ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วิชาเคมีคงยังเป็นเรื่องที่ซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง “ชีวโมเลกุล” ยิ่งยากที่จะเข้าใจ อีกทั้งการทดลองยังต้องใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์และสารเคมีราคาแพง ทำให้การเรียนรู้ผ่านการทำการทดลองไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึง
จากปัญหาที่มี จึงกลายเป็นโจทย์ที่ทำให้ 3 สาวน้อยจากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ อย่างนางสาวธัญจิรา สุกกรี นางสาวนุชดี เหล่าสุรสุนทร และเด็กหญิงณัฐณิชา เดชะเอื้ออารีย์ คิดค้นวิธีการนำเสนอเรื่องราวใหม่เป็นเกมนายซอมบี้กับเคมีที่รัก เกมที่ทำให้เคมีแสนขมให้เป็นขนมแสนหวานสำหรับคนเรียน โดยมีอาจารย์ มัทนา ประภาเมือง เป็นผู้ให้คำปรึกษา และสนับสนุนการเข้าโครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาช่วยสนับสนุนในการสร้างสรรค์ผลงาน
นางสาวธัญจิรา สุกกรี เล่าว่าโครงการ “นายซอมบี้กับเคมีที่รัก” หรือ “Zombio” นี้ ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อส่งเสริมการเรียนรู้วิชาเคมี เรื่อง สารชีวโมเลกุล ซึ่งผู้ใช้จะสามารถศึกษาเนื้อหาและทดลองทางวิทยาศาสตร์ได้ด้วยตนเอง และได้รับความบันเทิงควบคู่ไปด้วย โดยสื่อการเรียนรู้นี้ถูกพัฒนาขึ้นด้วยโปรแกรม Adobe Illustrator CS6 , Audacity, Zinc 4.0 และ Adobe Flash CS6 โดยใช้ภาษา Action script 3.0 ในการควบคุมการทำงานของซอฟแวร์
“ผู้เล่นจะต้องสวมบทบาทเป็นซอมบี้หลงใหลในการเป็นมนุษย์และได้สร้างห้องทดลองใต้ดินในบ้านของตนขึ้น ซอมบี้ต้องต้องผ่านการทำการทดลองและแบบทดสอบทั้งสี่หัวข้อการเรียนรู้เพื่อให้ตนเองสามารถเป็นมนุษย์ได้ในที่สุด ในส่วนของซอฟแวร์แบ่งเป็นสองส่วนหลักๆ คือ ห้องทดลองและบทเรียนซึ่งมีห้าหัวข้อการเรียนรู้ย่อย และสี่แบบทดสอบตามหัวข้อการเรียนรู้แต่ละหัวข้อ ซึ่งมีลักษณะการนำเสนอบทเรียนในลักษณะแอนิเมชัน เพื่อให้สื่อการเรียนรู้มีความน่าสนใจ”
ในส่วนของเนื้อหา แบ่งเป็นห้าบทเรียน ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ลิพิด กรดนิวคลีอิก และสอนเนื้อหาการทดลอง โดยสี่บทเรียนแรกจะนำเสนอในลักษณะของแอนิเมชันและมีส่วนของแบบทดสอบที่มีรูปแบบต่างกันออกไปในแต่ละหัวข้อการเรียนรู้ เช่น คาร์โบไฮเดรต ในลักษณะการจำแนกกลุ่ม ซอมบี้จะกำหนดโจทย์มาว่าเขาต้องการน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว คู่ หรือใหญ่ โดยตัวเลือกจะมีสามตัวเลือก เป็นชื่อสารต่างๆ โปรตีน ในลักษณะคำถามสี่ตัวเลือก ลิพิด ในลักษณะการจำแนกกลุ่ม จะมีสถานการณ์จำลองเกิดขึ้นที่ห้องครัว ให้เลือกว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดจากการประกอบอาหารด้วยอะไร จะมีสองตัวเลือก คือ ไขมัน หรือ น้ำมัน และนิวคลีอิก ในลักษณะการจำแนกกลุ่ม โดยจะกำหนดโจทย์เป็นลักษณะของกรดนิวคลีอิก แล้วให้จำแนกว่าเป็น DNA หรือ RNA
อีกจุดที่น่าสนใจอย่างยิ่งของเกมนี้คือส่วนของการสอนทำการทดลอง ที่จะมีสามหัวข้อหลักๆคืออุปกรณ์ทำการทดลอง วิธีทำการทดลอง และสรุปผลการทดลอง วิธีทำการทดลองจะมีลักษณะเป็นแบบ Interactive คือให้ผู้เรียนลองทำการทดลองไปตามขั้นตอนต่างๆ ซึ่งในส่วนของการทดลองจะนำเสนอเป็นห้องทดลอง ที่สามารถเลือกทำการทดลองได้ทั้งสิ้น 5 การทดลอง คือทดสอบน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว การทดสอบโปรตีน การทดลองกรดไขมันไม่อิ่มตัวในน้ำมันพืชและน้ำมันสัตว์ การทดลองการเตรียมสบู่ และการทดลองการสกัดดีเอ็นเอจากหอมหัวใหญ่
“อุปกรณ์และสารเคมีที่ใช้ในทั้งห้าการทดลองจะถูกนำมาวางรวมกัน ผู้เล่นได้ตัดสินใจเลือกนำมาใช้อะไรและทำการทดลองอย่างไร ซึ่งเป็นการให้อิสระในการเรียนรู้ ได้ลองผิดลองถูก เรียนรู้วิธีการทำการทดลองที่ถูกต้องโดยไม่ต้องใช้สารเคมีจริง ประหยัดทั้งเวลา และทรัพยากร ปลอดภัยกว่าการทดลองในห้องทดลองจริงด้วย แถมยังมีการประเมินผลออกมาเป็นเกรดเมื่อเล่นเสร็จทุกกิจกรรม ยิ่งทำให้เกมนี้ท้าทายมากขึ้น” นางสาวนุชดีทิ้งท้าย
ปัจจุบันโปรแกรมนี้จะอยู่ในช่วงของการพัฒนาเนื้อหา และแก้ไขข้อบกพร่องบางจุด คาดว่าอีกไม่นานจะพัฒนาได้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งทีมผู้พัฒนาเองก็มีแผนที่จะนำทูนเกล้าถวายให้แก่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์เป็นการกุศล เผยแพร่ต่อไปเป็นสื่อการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์แก่นักเรียนในโรงเรียนห่างไกลที่ไม่มีโอกาสได้ทำการทดลองในห้องทดลองจริง รวมถึงกลุ่มนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่มีความสนใจในเรื่องของสารชีวโมเลกุลที่ไม่อยากจะอ่านหนังสือที่เต็มไปด้วยตัวอักษร รวมถึงกลุ่มนักเรียนที่ชอบใช้เทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ให้ได้เข้าใจเรื่องของชีวโมเลกุล เป็นทางเลือกใหม่ที่จะทำให้วิชาเคมีที่แสนซับซ้อนจะไม่ยากอีกต่อไป