"โซดละเว" ผ้าไหมลายหางกระรอกพบทางรอด เยาวชนศรีสะเกษร่วมสืบสาน

ศุกร์ ๐๕ มิถุนายน ๒๐๑๕ ๑๗:๓๓
"ศรีสะเกษ" เป็นจังหวัดหนึ่งในเขตภาคอีสานตอนล่าง มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ส่งผลถึงศิลปวัฒนธรรมที่ตกทอดมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ที่รู้จักกันดีคือ “ผ้า” หลากชนิด แต่ด้วยยุคสมัยเปลี่ยนไป การนุ่งผ้าพื้นบ้านกลับไม่เป็นที่นิยมสู้เสื้อผ้าสำเร็จรูปไม่ได้ จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่มี “คนรุ่นใหม่ในชุมชน” ไม่มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องล้าหลัง ไม่อยากสืบทอด แต่เห็นเป็นเรื่องสำคัญที่แสดงถึงอัตลักษณ์และความเป็นกลุ่มก้อนของชุมชน จึงรวมกลุ่มสืบสานในชื่อ “กอนกวยโซดละเว” กับ “โครงการดักแด้แตกใหม่ทอรักทอไหมสายใย (โซดละเว)” สรุปสุดท้ายนอกจากได้สืบสานวัฒนธรรมผ้าพื้นบ้านอย่าง “ผ้าไหมลายหางกระรอก” แล้ว ยังมีส่วนเชื่อมร้อยถักทอผู้ใหญ่ในชุมชน และทำให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กๆ ในชุมชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ห่างไกลยาเสพติด ความรุนแรง และพฤติกรรมไม่เหมาะสม

“ครูแอ็ด” สิบเอกวินัย โพธิสาร อายุ 24 ปี หัวหน้ากลุ่มกอนกวยโซดละเว เล่าที่มาของโครงการว่า เมื่อพูดถึง “โซดละเว” หรือ “ผ้าไหมลายหางกระรอก” ทุกคนต่างต้องพูดถึงชุมชนของพวกเขาคือชุมชนบ้านแต้พัฒนา ชุมชนชาวกวยใน ต.โพธิ์กระสังข์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ โดยถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ผู้หญิงทุกบ้านต้องฝึก - ต้องทำให้เป็น และถือเป็นอาชีพเสริมยามว่างจากการเกษตรสืบต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น การนำผ้าไหมไปใช้ก็มีรายละเอียดแตกต่างกันไปขึ้นกับวาระและโอกาส เช่น “งานบวช” นาคจะนุ่งผ้าไหมลายหางกระรอกยาวโจงกระเบนเข้าพิธีอุปสมบท “พิธีกรรมบุญเทศน์มหาชาติ” จะใช้ผ้าไหมลายหางกระรอกในการห่อพระคัมภีร์ บางพิธีก็ต้องใช้ผ้าหลายชนิด อย่าง “พิธีกรรมสู่ขวัญข้าว” ต้องใช้ทั้งผ้าซิ่นไหมเข็นควบ ผ้าไหมลายหางกระรอกยาวโจงกระเบน ผ้าโสร่งไหม และผ้าไหมมัดหมี่คั่นผ้าไหมลายหางกระรอกในการเซ่นไหว้พระแม่โพสพเพื่อขอพรให้ช่วยปกปักรักษาให้ข้าวและน้ำอุดมบริบูรณ์

ทว่าในระยะหลังเยาวชนในชุมชนไม่ได้สนใจภูมิปัญญาการทอผ้าไหมดังคนรุ่นก่อน แต่หันไปซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปตามยุคสมัยมาใส่แทน ผ้าไหมลายหางกระรอกจึงค่อยๆ สูญหาย

จากปัญหานี้ เมื่อ โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ เปิดรับสมัครเยาวชนให้รวมกลุ่มทำโครงการสร้างสรรค์ชุมชน ครูแอ็ดและน้องๆ ประกอบด้วย เต๋า - อภิชาติ วันอุบล, ลม - วิภา โพธิสาร, อุ - สายสุดา วันอุบล, คิด - สุกฤตยา ทองมนต์ และกั้ง - ฐิตานันท์ หงษ์นภวิทย์ โดยมีผู้ใหญ่นพดล โพธิ์กระสังข์เป็นที่ปรึกษา จึงเสนอโครงการเข้าขอรับการสนับสนุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กและเยาวชนในชุมชนบ้านแต้พัฒนาหันมาเห็นคุณค่าของการสืบทอดและสวมใส่ผ้าไหมลายหางกระรอก

ครูแอ็ดบอกว่าตลอด 6 เดือนของการทำโครงการเริ่มต้นจากการบอกกล่าวชุมชนให้รับรู้ว่าจะทำอะไร จากนั้นจึงประชุมทีมงาน เข้าหาครูภูมิปัญญาเพื่อสืบค้นข้อมูลประวัติความเป็นมา และกรรมวิธีการทอ จากนั้นจึงฝึกฝนการทอผ้าไหมโดยมีแม่ๆ ยายๆ ครูภูมิปัญญาคอยแนะคอยหนุน อาศัยเวลาว่างวันเสาร์ - อาทิตย์และช่วงเย็นหลังเลิกเรียนชวนกันมาย้อมสี แกว่งไหม ทอผ้า โดยมีน้องๆ เยาวชนในชุมชนกว่า 30 คนสนใจมาร่วมเรียนรู้ทำกิจกรรมที่บ้านครูแอ็ด ผลที่เกิดขึ้นคือผ้าไหมลายหางกระรอก 11 ผืนที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงเยาวชนตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงไหมจนถึงการทอเป็นผืน ส่วนเพื่อนๆ น้องๆ คนอื่นก็ดูใส่ใจสืบสานการทอผ้าไหมลายหางกระรอกมากขึ้น ขณะที่ทำกิจกรรม ทุกคนต่างมุ่งมั่นตั้งใจ มีสมาธิ ได้ฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์ในการทอลาย กล้าลองผิดลองถูก กล้าตัดสินใจ สุดท้ายที่ชุมชนก็พลอยชื่นใจเมื่อเห็นเด็กและเยาวชนใฝ่ใจมาสืบทอด

“เด็กเล็กแกว่งไหม วางโบกเรียงให้เขาแกว่ง เด็กโตทอผ้าเป็นก็ให้ทอผ้าเลย ตกเย็นเด็กๆ ก็จะมาคอยถามว่าวันนี้มีอะไรให้ทำบ้าง พอสนิทสนมกันแล้วเขาก็กระตือรือร้นอยากทำมากขึ้น และยิ่งมีโครงการมาสนับสนุนก็เป็นกำลังใจให้อยากทำต่อไปเรื่อยๆ ส่วนตัวเป็นครูก็มองว่าถ้าเด็กเขาได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์วันละนิดในแต่ละวัน มันจะค่อยๆ สะสมประสบการณ์ให้แก่เขาไปเรื่อยๆ จนเห็นการเปลี่ยนแปลงว่าน้องๆ มีความรับผิดชอบมากขึ้น ฝึกนิสัยการทำงาน รับผิดชอบทำงานให้เสร็จในแต่ละวัน” ครูแอ็ดเล่าความคิดเบื้องหลัง

เมื่อการทำงานของเยาวชนผลิดอกออกผล ชุมชนก็อุ่นใจให้การตอบรับและสนับสนุน ลุงวรวุฒิ ศรีทองธนเดช อายุ 64 ปี กรรมการหมู่บ้านสะท้อนว่าก่อนหน้านี้ที่เด็กๆ มาบอกว่าจะทำโครงการก็รู้สึกไม่มั่นใจว่าจะทำได้ แต่ก็อยากให้ลองทำดู จึงให้คำแนะนำว่าถ้าจะทำต้องทำอย่างจริงจังนะ อย่าทำทิ้งๆ ขว้างๆ เพราะจะทำให้ชุมชนเสียชื่อเสียง ระยะแรกยอมรับว่ามีแอบไปดูบ้างเหมือนกันเวลาเด็กๆ ไปทำกิจกรรมกันจนดึกดื่นที่บ้านครูแอ็ด เพราะกลัวว่าเขาจะทำอะไรไม่ดี และในชุมชนมียาเสพติดระบาด แต่เมื่อเห็นเด็กๆ ทำผ้าไหมอย่างจริงจัง และเห็นว่าปัญหายาเสพติด ปัญหาเด็กมั่วสุม ปัญหาเด็กขับรถออกนอกหมู่บ้านทุเลาลง ผู้ใหญ่ก็เริ่มวางใจ กลายเป็นว่าตอนนี้เห็นเด็กๆ เลิกเรียน แล้วไปทำกิจกรรมที่บ้านครูแอ็ด ผู้ใหญ่ก็หมดกังวล ไม่ต้องคอยเป็นห่วง

“กรรมการหมู่บ้านก็ประชุมเหมือนกันนะว่าถ้าเด็กเขาทำจริง ทอผ้าไหม แปรรูป ขายได้ เราก็อยากหาตลาดให้เขาหน่อย เมื่อเขาเรียนจบ ใครไปทำงานข้างนอกได้ก็ไป ส่วนใครเรียนไม่เก่ง ไม่อยากออกจากชุมชน ก็ยังมีงานทำอยู่บ้านได้ อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นคือเมื่อก่อนผู้ใหญ่ทอผ้าเด็กไม่เอาด้วย ไม่ค่อยอยากคุยกับผู้ใหญ่ บอกว่าล้าสมัยแล้ว ผู้ใหญ่เองเมื่อพูดแล้วเด็กไม่ฟังก็เลิกสนใจ แต่พอเด็กกลุ่มนี้เขาชี้ชวนกันเองแล้วทำได้สำเร็จ เด็กกล้าคิดกล้าคุยกับผู้ใหญ่ คุยกับผู้ใหญ่รู้เรื่อง ว่างๆ ก็มาอาสาช่วยงานชุมชน เราก็ดีใจที่เห็นเขาเปลี่ยนแปลง” ลุงวรวุฒิเล่า

ส่วน เต๋า – อภิชาติ วันอุบล แกนนำอีกคนบอกว่ามาทำโครงการนี้แล้วเมื่อทอผ้าได้ก็รู้สึกภูมิใจ และระหว่างทำกิจกรรมยังได้พูดคุย ได้เล่น ได้หัวเราะไปด้วยกันกับเพื่อน ก็ยิ่งสนุก มีความสุข หากตรงไหนเราทำไม่ได้ แม่ๆ ยายๆ ที่มาคอยช่วยคอยดูก็จะเข้ามาให้คำแนะนำ คิดว่ามาทำตรงนี้แล้วดี มีประโยชน์กว่าเที่ยวห้าง

“พวกผมเคยใส่โสร่งโซดละเวไปจัดนิทรรศการในห้างก็มีคนมาขอถ่ายรูปด้วย แล้วก็ขอยืมไปใส่ถ่ายรูป ถามใหญ่ว่าเราไปซื้อมาจากไหน ผมก็รู้สึกดีใจ รู้สึกว่านุ่งผ้าไหมโซดละเวแล้วมีคุณค่า ดีกว่าใส่กางเกงยีนส์” เต๋าเล่าอย่างภาคภูมิใจ

ส่วนแนวทางการทำงานต่อไปของกลุ่มกอนกวยโซดละเว ครูแอ็ดบอกว่า ทางกลุ่มกำลัง ศึกษาวิธีการทอผ้าไหมลายหางกระรอกด้วยสีธรรมชาติ เช่น แก่นเขให้สีเหลือง ไปถามคนเฒ่าคนแก่บอกว่ามีอยู่ต้นหนึ่งในวัดก็ไปค้นหาจนเจอ มะเกลือให้สีดำ ส่วนครั่งให้สีแดง และใบหูกวางให้สีเขียวเหลือง การย้อมสีธรรมชาติถึงแม้จะยากลำบากเพราะใช้เวลามาก ผืนหนึ่งต้องใช้เวลาย้อม 3 วัน 3 คืน แต่ก็มีคุณค่าและได้ราคาดีกว่า นอกจากนี้จะขยายไปถึงการเรียนรู้และสืบทอดวิธีการทอผ้าชนิดอื่นๆ ของ จ.ศรีสะเกษ พร้อมๆ กับ ศึกษาวิธีการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ทำเป็นเสื้อสำเร็จรูป และกระเป๋า รวมทั้งจะจัดทำพิพิธภัณฑ์ผ้าไหม เพื่อเก็บบันทึกข้อมูลผ้าแต่ละชนิดให้คนรุ่นหลังได้ร่วมเรียนรู้ เกิดความภูมิใจในตนเอง ไม่ลืมถิ่นฐานบ้านเกิด และไม่ลืมตัวตนของตนเอง

สำหรับโครงการดักแด้แตกใหม่ทอรักทอไหมสายใย (โซดละเว) ของกลุ่มกอนกวยโซดละเว หมู่บ้านแต้พัฒนา ต.โพธิ์กระสังข์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เป็นหนึ่งใน 11 โครงการเยาวชน ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ดำเนินการโดยศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ ในการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ในจังหวัดศรีสะเกษให้มีสำนึกของความเป็นพลเมือง (Active Citizen) ร่วมดูแลและสร้างสรรค์ท้องถิ่นของตนให้น่าอยู่สืบต่อไป

ฝ่ายสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์ (เซ้ง) โทร. 02 937 9901 – 7

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๐ DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๖:๕๘ Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๖:๐๓ Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๖:๓๕ โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๖:๓๑ 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๖:๒๗ TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๖:๔๗ SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๖:๐๐ โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๖:๒๙ หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๖:๒๘ คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital