือกับสถาบันประสาทวิทยา สถาบันทางการแพทย์เฉพาะทางโรคสมองและระบบประสาทไขสันหลังของกรมการแพทย์ ที่มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจำนวนมากในแต่ละวัน การลดภาระและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการจึงเป็นโจทย์สำคัญ ซึ่งแอปพลิเคชัน PNI PLUS เอื้อประโยชน์ทั้งต่อ “ผู้รับบริการ” ได้แก่ ผู้ป่วย และญาติผู้ป่วย ที่ช่วยลดเวลาการเข้ารับบริการในขั้นตอนต่าง ๆ ที่สั้นลง และ “ผู้ให้บริการ” ได้แก่ แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่สามารถบริหารจัดการการให้บริการของโรงพยาบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยลดงานการให้บริการที่ไม่จำเป็นลง มีเวลาไปปฏิบัติงานอื่นที่เพิ่มคุณค่าให้กับโรงพยาบาลและผู้รับบริการมากขึ้น

นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยยังได้เชื่อมต่อบริการทางการเงิน ให้สามารถชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน PNI PLUS ได้ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต QR CODE หรือโอนเงินผ่านแอปพลิเคชัน K PLUS ซึ่งสร้างความสะดวกให้กับผู้รับบริการที่สามารถชำระเงินค่ารักษาภายใน 5 นาที จากเดิมที่ใช้เวลาประมาณ 30 นาที และผู้ใช้บริการยังสามารถบริจาคเงินให้กับสถาบันประสาทวิทยา ผ่านระบบ e-Donation บนแอปพลิเคชันเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยไม่จำเป็นต้องเก็บหลักฐานการบริจาค นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อการบริหารจัดการเงินของสถาบันประสาทวิทยา เช่น ลดความยุ่งยากด้านการบริหารเงินสดประจำวัน และลดภาระหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในห้องการเงิน เป็นต้น อีกทั้งตัวแอปพลิเคชัน ยังจะบันทึกข้อมูลการวินิจฉัยของแพทย์ ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ประวัติการรับยา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยสำหรับกรณีฉุกเฉิน หรือเพื่อการรับการรักษาต่อต่างโรงพยาบาล โดยธนาคารกำลังพัฒนาแอป PNI PLUS ให้สามารถชำระเงินและเพิ่มข้อมูลผลการตรวจต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ให้สามารถใช้งานได้ในช่วงต้นปีหน้า

ทั้งนี้ ผู้รับบริการของสถาบันประสาทวิทยาสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน PNI PLUS โดยสามารถค้นหาได้จากทั้งระบบปฎิบัติการ Android และ IOS เมื่อดาวน์โหลดแล้วก็สามารถเปิดใช้บริการได้ทันที โดยสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ พร้อมที่จะพัฒนาระบบการให้บริการควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการบริการ เพื่อประชาชนคนไทยมีสุขภาพดี เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการทางด้านสาธารณสุขมีความสุข เพื่อระบบสุขภาพของคนไทยที่ยั่งยืน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4