"สมุนไพรไทย"กับโอกาสทางธุรกิจที่ไม่ควรมองข้าม

อังคาร ๐๑ กรกฎาคม ๒๐๑๔ ๑๐:๒๗
สมุนไพรไทยเป็นสินค้าที่มีโอกาสสูงในตลาดโลก ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า สมุนไพรกลุ่มเครื่องสำอางของไทยมีมูลค่าสูงถึง 180,000 ล้านบาท ขณะที่สมุนไพรกลุ่มอาหารเสริมมีมูลค่าการใช้และส่งออกรวม 80,000 ล้านบาท ส่วนสมุนไพรกลุ่มสปาและผลิตภัณฑ์มีมูลค่าการใช้และส่งออกประมาณ 10,000 ล้านบาท และสมุนไพรกลุ่มยาแผนโบราณตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งผลผลิตปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ มูลนิธิไทยคมเป็นองค์กรการกุศลที่มุ่งสนับสนุนด้านการศึกษาและพัฒนาเยาวชน และเล็งเห็นว่า โรงเรียนบ้านสามขา อ.แม่ทะ

จ.ลำปาง มีพื้นที่โดยรอบเป็นป่าไม้ซึ่งยังคงความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสมุนไพรกว่า 200 ชนิด จึงได้จัดโครงการ “จากสมุนไพรบ้านสามขา สู่สินค้าชุมชน” ขึ้นเพื่อสนับสนุนการแปรรูปสมุนไพรในป่าชุมชน โดยส่งเสริมให้กลุ่มเยาวชนเป็นพลังขับเคลื่อนในการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฎิบัติจริง(Project Base Learning)ไปพร้อมๆกับกลุ่มชาวบ้าน ระหว่างวันที่ 26 – 27 มิ.ย. 2557

โรงเรียนบ้านสามขา อ.แม่ทะ จ.ลำปาง มีพื้นที่โดยรอบเป็นป่าไม้ซึ่งยังคงความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสมุนไพรมากมายกว่า 200 ชนิด (จากการสำรวจของนักเรียนและชาวบ้าน) ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นตู้ยาประจำชุมชน สามารถใช้พืชสมุนไพรเหล่านี้ ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆตามความรู้และภูมิปัญญาที่มี ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ถูกต้องตามหลักทางการแพทย์ นักเรียน ครู และชาวบ้านได้เห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าว จึงมีแนวคิดที่จะเรียนรู้เรื่องสมุนไพรในป่าชุมชน ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เรียนรู้ถึงลักษณะ คุณประโยชน์ การแปรรูป และการจัดทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรในรูปแบบต่างๆ เป็นสินค้าของชุมชน สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทาง

กว่า 5 ปีที่ผ่านมา(2552-2556) มูลนิธิไทยคมและโรงเรียนบ้านสามขาได้ร่วมกันจัดโครงการที่มุ่งสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้แบบ(Project Base Learning) โดยมุ่งเน้นให้เยาวชนได้เรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง ตามแหล่งเรียนรู้ของแต่ละภูมิสังคม หนึ่งในนั้นคือโครงการ “เยาวชนบ้านสามขารู้คุณค่าสมุนไพรไทย” ซึ่งเป็นกิจกรรมทัศนศึกษาดูงาน ณ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี โดยมีเภสัชกรหญิง ดร.ศุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้างานเภสัชกรรมของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และหมู่บ้านดงบังซึ่งปลูกขยายพันธุ์สมุนไพรขายส่งให้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ หลังจากการศึกษาดูงาน เด็กนักเรียนและชาวบ้านได้กลับมาทดลองทำผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาทิเช่น ยาหม่องเสลดพังพอน โดยลงมือสกัดเสลดพังพอนเอง ยาหม่องไพล และยาหม่องตะไคร้โดยเด็กนักเรียนมีรายได้จากการขายของและเรียนรู้วิธีการนำเสนอและกลยุทธ์การขาย ต่อมาชาวบ้านและเด็กนักเรียนสนใจสร้างผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้มีความหลากหลายมากขึ้น

คุณบพิธ โกมลภิส ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิไทยคม กล่าวว่า “มูลนิธิไทยคมเป็นองค์กรการกุศลที่มุ่งสนับสนุนเยาวชนไทยให้ “คิดเป็น ทำเป็น” สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯได้สนับสนุนกิจกรรมหลัก 3 ด้านอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การศึกษา การพัฒนาเยาวชน และด้านกีฬา โดยเฉพาะการส่งเสริมเยาวชนให้เกิดการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฎิบัติจริง(Project Base Learning) อย่างโครงการ ”จากสมุนไพรบ้านสามขา สู่สินค้าชุมชน” ในครั้งนี้ ทางมูลนิธิฯเล็งเห็นว่าปัจจุบันตลาดโลกมีความต้องการสมุนไพรสูงและมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสมุนไพรกลุ่มเครื่องสำอางของไทยมีมูลค่าสูงถึง 180,000 ล้านบาท ขณะที่สมุนไพรกลุ่มอาหารเสริมมีมูลค่าการใช้และส่งออกรวม 80,000 ล้านบาท ส่วนสมุนไพรกลุ่มสปาและผลิตภัณฑ์มีมูลค่าการใช้และส่งออก ประมาณ 10,000 ล้านบาท สมุนไพรกลุ่มยาแผนโบราณตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีสมุนไพรกลุ่มสารสกัด กลุ่มที่ใช้ในอาหารสัตว์ และกลุ่มที่ใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยซึ่งนับว่าสมุนไพรไทยมีศักยภาพและสามารถนำรายได้เข้าประเทศสูงมาก เราเห็นว่าโรงเรียนบ้านสามขามีพื้นที่โดยรอบเป็นป่าไม้ซึ่งยังคงความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสมุนไพรกว่า 200 ชนิด น่าจะสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างงานสร้างอาชีพในอนาคตได้ และเยาวชนเป็นส่วนที่สำคัญมากในการขับเคลื่อนโครงการนี้ผ่านการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริงร่วมกับชาวบ้านในชุมชน ซึ่งทางมูลนิธิฯได้ประสานไปยัง คุณภัคร์ฑิลา สายเทพ เจ้าของธุรกิจสมุนไพร หจก.ภัคร์ฑิลา ไทย เฮอร์เบิล มาให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฎิบัติ ทุกขั้นตอนในการแปรรูปสมุนไพรสู่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตัวอย่างที่น่าสนใจอย่างการทำชาตะไคร้สูตรเฉพาะ ซึ่งทราบมาว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้า คาดว่าหากเยาวชนและชาวบ้านกลุ่มนี้ได้ศึกษาและเรียนรู้อย่างจริงจังจะสามารถผลิตสินค้าสมุนไพรอื่นๆได้อีก ในอนาคตนอกจากจำหน่ายในชุมชนแล้วหากสามารถผลักดันสู่ตลาดโลกได้ ชุมชนบ้านสามขาก็จะเป็นกลุ่มตัวอย่างให้ชุมชนอื่นๆต่อไป ในส่วนของมูลนิธิไทยคมเรายินดีจะให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วครับ”

คุณภัคร์ฑิลา สายเทพ เจ้าของธุรกิจสมุนไพร หจก.ภัคร์ฑิลา ไทย เฮอร์เบิล เผยว่า “เราสังเกตได้ว่ากลุ่มคนรักสุขภาพมีมากขึ้น จึงมีความคิดในการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง โดยใช้สมุนไพรใกล้ตัว คือตะไคร้ นำร่องในเรื่องของการสร้างแบรนด์สินค้าและการทำคอนแทรคฟาร์ม และคิดชาตะไคร้ที่มีลักษณะเป็นสูตรเฉพาะ เราจึงศึกษาขั้นตอนและวีธีในการผลิตชาตะไคร้ที่มีคุณภาพ ศึกษาตั้งแต่พันธุ์ตะไคร้ในแต่ละชนิด วีธีการปลูก จากนั้นจึงเริ่มสร้างแบรนด์ของตัวเอง ศึกษาแนวโน้มทางการตลาด ทั้งในประเทศและการส่งออกต่างประเทศ ทั้งชาสมุนไพรและการจำหน่ายสมุนไพรสด หลายคนบอกเราว่า ตะไคร้ มีอยู่ทั่วไปจะจำหน่ายได้เหรอ เรามองว่าเป็นคำถามที่อยู่ในกรอบมากๆ

เรามองสิ่งที่ธรรมดาให้เป็นความไม่ธรรมดา ดึงสิ่งใกล้ตัวให้เกิดประโยชน์ และสิ่งเหล่านี้สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ในชุมชนได้ ชาตะไคร้ ชารางจืด เป็นส่วนหนึ่งที่เราผลิตและจำหน่ายเท่านั้น ธุรกิจเราครอบคลุมการผลิตและจำหน่ายสมุนไพรอบแห้งทุกชนิด จำหน่ายต้นพันธุ์สมุนไพร ในอนาคตเรามุ่งที่จะผลิตยาสมุนไพร เวชสำอางที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร มุ่งพัฒนาและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชาชงสมุนไพรที่มีคุณภาพมาตรฐานแก่ผู้บริโภค จนไปถึงการสร้างงาน สร้างรายได้ในชุมชนอย่างยั่งยืน การกระจายงาน/สร้างรายได้สู่ชุมชน ให้ชุมชนได้มี

ส่วนร่วมในการเพาะปลูก ดึงสิ่งง่ายๆรอบตัวให้ เกิดมูลค่า ในอนาคตเราคาดการไว้ว่าถ้านึกถึงตะไคร้และสมุนไพรต้องนึกถึงแบรนด์สินค้าเรา ปัจจุบันมีเกษตรกรที่เข้าร่วมการเพาะปลูกแล้ว 6 ราย กลุ่มสมุนไพร 1 กลุ่ม หากเราหยุดเดิน ทีมงานที่รออยู่จะเดินพร้อมกับเราได้อย่างไร

นี่คือสิ่งสำคัญที่เราต้องเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของเราให้พร้อมรับตลาดที่มีอยู่ในอนาคต“

มูลนิธิไทยคมยังคงยึดมั่นในแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้เยาวชนไทย ‘คิดเป็น ทำเป็น’ สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก การจัดโครงการ”จากสมุนไพรบ้านสามขา สู่สินค้าชุมชน” ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีส่วนในการพัฒนาเยาวชนให้เกิดการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฎิบัติจริง(Project Base Learning) จากแหล่งเรียนรู้ของแต่ละภูมิสังคมจนไปถึงการสร้างงาน สร้างรายได้ในชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๐ แคสเปอร์สกี้เผย บริษัทมากกว่าครึ่งในเอเชียแปซิฟิกใช้ AI และ IoT ในกระบวนการทางธุรกิจ
๑๗:๑๔ พร้อมจัดงาน สถาปนิก'67 ภายใต้ธีม Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์
๑๗:๓๓ โรงแรมชามา เลควิว อโศก กรุงเทพฯ จัดโปรโมชั่นฉลองเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๓๘ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ห่วงใยชาวสระแก้ว มอบศาลาที่พักผู้โดยสาร เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน และเพื่อเป็นที่หลบแดดหลบฝน ณ
๑๗:๔๙ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดพิธีประสาทปริญญาบัตร พร้อมมอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 3 ท่าน
๑๗:๑๘ แน็ก ชาลี - มุก วรนิษฐ์ ชวนเปิดประสบการณ์ความเฟรช ในงาน Space of Freshtival 30 มีนาคมนี้ ที่ สยามสแควร์วัน
๑๗:๑๐ อิมแพ็ค จัดงาน Happy Hours: Wine Tasting Craft Beer ต้อนรับลูกค้าช่วงมอเตอร์โชว์
๑๗:๓๒ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแพร่ มอบเครื่องมือพื้นฐานชุดการฝึก (ชุดเครื่องมือทำมาหากิน) รุ่นที่ 4/2567
๑๗:๕๒ ดีพร้อม ดึงผู้ประกอบการเงินทุนฯ ทั่วประเทศ เปิดพื้นที่ทดสอบตลาด จัดงาน พร้อมเปย์ ที่ DIPROM FAIR
๑๗:๔๕ เขตราชเทวีจัดเทศกิจกวดขันผลักดันผู้ค้าตั้งวางแผงค้ารุกล้ำบนทางเท้าถนนราชปรารภ