จุดประกายนักวิทย์ ผ่านชีวิต “ชาลส์ ดาร์วิน”

จันทร์ ๐๕ ตุลาคม ๒๐๐๙ ๑๓:๓๕
ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สวทช.

ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ร่วมกับ บริติช คอนซิล จัดกิจกรรมดีๆ ก่อนจะผ่านพ้นปีแห่งวิวัฒนาการ เนื่องในวาระครบรอบ 200 ปีเกิดชาลส์ ดาร์วิน และ 150 ปีการตีพิมพ์หนังสือกำเนิดชีวิต ด้วยการเชิญ ศาสตราจารย์ โทนี่ แคมเบล ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการศูนย์ด้านชีววิทยาและวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากประเทศอังกฤษ มาเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง “ชาลส์ ดาร์วิน แรงบันดาลใจในศตวรรษที่ 21” ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของนักธรรมชาติวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ กับการค้นพบทฤษฎีอันลือลั่น “วิวัฒนาการผ่านการคัดสรรตามธรรมชาติ” หวังจุดประกายและเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยก้าวสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีในอนาคต ทั้งนี้มีเยาวชนจากทั่วประเทศเข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน

“บัดนี้ ชาลส์ ดาร์วิน มีอายุ 200 ปี และสิ่งที่เขาค้นพบก็มีอายุมากกว่า 150 ปีแล้ว แต่ว่าทุกวันนี้ความรู้ที่ ดาร์วิน ค้นพบขึ้นกลับยังคงมีอิทธิพลและมีบทบาทอย่างมากในการค้นหาความรู้ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์กระทั่งศตวรรษที่ 21 นี้” ศาสตราจารย์โทนี่ แคมเบล เริ่มต้นการบรรยายด้วยคำบอกเล่าที่แสดงให้เห็นถึงความทรงพลังของทฤษฏีวิวัฒนาการ ผลงานของนักธรรมชาติวิทยาที่ยังคงมีอิทธิพลต่อมนุษยชาติมาจนถึงทุกวันนี้

ศาสตราจารย์โทนี่ เล่าว่า คุณสมบัติที่ทำให้ ชาลส์ ดาร์วิน ก้าวสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ คือ ความกระตือรือร้นใฝ่หาความรู้ ความอยากรู้อยากเห็น ชอบตั้งคำถาม และยังมีคุณลักษณะสำคัญของการเป็นนักธรรมชาติวิทยาที่ดีทุกประการ นั่นคือ ความรักในธรรมชาติ รวมทั้งยังมีพรสวรรค์ในการเฝ้าสังเกตที่ต้องใช้ทั้งการมอง การดู การฟัง และการจดบันทึก คุณสมบัติที่ดาร์วินมีมาตั้งแต่เยาว์วัยและใช้มันตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่เดินทางกับเรือหลวงบีเกิ้ล

“ดาร์วินสังเกตเห็นความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ได้พบฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ซึ่งมีลักษณะที่ละม้ายคล้ายคลึงกับสัตว์บางชนิดที่ยังมีชีวิตอยู่ในสมัยนั้น อีกทั้งการได้เยือนหมู่เกาะกาลาปากอสก็ทำให้เขาได้พบกับเต่าบกยักษ์และนกฟินซ์ที่มีลักษณะแตกต่างจากบนแผ่นดินใหญ่ ดาร์วินบันทึกข้อมูลที่พบเห็นและลงมือเก็บตัวอย่างทั้งซากดึกดำบรรพ์ พืชและสัตว์ที่น่าสนใจ ส่งไปให้นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญศึกษาระหว่างการเดินทาง ซึ่งร่องรอยความมหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เองที่นำมาซึ่งการค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการผ่านการคัดสรรตามธรรมชาติในที่สุด”

ศาสตราจารย์โทนี่ เล่าว่า ในยุคสมัยนั้นแนวคิดสำคัญที่กล่าวถึงวิวัฒนาการมีอยู่ 2 แนวคิด คือ แนวคิดของลามาร์กและแนวคิดของดาร์วิน แต่สิ่งที่ทำให้แนวความคิดของดาร์วินโดดเด่นและถูกกล่าวถึงมากกว่า อาจเพราะด้วยคำอธิบายถึงการเกิดวิวัฒนาการที่เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล โดยยกตัวอย่างวิวัฒนาการของยีราฟ ลามาร์กเชื่อว่าการที่ยีราฟคอยาวนั้นเกิดจากการที่ยีราฟค่อยๆ ยืดคอออกไปเรื่อยๆ เพื่อให้สามารถกินต้นไม้ที่อยู่สูงได้ ขณะที่ดาร์วินอธิบายว่าการที่ยีราฟคอยาวเกิดขึ้นจากเดิมบรรพบุรุษของยีราฟมีหลายขนาดทั้งตัวเตี้ย คอสั้น และตัวสูง คอยาว แต่ในช่วงสภาวะที่ขาดแคลนอาหารเหลือเพียงแต่ต้นไม้ที่อยู่สูง ยีราฟตัวสูง คอยาวจึงมีโอกาสในการกินใบไม้ได้มากกว่า ส่วนยีราฟที่ตัวเตี้ยและคอสั้นกว่าเมื่อกินอาหารไม่ได้ก็ค่อยๆล้มหายตายจากไป ดังนั้นยีราฟที่ตัวสูงและคอยาว จึงสามารถอยู่รอดและผลิตลูกหลานและถ่ายทอดลักษณะตัวสูง คอยาวต่อไป และนี่คือหัวใจของกระบวนการคัดสรรตามธรรมชาติ

ทั้งนี้ข้อค้นพบดังกล่าวล้วนเกิดขึ้นจากการพิจารณาจากลักษณะทางกายภาพที่ปรากฏในสิ่งมีชีวิตเท่านั้น แต่ดาร์วินยังคงเชื่อว่าลักษณะความแปรผันเหล่านั้นต้องสืบทอดมาจากทางบรรพบุรุษด้วยรูปใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่นานนักเกรเกอร์ เมนเดล ได้ค้นพบหลักฐานการถ่ายทอดทางพันธุกรรม องค์ความรู้สำคัญที่ช่วยอธิบายและขยายภาพของแนวคิดวิวัฒนาการให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ก็ยังได้ค้นพบองค์ความรู้ใหม่ๆอีกมากมาย ทั้งการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม พันธุศาสตร์ประชากร ชีววิทยา ชีวเคมี ชีววิทยาระดับโมเลกุล ดีเอ็นเอ ฯลฯ ซึ่งความรู้ทั้งหมดนี้ล้วนสนับสนุนแนวความคิดการคัดเลือกตามธรรมชาติของดาร์วินให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

“ทุกวันนี้เราสามารถนำความรู้ทางดีเอ็นเอมาอธิบายการแปรผันทางพันธุกรรมในระดับโมเลกุลได้ และพบว่ายีนของมนุษย์และลิงมีความคล้ายกันถึง 94% เราศึกษาจนทราบว่าการที่ปลาปักเป้าสามารถสร้างสารพิษให้เหยื่อเป็นอัมพาต ขณะที่ตัวมันเองทนต่อพิษที่สร้างได้ ก็เนื่องมากการกลายพันธุ์ของยีน ที่ทำให้โปรตีนในเนื้อเยื่อทนพิษได้ หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่เชื้อแบคทีเรีย Stapphylococcus aureus ดื้อยาปฏิชีวนะเพนิซิลลิน รวมถึงการดื้อยาของยุง แมลงวัน ต่อสารดีดีที ทั้งหมดนี้ก็ล้วนมาจากการกลายพันธุ์ ซึ่งเป็นกระบวนการส่วนหนึ่งของการคัดสรรตามธรรมชาติแทบทั้งสิ้น และแม้กระทั่งในศตวรรษที่ 21 นี้ ทฤษฎีวิวัฒนาการผ่านการคัดสรรตามธรรมชาติ ก็ยังคงเป็นมรดกทางความคิดที่เป็นแรงบันดาลใจให้นักวิทยาศาสตร์ต่างพยายามค้นหาคำตอบและสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆต่อไป” ศาสตราจารย์โทนี่ กล่าวทิ้งท้าย

ปัจจุบันศาสตราจารย์โทนี่ แคมเบล เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟ และเป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการของศูนย์ดาร์วินด้านชีววิทยาและวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมเยาวชน เช่น การส่งเสริมการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ การจัดกิจกรรมแหล่งเรียนรู้ด้านวิวัฒนาการสำหรับเด็กและเยาวชน สำหรับในส่วนของผลงานที่ผ่านมา มีการตีพิมพ์ผลงานวิชาการมากกว่า 200 ชิ้นงาน และได้รับการจดสิทธิบัตรหลายชิ้น โดยงานวิจัยส่วนใหญ่ล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากชาลส์ ดาร์วิน อาทิ การค้นหากลไกการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตที่น่าอัศจรรย์และวิวัฒนาการต่างๆ กระบวนการของการเรืองแสงของสิ่งมีชีวิต (bioluminescence) และการประยุกต์ใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล The Queen's Anniversary Prize for Higher Education in 1998 และได้รับจัดอันดับเป็นเป็นหนึ่งในร้อยของบุคคลสำคัญของชาวอังกฤษที่สร้างผลงานประดิษฐ์ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา

นายนพเดช อำนาจผูก นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนลำปางกัลยาณี กล่าวว่า ภายหลังจากที่ได้รับฟังการบรรยาย ทำให้เข้าใจว่าคุณสมบัติที่ดีของนักวิทยาศาสตร์ที่เคยท่องจำว่าต้องช่างสังเกต ตั้งคำถาม จดบันทึก นั้นมีประโยชน์อย่างไร เพราะทุกอย่างถูกพิสูจน์อยู่ในชาลส์ ดาร์วิน หมดเลย และก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ยังได้ชมนิทรรศการเปิดโลกมหัศจรรย์แห่งวิวัฒนาการ ยิ่งทำให้รู้สึกชื่นชมในประวัติและผลงานของดาร์วินมาก ซึ่งก็เป็นแรงบันดาลใจให้เรานำกลับไปปรับใช้ในการทำโครงงานมากขึ้นครับ

ด้านนางสาวพัธมน งามยิ่งยวด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสเข้าฟังการบรรยายจากนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากชาลส์ ดาร์วิน คือ วิทยาศาสตร์ต้องการหลักฐาน ซึ่งดาร์วินได้รวบรวมความรู้และหลักฐานมากมายมาใช้สนับสนุนความคิดของเขา ทำให้วันนี้ความรู้ที่เขาคิดยังคงอยู่ และกว่าจะได้ทฤษฎีหนึ่งขึ้นมาจะต้องผ่านการคิดซ้ำเล่าซ้ำเล่าอย่างดี และแรงบันดาลใจที่ได้รับกลับไปวันนี้คือความมุ่งมั่นและความพยายาม ในการเดินตามเส้นทางที่เรารัก ซึ่งหากเป็นไปได้ก็อยากให้มีการจัดกิจกรรมแบบนี้บ่อยๆค่ะ

คำอธิบายภาพ

1-2 : ศาสตราจารย์โทนี่ แคมเบล

3 : ถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก

4 : เรียนรู้ฐานไข่...มหัศจรรย์แห่งสิ่งมีชีวิต

5 : เด็กๆกำลังสนใจกับการกำเนิดชนิดพันธุ์ใหม่ของหอยมรกต

6 : เด็กๆกำลังสนุกกับการครุ่นคิดกับเกมส์ชีวิตดาร์วิน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สวทช.โทร 02-564-7000 ต่อ 1489

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๑ ALLY ผนึก Mural ลงทุนซื้อหุ้นสมาคมมวยปล้ำสเปน หวังผลักดันมวยปล้ำสเปนขึ้นแท่นลีกหลักในยุโรปและลาตินอเมริกา
๑๖:๓๙ โอกาสจองซื้อหุ้นกู้บริษัทชั้นนำ ช.การช่าง เสนอขายช่วงวันที่ 25 - 29 เมษายน 2567 ชูผลตอบแทน 3.40 - 4.10% ต่อปี อันดับความน่าเชื่อถือ A- ติดต่อผ่าน ธ.กรุงเทพ และ ธ.กรุงไทย
๑๖:๕๔ บางจากฯ สนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาเยาวชนในทักษะแห่งอนาคต ผ่านโครงการ SI Sphere: Sustainable Intelligence-based Society Sphere โดย UN Global Compact Network
๑๕:๑๓ เปิดไลน์อัพ 10 ศิลปินหน้าใหม่มาแรงแห่งปีจาก Spotify RADAR Thailand 2024
๑๕:๐๘ อาร์เอส กรุ๊ป เดินหน้ากลยุทธ์ Star Commerce ยกทัพศิลปิน-ดารา เป็นเจ้าของแบรนด์ และดันยอดขายด้วย Affiliate Marketing ประเดิมส่งศิลปินตัวแม่ ใบเตย อาร์สยาม
๑๕:๒๐ กสิกรไทยผนึกกำลังเจพีมอร์แกน เปิดตัวโปรเจกต์คารินา ดึงศักยภาพบล็อกเชน ลดระยะเวลาธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ
๑๕:๐๖ สเก็ตเชอร์ส จัดกิจกรรม SKECHERS PICKLEBALL WORKSHOP ส่งเสริมสุขภาพและขยายคอมมูนิตี้กีฬา Pickleball ในไทย
๑๕:๕๖ SHIELD จับมือแอสเซนด์ มันนี่ และ Money20/20 Asia จัดกิจกรรมระดมเงินบริจาคแก่มูลนิธิรามาธิบดี
๑๕:๔๓ 'ASW' เตรียมโอนกรรมสิทธิ์ 4 คอนโดฯ ใหม่ ไตรมาส 2 ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และภูเก็ตมูลค่ารวมกว่า 6,600 ล้านบาท
๑๕:๔๑ โก โฮลเซลล์ สนับสนุนเกษตรกรไทย ปูพรมจำหน่ายผลไม้ฤดูกาล สดจากสวนส่งตรงถึงมือคุณ