ผลสำรวจ “ทาวเวอร์ส วัทสัน” เผยนายจ้างในประเทศไทยกำลังเผชิญกับความไม่สอดคล้องระหว่างต้นทุนสวัสดิการและคุณค่าของสวัสดิการในสายตาพนักงาน

ศุกร์ ๐๕ มิถุนายน ๒๐๑๕ ๑๗:๑๔
49% ของนายจ้างในประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 20% ของเงินเดือนพนักงาน และ 69% ระบุว่าต้นทุนด้านสวัสดิการที่กำลังเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องที่ท้าทายในการดำเนินกลยุทธ์ด้านสวัสดิการ

เพียง 12% ขององค์กรต่างๆ ในประเทศไทยเชื่อว่า พนักงานมีความพึงพอใจในสวัสดิการที่องค์กรจัดให้

จากผลสำรวจโดยทาวเวอร์ส วัทสัน (Towers Watson) (NASDAQ: TW) บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยข้อมูลธุรกิจระดับโลก พบว่า บริษัทต่างๆ ในประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างจำนวนเงินที่ใช้จ่ายด้านสวัสดิการพนักงานและคุณค่าที่ได้รับกลับมา อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เพียงประเทศไทยเท่านั้น ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน โดยบริษัทได้ทำการสำรวจจาก 1,145 บริษัทใน20 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งถือเป็นการสำรวจแนวโน้มด้านสวัสดิการพนักงานที่มีความครอบคลุมมากที่สุดในภูมิภาค

ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจแนวโน้มด้านสวัสดิการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำปี 2015 โดยทาวเวอร์ส วัทสัน (Towers Watson’s 2015 Asia Pacific Benefit Trends survey) แสดงให้เห็นถึงเรื่องท้าทายที่นายจ้างต้องเผชิญ จากการสำรวจพบว่า องค์กรต่างๆเล็งเห็นความสำคัญของสวัสดิการพนักงานมากขึ้นโดยเฉพาะด้านการสร้างคุณค่าของพนักงานในองค์กร (Employee Value Proposition: EVP) ซึ่งเป็นการให้รางวัลเพื่อช่วยดึงดูด รักษา และสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงาน โดยมากกว่าสามในห้าของนายจ้างที่เข้าร่วมการสำรวจในประเทศไทย ระบุว่า การพัฒนาการดึงดูดและการรักษาพนักงาน (63%) รวมถึงการกระตุ้นการมีส่วนร่วมของพนักงาน (62%) เป็นเป้าหมายหลักของกลยุทธ์ด้านสวัสดิการขององค์กร

ในขณะเดียวกัน ต้นทุนด้านสวัสดิการในปัจจุบันคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงมากเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนของพนักงาน เกือบครี่งหนึ่ง (49%) ของนายจ้างในประเทศไทยระบุว่า ค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการมีมูลค่ามากกว่า 20% ของต้นทุนด้านเงินเดือนพนักงาน และเกือบหนึ่งในสิบ (9%) ใช้จ่ายด้านสวัสดิการมากกว่า 40% ของเงินเดือน นอกจากนี้69% ขององค์กรในประเทศไทยยังระบุว่า ต้นทุนด้านสวัสดิการที่กำลังเพิ่มขึ้นถือเป็นเรื่องท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญในการดำเนินกลยุทธ์ด้านสวัสดิการ

เป็นที่น่ากังวลว่า มากกว่าหนึ่งในห้า (21%) ของนายจ้างในประเทศไทยไม่ทราบว่า พวกเขามีค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการของพนักงานเท่าใด

มร. มาร์ค วัทลี ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลด้านสวัสดิการ ทาวเวอร์ส วัทสันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “การที่นายจ้างไม่ตระหนักถึงมูลค่าของต้นทุนด้านสวัสดิการที่ให้แก่พนักงานแสดงให้เห็นว่า นายจ้างเหล่านี้กำลังเผชิญกับความยากลำบากในการบริหารจัดการด้านสวัสดิการ (benefits governance) ในขณะที่ต้องมีการจัดสรรในหลายด้าน รวมถึงผู้ให้บริการและระบบการจัดการอื่นๆ การที่นายจ้างไม่สามารถระบุค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการออกมาเป็นตัวเลข ก็ไม่น่าแปลกใจว่า พนักงานจะไม่ค่อยตระหนักถึงคุณค่าหรือประโยชน์ของแผนสวัสดิการที่พวกเขาได้รับ ซึ่งแผนสวัสดิการที่ตอบสนองความต้องการของพนักงาน มีการสื่อสารที่ชัดเจน และสามารถดำเนินการได้อย่างไม่ซับซ้อน จะช่วยเพิ่มคุณค่าของสวัสดิการในสายตาพนักงานได้”

แม้จะมีการลงทุนด้านสวัสดิการพนักงานอย่างแพร่หลาย มีเพียง 12% ของบริษัทในประเทศไทยที่เข้าร่วมการสำรวจที่เชื่อว่า พนักงานตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ของสวัสดิการที่บริษัทมอบให้ มร. คริส เม ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลด้านสวัสดิการ ทาวเวอร์ส วัทสันประเทศไทย และผู้อำนวยการฝ่ายการบริหารผลประโยชน์พนักงาน ทาวเวอร์ส วัทสันเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่า “เป็นที่น่ากังวลว่า เกือบหนึ่งในสี่ (24%) ขององค์กรในประเทศไทยเชื่อว่า พนักงานของพวกเขาไม่ค่อยตระหนักถึงคุณค่าของสวัสดิการที่บริษัทมีให้ ถือเป็นผลสำรวจที่แย่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดังนั้นจึงสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนายจ้างในประเทศไทยในการทำให้พนักงานรับรู้ถึงคุณค่าของสวัสดิการที่บริษัทมอบให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้ว บริษัทเหล่านั้นจะไม่ได้รับผลตอบแทนสูงสุดจากการลงทุนมากมายในด้านสวัสดิการพนักงาน”

ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการไม่ได้สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นในการรับรู้คุณค่าของสวัสดิการในหมู่พนักงานเสมอไป อย่างไรก็ตาม คุณค่าของสวัสดิการในสายตาพนักงานจะเพิ่มขึ้นเมื่อนายจ้างนำความคิดเห็นของพนักงานมาประกอบการตัดสินใจ และเช่นเดียวกัน พนักงานจะเห็นคุณค่าของสวัสดิการที่ได้รับมากขึ้นเมื่อบริษัทมีการจัดการเพื่อรับมือเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงชีวิตของพนักงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการสื่อสารด้านสวัสดิการอย่างชัดเจน

การเพิ่มความยืดหยุ่นในแผนสวัสดิการพนักงานเป็นแนวทางหนึ่งที่นายจ้างใช้ลดช่องว่างระหว่างต้นทุนและการรับรู้คุณค่าของสวัสดิการ

สำหรับองค์กรที่มีแผนสวัสดิการที่ยืดหยุ่นได้ (Flexible benefits) ซึ่งให้ทางเลือกแก่พนักงาน ส่วนใหญ่เห็นว่า แผนสวัสดิการดังกล่าวประสบความสำเร็จในการเพิ่มความเข้าใจและพึงพอใจของพนักงานต่อสวัสดิการที่ตนได้รับ (67%)สามารถตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของพนักงาน (66%) ตลอดจนเพิ่มการดึงดูดและรักษาพนักงานในองค์กร(59%)

“แผนสวัสดิการที่ยืดหยุ่นได้ ยังคงเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการส่งมอบสวัสดิการ และเพิ่มคุณค่าของสวัสดิการในสายตาของพนักงาน” มร.คริส เมกล่าว “นอกจากช่วยให้องค์กรเข้าใจถึงความต้องการที่แตกต่างของพนักงาน แผนสวัสดิการที่ยืดหยุ่นได้ยังผลักดันให้มีการสื่อสารอย่างต่อเนื่องเพื่อให้พนักงานเลือกและจัดลำดับคุณค่าของสวัสดิการต่างๆ ที่อยู่ในแผน ซึ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มคุณค่าของสวัสดิการในมุมมองของพนักงานได้เป็นอย่างดี ในประเทศไทย เราพบว่า มีบริษัทที่ให้ความสนใจในรูปแบบสวัสดิการยืดหยุ่นได้เพิ่มขึ้นมาก โดยบริษัทเหล่านี้ต้องการใช้สวัสดิการยืดหยุ่นได้ในการสนับสนุนกลยุทธ์การจัดการบุคลากรที่มีศักยภาพ เพื่อดึงดูด รักษา และสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงาน ควบคู่ไปกับการเพิ่มคุณค่าของสวัสดิการในสายตาของพนักงาน”

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้