GMI-มจธ.และ ICT ร่วมเดินหน้าประเทศไทย สู่ยุค Digital Economy

พุธ ๐๑ เมษายน ๒๐๑๕ ๑๕:๒๓
ด้วยความก้าวล้ำของเทคโนโลยี ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิตอล และผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจฐานดิจิตอล หรือ Digital Economy เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตมวลรวมของประเทศให้เท่าทันกับโลกในยุคปัจจุบัน ประกอบกับรัฐบาลได้หยิบยก Digital Economy ขึ้นเป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนของการปฏิรูปประเทศ และประกาศเปลี่ยนชื่อกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารหรือไอซีทีเป็นกระทรวงดิจิทัลอีโคโนมี พร้อมออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ดิจิตอลเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนไทยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้นี้

บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม(Graduate School of Management and Innovation :GMI) หน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) ได้ดำเนินการเรียนการสอนระดับปริญญาโทด้านการบริการจัดการเฉพาะทาง เพื่อให้เกิดบูรณาการระหว่างศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี งานวิศวกรรม และศาสตร์ทางด้านการบริหารจัดการอย่างจริงจังในยุคเศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยีและความรู้เข้มข้น (Technology and Knowledge Based Economy)มาเป็นเวลากว่า 13 ปี โดยปัจจุบันมีสาขาทั้งสิ้น 8 สาขา หนึ่งในนั้นคือ สาขาการจัดการธุรกิจโทคมนาคมและบรอดคลาสติ้ง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางขององค์ความรู้ด้านการจัดการที่สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมและบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป GMI จึงได้จัดให้มีการเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ Digital Economy กับ อนาคตประเทศไทย” เพื่อเผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจในนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของประเทศ ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยน พร้อมกับกิจกรรม “GMI Open House 2015” ขึ้น ณ ห้องโลตัส ชั้น 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เมื่อวันเสาร์ที่ 21 มีนาคม 2558 โดยมี รศ.ดร.บัณฑิต ทิพากร รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษา มจธ.เป็นประธานเปิดงาน

รศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐที่ผลักดันให้ประเทศไทยมุ่งสู่ Digital Economy และล่าสุดยังได้มีมติให้จัดตั้งกระทรวง Digital Economy ขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่โลกดิจิตอล มจธ.โดยGMI จึงได้จัดการเสวนาวิชาการครั้งนี้ขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในนโยบายและภาพรวมเศรษฐกิจดิจิตอลของประเทศไทย ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิดของทุกภาคส่วน และสร้างองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการในนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล นอกจากนี้เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เกิดความตระหนักและเตรียมความพร้อมของบุคลากร รองรับการเปลี่ยนแปลงในด้านธุรกิจดิจิตอลของประเทศ

นางเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร (ICT) กล่าวย้ำว่า รัฐบาลมีความจริงจังอย่างมากกับนโยบายถึงกับต้องการให้จัดตั้งกระทรวง Digital Economy หรือ กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมขึ้นภายใน 3 เดือนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่มีการนำระบบดิจิตอลมาใช้ในการพัฒนาด้านต่างๆ ไม่ว่าเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การเกษตร การบริการ เช่น ธนาคาร การค้า การลงทุน รวมถึงด้านสังคม สามารถนำระบบดิจิตอลไปใช้ด้านการศึกษา ตลอดจนด้านสาธารณะสุข และเพื่อสร้างความมั่นใจวันนี้ภาครัฐกำลังเร่งดำเนินการบูรณาการโครงข่ายบรอดแบนด์และดำเนินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลให้เข้าทุกคนทุกบ้านทุกชุมชนให้ได้รับบริการเครือข่ายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ทั้งนี้ทุกคนจะต้องอยู่ในโลกของดิจิตอลได้ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ ทุกคนในประเทศจึงถือเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศที่สำคัญในการก้าวไปสู่ Digital Economy ได้สำเร็จ และเมื่อทุกอย่างไร้พรมแดนทุกคนต้องเดินบนถนนสายไซเบอร์นี้ร่วมกันจึงต้องมีกฎ กติกา มีกฎหมายออกมารองรับรวมถึงการมีตำรวจไซเบอร์จะสร้างความอุ่นใจมากขึ้น เพื่อให้การใช้งานในโลกดิจิตอลเป็นไปอย่างปลอดภัยและมีชีวิตอย่างมีคุณภาพ เชื่อว่าเมื่อทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนจะทำให้ประเทศพัฒนาได้แบบก้าวกระโดด

ด้าน คุณฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ หรือ ซี ผู้ประกาศและพิธีกรชื่อดัง ให้ความเห็นว่า การจะอยู่ในโลกดิจิตอลได้จะต้องเรียนรู้และติดตามข้อมูล โดยเฉพาะคนที่คิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะในปัจจุบันเราไม่อาจหลีกเลี่ยงเทคโนโลยีและดิจิตอลได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันแทบทั้งหมดอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ดังนั้นการจะอยู่ในโลกดิจิตอลให้มีความสุขเราจะต้องเรียนรู้เพราะโลกในวันนี้ได้เปลี่ยนไปแล้วและพฤติกรรรมของคนก็เปลี่ยนตามไปเช่นกัน วันนี้เราสามารถทำอะไรได้หลายอย่างผ่านหน้าจอ ฝากร้านขายของ ออนไลน์ สามารถเข้าถึงคนได้กว้างมากขึ้น หรือคนที่มีฝีมือมีความสามารถแม้จะอยู่ห่างไกล แต่คนก็จะค้นพบได้จากยูทูปหรือในโลกออนไลน์ เพราะการหาข้อมูลข่าวสารวันนี้ง่ายและสะดวกขึ้นไม่ต้องออกไปค้นหาเองก็สามารถรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ดังนั้น การติดตามข้อมูลข่าวสารเพื่อให้เราสามารถต่อยอดธุรกิจและปรับตัวเข้าสู่ Digital Economy

ดร.อานนท์ ทับเที่ยง ประธานสาขาการจัดการธุรกิจโทรคมนาคมและบรอดคาสติ้ง(GMI) กล่าวว่า เมื่อ เทรนด์ของโลกกำลังเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิตอล ไทยจึงต้องก้าวให้ทันกระแสเพราะข้อดีของดิจิตอลคือจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขัน รวมทั้งขยายฐานลูกค้าให้กว้างมากขึ้น หากประเทศไม่เร่งปรับตัวก็จะทำให้ไทยไม่มีความสามารถในการแข่งขันเหนือประเทศอื่น เมื่อไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างความรู้ความเข้าใจถึง Digital Economy และประชาชนเองจะต้องรู้เท่าทันดิจิตอลเพื่อให้เกิดการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ดร.อานนท์ ยอมรับว่า “ ทุกอย่างย่อมต้องมี 2 ด้าน เหมือนเหรียญที่มี 2 ด้าน มีบวกและลบ แต่เมื่อโลกกำลังมุ่งไปในทิศทางนี้ เราต้องตามให้ทันไม่เช่นนั้นประเทศก็ไม่มีความสามารถในการแข่งขัน ที่สำคัญเราต้องรู้จักการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลอย่างสมดุล ใช้อย่างมีสติ รู้จักคิดวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับด้วยเพื่อให้การใช้ดิจิตอลเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเพื่อป้องกันเรื่องภัยคุกคามจากการใช้เทคโนโลยีในยุคดิจิตอล เพราะปัจจุบันแม้ดิจิตอลเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาคนไทยจำนวนมากใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อความบันเทิงมากกว่าที่สำคัญคือแลกมาด้วยการซื้อ ส่งผลให้เงินไหลออก แต่ประเทศไม่ได้อะไร ขณะที่มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมไอซีทีปีหนึ่งๆสูงถึงหลายแสนล้านบาท แต่ไทยยังขาดความสามารถในการผลิต จึงเป็นโอกาสที่เราควรเร่งพัฒนาความรู้ และสร้างความตระหนักด้านการใช้เทคโนโลยีดีจิตอลให้กับทุกภาคส่วนมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เยาวชนและนักศึกษาให้มีความสามารถในด้านไอทีรวมถึงการจัดการ เพื่อการพัฒนาและผลิตนวัตกรรมที่นำเอาเทคโนโลยีดิจิตอลต่างๆมาประยุกต์ใช้ให้เกิดมูลค่ารองรับกับเทคโนโลยีที่จะเกิดใหม่ทดแทนการนำเข้าเหมือนที่ผ่านมา”

นอกจากนี้ภายในงานยังได้จัดกิจกรรม “GMI Open House 2015” เพื่อเป็นการแนะนำหลักสูตรการเรียนการสอนระดับปริญญาโทของบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม (Graduate School of Management and Innovation : GMI)ในฐานะหน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)ผ่านเวทีเสวนาในหัวข้อ“Craft Your Future with Management and Innovation” เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่สนใจต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทสอบถามรายละเอียดข้อมูลหลักสูตรด้านการบริหารจัดการเฉพาะด้านรวม 8 สาขา ประกอบด้วย หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (M.Sc.Program) และหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (M.B.A.Program) ได้แก่ สาขาการจัดการโลจิสติกส์ สาขาการจัดการสำหรับการเป็นผู้ประกอบการ สาขาการบริหารโครงการ สาขาการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม สาขาการจัดการโทรคมนาคมและบรอดคาสติ้ง สาขาการจัดการอสังหาริมทรัพย์ สาขาการบริหารจัดการองค์กร และสาขาวิศวกรรมการเงิน ซึ่งถือเป็นหลักสูตรที่สอดรับและตอบสนองความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปสู่ยุค Digital Economy ได้อย่างแท้จริง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้