ทีมชุดเฉพาะกิจ พม. รับลงทะเบียน ๒ วัน พบลูกเรือประมงที่เกาะอัมบน ๑๐๑ คน เข้ารายงานตัว ขอให้รัฐบาลส่งกลับบ้าน

พุธ ๐๑ เมษายน ๒๐๑๕ ๐๙:๐๓
วันที่ ๓๑ มี.ค. ๕๘ เวลา ๑๕.๓๐ น. ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายอนุสันต์ เทียนทอง โฆษก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยภายหลังร่วมรับฟังการแถลงข่าวของทีมโฆษกรัฐบาล ว่า จากกรณีที่สื่อมวลชนได้รายงานสถานการณ์ลูกเรือประมงตกค้าง ณ เกาะอัมบน สาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งที่ถูกจับกุม ถูกกักบริเวณ และหลบหนีซ่อนตัวอยู่บนเกาะ ประกอบด้วยแรงงานไทยและต่างชาติ ทั้งนี้ องค์กรเอกชนต่างๆ ได้แก่ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ Anti Human Trafficking Network (ATN) ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือลูกเรือประมง Seafarers Action Center (SAC) ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐลงพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติอย่างเร่งด่วน ซึ่งรัฐบาลไทย โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้นกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้เร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้เชิญหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาและเห็นชอบให้จัดชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเดินทางไปปฏิบัติงานเพื่อติดตามช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ประสบปัญหาต้องการความช่วยเหลือ ณ เกาะอัมบน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งทีมชุดเฉพาะกิจ นำโดย พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นหัวหน้าคณะ ประกอบด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กรมการกงสุล กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เดินทางไปเกาะ อัมบน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ ๒๗ มีนาคม – ๕ เมษายน ๒๕๕๘ โดยมีภารกิจ ๔ ประการคือ

๑) การช่วยเหลือคนไทยที่ตกค้างอยู่บนเกาะอัมบน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

๒) การช่วยเหลือแรงงานที่ติดค้างบนเรือและผู้ที่ต้องการเดินทางกลับ

๓) การตรวจสอบศพคนไทยในสุสาน

๔) การส่งกลับประเทศไทยอย่างปลอดภัย

นายอนุสันต์ กล่าวต่อไปว่า ทีมชุดเฉพาะกิจฯ ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือลูกเรือประมง (One Stop Service) ที่เกาะอัมบนเรียบร้อยแล้ว และตนได้รับรายงานจาก พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะหัวหน้าคณะ ว่าหลังจากมีการจัดตั้งศูนย์ฯ เพื่อรับลงทะเบียนลูกเรือประมงแล้ว ๒ วัน (วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๘ ถึง ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๘) พบลูกเรือประมงเข้ารายงานตัวกับชุดเฉพาะกิจจากประเทศไทยแล้ว จำนวนทั้งสิ้น ๑๐๑ คน เป็นคนไทย ๕๗ คน เมียนมาร์ ๓๙ คน ลาว ๒ คน และกัมพูชา ๓ คน โดยคาดว่าจะมีกำหนดกลับประเทศไทยในอีก ๒ สัปดาห์ข้างหน้า และสำหรับภารกิจของทีมชุดเฉพาะกิจฯในวันนี้ จะมีการเรียกเรือประมงไทยในน่านน้ำอินโดนีเซีย จำนวน ๘๒ ลำ เข้ามาตรวจสอบ โดยตั้งเป้าวันละ ๒๐ ลำ ซึ่งจะใช้เจ้าหน้าที่ทีมละ ๕ คน แบ่งเป็น ๒ ทีม ช่วยกันตรวจตราในด้านต่างๆ อาทิ ทะเบียนเรือ หนังสือคนประจำเรือ (Seaman book) สุขภาพของลูกเรือ เป็นต้น พร้อมทั้งสำรวจรายชื่อแรงงานไทยที่ไม่ประสงค์อยู่ต่อและต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนา นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะเตรียมเดินทางไปยังเกาะเบนจินา เพื่อตรวจสอบเรือประมงประมาณ ๕๐ ลำ และสำรวจลูกเรือประมงที่ตกค้างเพื่อดำเนินการช่วยเหลือต่อไป

นายอนุสันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีลูกเรือประมงไทย ๒๑ คน ที่เดินทางกลับมาแล้วนั้น เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๘ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ประสานทีมสหวิชาชีพประกอบด้วย พนักงานสอบสวนจากกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ นักสังคมสงเคราะห์จากกองต่อต้านการค้ามนุษย์ และสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ(ชาย) จังหวัดปทุมธานี ร่วมกันสัมภาษณ์คัดแยกผู้เสียหาย ที่สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ (ชาย) จังหวัดปทุมธานี โดยผลการคัดแยกพบว่า มีลูกเรือประมงที่เข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จำนวน ๕ คน ซึ่งผู้เสียหายมีที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร นครราชสีมา ชลบุรี ชัยภูมิ และอุบลราชธานี ทั้งนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้มอบเงินกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นค่าครองชีพและการเดินทางกลับภูมิลำเนาสำหรับผู้เสียหายคนไทยส่งกลับจากต่างประเทศ คนละ ๓,๐๐๐ บาท และได้ประสานเจ้าหน้าที่จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเพื่อดูแลช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์ให้กับลูกเรือประมงทั้งหมดก่อนเดินทางกลับภูมิลำเนา นอกจากนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะได้ติดตามดูแลครอบครัวตามภูมิลำเนาเดิมของลูกเรือประมงไทยทั้งหมด เพื่อช่วยเหลือครอบครัวอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้ ยังคงมีลูกเรือประมงที่อยู่ในความคุ้มครองชั่วคราวของสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ (ชาย) จังหวัดปทุมธานี จำนวน ๓ คน โดยเป็นผู้เสียหาย จำนวน ๒ คน และเป็นลูกเรือประมงที่ประสบปัญหา จำนวน ๑ คน นอกนั้นได้เดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาแล้ว

"นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกองต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้รับการประสานจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ว่ามีการส่งกลับลูกเรือประมงไทยจากเกาะอัมบน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย จำนวนอีก ๖ คน กำหนดถึงท่าอากาศยานดอนเมือง ในวันที่๑ เมษายน ๒๕๕๘ โดยสายการบิน Air Asia เที่ยวบินที่ QZ ๒๕๒ เวลา ๒๐.๑๕ น. อย่างไรก็ตาม ตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่และงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามช่วยเหลือเยียวยาลูกเรือประมงไทยที่ประสบปัญหาทุกคนอย่างเต็มที่หลังเดินทางกลับถึงประเทศไทย ตามภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ พร้อมทั้งประสานกับญาติของลูกเรือประมง เพื่อติดต่อรับกลับภูมิลำเนา ส่วนกรณีลูกเรือประมงไทย ๕๗ คน ที่รายงานตัวกับชุดเฉพาะกิจจากประเทศไทยที่เกาะอัมบนนั้น จะได้แจ้งสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (สนง.พมจ.) ดำเนินการประสางานแจ้งญาติที่อยู่ในภูมิลำเนาของลูกเรือให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ หากประชาชนท่านใดที่ประสงค์จะสอบถามหรือขอความช่วยเหลือตามหาญาติ สามารถโทรมาสอบถามได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCCโทร ๑๓๐๐ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง” นายอนุสันต์ กล่าวท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4