เกาะติด 17 นโยบายเศรษฐกิจรัฐบาล สศก. เปิดบทวิเคราะห์ภาพรวมต่อภาคเกษตรไทย

อังคาร ๒๐ มกราคม ๒๐๑๕ ๑๔:๕๘
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดบทวิเคราะห์นโยบายรัฐบาล 17 ด้าน เจาะ 4 ประเด็นสำคัญทั้งแบบภาพรวมและการบริหารขับเคลื่อนทั้งภาคเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรมและบริการเปรียบเทียบต่อภาคการเกษตร แนะภาคเกษตรไทยต้องเร่งเดินหน้า เพื่อปรับตัวให้ทันกระแสโลกในทุกมิติ

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งได้กำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจสำคัญของรัฐบาลทั้งสิ้น 17 ด้าน รวม 3 ระยะ (ระยะเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที ระยะต่อไปที่ต้องแก้ปัญหาพื้นฐานที่ค้างคา และระยะยาวที่ต้องวางรากฐานเพื่อความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง) ในเรื่องดังกล่าว สศก. ได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมและเศรษฐกิจการเกษตรเป็น 4 รูปแบบสำคัญ คือ

1. ภาพรวมของนโยบายเศรษฐกิจโดยทั่วไป รัฐบาลจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที ระยะต่อไปที่ต้องแก้ปัญหาพื้นฐานที่ค้างคาอยู่ และระยะยาวที่ต้องวางรากฐานเพื่อความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นดูแลเกษตรกรให้มีรายได้ที่เหมาะสม ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การลดต้นทุนการผลิต การช่วยเหลือในเรื่องปัจจัยการผลิตอย่างทั่วถึง การช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ตลอดจนถึงการใช้กลไกตลาดดูแลสินค้าเกษตรประเภทที่ราคาต่ำผิดปกติให้สูงขึ้นตามสมควร ส่วนด้านเกษตรกรรม จะดำเนินการ 2 เรื่องใหญ่ คือ การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการและการสนับสนุนให้สหกรณ์ของกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มบทบาทในฐานะ ผู้ซื้อ พืชผล จนถึงการแปรรูปและการส่งออกได้

2. นโยบายของคณะรัฐมนตรีสำหรับการบริหารขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีต่อภาคเกษตร ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 อนุมัติให้ใช้สภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 40,000 ล้านบาท เป็นมาตรการเสริมในการลดต้นทุนให้แก่ชาวนา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากมีการลดต้นทุนในแง่ของปัจจัยการผลิต ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมีเกษตร ค่าที่ดิน และค่าบริการรถไถ่ ไปแล้วก่อนหน้าเฉลี่ยไร่ละ 432 บาท โครงการช่วยเหลือชาวนาครั้งนี้มุ่งช่วยเหลือชาวนา 3.4 ล้านครัวเรือน โดยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าต้นทุนการผลิตจำนวน 1,000 บาท/ไร่ กำหนดกรอบวงเงินสูงสุด 15,000 บาท/ครัวเรือน ซึ่งหมายถึงชาวนาจะได้รับเงินช่วยเหลือไม่เกิน 15,000 บาท โดยมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในฤดูการผลิตปี 2557/58 ประกอบด้วย 3 โครงการ คือ

1) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการผลิตแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 โดยการลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 3 ต่อปี รายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ธ.ก.ส. อนุมัติวงเงินสำหรับโครงการนี้จำนวน 89,000 ล้านบาท 2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวนาปี (ประกันยุ้งฉาง) ซึ่งเป็นสินเชื่อที่เข้าไปช่วยเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกมาเป็นปริมาณมากและมีราคาตกต่ำ มีเป้าหมายดําเนินการในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จํานวนข้าวเปลือก 1.5 ล้านตัน วงเงินสินเชื่อ 17,280 ล้านบาท และ 3) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร โดยการไปรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อการจําหน่าย วงเงินสินเชื่อ 18,000 ล้านบาท และเพื่อนําไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท รวมวงเงิน 20,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากมองภาพการขับเคลื่อนนโยบายทางการเกษตรสำหรับรัฐบาลนี้ พบว่า รายจ่ายของรัฐบาลตามโครงการต่างๆ เช่น โครงการจำนำข้าว การช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านการเกษตรปี 2555-2557 มาตรการช่วยชาวสวนยาง การสมทบค่าเบี้ยประกันภัยข้าวนาปี 57/58 กระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต และอื่นๆ นั้น จะมีเม็ดเงินที่เข้าสู่ภาคเกษตรจำนวนรวม 0.283 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับแผนลงทุนนอกภาคเกษตร หรือเมกะโปรเจ็กต์ประมาณกว่า 3 ล้านล้านบาทนั้น ภาคเกษตรจะได้รับเพียงร้อยละ 8.6 หรือเมื่อคำนวณรายได้ต่อหัวของภาคเกษตรจะได้รับเพียงคนละประมาณ 11,300 บาท เท่านั้น สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่มีต่อภาคเกษตร ทั้งนี้ ยังไม่ได้รวมโครงการอื่นๆ อีกหลายโครงการที่มีเม็ดเงินเข้าไปสู่ภาคเกษตร

3.นโยบายของคณะรัฐมนตรีที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมและบริการ นโยบายของคณะรัฐมนตรีที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมและบริการนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แนวทางคือ 1) โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศ (mega project) แผนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ประมาณกว่า 3 ล้านล้านบาท 2) โครงการความช่วยเหลือแก่คนในเมืองและบางส่วนแก่คนในชนบท ตามมาตรการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนระยะเร่งด่วน

จะเห็นว่า รัฐบาลยังได้ให้ความสำคัญมาตรการทางเศรษฐกิจ โดยยึดหลักการในการประหยัดพลังงานและลดผลกระทบต่อรายได้ โดยเฉพาะในกลุ่มของประชาชนที่มีรายได้น้อย เพื่อบรรเทาผลกระทบในภาคการบริโภค และการรักษาวินัยทางการคลัง โดยมีระยะเวลาประมาณ 6 เดือน และจะสิ้นสุดภายในเดือน มกราคม 2558 นี้ พบว่า ตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ใช้จ่าย 21,600 ล้านบาท (ลดค่าจ่ายน้ำประปาครัวเรือน ลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าครัวเรือน ลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสาร และลดค่าเดินทางรถไฟชั้น 3) ทั้งนี้ หากจะประมาณในรอบปีหรือ 12 เดือนก็จะได้ประมาณ 40,000 ล้านบาท

4. การเปรียบเทียบนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่มีต่อภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร (ภาคอุตสาหกรรมและบริการ) หากมองภาพการขับเคลื่อนนโยบายทางการเกษตรสำหรับรัฐบาลนี้ พบว่า เม็ดเงินที่เข้าสู่ภาคเกษตรจำนวน 0.283 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับแผนลงทุนนอกภาคเกษตร หรือเมกะโปรเจ็กต์ประมาณกว่า 3 ล้านล้านบาทนั้น ภาคเกษตรจะได้รับเพียงร้อยละ 8.6 และนอกภาคเกษตรร้อยละ 91.4 หรือเมื่อคำนวณรายได้ต่อหัวของนอกภาคเกษตรจะได้รับคนละประมาณ 70,000 บาท หรือประมาณ 7 เท่าของรายได้ภาคเกษตร

รายจ่ายของรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนบริหารประเทศด้านเศรษฐกิจรวม

หน่วย: ล้านล้านบาท

สาขา งบประมาณ

ภาคเกษตร 0.283

นอกภาคเกษตร 3.00

รวม 3.283

ดังนั้น ความสำคัญของภาคเกษตรจำเป็นต้องมีการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ เพื่อให้ภาคเกษตรสามารถดำเนินการไปได้อย่างยั่งยืน ควบคู่กับวัฒนธรรมไทยและสังคมไทยตลอดไป โดยการดำเนินเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันต้องมีการดำเนินการอย่างรวดเร็ว และคำนึงถึงปัจจัยรอบด้าน ทั้งปัจจัยภายใน เพราะปัญหาเศรษฐกิจปัจจุบันนี้ เป็นการสั่งสมมาจากปัจจัยทางการเมืองมาหลายปี ประกอบกับภาคการส่งออกได้มีการปรับลดเป้าอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงเป้าหมายของจีดีพี และความหวังว่า จีดีพีไทยปี 2558 จะเติบโตขึ้นในระดับ 4-5% ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียนถือว่าเติบโตต่ำที่สุด และอาจจะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางการค้าได้ ส่วนภาคการท่องเที่ยว ก็มีแนวโน้มที่จะลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย รวมถึงภาคการเกษตรที่ประสบปัญหาสินค้าราคาตกต่ำ แม้แนวโน้มของระดับราคาสินค้าเกษตรจะเพิ่มขึ้นแล้วบางส่วนก็ตาม แต่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาสักระยะหนึ่ง ส่วนปัจจัยภายนอก คือราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวลดลงหรือยังทรงตัวอยู่ ประเทศไทยในฐานะประเทศส่งออกสินค้าเกษตรในเชิงเศรษฐกิจ ย่อมได้รับผลกระทบบ้างเมื่อพืชชนิดนั้นราคาตกต่ำหรือทรงตัว อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มของการส่งออกจะมีแนวโน้มที่สดใสเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ เลขาธิการ สศก. ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ภาคเกษตรไทยถือเป็นภาคการผลิตที่เป็นรากฐานของประเทศ โดยมีประชากรที่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมประมาณ 24 ล้านคนของจำนวนประชากรประเทศไทย (ร้อยละ 40) ดังนั้น การลงทุนภาคเกษตรจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และความยากจนของเกษตรกร ซึ่งงบประมาณในการลงทุนภาคเกษตรนั้นก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละปัจจัยทางด้านการผลิต โดยการลงทุนภาคเกษตรของภาครัฐนั้น จะเป็นส่วนสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนภาคเกษตรได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ สศก. ในฐานะหน่วยงานวางแผนนโยบายภาคการเกษตร จะได้เร่งดำเนินการด้านแผนและนโยบายภาคเกษตรแบบเชิงรุกให้เป็นรูปธรรมต่อไป อย่างไรก็ตาม เกษตรกรไทยเองก็ควรร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาไปพร้อมๆ กันอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ได้รับการรับรองมาตรฐาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นไปตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ก็จะสามารถทำให้ภาคเกษตรไทยอยู่รอดและพัฒนาแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างแน่นอน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4